ราชาแห่งการพรางกาย



โลกมีสัตว์อีกไม่กี่ชนิดที่เทียบรัศมีกิ้งก่าคาเมเลียนได้ในแง่ของความสามารถทางสรีระอันน่าอัศจรรย์ ตั้งแต่ลิ้นที่ยาวกว่าลำตัวพุ่งออกไปตวัดจับแมลงได้ในชั่วเสี้ยววินาที  สายตาที่มองเห็นได้ชัดแจ๋วราวกับกล้องส่องทางไกลหมุนได้รอบทิศทาง  เท้าที่มีนิ้วเท้าแยกออกเป็นสองชุดทำหน้าที่ยึดจับได้แน่นหนาราวปากคีบ เขาที่ยื่นออกมาจากคิ้วและจมูก ไปจนถึงแผงคอที่สวยงามราวกับผ้าลูกไม้

จากคุณลักษณะพิเศษทั้งหลายแหล่ของกิ้งก่าคาเมเลียน สิ่งที่โดดเด่นที่สุดและเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่โบราณคือ ผิวหนังที่เปลี่ยนสีสันได้   แม้การเปลี่ยนสีในบางครั้งจะช่วยให้พวกมันกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมก็จริง แต่สีผิวหนังที่เปลี่ยนไปแท้จริงแล้วเป็นปฏิกิริยาทางสรีรวิทยาเพื่อการสื่อสารเสียส่วนใหญ่

กิ้งก่าคาเมเลียนเป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่าชนิดเดียวที่ใช้สีสันแทนภาษาและการแสดงออกเกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่กระทบมัน ทั้งการเกี้ยวพาราสี การแข่งขัน และความเครียดที่เกิดจากสภาพแวดล้อม

 คริสโตเฟอร์ แอนเดอร์สัน นักชีววิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านกิ้งก่าคาเมเลียนที่มหาวิทยาลัยบราวน์ บอกว่า “แม้กิ้งก่าคาเมเลียนจะเป็นที่สนใจมานานหลายร้อยปี แต่ปัจจุบันยังคงมีปริศนามากมายเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ เรายังคงพยายามทำความเข้าใจกลไกการทำงานของมันอยู่ครับ” ตั้งแต่การแลบลิ้นออกไปอย่างรวดเร็วไปจนถึงฟิสิกส์ของการเปลี่ยนสีผิวหนัง

เมื่อสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์หรือไอยูซีเอ็น เผยแพร่บัญชีแดง (Red List) ฉบับใหม่เกี่ยวกับสถานะเชิงอนุรักษ์ของกิ้งก่าคาเมเลียนเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ชนิดพันธุ์กิ้งก่าคาเมเลียนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจัดว่าถูกคุกคามหรือใกล้ถูกคุกคาม 

แอนเดอร์สันเป็นสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องกิ้งก่าคาเมเลียนของไอยูซีเอ็น เช่นเดียวกับคริสตัล ทอลลี นักชีววิทยาผู้ได้รับทุนเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก  ทอลลีเดินทางไปค้นคว้าวิจัยทางตอนใต้ของแอฟริกาและบันทึกการค้นพบกิ้งก่าคาเมเลียนชนิดใหม่ๆ รวมถึงแหล่งอาศัยที่กำลังหดหายไป



กิ้งก่าคาเมเลี่ยน Decary’s leaf หรือ Brokesia decaryi ตัวผู้และตัวเมีย ส่วนใหญ่แล้วกิ้งก่าคาเมเลี่ยนมีรูปลักษณ์ที่กลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่พวกมันสามารถเปลี่ยนโทนสีของร่างกายให้สว่างขึ้นได้
ภาพถ่ายโดย Christian Ziegler


ในจำนวนชนิดพันธุ์กิ้งก่าคาเมเลียนที่รู้จักกันกว่า 200 ชนิด  ราวร้อยละ 40 พบบนเกาะมาดากัสการ์ นอกนั้นส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา  และมากกว่าร้อยละ 20 ของชนิดพันธุ์ที่รู้จักกันได้รับการระบุชนิดในช่วง 15 ปีที่ผ่านมานี้เอง

