"ดิฉันว่ายน้ำมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ จนถึง 16 ขวบ รวมเวลาสิบปีเต็ม" เรื่องราวชีวิตนักว่ายน้ำของปูดำ สรารัตน์ หรุ่มเรืองวงศ์

"ดิฉันว่ายน้ำมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ จนถึง 16 ขวบ รวมเวลาสิบปีเต็ม อย่างน้อยคือต้องว่ายวันละ 4-5 ชั่วโมง ตอนเช้า 2 ชั่วโมงกว่า ตอนเย็นอีก 2 ชั่วโมงกว่า ว่ายจนตัวดำ ผมแดง และพื้นฐานผิวแล้วเป็นคนที่ดำง่าย สังเกตพอโดนแดดปุ๊บก็คือจะดำ เหมือนลูกจีไอ ทั้งที่คุณพ่อคุณแม่เป็นคนไทย และไม่มีแววเป็นคนสวย เป็นเด็กหน้าตาน่าเกลียด

คุณพ่อดิฉันไม่ได้เน้นเรื่องเรียน แต่อยากให้ลูกเป็นนักกีฬา คงเห็นว่าดิฉันเป็นเด็กหัวปานกลาง แต่ศักยภาพทางด้านกีฬานั้นมีมาก ท่านจึงส่งเสริมให้ลูกฝึกว่ายน้ำ

ตอนเช้าดิฉันจะไปถึงสระ 05.30 น. บ้านอยู่พระโขนง ไปว่ายน้ำที่จุฬาฯ เพราะคุณพ่อเป็นข้าราชการอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ หรือบางครั้งก็ไปว่ายน้ำที่สระโอลิมปิค สนามกีฬาแห่งชาติ เรียกว่าไปถึงก่อนใครเพื่อน ตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง มองไม่เห็นเส้นสระ คุณพ่อจะคอยดันก้นและให้ดิฉันกับพี่ชายปีนรั้วเข้าไป ท่านต้องการให้ลูกได้ว่ายน้ำก่อนและเลิกทีหลัง เหตุผลเพราะยิ่งมีเวลาฝึกซ้อมมากเท่าไหร่ย่อมได้เปรียบ ดิฉันเป็นลูกข้าราชการ ซึ่งไม่ได้มีเงินเดือนมากมายเหมือนอย่างลูกคนมีสตางค์ คุณพ่อคุณแม่ของเพื่อน ๆ เขามีเงินบริจาคบำรุงสระ หรือช่วยค่าเบี้ยเลี้ยงโค้ช ขณะที่เราไม่มี ทำให้ดิฉันกลายเป็นแกะดำ ไม่ได้รวมกลุ่มว่ายน้ำ แต่อาศัยเวลาโค้ชสั่งให้ทำอะไรก็ทำตาม ไปเกาะอยู่ลู่ข้าง ๆ พอโค้ชเป้านกหวีดปล่อยตัว ดิฉันก็ว่ายน้ำตามเขาไปด้วย เหมือนตัวเองเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่ม บางครั้งคุณพ่อก็จะสอนเอง แต่สอนแบบโหดต้องใช้คำว่าโหด เพราะท่านจะซีเรียสมากในเรื่องการว่ายน้ำ ในชีวิตดิฉันไม่เคยถูกคุณพ่อตีเรื่องอื่นนอกจากเรื่องเดียวคือว่ายน้ำ เช่น ว่ายท่าไม่สวย ทำสถิติต่ำกว่าที่ควร ไม่ทำลายสถิติ หรือว่ายแพ้เพื่อน ๆ และทุกครั้งที่คุณพ่อไปรับดิฉันที่สระโอลิมปิคสนามกีฬาแห่งชาติ จะปล่อยดิฉันลงตรงพระโขนงและให้วิ่งกลับบ้านที่บางจาก ไม่ได้วิ่งตัวเปล่าหรอกนะคะ แต่จะผูกถุงทรายไว้ที่ข้อเท้า ระยะทางที่ปล่อยให้ลงวิ่งประมาณ 20 ซอย ซึ่งถือว่าไกลมาก บางทีกลับถึงบ้านก็ยังไม่ได้ทานข้าว แต่ต้องมาเล่นเวต ยกน้ำหนัก วันรุ่งขึ้นไปว่ายน้ำตัวจะได้เบา ขณะที่เพื่อน ๆ ว่ายน้ำท่าฟรีสไตล์ ซึ่งเป็นท่าที่สามารถว่ายได้เร็ว แต่คุณพ่อกลับสั่งให้ดิฉันว่ายท้าผีเสื้อ ให้เร็วกว่าเพื่อนที่ว่ายฟรีสไตล์ให้ได้ คิดดูแล้วกันว่า ต้องใช้ความพยายามมากแค่ไหน
 
