[CR] ในวันที่ไม่ต้องฝ่ารถติดแต่ต้องฝ่าCovidไปบริจาคโลหิต

"...กาชาดกำลังขาดเลือดอย่างหนักเพราะคนหวั่นCovid จึงมาบริจาคเลือดน้อยลง"

หลังเห็นข้อความกระตุ้นต่อมเพื่อสังคม ฉันก็เริ่มนับย้อนหลังวันสุดท้ายที่ท้องเสีย ที่กินยา ที่รับวัคซีน...

...เพิ่งฉีดวัคซีนกระตุ้นพิษสุนัขบ้าไปสองอาทิตย์

ข้อมูลจากสภากาชาดระบุว่าหลังวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและไม่มีอาการข้างเคียงสามารถบริจาคโลหิตได้

"...แต่ข้างนอกนั้นมีโควิดนะ"

จิตใต้สำนึกส่งเสียงเตือนมาจากสมองส่วนหน้า แต่ก็มีอีกเสียงหนึ่งที่ดังกว่าส่งเสียงค้าน

"...แต่เธอยังแข็งแรงดีอยู่นะ ถ้าวันนี้เธอไม่ทำ เกิดเธอติดโรคขึ้นมาคงไม่ได้ทำอีกนาน"

จริงอยู่ว่าฉันเป็นบุคคลที่ท่องยุโรปยาวนานและกลับมาก่อนโรคระบาดอย่างทันท่วงที และด้วยสุขภาพที่แข็งแรงพอที่จะบริจาคเลือดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นฉันก็ไม่ควรเก็บความโชคดีนี้ไว้คนเดียว

...ว่าแล้วก็ลุกไปกินข้าวตอนเกือบเที่ยงคืนเพื่อเตรียมอดข้าวก่อนตรวจเลือด ซึ่งนี่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการบริจาคเลือด แต่ผู้ที่เคยบริจาค stem cell จะต้องมีการ follow up ความสมบูรณ์ของเลือดทุกปีอยู่แล้วโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ก็เท่ากับว่าได้ตรวจเลือดฟรีไปตลอดชีวิตนะ เป็นอีกหนึ่งข้อดีที่อยากเชิญชวนให้ทุกคนมาลงทะเบียนเป็นผู้บริจาค stem cell กัน
.
.
เช้าวันต่อมา หลังจากนอน(เกิน) 8 ชั่วโมง ฉันก็อาบน้ำและดื่มน้ำเต็มที่ (ตรวจเลือดไม่ต้องงดน้ำจ้า) ก่อนออกจากบ้านไม่ลืมหยิบมาส์กและเจลล้างมือ ถึงมั่นใจในสุขภาพยังไง แต่ในที่ชุมนุมชน การป้องกันตัวเองไว้ก่อนก็ดีกว่า เพราะไวรัสไม่เลือกคน และความเสี่ยงมีอยู่ทุกที่ ขึ้นอยู่กับความมากน้อยแตกต่างกัน

เส้นทางไกลจากบ้านถึงสภากาชาดผ่านพระรามเก้า เพชรบุรี สีลม ล้วนเป็นถนนที่ควรหลีกเลี่ยงในทุกวันธรรมดา แต่ในยามเที่ยงวันศุกร์ในเมืองที่กึ่งๆ lockdown นี้มีรถเพียงบางตา จึงใช้เวลาไม่นานก็ถึงสภากาชาด ฉันรับบัตรจอดรถพร้อมกับความคิดแรก

...บัตรจอดรถนี้ผ่านมากี่มือแล้ว????

