female gaze  กับการช่างหัวจารีตใน ‘365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ’ ซีรี่ส์ที่ดีที่สุดของจีดีเอช

ครบรอบหนึ่งอาทิตย์กว่าแล้วที่ซีรีส์ oneyear 365 วัน ได้ฉายจบครบทั้ง 10 ep. ด้วยความคิดถึงซีรีส์ที่ชอบมากๆและได้พบบทความที่เขียนโดยคุณคาลิล พิศสุวรรณ ใน the momentum.co ที่เขียนถึงซีรีส์ oneyear365 วัน ในแง่คิดที่ลงรายละเอียดแตกต่างจากคำวิจารณ์ของรีวิวท่านอื่นๆในเรื่องของการถ่ายทอดและกำกับจาก ผกก.ที่ได้ฉายาว่าเจ้าหญิงแห่งวงการหนังสั้น โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงและครอบครัวจึงอยากแชร์ความคิดเห็นของผู้เขียนกับสมาชิกท่านอื่นๆในพันทิปว่าคิดเห็นกันอย่างไรบ้างในการดูซีรีส์เรื่องนี้ และสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ดูซีรีส์oneyear 365 วัน สามารถดูได้ทาง line tv ครบทั้ง 10 ep. http://tv.line.me/v/11143583

ขอคัดลอกบทความเฉพาะบางส่วนในซีรีส์มาลงนะครับ  บทความฉบับเต็มสามารถติดตามได้ตามlink ของ the momentum https://themomentum.co/one-year-series-jirassaya-wongsutin/

*มีการเปิดเผยเนื้อหาของซีรี่ส์

ผมได้รู้จักชื่อของ แคลร์—จิรัศยา วงษ์สุทิน ครั้งแรกจากการได้ดูหนังสั้นของเธอเรื่อง เด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน เมื่อหลายปีก่อน ไม่กี่ปีหลังจากนั้น เมื่อ วันนั้นของเดือน หนังสั้นอีกเรื่องของเธอได้ฉายร่วมกับหนังสั้นอีกสองเรื่องในโรงภาพยนตร์ ภายใต้โปรเจคต์ชื่อ Lost in Blue ผมจึงได้มีโอกาสกลับไปสัมผัสกับโลก และตัวละครที่จิรัศยาสร้างขึ้นอีกครั้ง

ด้วยชื่นชอบหนังสั้นที่ผ่านๆ มาของจิรัศยา เมื่อได้รู้ว่า 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ ซีรีส์เรื่องล่าสุดของค่ายจีดีเอช คือผลงานที่เธอกำกับ ผมจึงตั้งตารอเป็นพิเศษ และต้องบอกว่าเป็นเรื่องน่าดีใจทีเดียวเพราะหลังจากที่ซีรีส์เรื่องนี้เดินทางมาถึงเอพิโซดสุดท้ายในวันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ ผมพบว่า 365 วันฯ คือซีรีส์ที่อบอุ่นหัวใจ และน่าประทับใจที่สุดของค่ายจีดีเอช

