[CR] นมัสเตอินเดีย คยา (Gaya) - พาราณสี (Varanasi) ต้องมาสักครั้ง (नमस्ते बोधगया - वाराणसी) ตอน 1

ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่าทริปอินเดีย คยา-พาราณสีนี้  ไม่ได้ตั้งใจมา เนื่องจากการมาเที่ยวอินเดียจะต้องขอวีซ่า  ซึ่งมีเวลาเตรียมตัวประมาณ 20 วันรวมถึงต้องขอวีซ่าก่อนเดินทาง ดังนั้น จึงทำเรื่องขอวีซ่าก่อนเป็นลำดับแรก ก็อ่านรีวิวต่างๆ ในการขอวีซ่าอินเดีย ก็มีตัวแทนหลายที่ที่รับทำวีซ่าอินเดีย (เกือบเสียค่าโง่ 198 USD ให้กับบริษัทที่รับทำ) ก็ต้องขอบคุณรีวิวของไปตามน้ำ  (อ่านการขอวีซ่าออนไลน์ ทำเองได้ง่ายด้วยปลายนิ้ว) ขอยกเครดิตให้ไปตามน้ำเลยครับ  การขอวีซ่าอินเดียแบบออนไลน์ (E-Visa) ง่ายมากและราคาไม่แพง (ไม่ต้องไปสถานฑูตเลย กรอกขอวีซ่าออนไลน์ที่บ้าน และรอวีซ่าออก print วีซ่าออกมาสำหรับเอาไปยื่น ตม.เข้าที่อินเดีย แต่ต้องอ่านรายละเอียดให้ดีๆ เพราะวีซ่านั้นสามารถเข้าทาง Airport ได้เฉพาะ 24 สนามบิน (Delhi, Mumbai, Bangalore, Chennai, Goa, Kolkata, Cochin, Hyderabad, Ahmedabad, Trivandrum ,Calicut, Lucknow, Amritsar,Trichy,Jaipur, Mangalore, Pune, Nagpur, Coimbatore, Gaya, Bagdogra,Guwahati, Varanasi and Chandigarh) และ 3 Seaports (Mangalore, Cochin and Marmagao) ที่ระบุไว้นี้เท่านั้น 
(ข้อมูล e-Tourist Visa India Link: https://embassyofindiabangkok.gov.in/pages.php?id=188888921)
 
โดยการขอวีซ่าอินเดียก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการเข้าประเทศ ว่าจะไปเพื่อการท่องเที่ยว/ธุรกิจ/รักษาพยาบาล/การประชุม ซึ่งค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าอินเดีย มี 3 แบบ คือ
     1. วีซ่าแบบเข้าออกได้ 2 ครั้งภายใน 30 วัน 25 USD (เริ่มนับจากการเข้าอินเดียครั้งแรก)
     2. วีซ่า 1 ปี  40 USD (เริ่มนับจากวันที่ออกวีซ่า)
     3. วีซ่า 5 ปี 80 USD (เริ่มนับจากวันที่ออกวีซ่า)
หมายเหตุ:-     การเลือกขอวีซ่าให้ดูจากวันหมดอายุของพาสปอร์ต เช่น หากพาสปอร์ตมีอายุเหลือ 2 ปี แต่ขอวีซ่าอินเดียแบบ 5 ปี ก็จะใช้ได้แค่ 1 ปีครึ่ง เพราะอายุพาสปอร์ตจะต้องเหลืออย่างน้อย 6 เดือน จะเอาพาสปอร์ตเล่มใหม่มาใช้แบบวีซ่าอเมริกาไม่ได้ กรณีนี้ก็ควรขอวีซ่าแบบ 30 วัน หรือ 1 ปี)
                   