ที่ประตูทางเข้าศูนย์บริจาคโลหิต เจ้าหน้าที่กำลังยืนตรวจวัดอุณหภูมิผู้มาเยือนทุกคนพร้อมกำชับให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ที่วางไว้ให้ก่อนเข้าไป หากใครไม่สวมมาส์ก ก็มีแจกให้ แต่คนส่วนใหญ่ก็สวมมาร์กมาเอง ฉันตรงไปตรวจเลือดเพื่อ follow up ก่อน แล้วจึงขอออกไปกินข้าวเพื่อให้พร้อมสำหรับการบริจาคเลือด เนื่องจากความวิตกจริต ในช่วงนี้ฉันของดทานอาหารจากร้านอาหารทุกประเภท 7/11 จึงเป็นทางออกเดียวที่จะฝากท้องไว้ได้แม้จะรู้สึกผิดต่อพ่อค้าแม่ค้าร้านอาหารอยู่บ้าง

ฉันหอบหิ้วถุงอาหารกล่องอุ่นไมโครเวฟไปกินในศูนย์อาหารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฝั่งตรงข้าม ซึ่งร้านในศูนย์ยังเปิดจำหน่ายตามปกติ แต่โต๊ะเก้าอี้ถูกยกออกไปเกือบหมด เหลือเพียงไม่กี่ตัวที่มุมหนึ่งสำหรับผู้ป่วย โต๊ะแต่ละตัววางไว้ห่างกันและจำกัดให้นั่งโต๊ะละคนเท่านั้น พอรับประทานเสร็จก็มีเจ้าพนักงานรีบมาเก็บขยะออกไปทันที

เมื่อกลับเข้าไปยังสภากาชาดอีกรอบ กระบวนการแรกของการบริจาคเลือดคือกรอกเอกสารและวัดความดัน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องบริการตัวเอง ฉันจึงเกิดคำถามต่อมา
...ปากกานี่ผ่านมากี่มือแล้ว
...ปุ่มกดเครื่องวัดความดันล่ะ
...หวังว่าจะมีเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดตลอดนะ
แล้วฉันก็กดเจลล้างมือ

ขั้นตอนต่อไปคือลงทะเบียนผู้มาบริจาคเลือด ส่วนนี้สภากาชาดจัดไว้ดีมาก มีสติ๊กเกอร์ระบุตำแหน่งที่ควรเว้นระยะห่างจากกันบนพื้น เจ้าหน้าที่ที่สวมมาส์กอยู่ก็มีหมวกพลาสติกคลุมหน้าอีกชั้น หลังจากผ่านส่วนนี้ฉันจึงไปกดบัตรคิว...
...ปุ่มกดบัตรคิวนี่ผ่านมากี่มือแล้ว
แล้วฉันก็กดเจลล้างมือ

ที่นั่งรอเข้าห้องตรวจเลือดถูกจัดวางเว้นระยะห่างระหว่างกัน ทำให้จำนวนคนที่มาบริจาคเลือดดูเต็มโถง แต่ความจริงมีเพียงไม่กี่คน ฉันนั่งยังไม่ทันหายเมื่อยก็ถึงคิวเข้าห้องตรวจเลือด เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์นั่งอยู่หลังโต๊ะที่มีแผงอะคริลิคกั้นอีกชั้น เหลือเพียงรูเล็กๆให้ยื่นส่งเอกสารและมือไปให้เจาะตรวจเลือดจากปลายนิ้วเท่านั้น ฉันที่อดอาหารมาเกินครึ่งวันก็เกรงค่าเลือดจะไม่เข้มข้นพอ แต่สุดท้ายแล้วก็ผ่าน

ก่อนบริจาคเลือดต้องดื่มน้ำเยอะๆเพื่อให้สดชื่นและลดอาการแทรกซ้อนหลังบริจาคโลหิต ที่พื้นที่บริการน้ำดื่มนี้ เมื่อดึงแก้วน้ำแบบใช้แล้วทิ้งออกมาวางบนอ่าง น้ำจะไหลออกจากก๊อกโดยอัตโนมัติด้วยระบบเซ็นเซอร์แบบเดียวกับในห้องน้ำ ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะมีการติดเชื้อผ่านการสัมผัส (แต่ก๊อกน้ำในห้องน้ำกลับเป็นแบบมือหมุน จะว่าไปก็ย้อนแย้งกันอยู่ในที)

