กระชาก ‘หน้ากากอนามัย’ แบบไหนใช้ได้ยามวิกฤต Covid-19

กระชาก ‘หน้ากากอนามัย’ แบบไหนใช้ได้ยามวิกฤต Covid-19
March 12, 2020
by ปริญญา ชาวสมุน
https://judprakai.bangkokbiznews.com/social/1577
  
  
เถียงให้จบ กับบทสรุปหน้ากากอนามัย เมื่อหาซื้อไม่ได้ แบบไหน ‘ใช้ได้’ แบบไหน ‘ไม่แนะนำ’
 
ยิ่งแนวโน้มโคโรนาไวรัสจะอยู่สร้างปัญหาให้มนุษยชาติอีกยาวนาน วิกฤตการณ์ต่างๆ ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิต การกักตุนเครื่องอุปโภคบริโภค รวมทั้งภาวะขาดแคลน ‘หน้ากากอนามัย’ อย่างที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ
ข้ามคำถามที่ว่าผลิตได้มากน้อยเท่าไร หรือหน้ากากที่ผลิตแล้วไปไหน เพราะจะได้คำตอบหรือไม่ สุดท้ายคนไทยก็ยังหาซื้อหน้ากากอนามัย (ราคาปกติ) ได้ยากอยู่ดี หลายคนจึงสรรหาวิธี DIY ทำหน้ากากใช้เอง ถึงจะไม่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมและการแพทย์ แต่อย่างน้อยก็ทำให้อุ่นใจในระดับหนึ่ง
ขณะที่มีสารพัดหน้ากากจากหลากหลายวัสดุทั้งทำขายและใช้เอง หลายข้อมูลที่มีทั้ง Fact และ Fake ออกมาระบุว่าหน้ากากอนามัย ‘บางชนิด’ ไร้ประโยชน์ จนบางคนอ่านแล้วแทบจะโยนทิ้งทันที
ต่อไปนี้คือรวมเกร็ดเกี่ยวกับหน้ากากอนามัยที่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าแบบใด ‘ใช้ได้’ แบบใด ‘ไม่แนะนำ’ และถ้าจะทำหน้ากากใช้เอง ควรทำอย่างไร
  
THAMMASK หน้ากากธรรมศาสตร์จากผ้าธรรมดา
เมื่อมาตรการเกี่ยวกับหน้ากากอนามัยจากภาครัฐยังกระท่อนกระแท่น ทั้งประชาชนและหน่วยงานต่างๆ จึงหาทางออกเพื่อเป็นทางรอดเท่าที่จะพอทำได้ อย่างไม่กี่วันก่อนคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคไวรัสโคโรนา 19 ได้แถลงความคืบหน้าพร้อมกับเปิดตัวหน้ากากอนามัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ในชื่อ THAMMASK เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยในภาวะ Covid-19 ระบาด
อาจารย์ธนิกา หุตะกมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. (SCI-TU) อธิบายว่า หน้ากากดังกล่าวเป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างผ้าที่มีคุณสมบัติกันน้ำ และเหมาะสมแก่การพัฒนาเป็นหน้ากากผ้าป้องกันสารคัดหลั่งเบื้องต้น เพื่อใช้ทดแทนหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลนในขณะนี้ โดยใช้ ‘ผ้าฝ้ายผสมโพลีเอสเตอร์’ (Cotton-Silk) เนื่องจากมีโครงสร้างของเส้นใยที่เหมาะสม ประกอบด้วย Cotton - Microfiber จำนวนเส้นด้าย 500 เส้นต่อ 10 ตารางเซนติเมตร มีเส้นด้ายยืนโพลีเอสเตอร์ ไฟเบอร์ เบอร์ 75 (Polyester Microfiber) เส้นด้ายพุ่งโครงสร้างเส้นใยฝ้าย คอมแพ็ค โคมบ์ เบอร์ 40 (Cotton Compact Combed)
นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตการใช้เทคโนโลยีสะท้อนน้ำ ด้วยสาร NUVA - 1811 ซึ่งมีอนุภาคเป็นระดับไมครอนแทรกเข้าไปเนื้อผ้า เพื่อต้านไม่ให้โมเลกุลของน้ำแทรกเข้าไปในเนื้อผ้าได้ NUVA - 1811 ได้รับการรับรองจาก Oekotex Standard 100 - 2019 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีความปลอดภัยเมื่อสัมผัสผิวหนังโดยตรง เบื้องต้นจะผลิตเพื่อบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 1,000 ชิ้น ในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้
  