365 วันฯ บอกเล่าความสัมพันธ์ของสองครอบครัวที่ต้องมาทดลองอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันเป็นเวลาหนึ่งปีเพราะหัวหน้าครอบครัวของทั้งสองฝ่ายเกิดตกหลุมรัก และอยากจะแต่งงานกัน ครอบครัวหนึ่งประกอบด้วย ‘ตั้ม’ พ่อเลี้ยงเดี่ยว กับลูกๆ สองคนคือ ‘บูม’ และ ‘เบบี้’ ส่วนอีกครอบครัวก็มี ‘มุก’ แม่ที่ต้องคอยดูแลลูกๆ ทั้งสี่อย่าง ‘เพชร’ ‘พลอย’ ‘ไพลิน’ ‘แพรวพราว’ รวมถึง ‘ตะวัน’ ลูกของพี่สาวจากสุพรรณบุรี สาเหตุที่ทั้งสองบ้านต้องมาทดลองอยู่ด้วยกัน เกิดจากข้อเสนอของเพชรที่ไม่วางใจว่า ถ้าหากมุกกับตั้มแต่งงานขึ้นมา แล้วสองบ้านอยู่ร่วมกันไม่ได้ นั่นคงจะยิ่งสร้างความยุ่งยาก วุ่นวาย หรือกระทั่งบาดแผลให้กับทั้งสองฝ่ายแน่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมุก แม่ที่ก่อนหน้านี้เคยล้มเหลวในชีวิตคู่มาแล้ว เพราะถ้าสมมติว่าการแต่งงานครั้งนี้เกิดผิดพลาดขึ้นมาอีก หากตั้มเกิดทำให้มุกเสียใจเหมือนสามีคนก่อนๆ หรือสมมติว่า ลูกๆ ของทั้งสองบ้านเกิดไม่ชอบหน้า จนอยู่ร่วมชายคนกันไม่ได้ ไม่เพียงแค่มุกหรอกที่จะเจ็บปวดและแตกสลาย หากลูกๆ เองก็คงรับไม่ได้ถ้าต้องทนเห็นแม่เสียใจซ้ำๆ นี่เองจึงนำมาสู่ข้อเสนอที่ว่า หากทั้งสองบ้านเกิดมีปัญหาขึ้นมาภายในระยะเวลาทดลองอยู่ด้วยกัน มุกกับตั้มจะต้องล้มเลิกแผนแต่งงานโดยทันที

365 วันฯ รักษาคุณลักษณะพิเศษที่ผมชื่นชอบในหนังสั้นของแคลร์ไว้อย่างครบถ้วน ไล่เรียงกันไปตั้งแต่ข้อแรก คือการที่ซีรีส์เรื่องนี้ให้เวลากับรายละเอียดเล็กๆ ของชีวิต ตัวอย่างเช่น ในฉากหนึ่งที่พลอยนั่งกินข้าวอยู่กับ ‘มาร์ค’ ดาราหนุ่มที่เผอิญเรียนคลาสเดียวกัน มาร์คเกิดอยากจะจาม แต่เขากลับจามไม่ออก พลอยเลยบอกให้ลองมองไฟดู ซึ่งพอมาร์คลองทำตามก็ปรากฏว่าเขาจามออกในทันที หรือในอีกฉากหนึ่งที่มาร์คขอบคุณแฟนคลับที่ให้เสื้อยืดเป็นของขวัญพลางรับปากว่า จะรีบใส่โดยทันที แม้ว่าซีรีส์จะไม่ได้ชี้บอกกับคนดูให้เห็นตรงๆ แต่ในฉากต่อมาที่มาร์คจอดรถรับพลอยที่ป้ายรถเมล์ เราจะเห็นว่า มาร์คได้ใส่เสื้อยืดตัวที่แฟนคลับให้จริงๆ อย่างที่รับปากไว้ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ หากมองเผินๆ อาจดูไม่จำเป็น หรือไม่มีความสำคัญใดๆ ต่อเนื้อเรื่องหลัก แต่ในทางกลับกัน การที่ 365 วันฯ เลือกจะให้เวลากับเรื่องยิบๆ ย่อยๆ เหล่านี้ได้สร้างความเป็นมนุษย์ให้กับตัวละคร อย่างที่คนดูพอจะรับรู้ได้อย่างอ้อมๆ ว่า พลอยกับมาร์คเหมือนกันตรงที่พวกเขาต่างก็ให้ความสำคัญกับผู้อื่น ทั้งพลอยที่จดจำเกร็ดขำๆ ซึ่งช่วยให้คนอื่นจามออกมาได้ (หรือกระทั่งเป็นแทบจะคนเดียวที่สังเกตเห็นความรู้สึกระหว่างเพชรกับบูมตั้งแต่ต้น) กับมาร์คที่รับปากอะไรกับใครไว้ ก็ไม่เคยจะทำผิดคำสัญญา

