ฟืนไฟไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เปลี่ยนสายไฟฟ้า..ก่อนเกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร


“ไฟฟ้าลัดวงจร” สาเหตุของอัคคีภัยที่พบเห็นได้ทั่วไปตามพาดหัวข่าว สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมาแล้วมากมาย ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่รู้หรือไม่ว่าเหตุไฟฟ้าลัดวงจร หรือแม้แต่ไฟช็อต , ไฟดูด ส่วนมากเกิดจากความประมาทของการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันที่คนส่วนใหญ่มักละเลย ไม่ให้ความสำคัญ ทั้งๆ ที่สามารถป้องกันได้ง่ายกว่าที่คิด

กระแสไฟฟ้าลัดวงจรคืออะไร
ก่อนจะไปถึงวิธีการป้องกัน HomeGuru อยากให้ทุกคนเข้าใจกันก่อนนะครับว่าไฟฟ้าลัดวงจรที่พูดถึงกันทั่วไป จริงๆ แล้วคืออะไรกันแน่…

ไฟฟ้าลัดวงจร (Short Circuit) คือการที่กระแสไฟฟ้าไหลจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งที่อยู่นอกเหนือจากวงจรไฟฟ้าปกติ ซึ่งแต่ละจุดอาจมีแรงดันไฟฟ้าแตกต่างกัน , นำไฟฟ้าในประจุตรงข้ามกัน หรือเป็นสื่อนำไฟฟ้าลงดิน ทำให้เกิดการถ่ายเทพลังงานในรูปกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านระหว่างจุดสองจุดนั้นจำนวนมากเกินกว่าปกติ จนเกิดความร้อนสูงและเกิดประกายไฟขึ้น ซึ่งหากบริเวณนั้นบังเอิญมีวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงอยู่ก็มีโอกาสนำไปสู่เหตุเพลิงไหม้ได้ในที่สุด


ไฟฟ้าลัดวงจรสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในระบบไฟฟ้าแรงต่ำ และระบบไฟฟ้าแรงสูง กรณีไฟฟ้าลัดวงจรที่กระแสไฟฟ้าไหลลงดิน มักเกิดจากการที่สายไฟฟ้าขาด หลุดจากจุดต่อไปสัมผัสพื้นดินหรือโลหะที่ฝังอยู่บนพื้นดิน ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าไหลลงดิน แต่กรณีไฟฟ้าลัดวงจรที่กระแสไฟฟ้าไหลระหว่างสายไฟ สาเหตุมักเกิดจากฉนวนสายไฟชำรุด , ขาด หรือมีการเสียดสีกันโดยบังเอิญจนเกิดความร้อนสูงและไฟลุกไหม้ครับ

ไฟฟ้าลัดวงจรเกิดจากอะไร
แม้ว่าสาเหตุของไฟช็อต , ไฟดูด หรือไฟฟ้าลัดวงจรนั้นจะมีปัจจัยมากมาย ทั้งการใช้คัตเอาต์ไฟแบบเก่าที่ไม่สามารถตัดการทำงานได้โดยอัตโนมัติ การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชำรุดหรือไม่ได้มาตรฐาน หรือการใช้ไฟฟ้าเกินกำลังอุปกรณ์อย่างการต่อพ่วงปลั๊กพ่วงมากจนเกินไป แต่สาเหตุสำคัญใกล้ตัวอีกอย่างที่หลายคนมักมองข้าม คือ การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐานนั่นเองครับ

อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นปลั๊กราง ปลั๊กไฟ หรือสายไฟ ถือเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านตลอดเวลา หากอุปกรณ์เหล่านี้ไม่มีมาตรฐานในการผลิต หรือไม่มีระบบความปลอดภัยที่ดีพอก็อาจเกิดอาการไฟช็อต , ไฟดูด และปัญหาไฟฟ้าลัดวงจรเอาง่ายๆ โดยเฉพาะเรื่องของสายไฟฟ้า


รู้ได้อย่างไรว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนสายไฟแล้ว
แม้ว่าสายไฟฟ้าจะถูกออกแบบและผลิตมาเพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลายและมีอายุการใช้งานยืนยาว แต่ทุกสิ่งย่อมมีโอกาสชำรุดเสียหายและเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา HomeGuru จึงอยากให้ทุกคนหมั่นสังเกตและตรวจสอบสภาพสายไฟที่อยู่อาศัยเพื่อความปลอดภัยต่อทรัพย์สินและทุกชีวิตในบ้านด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้ครับ

1. ตรวจสอบการเดินสายไฟว่าใช้สีถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ หากไม่ถูกต้องให้สลับสายใหม่ เพื่อความไม่สับสนหากต้องมีการซ่อมแซมแก้ไขในอนาคต
2. ตรวจสอบจุดต่อสายและการเข้าสาย โดยต้องขันให้แน่นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
3. สัมผัสบริเวณผิวฉนวนของสายไฟฟ้า เพื่อสังเกตอุณหภูมิของสายไฟ ถ้ารู้สึกถึงความร้อนแสดงว่ามีสิ่งผิดปกติที่อาจมาจากจุดต่อสายต่างๆ ไม่แน่น หรือมีการใช้กระแสไฟเกินกำลังของอุปกรณ์จนอาจเกิดไฟช็อต , ไฟดูดได้
4. สังเกตสีของสายไฟ สายไฟที่สีเปลี่ยนไปอย่างสายไฟสีขาวที่เปลี่ยนเป็นสีคล้ำหรือมีฝุ่นจับมากแสดงว่ามีสิ่งผิดปกติที่อาจมาจากจุดต่อสายต่างๆ ไม่แน่น หรือมีการใช้กระแสไฟเกินกำลังของอุปกรณ์ได้เช่นกัน


5. ฉนวนของสายไฟต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยเปื่อย รอยแห้งกรอบ รอยไหม้ รอยแตกร้าว หรือร่องรอยการชำรุดอื่นๆ
6. ตรวจสอบสภาพสายไฟเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พร้อมบันทึกข้อมูลเก็บไว้
7. กรณีที่มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น หรือมีเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหญ่ในบ้านเพิ่มเติม ควรตรวจสอบสายไฟฟ้าที่ใช้อยู่ว่ามีขนาดเหมาะสมหรือไม่ ควรเปลี่ยนใหม่หรือไม่
8. ตรวจสอบสายไฟที่อยู่ในส่วนที่มองไม่เห็น อย่างใต้ฝ้าเพดานหรือผนัง เพราะหากฉนวนหุ้มสายไฟฉีกขาด อาจทำให้เกิดไฟช็อต , ไฟดูด หรือไฟฟ้าลัดวงจรและเกิดไฟไหม้ตามมาได้


"โจรปล้นร้อยครั้ง ยังไม่เท่าไฟไหม้บ้านครั้งเดียว ยังเป็นวลีที่จริงแท้แน่นอนเสมอ
ดังนั้นถ้าเราให้ความสำคัญ ใส่ใจตรวจสอบความเรียบร้อยของอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านสักนิด
ก็สามารถป้องกันปัญหาไฟฟ้าลัดวงจรได้ไม่ยากอย่างที่คิด"


HomeGuru by HomePro
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่