นักวิทย์นานาชาติ ลบล้างทฤษฎีสมคบคิด ยันโควิด-19 ไม่ได้สร้างจากห้องแล็บ

นักวิทย์นานาชาติ ลบล้างทฤษฎีสมคบคิด ยันโควิด-19 ไม่ได้สร้างจากห้องแล็บ
ข่าวต่างประเทศ
ไทยรัฐออนไลน์23 มี.ค. 2563 15:36 น.SHARE 
https://www.thairath.co.th/news/foreign/1801979?utm_source=insider&utm_medium=web_push&utm_campaign=virus-science_230320_1815&webPushId=ODM5OQ==
 
คณะนักวิทย์นานาชาติ ลงความเห็น เชื้อโควิด-19 ไม่ได้สร้างขึ้นจากห้องแล็บ ตามที่มีทฤษฎีสมคบคิดออกมาก่อนหน้านี้ ชี้ โปรตีนหนามฃองไวรัสโควิด-19 มีประสิทธิภาพสูงเมื่อแพร่สู่ร่างกายมนุษย์

สำนักข่าวซินหัว รายงานเมื่อ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติลงความเห็น เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 หรือ (SARS-CoV-2) ไม่ใช่ไวรัสที่ถูกสร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ หรือถูกดัดแปลงอย่างมีวัตถุประสงค์แอบซ่อน โดยวารสารเนเจอร์ เมดิซิน (Nature Medicine) เผยแพร่บทความชื่อ “จุดกำเนิดใกล้เคียงของ (SARS-CoV-2) เมื่อวันอังคารที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยเปิดเผยการวิเคราะห์ลักษณะต่างๆ ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
 
คริสเตียน แอนเดอร์เซน รองศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาและจุลชีววิทยา สถาบันสคริปป์ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยทูเลน มหาวิทยาลัยซิดนีย์ มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เป็นคณะผู้ทำการศึกษาดังกล่าว
   
การวิเคราะห์อ้างอิงข้อมูลลำดับพันธุกรรมของโรคโควิด-19 ที่นักวิทยาศาสตร์จีนถอดรหัสได้หลังเกิดการระบาดไม่นาน โดยวิเคราะห์แม่แบบพันธุกรรมของโควิด-19 ใช้โจมตีเซลล์ของมนุษย์และสัตว์
 
นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้มุ่งศึกษาโปรตีนหนามและสันหลัง (backbone) ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ มีประสิทธิภาพสูงเมื่อแพร่สู่ร่างกายมนุษย์ แต่มีลักษณะต่างจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ที่รู้จักกันแล้ว โดยคล้ายคลึงกับไวรัสโคโรนาที่พบในค้างคาวและตัวนิ่ม

สำหรับบทความดังกล่าวได้ระบุว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 ที่พบว่าทำให้เกิดการติดเชื้อในหมู่มนุษย์ ซึ่งถือเป็นหลักฐานชัดเจนว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่ได้เป็นผลผลิตจากการดัดแปลงพันธุกรรมอย่างมีวัตถุประสงค์

‘หากมีการดัดแปลงทางพันธุกรรมก็น่าจะพบการใช้เทคนิค reverse-genetic กับเบตาโคโรนาไวรัส (betacoronavirus) แต่ข้อมูลทางพันธุกรรมบ่งชี้อย่างมิอาจหักล้างว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่ได้มาจากสันหลังของไวรัสที่ถูกใช้ก่อนหน้านี้’

ซินหัวยังระบุว่า ผลการศึกษาครั้งนี้เผยแพร่ในวันเดียวกับที่นักการเมืองชาติตะวันตกบางส่วน เรียกไวรัสโควิด-19 ว่า ไวรัสจีน (Chinese virus) ซึ่งถือเป็นการสร้างความเข้าใจผิดแก่สาธารณชน โดยไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารโครงการภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวถึงการเรียกเช่นนั้นว่า 'สิ่งสำคัญคือเราต้องระมัดระวังภาษาที่เราใช้ เพื่อมิให้นำไปสู่การเชื่อมโยงบุคคลใดบุคคลหนึ่งกับไวรัส เพราะนี่เป็นเวลาที่ต้องจับมือและก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อต่อสู้กับไวรัสนี้ด้วยกัน'.
 
 
แท็กที่เกี่ยวข้อง
โควิด-19COVID-19ไวรัสโคโรนาไวรัสโคโรน่าทฤษฎีสมคบคิด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่