เที่ยวตามรอยโครงการในพระราชดำริ ไปส่องน้องช้าง ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

          ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่นานนี้ เราได้มีโอกาสไปเที่ยวตามรอยโครงการในพระราชดำริที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีมา ทุกคนถ้าได้ยินคำว่าโครงการในพระราชดำริ อาจจะสงสัยกันว่าเราจะสามารถไปเข้าถึงได้เองอย่างเต็มที่ได้หรือเปล่า ความจริงแล้วทุกคนสามารถไปได้ด้วยตัวเองเลย แล้วแต่ว่าจะสนใจในธรรมชาติแบบไหน ก่อนหน้านี้ เรากำลังสนใจเรื่องเกี่ยวกับข่าวไฟไหม้ของป่าหลายๆแห่ง ทั้งไฟไหม้ป่าอเมซอน ไฟไหม้ป่าออสเตรเลีย ซึ่งเรารู้สึกสะเทือนใจมาก เพราะป่าในโลกที่อุดมสมบูรณ์ไม่ได้หลงเหลืออยู่มากแล้ว ทั้งสองป่าที่ถูกเผาไหม้ ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่อุดมสมบูรณ์ ตอนที่มีให้บริจาคเงิน เราก็ได้ร่วมบริจาคช่วยเหลือไปเหมือนกัน แล้วก็คอยติดตามข่าวอยู่ตลอด จนสงสัยว่าที่ประเทศไทยมีป่าที่อุดมสมบูรณ์แบบนี้หรือไม่ อยากจะไปให้เห็นกับตาว่าสภาพป่าจะเป็นยังไง และหวังเอาไว้ว่าในอนาคตจะไม่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าแบบนี้

          หลังจากที่ได้ศึกษาและหาข้อมูล ก็ได้รู้ว่าในไทยมีป่าที่อุดมสมบูรณ์อยู่มากเหมือนกัน เห็นได้จากอุทยานแห่งชาติต่างๆ แต่เราก็พยายามคัดเลือกสักอุทยานที่เหมาะสมกับการเดินทางภายในวันหยุดอันแสนสั้นนี้ จนปักที่จะไปเยือนคืออุทยานแห่งชาติกุยบุรี

          เริ่มต้นออกเดินทางจากกรุงเทพประมาณ 08:00 น. ไปถึงที่ประจวบคีรีขันธ์ประมาณ 12:00 น. เราก็มุ่งหน้าตรงไปที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ระหว่างทางก็แวะแชะรูปที่อ่างเก็บน้ำยางชุม ซึ่งเป็นทางผ่านก่อนถึงตัวอุทยาน ถนนสายนี้ทอดยาว มีต้นไม้ข้างทางให้ได้ชื่นชมธรรมชาติ เบื้องหลังได้เห็นภูเขาอยู่ลิบตา กึ่งกลางของทุกอย่างเป็นอ่างเก็บน้ำสุดลูกหูลูกตา ทำให้ได้รับรู้แล้วว่า นี่เป็นความธรรมชาติที่เรากำลังตามหา เพราะความคิดก่อนที่จะเลือกมาเที่ยวนี้ นอกจากสนใจที่จะได้ชมความอุดมสมบูรณ์ของป่าแล้ว ก็ต้องการที่จะให้ธรรมชาติได้เยียวยาร่างกายและจิตใจ เป็นการพักผ่อนไปในตัว จากที่ไม่ได้เดินทางมาเที่ยวต่างจังหวัดมานาน




          เสร็จจากที่อ่างเก็บน้ำยางชุมแล้ว ก็แวะรับประทานอาหารกลางวันเพื่อเติมพลัง ก่อนที่จะออกเดินทางต่อ เพื่อไปสถานที่ท่องเที่ยวหลักในการเดินทางครั้งนี้

