12 เกร็ดทำหนังจาก The Shawshank Redemption ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

“จำไว้นะเรด… ความหวังนั้นเป็นสิ่งดี อาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดด้วย และสิ่งดีๆ นั้นไม่มีวันตาย”

The Shawshank Redemption (1994, แฟรงค์ ดาราบอนต์) กลายเป็นหนังขึ้นหิ้งที่รั้งอันดับหนังดีที่สุดในเว็บไซต์ IMDB มานานหลายปีจากหลายๆ สาเหตุ ทั้งประเด็นที่หนังเล่าเรื่องของความหวัง องค์ประกอบอื่นๆ รวมทั้งการแสดงอันลงตัว

หนังเล่าถึง แอนดี (ทิม ร็อบบินส์) ชายซื่อที่ถูกพิพากษาว่าฆ่าภรรยาและชายชู้ของหล่อนทั้งที่เขาไม่มีความผิด และถูกพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตในเรือนจำชอว์แชงค์ เผชิญหน้ากับความดิบเถื่อนทั้งจากนักโทษด้วยกันเองและผู้คุมซึ่งมีกระบองเหล็กในมือ คุณค่าของมนุษย์ถูกลดทอนให้เหลือเพียงสิ่งมีชีวิตในห้องเล็กแคบ และในความแห้งแล้งไร้หวังนี้ เรด (มอร์แกน ฟรีแมน) นักโทษที่อยู่มานานกลับพบว่า มีบางสิ่งส่องสว่างอยู่ในความเงียบงันของแอนดี เจ้านักโทษหน้าใหม่ที่มีจุดหมายลึกล้ำบางอย่างในใจ จนนำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่เขาและคุกชอว์แชงค์อันทึบเทาแห่งนั้น


แม้ว่าหลังจากหนังออกฉายจะนำมาซึ่งความเจ็บช้ำของทีมงานเพราะมันทำเงินได้เพียง 18 ล้านเหรียญฯ หลังจบโปรแกรมฉาย จากทุนสร้าง 25 ล้านเหรียญฯ แต่สิ่งที่ชวนให้งุนงงคือการที่คลื่นความนิยมของหนังเพิ่งมาลุกโหมเอาก็ตอนปลายปี 1995 หลังหนังออกฉายและกลายมาเป็นวิดีโอที่มียอดผู้เช่าสูงสุดแห่งปี ซึ่งเกิดจากเหล่าคนดูที่ฉงนสนเท่ห์กับหนังที่เงียบกริบเวลาเข้าโรง แต่กลับเข้าชิงออสการ์ถึง 7 สาขาจนต้องไปเช่าวิดีโอมาดูและประทับใจจนเกิดกระแสปากต่อปากในที่สุด และนี่คือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของหนังที่ว่าด้วยมนุษย์และความหวังเรื่องนี้ ซึ่งเรารวบรวมมาให้ได้อ่านกัน


1.) หนังสร้างจากโนเวลล่าของ สตีเฟน คิง เรื่อง Rita Hayworth And The Shawshank Redemption ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือรวมงานเขียนของคิง ชื่อ Different Seasons ซึ่งสามในสี่เรื่องจากเล่มนี้ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดแล้ว ได้แก่ Apt Pupil ได้รับการสร้างเป็นหนังในชื่อเดียวกันเมื่อปี 1998, The Body ถูกดัดแปลงเป็นหนังในชื่อ Stand by Me (1986) และ The Shawshank Redemption

2.) ในงานเขียนของคิง ตัวละครเรดซึ่งรับบทโดย มอร์แกน ฟรีแมน เป็นหนุ่มไอริชผมแเง ทำให้สตูดิโอเล็งเอา แฮร์ริสัน ฟอร์ด, คลินต์ อีสต์วูด หรือ พอล นิวแมน มารับบทนี้ ก่อนที่หวยจะมาตกที่ฟรีแมนด้วยเหตุผลว่า ดาราบอนต์นั้นมองเห็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวบางอย่างของฟรีแมน โดยเฉพาะน้ำเสียงต่ำลึก ที่ทำให้ผู้กำกับคิดว่าฟรีแมนนั้นเหมาะกับบทนี้แบบสุดๆ ทั้งนี้ ภายหลังฟรีแมนให้สัมภาษณ์ว่า นี่เป็นหนึ่งในหนังที่เขาชอบที่สุดในชีวิตการแสดงเลยทีเดียว


