Steve Jobs (2015): คุณค่าของคน(ไม่)สมบูรณ์

กระทู้สนทนา


ปี 2019 เป็นปีที่เขียนรีวิวหนังน้อยมาก ส่วนหนึ่งคือเขียนแล้วแต่ไม่จบเพราะติดธุระหรือเขียนไปแล้วพบว่าหนัง (หรือผม?) ไม่มี 'impact' พอจะเขียนให้จบ รวมถึงเรื่อง Parasite ที่เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์ได้รางวัลออสการ์ไป ได้แต่รอไปดู 1917 ที่น่าจะ 'ว๊าว' พอให้เขียนถึงและเป็นหนังแห่งปีได้

วันนี้มีเวลามาหาอะไรดูอยู่ห้องจึงพบกับหนังที่ดูจบแล้วอยากเขียนถึงทันทีที่ไม่พบมานาน เป็นหนังชีวประวัติที่เข้มข้นทรงพลังโดยใช้เพียงบทสนทนาและการเล่าเรื่องของผู้กำกับ เจอความรู้สึกเช่นนี้สองเรื่องสุดท้ายคือ The Insider (1999) ของ Michael Mann (21 ปีแล้วเหรอเนี้ย?!) กับ The Big Short (2015) ของ Adam McKay

ต่างกันที่เรื่องนี้ใช้เพียงสามเหตุการณ์ แทนหนังสามองค์ กับตัวละครกลุ่มเดียวกันจากทั้งสามเหตุการณ์นั้น แต่สามารถเข้าถึงตัวตนของชีวิตและความคิดทั้งหมดของ บุคคลที่จะเล่าได้อย่างหมดเปลือก นั่นก็คือตัวละครที่มาเป็นชื่อหนัง 'Steve Jobs'

ต้องชื่นชมการเขียนบทที่เต็มไปด้วยถ้อยคำจากการสนทนาแทบไม่มีหยุดของทุกตัวละคร เลือกใช้เหตุการณ์เพียงสามครั้ง แต่สามารถสื่อสิ่งที่เป็นมาเป็นไปและร้อยเรียงจนได้แก่นของหนังที่ต้องการสื่อของ Aaron Sorkin นักเขียนหรือนักเรียนภาพยนตร์ต้องดูงานชิ้นนี้เป็นกรณีศึกษา และยิ่งเมื่อรวมกับวิสัยทัศน์ของผู้กำกับอย่าง Danny Boyle ก็ยิ่งทำให้การเล่าเรื่องเต็มไปด้วยความจัดจ้านในทุกฉากทุกองค์ประกอบ รวมทั้งทีมนักแสดงที่มีเพียงไม่เกิน 7 ตัวละครหลัก แต่ต่างออกมาระเบิดพลังใส่กันรวมกันจนทำให้หนังออกมาสมบูรณ์แบบ

สามองค์ของหนังคือ สามการเปิดตัวผลงานสำคัญของ Jobs นั่นคือ การเปิดตัวเครื่อง McIntosh ปี 1984 การเปิดตัว Next Computer ปี 1988 และการเปิดตัว iMac ปี 1998 ทั้ง 3 เหตุการณ์แทนช่วงชีวิตของ Jobs ตั้งแต่ การเป็นดาวรุ่งผู้พลิกโฉมวงการคอมพิวเตอร์, ความตกต่ำหลังจากถูกให้ออกจาก Apple ที่ตัวเองก่อตั้ง, การกลับมากอบกู้ Apple ด้วยสิ่งที่ตัวเองยึดมั่นจนประสบความสำเร็จ โดยใช้เวลาก่อนขึ้นเวทีของทั้ง 3 เหตุการณ์ ผ่านตัวละครชุดเดิมทั้งหมด เพื่อให้เห็นแง่มุมเปลี่ยนผ่านของชีวิต Jobs ทั้งความเชื่อ ความตั้งมั่น และปมต่าง ๆ ในชีวิต

Joanna Hoffman หัวหน้าฝ่ายการตลาด สะท้อนถึงความเป็นตัวตนทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวของ Jobs ผู้อยู่เคียงข้างทุกเวลาเป็นทั้งเพื่อนร่วมงานที่ดูแลทุกอย่างและเพื่อนผู้หวังดีแม้เขาจะร้ายในสายตาผู้อื่นอย่างไร เพราะเธอเห็นความเป็นมนุษย์อีกด้านของเขาและศรัทธาในสิ่งที่ Jobs ทำเพื่อผลงานไม่ใช่เพื่อเงินใด ๆ

Steve Wozniak ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple กับ Jobs มาตั้งแต่ลาออกจากมหาวิทยาลัย สะท้อนถึงความสัมพันธ์เรื่องเพื่อนของเขา ต่อให้ Jobs จะดูโอหังเชื่อมั่นจนมีปัญหากับ Wozniak แต่เขาก็ให้ค่าความเป็นเพื่อนที่สุด

Andy Hertzfeld ฝ่ายเทคนิคของทีม McIntosh สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายกับลูกน้องของ Jobs ผู้ทั้งรักทั้งชัง

John Sculley CEO Apple ที่ Jobs เชิญมาเองและกลายเป็นผู้ไล่ Jobs ออกจาก Apple สะท้อนทั้งเรื่องการบริหาร ความเป็นผู้ประกอบการ กลยุทธ์ของ Jobs และปมเรื่องพ่อแม่ของเขา

Chrisann Brennan อดีตคู่รักในวัยรุ่นของ Jobs สะท้อนปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัวของเขา และการแก้ไขความผิดพลาด

Lisa Brennan ลูกสาวที่เขาไม่ยอมรับ นี่คือจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายของเรื่องที่สะท้อน 'ความเป็นมนุษย์' ของ Jobs

บทของ Sorkin ทำให้ภาพตัวตนของ Jobs ออกมาสมบูรณ์โดยคนดูแทบไม่ต้องรู้ที่มาที่ไปเหมือนหนังชีวประวัติอื่น ลูกเล่นการเล่าเรื่องและการตัดต่อของ Boyle ทำให้หนังดูแพรวพราวไม่น่าเบื่อ และน่าสังเกตว่าหนังทุกเรื่องของเขามักคลายปมในองค์สุดท้ายเพื่อให้ความหวังแก่ผู้ชมเสมอ หากวันนี้คุณยังมีไฟในการสร้างสรรค์หรือกำลังท้อแท้ในชีวิต นี่คือภาพยนตร์ที่คุณต้องดูให้เข้าใจความไม่สมบูรณ์แบบของคนที่ต้องการความสมบูรณ์แบบ เพราะนั่นคือธรรมชาติของชีวิต

ขอบคุณที่โลกนี้มีภาพยนตร์

10/10
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่