ดิฉันไม่เคยมีของเล่น ไม่เคยได้ทานทอฟฟี่ และไม่เคยทาแป้งที่หน้าจนถึงอายุ 16 ที่พอจะได้เล่นจุก ๆ จิก ๆ ก็คือวิ่งเล่นกับรอบบริเวณสระ ชีวิตดิฉันอยู่กับสระจริง ๆ

ยิ่งช่วงไหนปิดเทอม นั่นคือดิฉันจะต้องว่ายน้ำเพิ่มขึ้นอีกสองชั่วโมงตอนกลางวัน เป็นเด็กที่ไปโรงเรียนสายตลอด ตอนนั้นคือเรียนอยู่เซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ตกเย็นคุณพ่อจะขออนุญาตอาจารย์ใหญ่ให้เลิกเรียนเร็วเพื่อที่จะไปซ้อมว่ายน้ำ ซึ่งนั่นทำให้ดิฉันแทบจะไม่มีสังคมเพื่อน เรียกว่าชีวิตทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมว่ายน้ำทั้งหมด ช่วงที่มีการล้างทำความสะอาดสระ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำการล้างพร้อม ๆ กัน คุณพ่อยังจับดิฉันลงไปว่ายน้ำในบึงที่สวนลุมพินี ท่านบอกว่าการว่ายน้ำนั้นถ้าหยุดไปหนึ่งวันก็คือไม่ทันเขาแล้ว อย่างน้อยก็คือให้ลงไปเอ็กเซอร์ไซส์ ด้วยความเป็นเด็ก ดิฉันไม่กล้าขัดคำสั่งเพราะกลัวโดนตี จึงต้องลงไปว่าย โดนปลาตอดขายิบ ๆ ๆ เวลาคุณพ่อตี ท่านจะใช้เข็มขัดหนัง สายยาง หรือไม่ก็ด้ามไม้กวาด วันไหนอู้ หรือทำสถิติได้ไม่ดี ก็คือถูกคุณพ่อตีตั้งแต่ขึ้นรถจนถึงบ้าน หนักสุดคือตีจนเป็นแนวเลือดซิบ ๆ ไปเรียนหนังสือไม่ได้

ดิฉันยอมรับว่าตัวเองโตมาด้วยความแข็งแกร่ง บางทีเห็นเด็กสมัยนี้ถูกคุณแม่ว่านิด คุณพ่อว่าหน่อยแล้วน้อยใจ ฆ่าตัวตาย หรือติดยาเสพติด ดิฉันมองว่าเหลวไหล ไร้สาระ เพราะตัวเองเคยผ่านวิกฤตตรงนั้นมาได้อย่างสบาย ๆ ต้องทนเจ็บ และอดทน เพื่อพัฒนาตัวเองและเดินคู่ไปกับวิธีการเลี้ยงดูของครอบครัวให้ได้ ส่วนเรื่องเรียนนี่ไม่ต้องพูดถึง ซ่อมแล้วซ่อมอีก ไม่มีปีไหนที่ไม่ซ่อม ซ่อมจนอาจารย์ต้องให้ผ่าน เพราะดิฉันเป็นนักกีฬาโรงเรียน ถามว่ากดดันไหม ไม่นะคะ ดิฉันไม่ใช่เด็กเรียนตกเพราะไม่ฉลาด แต่ที่ต้องซ่อมเพราะไม่มีเวลาให้กับการเรียน คือทุ่มเทให้กับการว่ายน้ำเต็มที่ พอกลับถึงบ้านเหนื่อยก็คือหลับ ร่างกายไม่มีพลังงานเหลือพอจะไปทุ่มให้กับการเรียน

