งานวิจัยในสัตว์ที่จะพัฒนาเป็นยานำมาใช้ในมนุษย์

พิษของลิงลมช่วยไขปริศนา เหตุใดน้ำลายแมวมีสารก่อภูมิแพ้



(GETTY IMAGES  ลิงลมหรือนางอาย (Slow Loris) )

บรรดาทาสแมวหลายคนมีอาการน้ำมูกไหล จาม และเคืองตาเมื่อต้องเข้าใกล้เจ้าเหมียว ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายมีต่อโปรตีนบางชนิดในน้ำลายแมว โดยโปรตีนที่เป็นพิษนี้จะเคลือบติดอยู่ตามขนและผิวหนังแมว เมื่อมันเลียเนื้อตัวของมัน
ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบชัดว่า เหตุใดร่างกายแมวจึงต้องผลิตโปรตีนที่ทำให้มนุษย์บางคนเกิดอาการแพ้ออกมา จนกระทั่งพวกเขาได้ถอดรหัสพันธุกรรมของโปรตีนบางชนิดที่อยู่ในสารพิษของลิงลม (Slow loris) แล้วพบว่าเป็นโปรตีนชนิดเดียวกัน

ทีมนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย ตีพิมพ์ผลการค้นพบดังกล่าวลงในวารสาร Toxins โดยระบุว่าโปรตีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้น้ำลายแมว มีอยู่ในสารพิษร้ายแรงที่หลั่งจากต่อมใต้รักแร้ของลิงลมด้วย ซึ่งลิงลมใช้พิษนี้ในการต่อสู้ป้องกันตัว

การค้นพบนี้ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า แมวอาจผลิตโปรตีนที่ทำให้มนุษย์แพ้ขึ้นมาด้วยเหตุผลทางวิวัฒนาการแบบเดียวกันกับลิงลม คือเพื่อป้องกันขับไล่ศัตรูให้ถอยห่าง  ลิงลมหรือนางอายเป็นสัตว์ประเภทลิงชนิดเดียวของโลกที่มีพิษในตัว พบได้ในป่าของภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้มันจะมีหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู แต่ในปากของมันมีฟันและเขี้ยวคมที่ใช้กัดเหยื่อและศัตรูจนถึงตายได้ โดยมันจะเลียต่อมพิษของตนเองเพื่อให้สารพิษผสมกับน้ำลายก่อนกัด ซึ่งจะทำให้แผลที่เกิดขึ้นหายช้าและกลายเป็นหลุมเนื้อตายในภายหลัง

หากลิงลมกัดคน พิษของมันจะทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจได้ เหมือนกับการแพ้โปรตีนในน้ำลายแมวที่ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลงและหายใจลำบาก ผู้ค้าสัตว์ป่าจึงนิยมตัดเขี้ยวของลิงลมออกเสียก่อนจะนำไปขายเป็นสัตว์เลี้ยง
ดร. ไบรอัน ฟราย ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า "การค้นพบนี้ทำให้เรามองปัญหาการแพ้สัตว์เลี้ยงด้วยมุมมองใหม่ทางวิวัฒนาการ ซึ่งจะช่วยนำเราไปสู่การค้นพบวิธีรักษาที่ดียิ่งขึ้น"
Cr.https://www.bbc.com/thai/features-51414582



น้ำลายเห็บช่วยป้องกันหัวใจวายได้



(GETTY IMAGES)

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดของสหราชอาณาจักร เผยผลการศึกษาล่าสุด ซึ่งพบว่าน้ำลายจากตัวเห็บที่เป็นปรสิตดูดเลือดคนและสัตว์จากภายนอก มีโปรตีนช่วยหยุดยั้งการอักเสบ ซึ่งจะป้องกันไม่ให้คนหนุ่มสาวเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลันที่เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต รวมทั้งยังมีศักยภาพเป็น "ขุมทอง" ของการผลิตคิดค้นยาตัวใหม่ ๆ ที่จะใช้รักษาโรคหลอดเลือดสมองและไขข้ออักเสบได้

ผลการวิจัยดังกล่าว ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการออนไลน์ Scientific Reports โดยอธิบายว่าเห็บนั้นหากินได้อย่างเหนือชั้นกว่าสัตว์ดูดเลือดชนิดอื่น ๆ เพราะสามารถดูดเลือดจากเหยื่อได้ติดต่อกันนาน 8-10 วัน โดยที่เหยื่อไม่รู้สึกตัว เนื่องจากโปรตีนที่อยู่ในน้ำลายของเห็บจะเข้าสกัดไม่ให้สารเคมีจำพวก Chemokines ในร่างกายเหยื่อทำงาน ซึ่งจะช่วยยับยั้งการอักเสบ ทำให้เหยื่อไม่รู้สึกเจ็บหรือระคายเคือง