DIY ได้ด้วยผ้าเจอร์ซี่นิต
สำหรับประชาชนตาดำๆ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าหากจะประดิษฐ์หน้ากากใช้เอง ควรเลือกผ้าประเภทเจอร์ซี่นิต (Jersey Knit) เพราะเนื้อผ้ามีลักษณะคล้องกันเป็นห่วงตลอดทั้งผืน โดยที่ผ้าด้านหน้าจะมีลักษณะเป็นแนวตั้ง ส่วนผ้าด้านหลังมีลักษณะเป็นห่วงแนวนอน จึงทำให้ผ้ามีโครงสร้างเป็นผ้าถัก และทำให้ผ้ามีความยืดหยุ่น สวมใส่สบาย มีน้ำหนักเบา และที่สำคัญระบายอากาศได้ดี เหมาะกับอากาศร้อนของประเทศไทย
“ผ้าเจอร์ซี่นิตคือผ้าถัก หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นผ้ายืด แบบเสื้อยืด
สำหรับต้นทุนการผลิตราวชิ้นละ 15-20 บาท แต่ข้อดีคือ ซักและใส่ซ้ำได้ ดีไซน์ได้ตามต้องการและไม่ซ้ำใคร สำหรับผ้าเจอร์ซี่นิตหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายผ้าทั่วไป
นอกจากผ้าเจอร์ซี่นิตซึ่งหาง่ายอยู่แล้ว หากต้องการใช้ผ้าชนิดอื่นๆ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ผ้าฝ้ายผสมโพลีเอสเตอร์ หรือผ้าของเสื้อาปกติทั่วไปก็ใช้ได้ แต่ต้องมีโครงสร้างการทอที่แน่น ไม่ให้มีรูผ้าเยอะ มิเช่นนั้นสารคัดหลั่งจะแทรกซึมได้ไว
ไม่ใช่แค่คุณสมบัติการป้องกัน แต่ความนุ่มสบาย ไม่ระคายเคือง ของผ้าในกลุ่มผ้าฝ้ายเป็นอีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหน้ากากจะต้องสัมผัสผิวหน้าเป็นเวลานาน
  
หน้ากากมาตรฐานทั่วไป ใช้ได้แน่นอน
ถึงตอนนี้จะหาซื้อยาก แถมยังต้องห่วงหน้าพะวงหลังว่าจะได้หน้ากากมือสองหรือถูกพ่อค้าแม่ค้าขายโก่งราคาอีก แต่ด้วยคุณสมบัติของหน้ากากอนามัยแบบมาตรฐานที่ด้านในดูดซับน้ำได้ดี ทำให้เมื่อไอจามจะถูกดูดซับไว้ด้านใน ป้องกันการแพร่เชื้อโรคได้ อีกทั้งด้านนอกยังเคลือบสารที่มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำได้ระดับหนึ่ง จะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากสารคัดหลั่งต่างๆ ซึมผ่านหน้ากากอนามัยสู่ผู้สวมใส่
โดยส่วนมากหน้ากากประเภทนี้จะผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์มีหลายชั้นตั้งแต่ 3-4 ชั้น เพื่อประสิทธิภาพการกรองตั้งแต่ฝุ่นละออง, เชื้อโรค (โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย) และกันน้ำ ในบางรายเพิ่มชั้นกรองคาร์บอนเพื่อกรองกลิ่นและสารระเหย ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพด้านการกรองเชื้อแบคทีเรียได้ด้วย แน่นอนว่าหน้ากากที่เพิ่มสกิลการป้องกันอย่าง N95 ที่เน้นด้านป้องกันฝุ่น PM2.5 ก็ใช้ได้ดี แต่มีข้อเสียคือทำให้หายใจไม่สะดวกและราคาแพง
หน้ากากแบบนี้ควรใช้แล้วทิ้ง ในสถานการณ์ปกติควรใช้เพียงวันเดียวแล้วทิ้งเลย แต่ในช่วงเวลายากลำบากเช่นนี้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าหากหน้ากากไม่เลอะหรือไปสัมผัสสิ่งสกปรก จะใช้สองวันก็ยังพอทำได้ แต่อย่างไรก็ตามหากเป็นไปได้หรือหาหน้ากากได้เพียงพอ ควรใช้แค่วันเดียว
 
