ทำไมทั้งจิตแพทย์ทั้งนักคิดนักเขียน ! ถึงห้ามไม่ให้มีการวิเคราะห์หรือเอ่ยชื่อหรือโพสรูปคนร้ายกราดยิงโคราช บนสื่อ ?!

มาลองศึกษากัน   จากรายการสัมภาษณ์ นี้

..........................................................................................

รายการ โหนกระแส วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 "หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย"
เปิดใจสัมภาษณ์ "ฌอน" และ "ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์" จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต
ซึ่งบอกว่าเหตุการณ์นี้ต้องเยียวยากันระยะยาว สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้ ต้องปรับชีวิตอย่างไร

...................................................................................................................ง

คุณฌอนพูดว่าประเทศที่คุณอยู่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น และภายใน 13 วันจะมีโอกาสเกิดขึ้นอีก ?

       ฌอน : "ใช่ มันสูงมากในระยะเวลา 13 วัน มีงานวิจัยจากหมอ 2คน 
ที่เขียนบทความที่อเมริกา เขามีคณิตศาสตร์ของมัน ค่าเฉลี่ยทุกอันที่เคยเกิดขึ้นที่อเมริกา"

เป็นการเลียนแบบพฤติกรรม ?

       ฌอน : "ใช่ครับ ถ้าสื่อใช้ความสนใจให้อะไรสักอย่าง มันสอนให้คนว่าเราจะได้ความสนใจจากสิ่งนี้ 
อย่างเช่น ประเทศอยากให้มีนักกีฬาเยอะขึ้น เราก็โชว์นักกีฬาเยอะ คนก็อยากเป็นนักกีฬา 
ถ้าเราโชว์ดารา คนก็อยากเป็นดารา ถ้าโชว์ฆาตกรเยอะ บางคนอาจจะอยากเป็นฆาตกร 
แล้วก็เกิดขึ้นที่อเมริกา เขาก็แข่งกันด้วย เขาอยากเหนือกว่า ล่าสุดก็ประมณ 29 คน  
ผมรู้สึกว่าถ้าคนอยากจะทำถัดไป เขาอาจจะอยากจะทำเยอะกว่า 29 คน"

เลยอยากตัดตอนไม่อยากให้นำเสนอให้เขามีตัวตน ?

       ฌอน : "ใช่ครับ แล้วที่อเมริกาก็รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก็มีที่ลาสเวกัส เขาก็เอาปืนยิง 
มีครั้งนึงที่ 50 กว่าคนแล้วมีในทุกวัยด้วย เด็กมัธยมต้น มัธยมปลาย มหาวิทยาลัย โดนยิงกันหมดแล้ว 
ผมเห็นเทรนด์จากอเมริกามาที่ไทยทุกอันเลย ทั้งการพัฒนาตัวเอง เพลงฮิปฮอปก็มาที่ไทย 
พอเห็นเทรนดิ้งของการกราดยิง ผมไม่อยากให้มันเกิดขึ้น ก็ขอบคุณพี่ ๆ ที่ช่วยกระจายข่าว"

คุณหมอ สิ่งที่คุณฌอนพูดมีที่มาที่ไปจริง ๆ ?

       ดร.นพ.วรตม์ : "ถูกต้องครับ อย่างที่เราทราบดี สื่อมีบทบาทมีอิทธิพลต่อคนในยุคปัจจุบันมาก ๆ 
ถ้าเรามองย้อนกลับไป เราไม่มองเหตุการณ์ยิงกันเลย เรามองเรื่องที่เกิดขึ้นปีที่แล้วเช่นกัน เรื่องการฆ่าตัวตาย 
เราเจอรูปแบบการฆ่าตัวตายใกล้เคียงกัน เช่น รูปแบบการรมควันที่เราจะเห็นบ่อย ๆ เรารู้ว่าคนเสพสื่อเยอะ 
และมีโอกาสทำตามสื่อได้มาก ยิ่งถ้าข้อความที่ปล่อยออกมาทางสื่อ มีการสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี 
มีความชอบธรรมในการกระทำนั้น ๆ มีความดราม่า น่าสงสาร บอกแรงจูงใจที่ชัดเจน 
คนมีแรงจูงใจที่ใกล้เคียงกัน เขาก็มีโอกาส อ๋อ สิ่งนี้คือสิ่งที่ชอบธรรมสำหรับเขา เขาก็มีโอกาสจะทำก็ได้

