จัดการอย่างไร เมื่อ File server บวม

ไม่ว่าออฟฟิศไหน มันจะต้องมีซักเครื่อง ที่เป็นที่เก็บไฟล์ ให้ทุกคนสามารถมาใช้ไฟล์จากเครื่องนี้ได้ จะทำแบบง่าย ๆ แค่ Windows file sharing จากเครื่องใช้งานเครื่องหนึ่งในออฟฟิศ หรือจะเล่นท่ายากเป็น File sharing บน Windows server หรือ NAS (Network Attached Storage) ที่มีการกำหนดสิทธิ์ให้กับ User แต่ละคน หรือจะล้ำหน่อยก็ใช้ File sharing on cloud ทั้งหมดทั้งมวลนี้ มันก็คือ File sharing ที่เมื่อใช้ไประยะหนึ่ง มันก็จะเริ่มบวมไปด้วยไฟล์จากทุกคนทุกแผนก บวมจนใกล้เต็ม และใกล้เต็มจนเป็นปัญหา
คนที่ดูแล File server มักเป็นแผนกไอที ส่วนใหญ่ก็จะงัดเอามาตรการมาใช ้เพื่อรักษาอาการบวมของ File server  มาตรการมีจากเบาไปหาหนัก เริ่มจากขอความร่วมมือ จนถึงขั้นขอร้อง บางออฟฟิศดีหน่อย งบถึง ก็เพิ่มขนาด Storage ให้ใช้ได้ยาว ๆ, บางออฟฟิศ แห้งแล้งด้านงบประมาณ แผนกไอทีก็จะหันไปแยกเขี้ยวกับผู้ใช้ (ตัวเล็ก ๆ) ไม่ลบงั้นกรูลบให้ 5555555
มันพอจะมีวิธีจัดการ File server อย่างไร ให้ผู้ใช้มีที่เก็บไฟล์ได้อย่างน่าพอใจ และไม่เป็นภาระกับแผนกไอทีต้องมานั่งเก็บกวาดหรือเคลียร์ขยะ ไม่เกิดการปะทะระหว่างผู้ใช้กับไอที นี่คือสิ่งที่เราจะว่ากันในครั้งนี้
 


1. แยกถัง
แปลว่าแยกถังเก็บข้อมูลครับ ทุกออฟฟิศมักจะมีอยู่แล้ว 2 ถัง คือ File storage กับ Backup storage ซึ่งมันยังไม่ครบครับ ถังสำคัญที่ขาดไป เรียกว่า "Archive storage" เรียกว่า ถังเก็บของเก่า ก็ได้
คิดแบบนี้ครับ Active storage ก็คือ File storage ที่ใช้ประจำ เป็น share drive ที่ผู้ใช้เข้าถึงได้ตลอดเวลา และทุกวัน หรือทุกสัปดาห์ ก็จะมีการ Backup active storage นี้ มาไว้ที่ Backup storage สำรองเอาไว้เพื่อกู้คืนหาก Active storage เกิดเสียหาย ส่วนไฟล์ใน Active storage ที่เก่าแล้ว ก็เอามาไว้ที่ Archive storage ไม่งงนะครับ ถ้างงอ่านใหม่อีกรอบ
สังเกตให้ดีนะครับ Backup storage จะ backup เฉพาะไฟล์ที่อยู่ใน Active เท่านั้น ไม่ได้ Backup file จาก Archive
 
อย่างไรถึงจะเรียกว่า “ไฟล์เก่า”
บ้านเก่าอายุร้อยปีที่มีคนอาศัยอยู่ เราไม่ทุบทิ้ง แต่บ้านใหม่ที่ยังสร้างไม่เสร็จ โดนธนาคารยึดไป ปล่อยร้างมา 5 ปี ก็น่าทุบทิ้ง ไฟล์เก่าก็เช่นเดียวกัน แม้ไฟล์จะเก่า แต่ถ้ายังมีคนเปิดใช้อยู่เรื่อย ๆ ก็ไม่ควรจะย้าย ถ้าไม่มีใครแตะไฟล์นี้เลยมาระยะหนึ่ง อาจจะ 1 ปีขึ้นไป ก็น่าจะถือเป็นไฟล์ที่ควรถูก Archive ได้ ถูกมั้ยครับ ปีนึงไม่เคยมีใครแตะไฟล์นี้แล้ว จะเก็บไว้ทำแบ๊ะอะไรล่ะครับ
 