แอนเดอร์สันศึกษาการล่าเหยื่อของกิ้งก่าคาเมเลียนอย่างละเอียด โดยใช้กล้องที่จับภาพได้ถึง 3,000 เฟรมต่อวินาทีเขาถ่ายทำฉากการกินจิ้งหรีดนาน 0.56 วินาทีของกิ้งก่าคาเมเลียนและตัดต่อเป็นวิดีโอความยาว 28 วินาทีที่แสดงให้เห็นกลไกการพุ่งและตวัดลิ้นของมัน  ลิ้นของมันสามารถเร่งความเร็วจาก 0 เป็น 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้ในเวลาเพียง1/16 วินาที อัตราเร่งระดับนี้มากกว่าเครื่องบินขับไล่ถึง 5 เท่า

ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนสีผิวหนังของกิ้งก่าคาเมเลียนเพิ่มพูนขึ้นตามกาลเวลาด้วยเช่นกัน และก้าวหน้าไปอย่างมากเมื่อต้นปีนี้หลังการตีพิมพ์งานวิจัยของไมเคิล มิลินโควิตช์ นักวิทยาศาสตร์เคยเชื่อกันมานานแล้วว่า กิ้งก่าคาเมเลียนเปลี่ยนสีเมื่อสารสีในผิวหนังแพร่กระจายไปตามเซลล์ที่เชื่อมต่อกันเหมือนเส้นเลือด แต่มิลินโควิตช์ ซึ่งเป็นนักพันธุศาสตร์เชิงวิวัฒนาการและนักชีวฟิสิกส์ แย้งว่า ทฤษฏีนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะกิ้งก่าคาเมเลียนสีเขียวจำนวนมากไม่มีสารสีในผิวหนังที่เป็นสีเขียวเลย

ดังนั้นมิลินโควิตช์กับเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยเจนีวาจึงเริ่ม “ศึกษาทั้งในเชิงฟิสิกส์และชีววิทยาไปพร้อมๆกัน” ภายใต้ชั้นเซลล์ผิวหนังที่มีสารสี พวกเขาพบเซลล์ผิวหนังอีกชั้นหนึ่งที่ประกอบด้วยผลึกขนาดนาโน (นาโนสเกล) เรียงตัวกันเป็นโครงข่ายรูปสามเหลี่ยม




เมื่อนำตัวอย่างผิวหนังของกิ้งก่าคาเมเลียนไปทดสอบภายใต้แรงดันและสารเคมี นักวิจัยกลุ่มนี้พบว่า ผลึกเหล่านี้สามารถ “ปรับแต่ง” เพื่อให้เกิดระยะห่างระหว่างผลึกได้ตามต้องการ ซึ่งจะส่งผลต่อสีของแสงที่สะท้อนจากโครงข่ายผลึกรูปสามเหลี่ยม เมื่อระยะห่างระหว่างผลึกเพิ่มขึ้น สีที่สะท้อนออกมาจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากสีฟ้าเป็นเขียว จากเขียวเป็นเหลือง จากเหลืองเป็นส้มและแดง เป็นเหมือนภาพคาไลโดสโคปซึ่งมักพบได้เห็นในกิ้งก่าคาเมเลียนแพนเทอร์

นอกจากสามารถเปลี่ยนสีแล้ว ปัจจุบันยังพบว่ากิ้งก่าคาเมเลี่ยนนั้นยังมีกระดูกที่สามารถ “เรืองแสง” ได้  จากการศึกษาพบว่ารอบๆ กะโหลกของมันมีตุ่มเล็กๆ จำนวนมาก นูนออกมาซึ่งมีเพียงหนังใสๆ บางๆ กั้นเอาไว้เท่านั้น เมื่อมันได้รับแสงยูวี ทำให้กระดูกของมันเรืองแสง
ลักษณะของกระดูกที่สามารถเรืองแสงได้นั้นพบเห็นได้อย่างแพร่หลายในคาเมเลี่ยนในมาดากัสการ์และแอฟริกา โดยจะมีการปรับตัวด้วยการเรืองแสงเมื่ออยู่ในป่าและพื้นที่ชื้นซึ่งมีแสงค่อนข้างมาก

การวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์จาก Scientific Reports ยังสันนิษฐานว่าการเรืองแสงออกมาของกิ้งก่าคาเมเลี่ยนนั้นสามารถใช้เป็นวิธีการสื่อสารเพื่อ “ดึงดูดเพศตรงข้าม” และ “หาคู่ผสมพันธุ์”   ถึงแม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดถึงหน้าที่ของระบบเรืองแสงในกิ้งก่าคาเมเลี่ยน แต่นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า การเรืองแสงนั้นช่วยให้มันรับแสงยูวีน้อยลง ช่วยการถ่ายละอองเรณูของดอกไม้ ป้องกันตัวจากสัตว์อื่น 

แม้ว่ากิ้งก่าคาเมเลียนทุกชนิดจะเปลี่ยนสีได้ แต่หลายชนิดไม่สามารถเปลี่ยนสีได้ฉูดฉาดพอที่จะดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็น อย่างไรก็ตาม กิ้งก่าคาเมเลียนเกือบทุกชนิดมีเทคนิคอีกอย่างในการข่มขวัญอีกฝ่าย  โดยทำให้ตัวเองดูใหญ่ขึ้นด้วยการบีบลำตัวให้ลีบเข้าแต่สูงขึ้นโดยอาศัยการผายซี่โครงที่เชื่อมต่อกันเป็นรูปตัววีเพื่อยกกระดูกสันหลังให้สูงขึ้น  นอกจากนี้ พวกมันยังสามารถทำให้ลำตัวดูใหญ่ขึ้นอีกด้วยการขดหางเข้ามาให้แน่น แล้วใช้กลไกในลิ้นดันให้คอขยายใหญ่

แม้กิ้งก่าคาเมเลียนจะพรางตัวจากภัยคุกคามบางชนิดได้ แต่ไม่อาจเอาตัวรอดจากการทำเกษตรด้วยวิธีแผ้วถางป่า ซึ่งทำลายถิ่นอาศัยของพวกมัน ไอยูซีเอ็นกำหนดให้กิ้งก่าคาเมเลียน 9 ชนิดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง  37 ชนิด  จัดว่าใกล้สูญพันธุ์  20 ชนิดมีแนวโน้มใกล้สูญพันธ์  และ35 ชนิดใกล้ถูกคุกคาม


กิ้งก่า คาเมเลียนแพนเธอร์

กิ้งก่าพันธุ์คาเมเลียนแพนเธอร์ (Panther chameleon) เป็นสัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เกาะมาดากัสการ์ และเป็นที่นิยมเลี้ยงเพราะลำตัวแบนๆ ของมันนั้นมีสีสันสวยงามแปลกตา ซึ่งแต่ละตัวก็มีสีแตกต่างกันไป ชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้มากกว่าจะลงมาวิ่งบนพื้นดิน มีกะโหลกแข็งแรงมาก แต่หากมีภัยคุกคามก็จะใช้ขาด้านข้างป้องกันตัว
 เจ้าคาเมเลียนแพนเธอร์ตัวนี้กำลังอ้าปากกว้างจ้องมองอะไรสักอย่างอยู่ในสวนสัตว์แฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ซึ่งมันจะใช้การมองเพื่อตรวจหาอันตรายมากกว่าที่จะใช้การรับกลิ่นหรือประสาทสัมผัส.



กิ้งก่า คาเมเลี่ยนเวลล์


เวลล์  เป็นกิ้งก่าอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนสีได้ตามอุณหภูมิ แสงและการเคลื่อนไหวต่างๆ มันจะเปลี่ยนเป็นสีซีดเมื่อตกใจ กลัว หรือไม่ก็อยู่ในที่มืดและเย็น แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่ออากาศร้อนและมีแสงสว่าง มันกลับเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นบางครั้งอาจขึ้นอยู่กับอารมณ์ มันสามารถเปลี่ยนสีตามสิ่งของที่เกาะอยู่เพื่อหลอกศัตรู ซึ่งการเปลี่ยนสีของกิ้งก่านี้มีการถกเถียงกันอย่างมาก 

นอกจากนี้ตาทั้งสองข้างยังสามารถกลอกไปมาได้ 360 องศา ทำให้มันสามารถรู้ได้ถึงภัยก่อนที่จะถึงตัว ตาของมันจะกลอกไปมาทั้งสองข้างอย่างไม่พร้อมกัน ทำให้สามารถดูสิ่งที่อยู่รอบๆตัวทั้งซ้าย ขวา หน้าและหลังได้พร้อมๆกัน ส่วนลักษณะโดยทั่วไปนั้น เวลล์จะมีหางยาวและม้วนเข้าเป็นวงตอนปลายดู