       ดร.นพ.วรตม์ : มีงานวิจัยนึงของเอฟบีไอ ปี 2014 เอาเหตุการณ์กราดยิงมาพล็อตเป็นกราฟ 
ก็พบว่าจริง ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงแรก ๆ ค่อนข้างห่าง ๆ อาจหลายเดือนครั้ง หรือปีแค่ 2-3 ครั้ง 
หลังจากนั้นเมื่อมีการนำเสนอข่าวมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มมีคนทำตามมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งวิธีการทำก็ไม่แตกต่างกันเลย"

การอัดข่าว มีผลต่อมุมมองและความคิดของคน ?

       ดร.นพ.วรตม์ : "ครับ เหมือนการโฆษณาเราให้ดูอะไรบ่อยๆ ผลิตภัณฑ์สินค้าอะไรที่อยากให้เห็นบ่อย ๆ
ก็เอาไปวางในรายการต่าง ๆ เอาไปโปรโมต เอาไปโฆษณา สิ่งนี้ก็คล้าย ๆ กันคือการโฆษณา
แต่แน่นอนถ้าภาพออกมาว่าแย่ หรือเราไม่พูดถึงตัวตนเลย แน่นอนคนดูก็จะมองว่าสิ่งนี้แย่ ไม่อยากทำตาม
หรือเรานำเสนอในแง่มุมอื่น ๆ แง่มุมการสูญเสียที่เกิดขึ้น คนก็ไม่อยากทำตาม
แต่ถ้าเรานำเสนอในรูปแบบที่มันดราม่าเหลือเกิน มีเหตุจูงใจให้ทำคนก็มีแนวโน้มที่อยากจะทำตาม
เพราะคนเห็นเยอะ เขาก็จะเคยชิน เมื่อเขาเคยชิน เขาก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่อยากจะทำไม่ใช่สิ่งที่แปลก
เอาจริง ๆ ใน 2-3 วันที่ผ่านมา ถ้าได้ดูจะเห็นว่ามีคนส่วนนึงโพสต์ว่าอยากทำตาม
โพสต์รูปว่าจะไปทำที่โน่นที่นี่ ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์นี้เราจะไม่เห็นโพสต์แบบนี้เลย
แต่นี่เป็นโพสต์ที่เราได้เห็นมากขึ้น 10 กว่าโพสต์ในช่วงวันเดียวเท่านั้นเอง"

คิดว่าคนร้ายคนล่าสุด พฤติกรรมน่าจะเป็นการเลียนแบบ หรือจดจำจาก ผอ. ชิงทอง มั้ย ?

       ฌอน : "ผมคิดว่ามีส่วนครับ เพระมันเกิดขึ้นใกล้กันมาก ส่วนใหญ่ผมว่ามันน่าจะมาจากการที่เขาถูกกดขี่ 
กลั่นแกล้ง และเรื่องหนี้สิน มีปัญหาเรื่องคุมภาวะอารมณ์ไม่ได้ แต่อันนึงที่เป็นแรงจูงใจที่เขาทำ 
เขาอยากจะมีตัวตนในสังคม คนจะรู้จักเขา จะเป็นแรงจูงใจ แต่ไม่ใช่เหตุผลหลักครับ"

ถ้าเปรียบเทียบ คุณหมอมองยังไง ?

       ดร.นพ.วรตม์ : "ผมขอพูดตรง ๆ ผมไม่อยากวิเคราะห์ผู้ก่อเหตุคนนี้ เขาไม่มีคุณค่าพอที่เราจะต้องวิเคราะห์เขา 
ไม่ต้องเสียเวลาวิเคราะห์เขา ถ้าให้ความสำคัญเขาก็จะมีตัวตนอยู่ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวจะมีคำถามมากมายว่าคนนี้มีปัญหาทางสุขภาพจิตมั้ย 
ผมว่าการถามแบบนี้ เป็นการดูถูกคนมีปัญหาสุขภาพจิตด้วยซ้ำ เพราะคนก่อเหตุทำร้ายผู้บริสุทธิ์ได้ 
มีแต่พฤติกรรมขี้ขลาด และน่ารังเกียจในสังคมเท่านั้นเอง ผมไม่มีอะไรจะพูดมากกว่านั้น ดังนั้นถ้าให้ผมวิเคราะห์ 
ผมไม่มีอะไรจะวิเคราะห์ แต่จะพูดในภาพรวม สำหรับคนนี้ผมว่าปล่อยเขาไปเถอะครับ"

คนร้ายรายนี้มีการแชร์คลิป ผอ. ที่ก่อเหตุที่ลพบุรีด้วย อาจเป็นประเด็นหนึ่งหรือเปล่า ?