               การขอ E-Visa India อ่านวิธีการกรอกขอวีซ่าออนไลน์ตาม Link ด้านบนของรีวิวไปตามน้ำ อธิบายวิธีการอย่างละเอียดบรรทัดต่อบรรทัด) E-Visa อินเดียใช้เวลานับตั้งแต่กรอกขอออนไลน์จนได้วีซ่าไม่เกิน 24 ชม. ก็ได้วีซ่าแล้ว (ผมกรอกขอ E-Visa ตอนบ่าย 2 วันรุ่งขึ้นประมาณ 9 โมงก็ได้รับเมล์แจ้งว่าวีซ่าผ่านแล้ว ก็เข้าไปปริ้นท์วีซ่าเอาติดตัวไปอินเดียตอนเข้า ตม. ได้เลยครับ)
              การขอ E-Visa India ง่ายมาก แต่เมื่อมาถึงสนามบินคยารู้สึกไม่ค่อยประทับใจกับ ตม. ขาเข้าอินเดีย เพราะคนที่ขอแบบ E-Visa จะต้องเข้าตรวจตราช่อง E-Visa เท่านั้น แล้ว ตม. ก็จะเช็ควีซ่าที่เราติดตัวไปเหมือนกับว่าตัวเองเป็นหนึ่งในคนอนุมัติวีซ่า (เริ่มต้นตรวจเช็ควีซ่าใหม่) ทำงานแบบเฉี่อยๆ นั่งคุยทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้สนใจว่า ผู้มาแสวงบุญหรือนักท่องเที่ยวยืนต่อคิวเป็นร้อย ใช้เวลาตรวจต่อคนประมาณเกือบ 10 นาที (ลองคิดดูสมมติว่า ถ้าเที่ยวบินที่คุณมามี 150 คน คุณยืนต่อคิวเป็นคนสุดท้าย รอ ตม.อินเดียตรวจ คุณจะต้องใช้เวลายืนรอกี่ ชม. แถมมีพักเที่ยงด้วย) เลยขอแนะนำว่าถ้าใครไม่รีบและสะดวก  หากมีเวลาขอวีซ่า ให้ขอแบบปกติ คือ ไปยื่นที่สถานฑูต เพราะเวลาเข้าอินเดีย ช่องตรวจนี้แทบไม่มีคนเลย
              เมื่อกรอกขอ E-Visa ออนไลน์แล้ว ทีนี้ก็มาถึงขั้นตอนการจองตั๋ว สืบเนื่องจากช่วงเวลาที่จะมาคยาและพาราณสีในครั้งนี้  ได้จองตั๋วแอร์เอเชียตั้งแต่มีนา 2562 ปีที่แล้วว่าจะไปฮ่องกงและมาเก๊า และเมื่อช่วงกลางปีเกิดการประท้วงในฮ่องกง แต่ก็ยังสบายใจว่าทริปของเรายังอีกนาน จนมาเกิดเรื่องไข้หวัดโคโรน่าทำให้แอร์เอเชียยกเลิกทุกเที่ยวบินที่เข้าและออกจากจีน รวมถึงฮ่องกงและมาเก๊า เลยต้องมาดูโปรแลกคะแนนของแอร์เอเชียเพราะไม่อยากซื้อตั๋วแบบกระทันหัน หวยเลยมาออกที่คยาและพาราณสี)



               ดูจากตารางเที่ยวบินเวลาดีมาก ไม่ต้องตื่นเช้าและมีเวลาเที่ยวได้เต็มวัน ขากลับก็ไม่ดึกมาก


วันแรกคยา (Gaya)
               -  วัดไทยพุทธคยา 
               -  วัดไทยพุทธสาวิกา
               -  วัดเมตตาพุทธาราม
               -  วัดและบ้านนางสุชาดา
               -  วัดพุทธนานาชาติ (ภูฏาน-ญี่ปุ่น-จีน-ทิเบต-พม่า-มองโกเลีย)
วันที่ 2 คยา (Gaya)
               -  วัดป่าพุทธคยา 
               -  วัดมหาโพธิ (เจดีย์พุทธคยา)
วันที่ 3 พาราณสี (Varanasi)
               -  สารนาถ (ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน-เสาอโศก-ธรรมเมกขสถูป)
               -  ท่าน้ำดัสวเมธ (Dasaswamedh Ghat) ดูพิธีอารตีบูชาหรือพิธีบูชาไฟ 
วันที่ 4 พาราณสี (Varanasi)
               -  ท่าน้ำมณิกรรณิการ์ (Manikarnika Ghat) ดูพิธีเผาศพ 
 