ในแง่ของไดอะล็อก ซีรีส์เรื่องนี้ก็นำเสนอผ่านคำพูดง่ายๆ แต่เป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาบทสนทนาที่เกิดขึ้นบนโต๊ะอาหาร ผมชอบฉากที่มุกแสดงให้เห็นว่า ยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างไพลินกับ ‘ทราย’ เพื่อนสาวคนสนิทของไพลิน ในทีแรก มุกไม่ได้รับรู้ว่าเด็กทั้งคู่รักกัน จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อได้ล่วงรู้ความลับที่ไพลินพยายามปิดบัง คำพูดสั้นๆ ที่มุกบอกกับไพลินบนโต๊ะอาหารต่อหน้าลูกๆ คนอื่นว่า “ ไพลินชวนแฟนมาด้วยก็ได้นะ แม่ไม่ได้เจอทรายนานแล้ว คิดถึง เห็นลุงตั้มบอกว่าทรายมาที่บ้านตอนแม่อยู่สุพรรณฯ” ในฝั่งไพลินที่แม้จะตกใจกับคำพูดของแม่ก็ยิ้มน้อยๆ และตอบรับไปสั้นๆ ว่า “ได้ เดี๋ยวลองชวนดู” บทสนทนาเพียงไม่กี่ประโยคนี้ แม้ว่าจะง่าย และกระชับ หากเราก็รับรู้ได้ถึงความกระอักกระอ่วนเล็กๆ ในใจของมุก แต่ขณะเดียวกัน มันก็สะท้อนให้เห็นว่า แม่อย่างมุกได้ยอมรับ และอนุญาตให้ไพลินคบกับทรายต่อไป แม้ว่ารูปแบบความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะสวนทางกับขนบของความรักที่มุกคุ้นเคย แต่นั่นก็เป็นเรื่องของมุกที่ต้องทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ฉากนี้ไม่เพียงแต่จะแสดงให้เห็นแม่ที่ยินยอมให้ลูกมีเส้นทางชีวิตของตัวเองอย่างไม่ฟูมฟาย แต่ยังรวมถึงความผูกพันระหว่างแม่กับลูกที่แน่นกระชับขึ้นผ่านคำพูดง่ายๆ แต่จริงใจ และชัดเจน

จิรัศยาให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงด้วยกัน อย่างที่ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยๆ ในละคร หรือภาพยนตร์ไทย ใน 365 วันฯ เราได้เห็นภาพการปฏิสัมพันธ์กันในชีวิตประจำวันระหว่างผู้หญิง ทั้งที่เป็นแม่ลูกกัน เป็นพี่น้องกัน เป็นเพื่อนร่วมห้อง และเป็นคนรัก เช่นในฉากหนึ่งที่เบบี้ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ค่อยถูกชะตากับแพรวพราวนัก ต้องไปตามหาแพรวพราวที่หลบอยู่ในห้องน้ำโรงแรมตัวคนเดียว ผ่านฉากนี้ เราได้เห็นว่าการเปิดใจคุยกันไม่ใช่เงื่อนไขเพียงอย่างเดียวที่เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่เคยไม่ชอบหน้ากัน ให้มาสนิทสนมกันได้ หากยังมีอีกเงื่อนไขหนึ่งนั่นคือการที่เบบี้บอกให้แพรวพราวสลับชุดกับเธอ เพราะเห็นว่า ชุดของแพรวพราว ‘เลอะประจำเดือน’ แน่นอนว่า ผู้ชายอย่างผมไม่มีวันจะเข้าใจว่า สำหรับผู้หญิงแล้ว การที่กระโปรงเลอะประจำเดือนนับเป็นเรื่องน่าอับอายแค่ไหน หากจิรัศยากลับใช้เหตุการณ์นี้ต่อการสร้างความเชื่อใจระหว่างเบบี้กับแพรวพราว ไม่ต้องมีบทสนทนาอะไรให้มากความ แค่เพียงสลับชุดกันง่ายๆ หากการกระทำนี้ของเบบี้กลับมีความหมายลึกซึ้งต่อผู้หญิงด้วยกัน

365 วันฯ ไม่เพียงจะแสดงให้เห็นความซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงด้วยกัน แต่ยังนำเสนอความซับซ้อนเหล่านั้นด้วยสายตาที่เข้าอกเข้าใจ ในแง่นี้ ‘สายตา’ จึงคืออีกคุณลักษณะสำคัญที่ส่งให้ซีรีส์เรื่องนี้โดดเด่น นั่นเพราะสายตาที่จับจ้องตัวละครต่างๆ ในเรื่องนี้ ไม่ใช่สายตาของผู้ชาย แต่เป็นสายตาของผู้หญิง