       ดร.นพ.วรตม์ : "ถ้าตามงานวิจัย ก็ชัดเจนว่าคนก่อเหตุยิงต่อเนื่อง เขามีการรวบรวมข้อมูลมา 100 กว่าเคส 
จะพบว่าคนก่อเหตุจริง ๆ มีเรื่องราวมากมาย ประมาณ 3-6 เรื่อง และทั้งหมดส่วนมากคนรอบข้างรับรู้ 
แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวอะไรก็ตาม ไม่เป็นสาเหตุให้คุณทำร้ายคนบริสุทธิ์ แต่อันนี้เป็นจุดนึงที่คนรอบข้างต้องดู 
ถ้ามีการแชร์คลิป ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเหตุที่โคราช มีการแชร์ในลักษณะหลงใหลได้ปลื้ม คนนี้เป็นไอดอล 
ตรงนี้คนรอบข้างอาจต้องตักเตือนหรือส่งข้อมูลให้ตำรวจ เพราะถ้าตามตำรา คนส่วนนึงที่ทำตามถี่ขึ้นเรื่อย ๆ 
ส่วนหนึ่งจะมองเห็นว่าสร้างชื่อเสียง เป็นไอดอล และทำแบบนี้คนจะสนใจเขาเลยทำตาม 
เพราะฉะนั้นถ้ามีข้อมูลแบบนี้ในโซเชียล อย่าปล่อยปละละเลย พยายามจัดการให้ถึงที่สุด"

สังคมส่วนหนึ่งรู้สึกว่าเขาน่าสงสาร ถูกเอารัดเอาเปรียบ อีกมุมบอกว่าไม่ใช่ มันเกิดอะไรขึ้น และจะทำยังไง ?

       ดร.นพ.วรตม์ : "นี่เป็นความสำเร็จของผู้กระทำก่อเหตุครั้งนี้ ทั้งที่เหตุจบไปแล้ว เสียชีวิตไปแล้ว 
แต่ยังมีผลต่อสังคมเราอยู่ นี่คือความน่ากลัวของเหตุการณ์แบบนี้ เขายังทำให้สังคมมานั่งทะเลาะกัน 
ทำให้สังคมเกิดความปั่นป่วนเพราะเราไปให้คุณค่าเขา เรายังเห็นว่าเขามีตัวตน เห็นว่าเขาสำคัญเรามองในมุมมองของเขา 
แต่ถามว่าสิ่งที่เราควรมองเรื่องนี้จริง ๆ คือสิ่งที่สูญเสีย สิ่งที่อยู่รอบข้าง เด็กคนหนึ่งที่วันหนึ่งเขาจะโตขึ้นรับปริญญา 
เขาจะมีครอบครัว พ่อแม่ที่อยากกลับไปอยู่กับลูก เราได้มองตรงนี้หรือเปล่า ถ้ามองตรงนี้ มันไม่มีเหตุผลใด ๆ 
เลยที่เขาต้องมาเสียชีวิตโดยที่เขาไม่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าคุณจะมีปัญหาส่วนตัวยังไงก็ตาม"

ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ สื่อทำถูกบ้างผิดบ้าง แต่อยากนำเสนอให้ทุกคนได้รับรู้ แต่บางครั้งเกิดข้อผิดพลาด 
ก็ต้องเข้าใจว่านี่เป็นเหตุการณ์ครั้งแรก แต่ถ้าเกิดวันนี้เขาเสียชีวิตไปแล้ว 
จบได้แล้ว ไมต้องให้ตัวตน คุณค่าเขา ต่อไปนี้เราจะอยู่กันยังไง ?