          จากที่เราหาข้อมูลก่อนมาก็คือ อุทยานแห่งนี้ แต่ก่อนเป็นป่ากุยบุรีที่มีช้างเยอะมาก อีกทั้งป่าก็อุดมสมบูรณ์มาก และยังมีสัตว์ป่าอื่นๆ เช่นกัน แต่เรื่องราวที่สำคัญอยู่ตรงที่ ชาวบ้านเริ่มขยายพื้นที่ในการอยู่อาศัยมาเข้าใกล้ป่ามากขึ้นและอาจจะรุกรานพื้นที่ป่าบ้าง ทำสวน ทำไร่ จนวันหนึ่ง พื้นที่นั้นต้องถูกแบ่งสรรปันส่วนให้มีทั้งมนุษย์และสัตว์ป่าอยู่ด้วยกัน ทางสัตว์ป่าเช่น ช้าง ไม่ได้เข้าใจว่าพื้นที่นั้นไม่ได้มีแค่พวกเดียวกัน ช้างจึงได้ออกหากินไปล้ำพื้นที่ของชาวบ้าน ทำลายสวนสับปะรดหรือสวนต่างๆ ที่ชาวบ้านได้ตั้งใจปลูกไว้เพื่อการดำรงชีวิต สวนต่างๆ ได้เกิดความเสียหาย ต่างฝ่ายต่างไม่เข้าใจกัน เมื่อช้างได้ชื่อว่าผู้ทำลายในสายตาของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงคิดที่จะทำร้ายชีวิตช้าง ด้วยการยิงช้าง วางยาช้าง(มาจากสารเคมีในพืชด้วยเหมือนกัน) จนช้างป่วย ช้างล้มไปหลายต่อหลายตัว จำนวนช้างป่าที่เยอะในพื้นที่นั้นค่อยๆลดลง จนวันหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้มีโอกาสเสด็จเยี่ยมเยือนราษฎรและได้สำรวจพื้นที่ไปด้วย พระองค์ท่านทรงทราบถึงเรื่องที่ช้างรุกรานที่อยู่ของประชาชนบริเวณนั้นและการถูกทำร้ายของช้าง พระองค์ท่านจึงได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า

“...ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติคือ ให้ไปสร้างอาหารช้างในป่าเป็นแปลงเล็ก ๆ และกระจาย กรณีช้างป่าออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า...”
 
          เป็นพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 ต่อการจัดการความขัดแย้งคนกับช้างป่า อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการแก้ปัญหาระหว่างคนกับช้างป่าแห่งของผืนป่ากุยบุรี

          เมื่อเรื่องราวคลี่คลายชาวบ้านก็ทำตามพระราชดำรัส โดยปลูกป่าเพิ่ม ช่วยกันสร้างโป่งเทียม แปลงหญ้าเป็นอาหารให้กับช้างเพิ่ม เพื่อเป็นการทดแทนที่ชาวบ้านไปรุกรานป่า ซึ่งเป็นที่ที่มีอาหารของช้าง รวมถึงเป็นการป้องกันไม่ให้ช้างมายุ่งกับพืชสวนพืชไร่ของชาวบ้านได้อีก ดังนั้นป่ากุยบุรีหรืออุทยานแห่งชาติกุยบุรี จึงกลับกลายมาเป็นหนึ่งในป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในไทย เพราะชาวบ้านได้ร่วมกันดูแลป้องกันไม่ให้ผู้ใดมาทำลายที่อยู่อาศัยของช้างด้วย
 
          เมื่อป่าสมบูรณ์ ก็ย่อมมีสัตว์ป่าอยู่มากมายมีทั้งช้างป่า กระทิง สมเสร็จ เลียงผา แมวลายหินอ่อน เก้งหม้อ นก ผีเสื้อ ต่างๆ โดยเฉพาะช้างป่าและกระทิง ที่พบจำนวนละไม่ต่ำกว่า 300 ตัว

          จากการที่ต้องคนต้องอยู่ร่วมกับช้างป่าให้ได้แล้ว เจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติจึงเกิดความคิดขึ้นมาหวังจะให้ชาวบ้านที่อาศัยใกล้เคียงกับอุทยานกุยบุรีได้มีอาชีพเพื่อสร้างรายได้ เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สัตว์ป่า เน้นไปที่การเข้าชมช้างป่ากุยบุรี โดยให้ชาวบ้านในพื้นที่ ที่มีความคุ้นชินกับป่ากุยบุรีและสัตว์ป่าในป่ากุยบุรี ได้ทำหน้าที่ดูแลนักท่องเที่ยวที่อยากจะใกล้ชิดธรรมชาติ ด้วยการเป็นไกด์ชมป่าและสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยที่ไม่ได้มีการรบกวนสัตว์ป่าแต่อย่างใด

 
          สำหรับค่าใช้จ่ายในการเข้าชมช้างป่ากุยบุรี มีค่าเข้าชมคนละ 40 บาท และจำเป็นต้องเช่ารถกระบะที่ได้จัดเตรียมเอาไว้ในราคา 850 บาท คันนึงสามารถนั่งได้ถึง 10 คน เวลาที่สามารถเข้าชมได้คือระหว่าง 14.00 น. - 17.00 น.