ศาสตราจารย์โชโม ภัททาชารยา ผู้นำคณะวิจัยบอกว่า หลักการดังกล่าวจะช่วยรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่มีสารจำพวก Chemokines ในหัวใจมากเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดความผิดปกติเช่นกล้ามเนื้อหัวใจหนา พองโตหรือเสื่อมสภาพ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดหัวใจวายเฉียบพลันในหมู่คนหนุ่มสาวซึ่งมักไม่เคยมีอาการปรากฏมาก่อน โดยมากกรณีเช่นนี้เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต หรือทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจตามมา
นอกจากนี้ ยังบอกว่า โปรตีนในน้ำลายเห็บยังมีศักยภาพในการนำไปคิดค้นยาต้านการอักเสบใหม่ ๆ เพื่อรักษาโรคอย่างไขข้ออักเสบ ตับอ่อนอักเสบ และโรคหลอดเลือดสมองได้อีกด้วย โดยขณะนี้การทดสอบโปรตีนดังกล่าวยังอยู่ในระดับห้องทดลอง และต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะพัฒนาเป็นยานำมาใช้ในมนุษย์

สำหรับผู้ที่หวั่นเกรงเรื่องความสะอาดปลอดภัยจากการใช้ยาจากน้ำลายเห็บ คณะผู้วิจัยบอกว่าในอนาคตจะไม่ได้เก็บน้ำลายจากตัวเห็บมาใช้โดยตรง เนื่องจากมีปริมาณน้อยและใช้ท่อขนาดเล็กเก็บน้ำลายได้ลำบาก จึงจะมีการใช้ยีนสังเคราะห์มาเพาะเลี้ยงในยีสต์ เพื่อผลิตโปรตีนแบบเดียวกับที่พบในน้ำลายเห็บนี้ในปริมาณมากแทน
ทั้งนี้ เห็บมีโปรตีนในน้ำลายสูงสุดถึง 3,000 ชนิด ซึ่งขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเห็บแต่ละตัว
Cr.https://www.bbc.com/thai/international-40473017



พิษหอยเต้าปูนใช้เป็นยาแก้อาการปวดเรื้อรังได้



(MY HUYNH )

พิษของหอยเต้าปูนชนิด Conus Regius ซึ่งพบในแถบทะเลแคริบเบียนและละตินอเมริกา สามารถใช้เป็นยาบำบัดอาการปวดรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังได้ ทั้งออกฤทธิ์ระงับปวดอยู่นานสูงสุดถึง 3 วัน โดยผู้พัฒนาตัวยานี้คาดว่าจะสามารถนำไปใช้ทดแทนมอร์ฟีนและยาแก้ปวดชนิดรุนแรงที่ส่งผลเสียต่อร่างกายได้ในอนาคต
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ของสหรัฐฯ เผยผลการศึกษาทดลองยาแก้ปวดจากพิษหอยเต้าปูนดังกล่าวลงในรายงานการประชุมของสถาบันวิชาการวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ (PNAS) ระบุว่าพิษจากหอยเต้าปูนบางประเภทที่คนท้องถิ่นในแถบแคริบเบียนเรียกกันว่า หอยเต้าปูนมงกุฎ (Crown cone ) มีสารประกอบ Rg1A ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบประสาทบางส่วนของมนุษย์ ทำให้ไม่เกิดอาการปวดขึ้นในร่างกาย

การออกฤทธิ์ระงับปวดของยาจากพิษหอยเต้าปูน มีความแตกต่างจากยาแก้ปวดทั่วไปในปัจจุบัน โดยจะยับยั้งไม่ให้อาการปวดก่อตัวขึ้นตั้งแต่แรก ซึ่งตรงกันข้ามกับยาแก้ปวดส่วนใหญ่ที่ทำให้ระบบประสาทไม่รับรู้ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นแล้ว โดยยาทั่วไปในปัจจุบันให้โปรตีนบางชนิดเข้าจับกับตัวรับของเซลล์ประสาทในสมองและอวัยวะอื่น ๆ ทั่วร่างกาย