       ดร.นพ.วรตม์ : "ผมอยากให้คนไทยเปลี่ยนความสนใจ เปลี่ยนความสำคัญไปสู่สิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้น
มีอะไรบ้างครับ เราเจอผู้จัดการที่พาเด็กไปหลบ เราเจอผู้จัดการธนาคารสาขาหนึ่งของไทยพาณิชย์พาไปหลบในตู้เซฟ
เราเจอพี่แกร็บพาคนหนีออกไป เราเจอเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุคลากรทางการแพทย์มากมายที่ช่วยเหลือ
เราไปโฟกัสตรงนี้ครับ ให้กำลังใจคนที่ช่วยเหลือสังคม ให้เขามีคุณค่า มีตัวตน เมื่อคนเหล่านี้มีคุณค่า
มีตัวตน ทุกคนก็เริ่มอยากเป็นแบบนั้น ไม่ใช่อยากเป็นเหมือนฆาตกร"

........................................................................
อ่านเต็ม หรือ ดูคลิปได้ในลิงค์นี้

https://hilight.kapook.com/view/199947

.......................................................................

สรุปได้ความสั้นๆว่า

สังคมหรือสื่อ ไม่ควรให้ค่าหรือให้ผู้ร้ายมีตัวตนขึ้นมาอีก
เช่น ไม่โพสรูปคนร้าย ไม่เอ่ยชื่อคนร้าย ไม่วิเคราะห์จิตใจคนร้าย
ไม่หาสาเหตุในการกระทำของคนร้าย เพราะนี้ไม่ใช่อาชญากรรมทั่วไป
แต่เป็นคนบ้าคลั่งที่อยากมีตัวตนในสังคม
ถ้าสื่อหรือาังคมนำเสนอผู้ร้ายบ่อยๆ ผู้ร้ายจะกลายเป็นไอดอลของคนกลุ่มหนึ่ง
ให้เกิดการลอกเลียนหรือเลียนแบบการกระทำของคนร้าย
เพื่อให้ตัวเองได้มีตัวตนในสังคมบ้าง หรือเพื่อแข่งกันฆ่าคนให้ได้มากที่สุดบ้าง
โดยหวังว่า ชื่อของตัวเอง หน้าของตัวเอง จะออกสื่อ และสังคมจะให้ความสนใจ
แบบที่ผู้ร้ายไอดอลคนที่ผ่านมากระทำ

................................................................................................
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 8
ทำไมจะต้องกลัวว่าการไม่ให้ค่าคนร้ายรายนี้ จะเป็นการกวาดขยะไปซุกไว้ใต้พรม

เพราะถ้ามีการโกงจริง ๆ และมีเหยื่อการโกงคนอื่น ๆ อยู่ เท่านั้นไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้เลยเหรอคะ

หรือกลัวว่าเสียงของคนธรรมดาที่ยังไม่ได้ลุกมาฆ่าใครจะไม่ดังพอ เลยต้องสร้างดราม่าเพื่อเปลี่ยน "ผู้ร้ายเลือดเย็น" ให้เป็น "ทหารชั้นผู้น้อยที่ถูกบีบให้จนตรอก" แถมขู่ว่า "ถ้าไม่รีบแก้ปัญหานี้ก็อาจมีการสูญเสียครั้งใหม่ตามมาอีก" เพื่อให้สังคมเห็นใจฆาตกรและช่วยกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ถ้ากลัวว่าปัญหาการโกงอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบคนร้ายรายนี้ ไม่กลัวกันบ้างเหรอคะว่ายิ่งไปเห็นใจ ให้ความสำคัญ และหาความชอบธรรมให้กับคนที่กราดยิงผู้บริสุทธิ์อย่างคึกคะนอง จะยิ่งทำให้คนบางกลุ่มอยากเลียนแบบ เพื่อที่จะได้เด่นดัง เป็นที่จดจำและถูกพูดถึงด้วยความเห็นใจบ้าง

เพราะแค่วันสองวันนี้ก็เห็นออกข่าวว่าจับพวกไม่รู้จักคิดที่โพสต์เลียนแบบคนร้ายไปหลายรายแล้ว

เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าอย่าไปให้ค่าหรือทำให้คนแบบนี้มีตัวตนเลยจะดีกว่าค่ะ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 12
คิดกว้างๆ อย่าคิดแคบๆ
วิเคราะห์จิตใจ พื้นฐานฆาตกรจบสิ้น
ตีแผ่ความลับดำมืดของกองทัพเสร็จสิ้น
สิ่งที่ฆาตกรจะได้รับ คือ อะไร?
คือ คำว่า "ฮีโร่"
นั่นคือ สิ่งที่ฆาตกรอยากให้สังคมเป็น หลังจากเขาตาย เขาจะกลายเป็น "วีรบุรุษ" ของคนไทยจำนวนมาก โดยอาศัยความเกลียดชังระบอบทหารเป็นพื้นฐาน อาศัยความน่าสงสารของมารดาเป็นพื้นฐาน อาศัยความชอบซอกแซกอยากรู้ และจิตใจขี้สงสารให้อภัยของคนไทยเป็นพื้นฐาน