          ก่อนที่จะได้เข้าชมช้าง จะมีบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อให้ทุกคนได้เดินเหยียบเพื่อฆ่าเชื้อ รวมไปถึงบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อขนาดใหญ่ให้กับรถกระบะที่จะนำพาเข้าไปด้วยเหมือนกัน


          นอกจากจะมีคนขับรถกระบะพาเข้าไปแล้ว จะมีไกด์อีกหนึ่งคน เป็นคนที่จะช่วยนำทางและให้ข้อมูล ดูแลกลุ่มนักท่องเที่ยวของแต่ละคัน รถของเราได้ไกด์ตัวน้อยที่ยังเป็นแค่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นผู้ดูแลตลอดทั้งการเดินทางในการชมป่าในวันนั้น น้องไกด์ได้เล่าให้ฟังด้วยว่า การมาทำงานนี้ทำให้มีรายได้ สามารถแบ่งเบาภาระในครอบครัว รวมถึงมีเงินในการใช้จ่ายส่วนตัว และเรียนหนังสือ


 
          เส้นทางที่จะได้เข้าชมช้างป่ากุยบุรีแบ่งเป็น 4 จุดด้วยกัน
 
          จุดที่ 1 จุดชมสัตว์ป่าโป่งสลัดได
          จุดที่ 2 หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร.1 (ป่ายาง)
          จุดที่ 3 พุยายสาย
          จุดที่ 4 บริเวณหน้าผาจุดชมสัตว์ป่า


          จากทางเข้านั่งรถกระบะกันมาสักพักก็ถึงจุดที่ 1 จุดชมสัตว์ป่าโป่งสลัดได จุดนี้เมื่อมองลงไปจะมีลานหญ้ากว้างอยู่ด้านล่าง และลานที่กว้างนี้ จากจุดยืนปกติจะไม่สามารถมองเห็นได้ทั้งหมด จึงมีเป็นบ้านสองชั้น ที่สร้างคล้ายกับหอสังเกตการณ์ มีหน้าต่างเปิดไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถมองไปให้เห็นลานด้านล่างให้ชัดเจนขึ้น

          พวกเราใช้เวลาอยู่ตรงนี้เป็นเวลาไม่นานนัก เพราะเป็นช่วงที่แดดยังแรง และยังไม่ใช่เวลาที่ช้างป่าจะปรากฏตัว เราก็เลยลองสอบถามกับไกด์ดู ไกด์ก็บอกว่าโอกาสที่เจอก็มีเหมือนกัน แต่ไม่สามารถคาดคะเนให้ชัดแจ้งได้ เพราะช้างจะออกมาเองตามธรรมชาติ โดยที่เราไม่ได้ไปรบกวนให้ช้างออกมา เพราะฉะนั้นบางคนมาแล้วเจอเลยก็มี บางคนอาจจะไม่เคยเจอเลยก็ได้ ณ จุดนี้ทุกคนก็ได้แต่คิดเข้าข้างกับตัวเองแล้วว่า นี่เป็นแค่ระยะแรก จุดแรกที่เราได้เดินทางเข้ามา เส้นทางต่อไปก็คงมีโอกาสที่จะได้เจอ

          จนเมื่อมาถึงจุดที่ 2 หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร.1 (ป่ายาง) เป็นจุดพักผ่อน มีบ้านอยู่หลังสองหลัง ข้างกันมีศาลช้างที่บรรจุกระดูกช้างไว้ ได้ยินว่าเป็นกระดูกช้างที่เจ้าหน้าที่ไปเจออยู่ในบ่อน้ำ จึงไปกู้ทำความสะอาดมาใส่ในศาลไว้แบบที่เห็น ส่วนฝั่งตรงกันข้ามนั้นเป็นอาคารชั้นเดียวหลังเล็ก มีป้ายให้ข้อมูลเกี่ยวกับผืนป่ากุยบุรี


          ข้อมูลมีตั้งแต่ความเป็นมาของพื้นที่ สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า กระทั่งได้มีโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีข้อมูลของระบบนิเวศ ทรัพยากรสัตว์ป่า ทรัพยากรป่าไม้ ข้อมูลการท่องเที่ยวชมสัตว์ป่า ไปจนถึงการเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า โดยมีระบบเตือนภัยล่วงหน้า


          หลังจากนั่งพัก และรอคอยที่จะได้เจอช้างอยู่ไม่นาน ก็ได้ยินเสียงของเจ้าหน้าที่ได้รับข้อความผ่านวิทยุสื่อสารว่า “ช้างมาแล้ว ที่หน้าผา” ส่งต่อกันไปเรื่อยๆ จากเจ้าหน้าที่ไปถึงนักท่องเที่ยว จากนั้นทุกคนก็พร้อมใจกันเคลื่อนขบวนไปขึ้นรถกระบะของใครของมัน เพื่อออกเดินทางไปพบเจอกับช้างป่าที่ไม่รู้ว่าพวกมันรอเราไหม แต่พวกเรารอคอยที่จะพบเจอพวกมันมากๆ

(มีต่อด้านล่าง)
V
v
v

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่