PARASITE เจาะประเด็นและองค์ประกอบที่ซ่อนไว้ใน "ชนชั้นปรสิต" (SPOILER ALERT)

PARASITE เจาะประเด็นและองค์ประกอบที่ซ่อนไว้ใน "ชนชั้นปรสิต" (SPOILER ALERT)

ตั้งแต่ Parasite ผะหงาดบนเวทีออสการ์คว้ารางวัลใหญ่ Best Picture (92nd the academy awards) นับว่าเป็นความสำเร็จของวงการบันเทิงของเกาหลีใต้ที่ทำให้ทั่วโลกรู้จัก วันนี้อยากจะมาแชร์ ประเด็นที่ผมชอบมากๆในเรื่องของความละเอียดของหนังเกี่ยวกับสัญลักษณ์การแบ่งชนชั้น


Bong Joon Ho ผกก Parasite หยิบประเด็นความแตกต่างของชนชั้นวรรณะอย่างคนรวยและคนจนสอดแทรกองค์ประกอบต่างๆภายในหนังให้มีเนื้อเรื่องและการตีความที่แข็งแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ตัวละคร สถาปัตยกรรม องค์ประกอบภาพ หรือแม้แต่วัตถุภายในภาพล้วนแต่มีความหมายทั้งสิ้น วันนี้เราจะหยิบยื่นองค์ประกอบและรายละเอียดหลักๆในเรื่องมาอธิบายให้ฟังกัน
.
(มีการสปอยล์เนื้อหาสำคัญ)

 
1. แสงธรรมชาติและพระอาทิตย์แสดงถึงคุณภาพชีวิต
จากบ้านของตระกูลปาร์คที่ร่ำรวยมีช่องเปิดมากมายเพื่อนำแสงธรรมชาติมาสู่ตัวบ้านแสดงให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ในขณะที่บ้านของตระกูลคิมมีเพียงหน้าต่างเล็กๆมองเห็นวิวที่แสนจะสกปรกไร้ซึ่งแสงแดดสาดส่องสู่ตัวบ้าน และในหนังช็อตที่เห็นพระอาทิตย์ครั้งแรกก็คือช็อตที่ Ki-Woo เดินขึ้นบันไดผ่านเข้ามายังตัวบ้านของตระกูลปารค์และเห็นสวนที่กว้างขวาง รายล้อมไปด้วยต้นไม้ราวกับว่าได้เห็นสวรรค์บนดินเป็นครั้งแรก ทั้งนี้บ้านยังถูกสร้างถูกออกแบบใหม่และถูกคำนวนทิศทางของพระอาทิตย์ทั้งหมดเพื่อถ่ายทำฉากนี้โดยเฉพาะ 
 

2. กระจกที่สะท้อนชนชั้นวรรณะ
Bong Joon Ho ใช้กระจกของทั้งสองตระกูลในการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ แม้จะเป็นกระจกที่ให้คุณสมบัติเชื่อมต่อภายนอกกับภายในเหมือนกันแต่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง บานนึงมองออกไปเห็นถนนในระดับสายตา มีถุงเท้าตากอยู่หน้ากระจก เต็มไปด้วยคุณภาพชีวิตโดยรอบที่ตกต่ำและสกปรก ทั้งคนเมา ทั้งคนฉี่ใส่หน้าบ้าน ในขณะที่อีกบานนึงรายล้อมไปด้วยสนามหญ้าและสวนที่ถูกออกแบบและตกแต่งมาเป็นอย่างดี ขนาดกระจกที่สูงใหญ่จากพื้นสู่เพดานแสดงถึงความหรูหราผ่านการออกแบบเป็นอย่างดี โดย Bong Joon Ho ออกแบบกระจกทั้งสองบานของบ้านตระกูลคิมและตระกูลปาร์คให้มีสัดส่วน 2.39:1 เหมือนกันเพียงแต่ขนาดต่างกัน และตัวหนังเองก็มีสัดส่วนภาพ 2.39:1 อีกด้วย โดยในหนังกระจกของตระกูลคิมจะถูกถ่ายจากขวามาซ้ายและตระกูลปาร์คถูกถ่ายจากซ้ายมาขวาเสมอ เรียกได้ว่ากระจกในเรื่องนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากๆในการถ่ายทอดชนชั้นวรรณะของทั้งสองตระกูลได้เป็นอย่างดี


3. ความสัมพันธ์ระหว่างระดับกับชนชั้น
เนื้อหาของหนังพูดถึงความแตกต่างระหว่างฐานะร่ำรวยและยากจน ทำให้ระดับที่แตกต่างถูกหยิบยื่นมาเป็นสัญลักษณ์ในการถ่ายทอดในทุกๆฉากในหนัง เช่น Ki-Woo จากตระกูลที่ยากจนเดินทางจากบ้านตัวเองสู่บ้านตระกูลปาร์คโดยเดินขึ้นเสมอ จากตัวบ้านของเค้าเองเดินขึ้นสู่ถนน จากถนนเดินขึ้นเนินสู่หน้าบ้าน จากหน้าบ้านเดินขึ้นบันไดสู่ตัวบ้านอีกทีนึง อีกทั้งตัวกำแพงบ้านของตระกูลปาร์คที่ถูกปิดทึบดูเข้าถึงยากกว่าที่ควรจะเป็น ในบ้านของตระกูลปาร์คตัวละครจะเดินขึ้นเพื่อไปห้องนอน ในขณะที่บ้านของตระกูลคิมเดินขึ้นเพื่อไปห้องน้ำ นั่นก็เปรียบได้กับการใช้ชีวิตที่ผิดปกติ และแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของระบบของชนชั้นวรรณะที่ล้มเหลวนั่นเอง