ลักษณะเด่นที่สามารถแยกมันออกจากตัวอื่นก็คือ ส่วนหลังคอที่มีติ่งยื่นออกมา ซึ่งส่วนที่ยื่นออกไปนี้จะนูนเป็นโหนกในบริเวณหัวค่อนไปทางสันหลังอย่างชัดเจน มีแถบสีเหลืองล้อมรอบลำตัวเป็นช่วงๆตลอดทั้งลำตัว สีของลำตัวนี้จะเปลี่ยนแปลงโดยขึ้นอยู่กับ อารมณ์ และปัจจัยอื่นๆตามที่กล่าวไปข้างต้น
 ตั้งแต่สีเขียวสดจนถึงสีน้ำเงินบางครั้งอาจมีสีเหลืองทอง, ส้ม และสีดำ มีลิ้นที่ใหญ่ หนาและยาวมาก ยาวกว่าตัวของตัวมันเสียอีก

เนื่องจากมันใช้ในการจับอาหารกิน โดยยื่นลิ้นออกไปจับอาหารที่อยู่ไกลๆได้ ด้วยความรวดเร็ว แม้ว่าเราจะดูเหมือนมันเชื่องช้าก็ตาม ส่วนลำตัวมีความยาวโดยประมาณ 40-60 เซนติเมตร (14-24 นิ้ว) เวลล์กินสัตว์เป็อาหาร เช่น แมลง หนอนแว๊ก หนูแดง และกินพืชได้เล็กน้อย  และกินน้ำค้างที่เกาะตามใบไม้หรือยอดหญ้าในตอนเช้า 



กิ้งก่าคาเมเลี่ยนแจ็คสัน


กิ้งก่าคาเมเลี่ยนแจ็คสัน หรือ กิ้งก่าคาเมเลี่ยนสามเขา : Jackson’s chameleon,  ชื่อวิทยาศาสตร์: Trioceros jacksonii 
ความยาวลำตัวจรดหางประมาณ 10 นิ้ว ลักษณะเด่น คือ มีสันแข็งคล้ายเขา 3 เขาอยู่บริเวณด้านหน้าของส่วนหัว ยกเว้นในเพศเมียไม่มีเขา หรือมีแต่เฉพาะส่วนจมูกเท่านั้น ผิวหนังมีหยาบและขรุขระ และสีลำตัวมักเปลี่ยนได้ตามสภาพแวดล้อม ตามอุณหภูมิหรืออารมณ์ บางครั้งเพื่อพรางตัวจากผู้คุกคามหรือพรางตัวเพื่อเป็นผู้ล่าเสียเอง
  
คาเมเลี่ยนแจ็คสัน มีถิ่นกระจายพันธุ์แถบเคนยา และแทนซาเนีย ในแอฟริกาตะวันออก สามารถพบได้ในระดับที่สูงมากกว่า 3,000 เมตร พบได้ไม่ง่ายนักในธรรมชาติ และถูกนำเข้าไปในฮาวาย ในช่วงทศวรรษที่ 70 เพื่อเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง
ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นการเกียรติแก่ เฟดเดอริก จอห์น แจ็คสัน นักปักษีวิทยาและนักสำรวจธรรมชาติชาวอังกฤษ โดย จอร์จ อัลเบิร์ต บุนเลเยอร์ นักสัตววิทยาชาวเบลเยี่ยม ในปี ค.ศ. 1896 ขณะที่ชื่อวิทยาศาสตร์คำว่า trioceros มาจากภาษากรีกคำว่า τρί- (tri-) หมายถึง “สาม” และ κέρας (kéras) หมายถึง “เขา” อันเป็นลักษณะเด่นเฉพาะตัว
Cr.http://www.nextsteptv.com/กิ้งก่าคาเมเลี่ยนแจ็คส/



เรื่อง  แพทริเชีย เอดมอนส์
ภาพถ่าย คริสเตียน ซีกเลอร์
ที่มา: Iflscience
Cr.https://www.catdumb.com/fluorescent-chameleon/

(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่