“คุณค่าของผู้หญิงในวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่จึงคือตัวหมาย (signifier) สำหรับผู้ชาย ถูกผูกมัดอยู่ภายใต้ระเบียบทางสัญลักษณ์ที่ผู้ชายจะสามารถสร้างภาพเพ้อฝัน และความลุ่มหลงของเขาผ่านภาษาที่ประทับลงไปบนภาพอันเงียบใบ้ของผู้หญิง ที่จะถูกพันธนาการอยู่กับที่ในฐานะผู้รองรับความหมาย (bearer of meaning) มิใช่ผู้สร้างความหมาย (maker of meaning)”

หากเราลองหยิบแนวคิดนี้มาพิจารณา 365 วันฯ จะพบว่า ไม่เพียงแต่ตัวละครหญิงในเรื่องจะมีลักษณะของผู้กระทำ นั่นคือไม่ได้เงียบใบ้ หรือรอให้ตัวละครชายมาปลดปล่อยสู่อิสระ หากพวกเธอยังลุกขึ้นมาเพื่อต่อรองกับโครงสร้างของสังคมที่คอยเบียดเบียน และกดทับ ลุกขึ้นมาเพื่อนสร้างคุณค่า และความหมายผ่านการกระทำของตัวเอง ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจปรากฏให้เห็นในเอพิโซดสุดท้ายของซีรีส์ เมื่อผู้ชายทุกคนในเรื่องได้ถูกสับเปลี่ยนสถานะจาก active มาสู่ passive กล่าวคือ ไม่ใช่ตั้มที่เป็นฝั่งมาขอคืนดีกับมุก แต่เป็นมุกที่เป็นฝ่ายไปยืนยันกับตั้มว่าอยากจะแต่งงานด้วย ไม่ใช่มาร์คที่เป็นฝ่ายกลับมาหาพลอย แต่เป็นพลอยที่หลุดพ้นความรู้สึกต่ำต้อย และสารภาพรักกับมาร์คไปตรงๆ และไม่ใช่บูมที่พยายามจะย้ำกับเพชรซ้ำๆ ว่า แม้ว่าพ่อแม่จะแต่งงานกัน ก็ไม่ได้แปลว่าความรักของทั้งคู่จะเป็นไปไม่ได้ หากรอบนี้กลับเป็นเพชรเองที่ยื้อบูมไว้ เป็นเพชรเองที่บอกความรู้สึกไป เป็นเพชรที่ก้าวข้ามระเบียบจารีตของสังคมที่คอยกำหนดว่า อะไรคือสิ่งที่ถูกควร

ผมคิดว่า ภายใต้เรื่องราวอันเรียบง่ายของ 365 วันฯ หัวใจสำคัญของซีรีส์เรื่องนี้คือการหันกลับไปตั้งคำถามกับจารีตประเพณีต่างๆ ในสังคม ว่าการปฏิบัติตามธรรมเนียม หรือบรรทัดฐานของสังคมไม่ได้จะนำมาซึ่งความสุขเสมอไป ในท้ายที่สุด หากเพชรเลือกจะเชื่อฟังจารีตของสังคม เธอก็คงไม่มีความสุข หากมุกเลือกจะเชื่อฟังค่านิยมของสังคม ไพลินก็คงจะเปิดใจกับแม่ไม่ได้ และหากพลอยเลือกจะเชื่อฟังเสียงวิจารณ์ของคนอื่นๆ เธอก็คงสูญเสียมาร์คที่พร้อมจะรักพลอยอย่างที่ตัวเธอเป็นไป แต่เพราะ 365 วันฯ เชื่อว่า ช่างหัวคติเก่าๆ คัดง้างจารีตเดิมๆ และลองรับฟังเสียงหัวใจดูบ้าง เราก็อาจพบเจอกับความสุขได้

ความสุขที่แม้จะอยู่ไม่ไกล หากกว่าจะเข้าถึงได้ กลับต้องอาศัยความกล้าหาญไม่น้อยเลย  
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่