3.) ส่วนบทแอนดีนั้นก่อนหน้าจะได้ ทิม ร็อบบินส์ มาแสดง สตูดิโอสนใจ ทอม แฮงค์ส, เควิน คอสต์เนอร์, ทอม ครูซ, นิโคลัส เคจ, จอห์นนี เด็ปป์ และ ชาร์ลี ชีน มารับบท อย่างไรก็ตาม แฮงค์สปฏิเสธบทนี้เพื่อไปรับบทนำในหนัง Forrest Gump (1994, โรเบิร์ต เซเม็กคิส) ส่วนคอสเนอร์บอกว่าชอบบทนี้มากๆ แต่ก็สละสิทธิ์เพื่อไปแสดงในหนังรากเลือดอย่าง Waterworld (1995, เควิน เรย์โนลด์ส) แทน


4.) ตัวละคร ทอมมี วิลเลียมส์ ผู้ต้องขังหนุ่มที่มีบทบาทสำคัญนั้นรับบทโดย กิลล์ เบลโลวส์ แต่ก่อนหน้านี้ทางสตูดิโออยากได้ตัว แบรด พิตต์ มารับบทนี้มากกว่า แต่พิตต์ไปตกลงแสดงหนังปีเดียวกันอย่าง Interview with the Vampire: The Vampire Chronicles (1994, นีล จอร์แดน) แทน


5.) แม้จะไม่ได้มีระบุไว้ในหนังอย่างเป็นทางการ แต่ตัวละครนักโทษ บรูค (เจมส์ วิธมอร์) นั้นต้องโทษข้อหาฆาตกรรมเมียและลูกสาวของตัวเอง

6.) สมาคมมนุษยธรรมอเมริกัน (The American Humane Association) ยืนยันหนักแน่นว่าหนอนที่บรูคป้อนเจ้านกน้อยนั้นเป็นหนอนที่ตายแล้วตามธรรมชาติ ไม่ใช่หนอนที่ยังมีชีวิตแต่อย่างใด

7.) หากคุณเป็นแฟนหนังสือของ สตีเฟน คิง คุณคงจะรู้ว่าตัวเลข 237 นั้นเป็นเลขประจำในงานของเขา และมันก็ได้ปรากฏอยู่ในหนังที่ดัดแปลงจากงานเขียนของเขาแทบทุกเรื่อง ใน The Shawshank Redemption เองก็เช่นกัน โดยมันเป็นหมายเลขห้องขังที่เรดอาศัยอยู่ และเป็นเลขห้องหลอนใน The Shining (1980, สแตนลีย์ คูบริค) และเป็นจำนวนเงินที่เหล่าเด็กๆ ใน Stand By Me รวบรวมมาด้วยกันก่อนออกเดินทางไกล นั่นคือเงินจำนวน 2.37 เหรียญฯ


8.) หนึ่งในผู้ที่ได้รับอานิสงส์หลังหนังออกฉายคือรัฐเมน ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำหลักของหนัง กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทำเงินขึ้นมาทันที เพราะมีคนจำนวนมากหลั่งไหลไปเยี่ยมชมเมืองจนทำเงินหลายล้านเหรียญฯ ต่อปีเลยทีเดียว

9.) ฉากที่แอนดีชูมือขึ้นฟ้าหาอิสรภาพในกองโคลนนั้น ทิม ร็อบบินส์ปฏิเสธที่จะเอาตัวลงไปแช่ในโคลนอย่างเด็ดขาดหลังนักเคมีประกาศว่าโคลนนั้นมีพิษและสารเคมีร้ายแรง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เพื่อจะให้งานออกมาดี ร็อบบินส์ตัดสินใจดำผุดดำว่ายในโคลนแห่งนั้นจนออกมาเป็นฉากที่แสนจะตรึงใจ
 

10.) ภาพถ่ายหน้าตรงของนักโทษ (mugshots) ของเรดสมัยหนุ่มคือรูปลูกชายของมอร์แกน ฟรีแมนอย่าง อัลฟองโซ ฟรีแมน แถมเจ้าตัวยังมาเล่นรับเชิญในหนังด้วยการรับบทเป็นหนึ่งในนักโทษด้วย


11.) ฉากที่เรดสวมถุงมือเล่นเบสบอล กินเวลาถ่ายทำนานเก้าชั่วโมง ผลปรากฏว่าวันต่อมานั้น ฟรีแมนต้องใส่สลิงคล้องแขนแทบตลอดเวลา (โถ)

12.) Goodfellas (1990, มาร์ติน สกอร์เซซี) คือหนังที่ดาราบอนต์ดูทุกสุดสัปดาห์ระหว่างถ่ายทำหนังเรื่องนี้เพื่อนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะการใช้น้ำเสียงของตัวละครในการเล่าเรื่องและการลำดับขั้นเวลาในหนัง


ติดตามรับชม
The Shawshank Redemption : ชอว์แชงค์ มิตรภาพ ความหวัง ความรุนแรง
วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม เวลา 19.50 น. ทางช่อง MONO29

และดูออนไลน์ได้ที่ https://mono29.com/livetv



ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์
: Bioscope Magazine
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่