ผ้าสาลู (เพียวๆ) อาจไม่เฟี้ยวอย่างที่คิด
ก่อนหน้านี้ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาแนะนำให้ใช้ผ้าสาลูทำหน้ากากอนามัย เพราะมีขนาดใยผ้าเล็กประมาณ 1 ไมครอน ขณะที่การแพร่เชื้อผ่านละอองฝอยอยู่ที่ 5 ไมครอน ผ้าสาลูซึ่งมีราคาไม่แพงและหาซื้อได้ง่ายจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
ทว่า อาจารย์ธนิกา กลับไม่แนะนำเสียทีเดียว เพราะโครงสร้างการทอผ้าสาลูค่อนข้างห่าง ทำให้มีช่องว่างระหว่างเนื้อผ้ามากเกินไป
“ที่ไม่แนะนำผ้าสาลู เพราะการทอผ้าสาลูเป็นการทอที่มีโครงสร้างห่าง ทำให้สารคัดหลั่งซึมเข้ามาได้ง่ายกว่า จึงไม่อยากให้มองที่ราคาถูกกับหาง่ายเพียงอย่างเดียว เพราะบางคนคิดว่าผ้าอ้อมเด็กก็เอามาทำได้
ถึงจะเอามาซ้อนกัน 3 ชั้น ก็ยังมีคุณสมบัติไม่เทียบเท่าผ้าฝ้ายที่มีลักษณะการทอแน่นๆ โดยที่จริงๆ คำว่าแน่นมีมาตรฐานรองรับ แต่สำหรับประชาชนที่ไม่รู้มาตรฐาน แค่จับดูว่าแน่นไหม ส่องแล้วไม่มีช่องว่างกว้างๆ แล้วนำมาซ้อนกัน 3 ชั้น ก็นำมาใช้ได้อยู่”
อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นจริงๆ ผ้าสาลูซ้อน 3 ชั้น ก็ยังพอใช้แก้ขัดได้ ดีกว่าปล่อยหน้าเปล่าเล่าเปลือยรับความเสี่ยงจากเชื้อโรค
 