ดังนั้น ไฟล์เก่าเราดูกันที่ Last access ครับ
 
ทีนี้ต้องไม่เข้าใจผิดนะครับ เราไม่ได้มากำหนดว่า ไฟล์เก่าแค่ไหนแล้วจะ “ลบ” แต่เรากำลังกำหนดว่า ไฟล์เก่าแค่ไหนที่เราจะ “ย้าย” คือย้ายจาก Active storage ไปยัง Archive storage
Archive storage ยังแปลว่า ถ้าใครจะเอา Archived file คงจะต้องตะโกนดัง ๆ ว่า
“แผนกไอทีคร้าบ ผมจะเอาไฟล์นี้จาก Archive ช่วย Copy มาใส่ใน Active ให้ผมหน่อยคร้าบ”
หน้าที่นี้จะเป็น Archive storage manager ครับ ซึ่งเมื่อหยิบไฟล์ Archive มาใส่ใน Active แล้ว ก็ต้องถาม User ว่า มีการแก้หรือไม่ ถ้าไม่มี ใช้ไฟล์แล้วก็ลบทิ้งจาก Active storage ได้เลย แต่ถ้ามีการแก้ไข ก็ต้องมีการอัพเดต Archive ตามด้วย
 
2. ข้อมูลแบบไหน เก่าแค่ไหน ถึงควรย้าย ไป Archive
นั่นดิครับ ผมบอกไม่ได้ แผนกไอทีไม่ควรจะเป็นคนบอก ใครจะบอกได้ ก็ผู้ใช้นั่นแหละครับ
แผนกไอที ควรจะประชุมกับผู้ใช้ แนะนำให้รู้ขบวนการ Life cycle ของไฟล์ว่า ไฟล์มันมีเกิด ก็ย่อมมีดับ ชีวิตไม่ยั่งยืนฉันใด ไฟล์ย่อมตายและสูญสลายไปจากเซิร์ฟเวอร์ได้ฉันนั้น แผนกไหนมีไฟล์อะไรเก็บอยู่ มาคิดกันครับว่า นานเท่าไหร่ที่เราคิดว่า เราคงจะไม่ไปเปิดไฟล์นั้นอีก ไม่แก้ไฟล์นั้นแล้ว แต่ยังลบไม่ได้ แต่ละแผนก แต่ละประเภทของไฟล์ กำหนดกันขึ้นมา เอาแค่ไฟล์หลัก ๆ หรือโฟลเดอร์หลัก ๆ ก็พอ แค่นี้ แล้วประกาศให้ทุกคนรู้จักกับขบวนการ Archive file
เมื่อแต่ละแผนก ตกลงกันได้เช่นนี้ การบวมเพราะการเก็บไฟล์แบบ Unlimit ก็ไม่เกิดขึ้นแล้วครับ
การ Archive file ไม่ต้องทำบ่อยครับ ปีละครั้ง ก็พอแล้ว
 
3. ควรเลือกใช้ Archive storage แบบไหน
Archive storage ควรจะเป็นแบบนี้ครับ
1. ไม่ต้องเสียบปลั๊กมันไว้ตลอด (เสียบทำไม นาน ๆ ใช้ที)
2. เก็บได้หลาย TB (Terabyte) เพราะ Archive จะถูกพอกขึ้นไปเรื่อย ๆ
3. เก็บได้นาน (เป็นปี ๆ) โดยข้อมูลไม่สูญหาย ไม่เสื่อมสภาพ
4. สถานที่เก็บไม่ยุ่งยาก ไม่ค่อยแคร์เรื่องอุณหภูมิ ความชื้น สั่นสะเทือน (ทำหล่น) ไม่กลัวแสงสว่างหรือไม่ต้องการความมืด
5. เอากลับมาได้ไม่ยาก ไม่ยุ่งยากถ้าต้องการอ่านข้อมูลกลับออกมา และใช้เวลาอ่านกลับไม่นานเกินรอ
6. ราคาต่อ GB หรือต่อ TB แล้ว ไม่ทำกระเป๋าฉีก
ตามข้างบนนี้ คือคุณสมบัติที่ Ideal ครับ มาดูว่า เรามีตัวเลือกอะไรบ้าง ราคาเป็นอย่างไร และ Storage ประเภทนั้นขาดคุณสมบัติแค่ไหน
 