ในการทดลองให้ยาแก้ปวดชนิดใหม่กับหนูที่รับเคมีบำบัดจนทำให้หนูไวต่อสัมผัสและความหนาวเป็นพิเศษ พบว่ายาจากพิษหอยเต้าปูนสามารถออกฤทธิ์ระงับความเจ็บปวดอยู่ได้เป็นเวลานานสูงสุดถึง 72 ชั่วโมง ทำให้มีความหวังว่าหลักการทำงานของตัวยานี้จะเปิดประตูสู่การคิดค้นยาแก้ปวดชนิดใหม่ ๆ เพื่อนำมาทดแทนมอร์ฟีนและยาแก้ปวดชนิดรุนแรงอื่น ๆ ที่ใช้บำบัดอาการปวดเรื้อรัง จนทำให้ผู้ป่วยเกิดการเสพติดยาและเกิดผลข้างเคียงหลายอย่างตามมาได้
หอยเต้าปูนมีหลากหลายชนิดพันธุ์ ใช้เข็มพิษล่าเหยื่อเป็นอาหาร โดยพิษโคโนท็อกซิน (Conotoxins)จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้เหยื่อเป็นอัมพาตและหมดสติอย่างรวดเร็ว พิษของหอยเต้าปูนขนาดใหญ่บางชนิดรุนแรงพอที่จะทำให้มนุษย์ตายได้ แต่ยังไม่มีการค้นพบยารักษาพิษชนิดนี้
Cr.https://www.bbc.com/thai/international-39038275



แบคทีเรียในน้ำลายหมีสีน้ำตาลอาจเป็นยาปฏิชีวนะชนิดใหม่



(GETTY IMAGES)

ในบรรดาเชื้อแบคทีเรียหลากหลายชนิดที่อยู่ในน้ำลายของหมีสีน้ำตาลพันธุ์ไซบีเรียตะวันออก (East Siberian brown bear) มีอยู่อย่างน้อยชนิดหนึ่งที่อาจนำไปพัฒนาเป็นยาปฏิชีวนะขนานใหม่ ซึ่งจะสามารถต้านทานเชื้อดื้อยาชนิดรุนแรงหรือซูเปอร์บั๊ก (Superbug) ได้

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรัตเจอร์สของสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการค้นพบข้างต้นลงในวารสาร PNAS โดยระบุว่าได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด แยกแยะเชื้อแบคทีเรียนับแสนชนิดในน้ำลายของหมีออกจากกัน โดยให้เชื้อแต่ละชนิดพันธุ์แยกกันเกาะอยู่กับหยดน้ำมันเล็ก ๆ เพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบว่าแบคทีเรียชนิดใดจะมีความสามารถต้านทานเชื้อดื้อยาได้บ้าง

การที่นักวิทยาศาสตร์เลือกเอาหมีสีน้ำตาลพันธุ์ไซบีเรียตะวันออกมาศึกษา เพื่อค้นหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์นั้น เนื่องจากสัตว์ป่าที่อยู่ในสภาพแวดล้อมห่างไกลจากความเจริญและมนุษย์ น่าจะมีระบบชีวนิเวศจุลชีพ (Microbiome) หรือการดำรงอยู่ร่วมกันของจุลินทรีย์หลากหลายชนิดในร่างกายที่แตกต่างออกไปและยังไม่ถูกปนเปื้อน ซึ่งลักษณะพิเศษนี้ช่วยให้สัตว์ป่ามีภูมิต้านทานเชื้อโรคร้ายที่อยู่รอบตัวได้

ผลการตรวจสอบเบื้องต้นปรากฏว่า มีเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งในน้ำลายของหมีสีน้ำตาล ไม่มีเชื้ออันตรายอย่าง Staphylococcus aureus มาอาศัยร่วมอยู่ด้วย แสดงว่าแบคทีเรียชนิดนี้สามารถฆ่าเชื้ออันตรายดังกล่าว ซึ่งเป็นเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะเมทิซิลลิน หรือที่เรียกกันว่าเชื้อ MRSA ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของวงการสาธารณสุขทั่วโลก
ศ. คอนสแตนติน เซเวรินอฟ ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า จำเป็นต้องจับหมีสีน้ำตาลพันธุ์ดังกล่าวมาจากถิ่นอาศัยในป่าลึก เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำลาย ก่อนจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม เพราะไม่อาจใช้หมีในสวนสัตว์ที่กินอาหารและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้ระบบชีวนิเวศจุลชีพในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจากตอนเป็นสัตว์ป่าแล้ว
"เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่เราใช้แยกแยะเชื้อแบคทีเรียนับแสนชนิดในน้ำลายของหมีออกจากกัน ทำให้ค้นพบเชื้อแบคทีเรียที่มีศักยภาพในการเป็นยาปฏิชีวนะขนานใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เทคนิคนี้จะปูทางไปสู่การค้นหายาปฏิชีวนะรุ่นใหม่จากสัตว์ป่า ซึ่งจะทรงประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อดื้อยาได้ดีกว่าเดิม" 
Cr.https://www.bbc.com/thai/features-45539040