สิ่งที่ต้องเตรียมในการเดินทาง 
       1. เล่มพาสปอร์ตพร้อมสำเนา 1 แผ่น 
       2. e-Visa India (ถ้าใครขอวีซ่าแบบ 1 ปี หรือ 5 ปี ให้ถ่ายสำเนาไปใช้ได้ ตัวจริงที่ปริ้นท์ออกมาไม่ต้องเอาไปก็ได้)
       3. ตั๋วขากลับหรือใบจองตั๋วขากลับ (Itinerary) ที่ระบุชื่อและวันที่ของผู้เดินทาง (หากไม่มีตั๋วจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสนามบิน)
       4. ตั๋วเที่ยวบินในประเทศหรือใบจองตั๋ว (Itinerary) ที่ระบุชื่อและวันที่ของผู้เดินทาง  (ถ้ามี)
       5. ใบจองโรงแรมทั้งหมดตลอดทริปในอินเดีย (เผื่อ ตม. อินเดียบางคนขอตรวจ)
       6. กล้องดิจิตอลสำหรับถ่ายรูปที่เจดีย์พุทธคยา (มือถือต้องฝากไว้ด้านนอกตรงทางเข้า)
       7. ทิชชู่เปียก
       8. หน้ากากกันฝุ่น
       9. Traveller Adapter (อินเดียใช้ปลั๊กกลมแบบ 3 รู)
 หมายเหตุ:-     สิ่งที่เป็นเอกสารให้โหลดใส่มือถือหรือในเมล์ไว้หลายๆ แห่ง (เผื่อเหตุฉุกเฉิน)
 
วันแรกคยา (Gaya)
Gaya Airport หลังออกจากสนามบินก็มุ่งตรงไปโรงแรมฝากกระเป๋าที่ Hotel Sakura House ถ้าดูจากแผนที่ข้างบนจะเห็นว่าสามารถเดินไปได้ทุกที่ใน คยา (ยกเว้นวัดและบ้านนางสุชาดา ถ้าเรียกรถ Rickshaw จากวัดไทยพุทธคยาไปกลับ 300 รูปี ใช้เวลาประมาณ 1-1.30 ชม.) โรงแรมที่จองไว้เดินไปวัดไทยพุทธคยาได้ไม่เกิน 2 นาที


คยาเป็นเมืองหนึ่งในจังหวัดมคธ รัฐพิหาร เป็นเมืองสำคัญ เพราะมีสังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุดของชาวพุทธ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้
สถานที่แรกที่จะแนะนำ คือ วัดไทยพุทธคยา เมื่อเดินเข้ามาภายในร่มเย็นมาก 



เมื่อเดินเข้ามาสังเกตซ้ายมือจะเป็นที่ทำการกงสุลไทย ณ วัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย



เดินต่อมาเล็กน้อยจะเป็นร้านอู่น้ำ สำหรับให้บริการอาหารและเครื่องดื่มเล็กๆ น้อยๆ แก่ผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยว ส่วนด้านขวามือจะเป็นด้านข้างอุโบสถ