สิบปีที่ต้องตื่นแต่เช้ามืด ใส่กางเกงวอร์มเสื้อวอร์มออกจากบ้าน ชุดนักเรียนจะอยู่ในรถ พอตกเย็นกลับถึงบ้านก็คือเปลี่ยนชุดจากชุดนักเรียนมาใส่เสื้อเสื้อวอร์มกางเกงวอร์มอีก ตอนที่ดิฉันเลิกว่ายน้ำคนข้างบ้านเขายังมาทักว่า ตกลงหนูเป็นผู้หญิงหรือนี่ เพราะไม่เคยเห็นดิฉันใส่กระโปรง จนกระทั่งอายุ 13 ย่าง 14 ทั้งที่กลัวใจจะขาด เพราะคุณพ่อเป็นคนที่ถ้าตีแล้วตีแรงมาก แต่เมื่อทนไม่ไหวแล้วจริง ๆ จึงตัดสินบอกท่านว่าของเลิกว่ายน้ำได้ไหม เหตุผลคืออยากจะเรียนหนังสือ อยากจะมีเพื่อน

คุณพ่อมีข้อต่อรองว่า 3 ปีสุดท้าย ถ้าดิฉันติดทีมชาติ ลงแข่งขันแล้วได้ที่หนึ่งกีฬาเขต และเป็นเจ้าของสถิติประเทศไทย เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันได้ก็จะให้เลิก ตอนนั้นดิฉันว่ายท่าผีเสื้อ 100 เมตร  ผีเสื้อ 200 เมตร  และผลัดผสม 4 x 100 เมตร โดยเป็นคนว่ายท่าผีเสื้อ ซึ่งก็ทำสำเร็จ ได้เหรียญทองทุกประเภท 3 ปีซ้อน ได้เหรียญสามารถจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเป็นเจ้าของสถิติประเทศไทย ซึ่งหลังจากนั้นอีกหลายปีมาก กว่าจะมีคนทำลายสถิติว่ายท่าผีเสื้อของดิฉันลงได้ เหตุผลที่คุณพ่อเคี่ยวเข็ญให้ลูกว่ายน้ำ เพราะท่านเป็นข้าราชการที่ทำงานค่อนข้างหนัก เช้าต้องตื่นไปทำงาน เย็นรับลูกกลับบ้าน ไม่มีเวลาคลุกคลีกับลูก โดยเฉพาะช่วงโรงเรียนปิดเทอม ดังนั้นการให้ลูกอยู่กับเกมกีฬาจึ่งเป็นวิธีการเลี้ยงดูของท่าน เพราะกีฬาสอนให้เด็กมีสปิริต รู้แพ้รู้ชนะ คุณพ่อ คุณแม่ (วัชรี  จุลศรีไกรวัลย์) แยกทางตั้งแต่ดิฉันยังเด็ก อายุประมาณ 6-7 ขวบ ดิฉันมีโอกาสได้เจอคุณแม่บ้างแต่ไม่บ่อย คุณแม่จึงค่อนข้างมีบทบาทในชีวิตดิฉันน้อย สาเหตุที่ท่านทั้งคู่แยกทางกัน ดิฉันไม่ทราบ เพราะไม่ใช่หน้าที่ และคุณพ่อเองก็ดุเสียจนลูก ๆ ไม่กล้าเอ่ยปากถาม"

บทสัมภาษณ์อดีตรองนางงามคุณปูดำ สรารัตน์ หรุ่มเรืองวงศ์

ขอขอบพระคุณภาพจากเพจแต้ว บอกอ MODEL
และต้องขอขอบพระคุณบทสัมภาษณ์จาก
http://thaimiss.com/winner.php?rid=W0057&type=txt

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่