ไม่เข้าท่า...หน้ากากผ้าสปันบอนด์
ผ้าที่ไม่ควรใช้เลยคือ ผ้าสปันบอนด์ หรือผ้านอนวูเว่น (Nonwoven) เนื่องจากไม่ใช่ผ้า แต่จริงๆ เป็น Polypropylene ใยสังเคราะห์พลาสติกที่ไม่ผ่านกระบวนการถักทอ แต่ใช้วิธีการฉีดเส้นใยต่อเนื่องที่กำลังร้อนสานไปมาบนสายพานและถูกลำเลียงมารวมกันแล้วพิมพ์นูนขึ้นรูปจนกระทั่งมีรูปแบบเหมือนผ้า
ซึ่งสปันบอนด์มีหลายเกรดมากทั้งเกรดที่นำมาทำหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน และเกรดที่นำมาทำถุงผ้า ดังนั้น จึงแยกได้ยากมากว่าเกรดไหนเหมาะสมที่จะเอามาใช้ทำหน้ากากอนามัย ผู้เชี่ยวชาญจึงไม่แนะนำ นอกจากนี้ เมื่อนำไปซักแล้วจะทำให้คุณสมบัติเสื่อมไป และอาจมีการย่อยสลายด้วย
การย่อยสลายได้ง่ายในกรณีที่เป็นผ้าสปันบอนด์เกรดต่ำ จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่า ‘ไมโครพลาสติก’ หากสูดดมเข้าไปเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง แน่นอนว่าในท้องตลาดมีหน้ากากอนามัยที่ผลิตจากวัสดุชนิดนี้วางจำหน่าย และหน้าตาก็ละม้ายคล้ายหน้ากากอนามัยมาตรฐานที่ใช้ทางการแพทย์ ทว่าความคล้ายอันแตกต่างคือ ถึงจะซ้อนกัน 3 ชั้น แต่แต่ละชั้นบางมาก และเป็นโพลิเมอร์ชนิดเดียวกัน เพียงแต่ย้อมสีฟ้าให้ดูดี หาใช่สารเคลือบกันน้ำไม่
  
หน้ากากฟองน้ำ กันไม่ได้ แต่เท่
ถึงการใส่หน้ากากอนามัยจะดูไม่เท่ ไม่หล่อ ไม่สวย หลายคนจึงเลือกที่จะสวมใส่หน้ากากแบบ Pitta หรือหน้ากากฟองน้ำ ทำนองเดียวกับที่ศิลปินทั้งไทยและต่างชาติใส่เวลาไปไหนมาไหน แต่ในแง่การป้องกันจากเชื้อโรค หน้ากากแฟชั่นที่ผลิตจากฟองน้ำแบบนี้ป้องกันได้เต็มที่เพียงกันละอองน้ำมูกและน้ำลายจากการไอจาม ป้องกันฝุ่นควันทั่วไป มลภาวะ เกสรดอกไม้ รวมถึงรังสียูวี แต่ไม่ป้องกันเชื้อโรคหรือฝุ่นละอองขนาดเล็กได้เลย
สำหรับวิกฤต Covid-19 ข้อดีที่มีเพียงสองประการของหน้ากากฟองน้ำคือมีแพทเทิร์นการตัดเย็บที่เข้ารูปกับใบหน้า จึงครอบปิดทั้งจมูกและปากได้อย่างมิดชิด
...และอีกข้อคือแค่ ‘เท่’
สุดท้าย กับคำถามที่หลายคนสงสัยและเสียงแตกเป็นสองฝ่าย ว่าถึงที่สุดแล้ว ‘หน้ากากอนามัยแบบผ้า’ ควรมิควรใส่ หากใส่จะป้องกันโรคได้หรือไม่ อาจารย์ธนิกายืนยันว่าในห้วงยามนี้ ‘ใส่หน้ากากหากัน’ ยังดีกว่าไม่ป้องกันอะไรเลย และที่สำคัญคือการรักษาสุขอนามัยทั้งการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และหน้ากากอนามัยจะไม่ป้องกันเชื้อโรคหากใส่ผิดวิธี
“จริงๆ แล้วหน้ากากผ้าใช้ได้ แต่ใช้ป้องกันเบื้องต้นเท่านั้น เพื่อไม่ให้สารคัดหลั่งถูกหน้าเรา แต่เมื่อเราถูกไอจามใส่ก็ต้องรีบถอดออกทันที”
 
หมายเหตุ : สำหรับผู้ที่สนใจวิธีการตัดเย็บหน้ากากผ้า เพื่อทดแทนกับหน้ากากอนามัยในช่วงที่ขาดแคลน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/ScienceThammasat/posts/2200214250082114
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่