4. ระยะทางเหมือนกันแต่กลับแตกต่าง
ผู้กำกับ Bong Joon Ho เน้นย้ำความต่างของชนชั้นวรรณะผ่านการเดินทางของตัวละครได้อย่างชัดเจน ในเรื่องเราไม่สามารถคาดเดาหรือเซ้นส์ถึงระยะทางจากที่ต่างๆจนถึงตัวบ้านของตระกูลปาร์คได้ ไม่ว่าจะเป็นตอน Ki-Woo เดินทางมาบ้านของตระกูลปาร์คเราไม่เห็นการเดินทางและระยะทาง ตอน Ki-Jeong นั่งรถกลับบ้านเราก็ไม่ได้เห็นการเดินทางหรือวิวทิวทัศน์โดยรอบอีกเช่นกัน แต่หลังจากที่ตระกูลคิมต้องหนีออกจากบ้านของตระกูลปาร์คในวันฝนตก เรากลับเห็นการเดินทางที่แสนยากลำบากและระยะทางทั้งหมด ตั้งแต่การเดินลงเนินหน้าบ้าน ผ่านถนนที่เปียกชุ่ม ผ่านการลงบันไดอีกหลายร้อยหลายพันขั้น อีกทั้งยังต้องฝ่าน้ำท่วมเข้าไปยังตัวบ้านอีก และนี่ก็แสดงให้เห็นถึงต้นทุนชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง


5. เส้นแบ่งระหว่างสองชนชั้นยังชัดเจนเสมอ
ในหลายๆฉากเมื่อตัวละครจากสองชนชั้นเข้าร่วมฉากเดียวกัน มักจะถูกแบ่งด้วยเส้นบางๆผ่านองค์ประกอบต่างๆไม่ว่าจะเป็น ผนังบ้าน, ขอบกระจก, รั้ว, มุมตึก, ขอบเสาและอื่นๆ และประเด็นนี้ได้เสียดสีสังคมของการแบ่งชนชั้นได้อย่างดี แม้จะอยู่ในสังคมเดียวกันสถานที่เดียวกันแต่การแบ่งชนชั้นวรรณะ สูง-ต่ำ รวย-จน ยังคงชัดเจนเสมอ


6. การเดินทางของหินมโนทัศน์
ประวัติอันลึกซึ้งของหินมโนทัศน์เป็นความเชื่อของแถบเอเชียตะวันออกมาหลายพันๆปีแล้วโดยเฉพาะเกาหลีตอนสมัยราชวงศ์โชซอน (ปี 1392-1897)และหินนี้มักจะตั้งอยู่บนโต๊ะของเหล่านักปราชญ์ผู้รู้ และแน่นอนในหนังมันเป็น Symbolic ที่มีความหมายในตัวมันเองอยู่แล้ว หินเปรียบเสหมือนแรงกดดันที่ Ki-Woo ต้องแบกรับ แม้มันจะเป็นตัวแทนของความโชคดีในเชิงนามธรรม แต่รูปธรรมนั้นทั้งหนักทั้งลำบากที่จะต้องแบกมันไว้ ตั้งแต่ต้นเรื่องหินก้อนนี้เดินทางไปกับครอบครัวของคิมมาตลอดและเป็นความปรารถนาของ Ki-Woo ที่จะพาครอบครัวไปจุดที่ดีกว่า แต่ยิ่งผ่านไปกลับเหมือนเป็นการเข็นหินขึ้นภูเขาเฉยๆซะมากกว่า สุดท้ายหินที่เขาเชื่อว่ามันนำโชคมันจบด้วยการที่หินนั้นย้อนกลับมาทำร้ายตัวเขาเอง สุดท้าย Ki-Woo ก็เข้าใจและปล่อยหินนั้นกลับธรรมชาติ หินนั้นก็แค่หินธรรมดาเพียงแต่หลักการของวัตถุนิยมเรากลับเอามันมากราบไหว้ บูชา เชิดชูวัตถุให้อยู่สูงกว่าที่ที่มันควรจะเป็น เปรียบเสมือนครอบครัวของคิมที่ดันทุรังเอาตัวเองไปอยู่ในที่ๆสูงกว่า สุดท้ายมันก็เป็นดาบสองคมที่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวพวกเค้าเองอย่างไม่รู้ตัว และนอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายองค์ประกอบที่เป็นสัญลักษณ์ถูกสอดแทรกผ่านสองครอบครัวที่มีชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว และในทุกประเด็นที่นำเสนอนั้นยังลุ่มลึก มีชั้นเชิง จึงไม่แปลกใจที่หนังทริลเลอร์ตลกร้ายเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมากทั้วโลกและคู่ควรกับหลายๆรางวัลใหญ่ในเวทีออสการ์อีกด้วย

ยังไงก็ฝากติดตามกันด้วยนะครับทาง https://www.facebook.com/filmotion.m/ แล้วก็ทาง IG : filmotion.m 
ผมขอใช้พื้นที่นี้ในการแชร์ แบ่งปัน ให้กับคนที่รักหนังเหมือนๆกันด้วยนะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่