ในส่วนของการบริจาคเลือด เมื่อถึงคิวเรียกจะยังไม่ได้บริจาคทันที ต้องไปต่อคิวหน้าห้องบริจาคอีกครั้ง เก้าอี้นั่งรอบริจาคถูกจัดวางเว้นระยะห่าง ผู้ที่บริจาคด้วยแขนขวาจะถึงคิวเร็วกว่า ฉันบริจาคด้วยแขนซ้าย ถึงแม้จะรอนานกว่าแต่ก็ไม่นานเพราะคนน้อย ในห้องรับบริจาคเลือดจะต่างกับส่วนอื่นๆตรงที่เตียงรับบริจาคจะยังคงอยู่ตำแหน่งเดิม ไม่ได้เว้นระยะห่างเหมือนเก้าอี้ เข้าใจว่าคงย้ายตำแหน่งลำบากด้วยการติดตั้งเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ แต่ความกว้างของเตียงก็มากพอที่จะทำให้ไม่รู้สึก "ใกล้ชิด" กับคนบนเตียงข้างๆ

เครื่องดื่มช็อกโกแลตมอท์ลกับขนมเค้กคืออาหารสำหรับผู้บริจาคป้องกันอาการอ่อนเพลียหลังการให้เลือด โซฟาในห้องยังจัดวางติดๆกัน แต่เหมือนว่าทุกคนจะรู้งาน ฉันรับถาดใส่อาหารมารับประทานเสร็จแล้วจึงนำไปเก็บ...
...ถาดอาหารนี่ผ่านมากี่มือแล้วนะ
แล้วฉันก็กดเจลล้างมือ

เมื่อสังเกตุจะเห็นว่ามีเจลล้างมือวางอยู่ถี่ๆในทุกๆส่วน ฉันตรวจเช็คจากเว็บไซต์ของสภากาชาดเห็นแจ้งว่ามีการทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆภายในศูนย์ตลอดเวลาตามแนวทางป้องกัน Covid-19 รวมถึงสิ่งที่คาดไม่ถึงอย่างบัตรจอดรถ แต่เพื่อความมั่นใจ (และความโรคจิต) ฉันก็ต้องกดเจลล้างมือถี่ๆไว้ก่อน

มาบริจาคเลือดช่วงนี้มีแจกฟรีพวงกุญแจหนูแดงด้วยนะ ของแจกยังเต็มกล่องอยู่เลยแสดงว่าคนคงมาน้อยจริงๆ ข้อมูลจากสภากาชาดระบุว่าช่วงนี้ได้รับเลือดไม่ถึงวันละ 1000 ยูนิต จากเป้าหมายที่ 2000-2500 ยูนิตต่อวัน ถึง Covid-19 อาจทำให้คนเสียชีวิต แต่อัตราเสียชีวิตก็ยังไม่เท่าเสี้ยวของการเสียชีวิตหากขาดเลือดเพื่อช่วยชีวิตนะ
.
.
ฉันกลับมาถึงบ้านแล้วรีบล้างมือด้วยสบู่ มีอาการปวดหัวอ่อนเพลียบ้างซึ่งเป็นธรรมดาเมื่อสูญเสียเลือด โดยเฉพาะเมื่อฉันเว้นห่างจากการบริจาคครั้งล่าสุดไปปีกว่า แต่ภาพรวมก็ยังแข็งแรงดี หลังนอนหลับพักผ่อนก็ตื่นขึ้นมาสดใส ไม่มีไข้ ไม่มีไอ หายใจไม่ติดขัด ร่างกายสมบูรณ์พร้อมที่จะผลิตเลือดใหม่ชดเชยของเก่า และเตรียมบริจาคอีกครั้งในอีก 3 เดือนถัดไป

...ขอให้ร่างกายแข็งแรงต่อไป

(ข้อมูลเพิ่มเติม มาตรการต่างๆเพื่อป้องกัน Covid-19 จากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย https://www.redcross.or.th/news/information/10005/)

ชื่อสินค้า:   บริจาคโลหิตช่วง Covid-19
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่