HDD - หาง่ายครับ เก่งมากเรื่องข้อ 5 ส่วนข้อที่เหลือด้อยหมด เพราะ HDD มีจุดให้พังเยอะเหลือเกิน มอเตอร์พัง, หัวอ่านพัง, วงจรพัง, สารแม่เหล็กเสื่อม, Connector เสื่อม อะไรซักอย่างเกิดพังขึ้นมา ก็จะ access ข้อมูลไม่ได้แล้ว แถมการพังยังสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องเสียบปลั๊ก เช่น ห้องแอร์อาการแห้งไฟฟ้าสถิตย์อยู่ที่มือ ก็ทำ HDD พังได้แล้ว ยิ่งยืดระยะเวลาออกไปซัก 10 ปี โอกาสพังก็ยิ่งมีมาก คุ้มหรือเปล่าที่จะเอา HDD มาทำ Archive storage ต้องคิดให้หนักครับ
 
Blu ray disc - เคยมอง Media นี้มั้ยครับ แผ่นนึงไม่กี่ร้อย เก็บได้ตั้ง 50GB แค่ 300-400 บาทเท่านั้นเอง Drive ที่ใช้อ่านเขียนก็ราคาแค่หลักพันต้น ๆ เท่านั้น อายุแผ่นเขาคุยว่าเก็บได้เป็นร้อยปี แต่เพียงแค่รอยนิ้วมือหรือรอยขูดขีด ก็อาจมีผลกับข้อมูลบนแผ่นแล้ว ที่เหลือ Blu ray disc ถือว่าผ่านได้ดีเกือบทุกข้อ
ผมคิดว่า ถ้าใช้ Blu ray disc อาจจะตั้งเอาไว้ว่า ทุก ๆ 10 ปี ก็มาถ่ายขึ้น Media ใหม่ซักทีก็ได้ครับ ร้อยปีออกจะเว่อร์ไปนิด
แต่ Media ช้ินละ 50GB อาจจะไม่เหมาะกับบางงาน และบางออฟฟิศก็ต้องการขนาดของ Archive storage ที่โหดเหี้ยมกว่านั้น อย่างงานเขียนแบบ บางทีอาจต้องเก็บหลาย TB จะมานั่งเก็บแผ่นละ 50GB บางทีก็กองท่วมหัวล้นห้องได้เหมือนกัน
 