           เมื่อเดินตรงไปเรื่อยๆ ด้านหลัง (แต่จะเป็นด้านหน้าโบสถ์ตามภาพ) จะเจอศูนย์บริการข้อมูลของวัด ซึ่งจะมีอู่นอน สำหรับให้บริการที่พักสำหรับผู้แสวงบุญโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะที่มาเป็นกลุ่มตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป แต่ถ้ามา 2-3 คนหรือกลุ่มเล็กๆ วัดก็มีห้องให้ (ช่วงพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ส่วนใหญ่ห้องจะเต็ม แม่ชีอรัญญาสีฝากแจ้งให้จองที่พักล่วงหน้า ครับ) 
           ถัดจากศูนย์บริการข้อมูลของวัดมาเล็กน้อยจะเป็นอู่ข้าว ให้บริการฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มาแสวงบุญ (ตามช่วงเวลาในภาพ) ทดลองแล้วอาหารอร่อยทุกมื้อ
 


สำหรับผู้ที่สนใจจะแสวงบุญ ณ เมืองคยา และสนใจที่พัก ณ วัดไทยพุทธคยา ติดต่อได้ตามข้อมูลข้างล่างนี้ หรือหากมีความประสงค์จะร่วมบริจาคอาหารแห้ง/หนังสือ/อาสาสมัคร ให้ติดต่อที่ศูนย์ประสานงานประเทศไทย ณ วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี ๙๘๙  โทร. 090 5197989, 092 7474989, 098 5459989  E-mail: wat989thailand@gmail.com  โดยสามารถระบุได้ว่าจะร่วมบริจาคให้กับโรงครัวหรือ…. ข้างต้น ณ วัดไทยใดบ้างดังต่อไปนี้
       1. บริจาคให้โรงครัววัดไทยพุทธคยา ๙๓๕  รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย
       2. บริจาคให้โรงครัววัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ๙๕๐  รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย
       3. บริจาคให้โรงครัววัดไทยลุมพินี ๙๗๙  สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล
       4. บริจาคให้โรงครัววัดพระราชวังกบิลพัสดุ์ ๙๒๙  สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล
       5. บริจาคให้โรงครัววัดไทยนิโครธาราม ๙๓๗  สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล
       6. บริจาคให้โรงครัววัดไทยเชตวันมหาวิหาร ๙๓๙  รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย
       7. บริจาคให้โรงครัววัดไทยสารนาถ  รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย
       8. บริจาคให้โรงครัววัดนวมินทรธัมมิกราช รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย
       9. บริจาคให้โรงครัววัดไทยนวราชรัตนาราม ๙๖๐  รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย



วัดไทยพุทธสาวิกา



วัดเมตตาพุทธาราม



วัดนางสุชาดา คือ จุดที่นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาศแด่พระพุทธองค์ ณ ริมแม่น้ำเนรัญชลา



บ้านนางสุชาดา



บริเวณที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงทุกข์กรกิริยา ซึ่งอยู่ในบริเวณบ้านนางสุชาดา



วัดพุทธนานาชาติ เมื่อเดินตามแผนที่จะเข้ามา Japan Road (ปากทางเข้าจะมีป้ายเขียนว่า Giant Buddha)
วัดแรกจะเป็นวัด Mongolian Temple



วัดที่ 2 จะเป็นวัดอินเดีย Karma Temple



วัดที่ 3 เป็นวัดทิเบต



วัดที่ 4 วัดญี่ปุ่น Daijok Yo Buddhist Temple



วัดที่ 5 วัดภูฏาน The Royal Bhutanese Monastery - Bodhgaya Bihar



วัดที่ 6-7 ไม่แน่ใจว่าเป็นวัดของประเทศอะไร





และวัดสุดท้ายบนถนน Japan Road คือ วัดของญี่ปุ่น Giant Buddha   ซึ่งในคยามีวัดญี่ปุ่นเท่าที่เดินน่าจะไม่ต่ำกว่า 5 วัด





รูปพระมหากัสสปะ 1 ในพระอรหันต์ทั้ง 10 องค์ในบริเวณ Giant Buddha



อ่านต่อตอน 2
ชื่อสินค้า:   ทริป คยา - พาราณสี 4 วัน 3 คืน
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่