ปลาถ้ำตาบอดอาจเป็นกุญแจใหม่ในการรักษาเบาหวาน


ปลาถ้ำตาบอดที่อาศัยอยู่ในประเทศเม็กซิโก อาจเป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่ปรับตัวขึ้นเพื่อรับมือกับน้ำตาลโดยเฉพาะ  โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกำลังศึกษาปลาที่มีไขมันน้อยเหล่านี้ เพื่อหาคำตอบว่าพวกมันรับมือกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูงที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนจำนวนมากได้อย่างไร ซึ่งผลการวิจัยล่าสุดถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Nature   ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์การจัดลำดับยีนที่เรียกว่า CRISPR ทีมนักพันธุศาสตร์พบว่าปลาเหล่านีมีความต้านทานอินซูลินสูง หรือภาวะดื้อต่ออินซูลิน

อินซูลินคือฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้กลายมาเป็นพลังงาน เปรียบดั่งรหัสผ่านพิเศษที่ช่วยพาน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์ ในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 อินซูลินของผู้ป่วยจะทำงานไม่เป็นปกติหรือถูกผลิตออกมาไม่มากพอ ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เช่นเดียวกันกับที่นักวิทยาศาสตร์พบว่าบรรดาปลาถ้ำตาบอดเองก็มีภาวะนี้เช่นกัน แต่พวกมันกลับไม่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพมากนัก

ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าปลาเหล่านี้มียีนที่กระตุ้นให้พวกมันรู้สึกหิวตลอดเวลา ในมนุษย์เป็นเรื่องอันตราย แต่สำหรับปลาเหล่านี้แล้วภาวะดังกล่าวช่วยให้ร่างกายเลือกเก็บไขมันในช่วงขาดแคลนอาหาร และส่งผลให้พวกมันมีชีวิตรอดได้ในถ้ำ ที่ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของสาหร่าย ซึ่งเป็นอาหารหลักของมันนั้นมีไม่แน่นอน
ทีมนักวิจัยยังเปรียบเทียบยีนของปลาถ้ำตาบอดกับปลาสายพันธุ์ใกล้เคียงที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำและไม่มีความต้านทานอินซูลินเช่นปลาถ้ำ พวกเขาพบว่าทั้งสองสายพันธุ์มีอายุยืนยาวพอๆ กัน จากนั้นนักวิจัยได้ลองสร้างลูกผสมของทั้งสองสายพันธุ์ขึ้นมา ลูกผสมของพวกมันเป็นปลาอ้วนพีที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง พวกมันถูกฉีดยีนกลายพันธุ์ที่มีความต้านทานต่ออินซูลินเข้าไปในร่างกาย จากนั้นนักวิทยาศาสตร์พบว่าปลาลูกผสมเหล่านี้อ้วนขึ้นไปอีก แต่พัฒนาความต้านทานอินซูลินขึ้นได้ในที่สุด

ในมนุษย์ เมื่อผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะส่งผลกระทบต่อหลอดเลือด และความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันและหัวใจตามมา “ปลาถ้ำเองก็มีน้ำตาลในเลือดสูง แต่พวกมันมีสุขภาพที่ดี มันทำได้อย่างไร?” Misty Riddle ผู้ร่วมการวิจัยตั้งคำถาม ซึ่งในการหาคำตอบและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการกับร่างกายที่มีน้ำตาลในเลือดสูงของปลาถ้ำตาบอดเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าจะสามารถพัฒนากลยุทธ์ในการจัดการกับโรคเบาหวานได้ในอนาคต
เรื่อง ซาร่าห์ กิบเบ็นส์
Cr.https://ngthai.com/animals/9194/blind-cave-fish-secret-to-treating-diabetes/

(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่