LTO tape - มีมานานกว่า 30 ปีแล้วครับ และค่อย ๆ เก่งขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน ตลับหนึ่งเก็บข้อมูลได้กว่า 12TB (คุยว่า compressed แล้วจะได้ถึง 30TB....โอ้แม่เจ้า) และการพัฒนายังไม่หยุดครับ ในอนาคต เขามีแผนจะทำให้แต่ละตลับจุได้มากถึงระดับ 100TB++ กันเลย
ถ้าแปลกใจว่า ทำไมเทปตลับนึงถึงเก็บข้อมูลได้เยอะ ทำแบบนี้ครับ กำเงินซัก 5,000 ซื้อ LTO-7 มาซักม้วน แล้วก็ดึงเทปมันออกมานะครับ จะพบว่า เทปมันโคตรยาวจนพันรอบสนามกรีฑามาตรฐานได้ 2 รอบ ยาวรวมกันก็เกือบกิโลเมตร ถ้าคิดเป็นพื้นที่ก็เกือบ 12 ตารางเมตร ขนาดฮาร์ดดิสก์แผ่นเท่าฝ่ามือ ยังเก็บได้ตั้งหลาย TB แล้วนี่พื้นที่ขนาด 12 ตารางเมตรจะเก็บได้แค่ไหน คิดดูละกันครับ
เทียบราคาต่อ TB แล้ว ถือว่า LTO ถูกกว่าแผ่น Blu ray เกือบ 25 เท่า (โดย Media เท่านั้น) แต่ก็จะไปแพงที่ Tape drive ครับ มีให้เลือกตั้งแค่ครึ่งแสนไปจนถึงแสนกลาง แถมเทคโนโลยีของ LTO ก็มักจะมีการอัพเกรดทุก 3-5 ปี แปลว่าเราต้องคอยมาเปลี่ยนเทปใหม่ และเปลี่ยน Drive ใหม่กันอยู่เรื่อย เพราะ Drive ใหม่จะอ่านเทปมาตรฐานเก่าลงไป 1 รุ่นเท่านั้น หรือคิดเป็นอายุ Drive กับอายุเทปที่ห่างกันได้ไม่เกิน 10 ปี
ดังนั้น แม้ LTO จะคุยว่า ข้อมูลสามารถอยู่บนเทปได้ 30 ปี แต่ด้วย Drive ที่มีอายุในตลาดแค่ 5 ปี อย่างเก่งถ้าเราซื้อ LTO-7 วันนี้ เราคงใช้มันได้แค่ 10 ปีก่อนที่จะหา Drive มาอ่านมันไม่ได้ครับ
ที่ควรรู้เอาไว้อีกเรื่องคือ อุณหภูมิสำหรับเก็บ LTO เพื่อเป็น Archive ก็น่าจะพอประมาณที่ห้องแอร์แบบ Data center ครับ ไม่เกิน 25 องศา ถ้าคิดจะเก็บในตู้ออฟฟิศทั่วไปที่เปิดแอร์บ้าง ปิดแอร์หลังเลิกงาน มันมีผลกับอายุข้อมูลบนเทปครับ สั้นลงเท่าไหร่ คงต้องลุ้นกันไป
 
ผลิตภัณฑ์เฉพาะทาง - จริง ๆ แล้วในตลาด ก็มีผลิตภัณฑ์เฉพาะทางที่เอาไว้ทำ Archive อีกครับ ใหญ่กว่านี้ แพงกว่านี้ เก็บได้นานกว่านี้ อาจจะเหมาะกับคนกลุ่มเล็ก ๆ หรือเฉพาะบางวงการ ผมไม่พูดถึงละกันครับ
 
4. Archive ไว้นานเท่าไหร่
เช่นเคยครับ ทุกอย่างย่อมมีการสูญสลาย Archive ก็เช่นกัน กลับมาที่เรืองเดิมครับ แผนก IT ต้องประชุมสร้างข้อตกลงกับทุก ๆ แผนกว่า ข้อมูลของเขาจะอยู่ใน Archive นานเท่าไหร่ อย่างแผนกบัญชีเขาสนใจแค่ 15-20 ปีเท่านั้น นานกว่านั้นมันพ้นภาระเขาแล้ว อยากลบก็เชิญเลย เป็นต้น
 
ทำตาม 4 ข้อนี้ File storage จะไม่มีบวม ส่วนใหญ่ที่บวมกันเพราะไม่คุยกัน ไม่สร้างข้อตกลง จู่ ๆ ก็ตั้งโจทย์จากไหนไม่รู้ว่า ข้อมูลต้องไม่หาย และต้องเก็บตลอดไป โจทย์แบบนี้ ไม่มีใครทำได้ และไม่มีธุรกิจไหนยอมจ่ายค่าเก็บข้อมูลชั่วนิจนิรันดร์ขนาดนั้น
 
● คุยกันให้เข้าใจ และทุกฝ่ายจะทำงานสนองกันได้
● ผู้ใช้เข้าใจขบวนการ และแผนกไอทีไม่ต้องแบกภาระเกินจริง
● ธุรกิจก็ไม่ต้องจ่ายค่า Storage เกินตัวครับ

ยิ้ม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่