ใครคนหนึ่งพูดถูกต้อง "เราไม่ควรศึกษาคนผู้นี้ ยิ่งศึกษาลึกลงไป สภาพจิตใจเราจะบิดเบี้ยว และถูกครอบงำ จากสิ่งที่เขาอยากให้เราเป็น"

ฆาตกรไม่ใช่คนบ้า ไม่ใช่คนน่าสงสาร

** อย่าติดกับของคนร้าย **
ความคิดเห็นที่ 6
เพื่อลดแรงกระตุ้นไม่ให้คนคิดทำตามไงครับ  ปัจจุบันมีคนสิ้นหวังกับชีวิตตัวเองเยอะ ฆ่าตัวตาย ฆ่าคนรอบข้างไม่เว้นแต่ละวัน  ถ้ามีอาวุธในครอบครอง เห็นพวกนี้ทำได้แล้วมีคนพูดถึง มาช่วยวิเคราะห์ออกข่าวหาเหตุผลการกระทำให้พวกเขา แล้วยังมีพวกโง่ๆมาโพสยกย่องเหมือนไอดอลอีก ทีนี้คนที่คิดตายแล้วมีอาวุธก็เลืยนแบบบ้างไหนๆก็อยากตายแล้วพาคนอื่นไปด้วย คนไม่รู้เรื่องก็ซวย  การที่ไม่เสนอข่าวฆาตรกรในทุกกรณีผมว่าถูกแล้ว ส่วนเรื่องเอาผิดหรือวิเคราะห์สาเหตุก็ทำแต่ไม่จำเป็นต้องออกข่าว ยกตัวอย่างบ้านเรา สมัยก่อนเคยเห็นการฆ่าตัวตายแบบเตาถ่านไหม เพิ่งมามีแค่ 3 -​4ปีมานี้ คนแห่ทำตามกันเพียบเป็นร้อยแล้วมั๊ง  หรืออะไรก็แล้วแต่ที่คนพูดกันเยอะสนใจกันแยะจะมีพวกที่พร้อมจะทำตาม ต่อให้ล้านคนทำสักคนก็แย่แล้วครับ
ความคิดเห็นที่ 11
ขอเห็นด้วยกับคห.จิตแพทย์ค่ะ ส่วนอีกคนละไว้ว่า
เป็นนักอ่านนักเขียนค่ะ สำหรับเราเขาไม่ใช่นักคิด

หลายคนที่ได้ฟังรายการ หรือได้อ่านข้อความของ
จิตแพทย์ท่านนี้ อาจคิดไปว่าประโยคนี้ทำไมดูใจร้าย
ไม่ต้องเสียเวลาวิเคราะห์ กล่าวว่าลึกไปถึงการ
ซุกปัญหาไว้ใต้พรม ซึ่งเราว่าตอนนี้หลายคนกำลังเอา
หลายๆ เรื่องมารวมกันของคนชั่วที่ตายไป ปัญหาการ
เอารัดเอาเปรียบกัน ปัญหาชนชั้นซึ่งไม่ใช่และเกี่ยวกัน
โดยตรงกับการวิเคราะห์ในแง่จิตวิทยาถึงเหตุการณ์
ที่มันได้ทำลงนะ

สิ่งที่คุณหมอพูดคือสิ่งถูกต้อง เรื่องการไม่ให้ค่ากับคน
แบบนี้ ทั้งการเอ่ยชื่อ พฤติกรรมที่ทำอย่าละเอียดของคนร้ายในการกระทำต่อตัวประกันโดยละเอียดในการ
นำเสนอข่าวตั้งหากล่ะ เราขอคิดเลยไปถึงนัยยะที่คุณ
หมอพูดไปถึงผู้รับสารคือ ผู้เสพข่าวแบบพวกเราด้วยค่ะ

ถ้าใครได้อ่านเพจคุณหมอหลังออกรายการนั้นคือ
สิ่งที่จริงที่สุดแล้วที่เราควรคิดและให้ค่ากับข่าวนี้
เราคิดเหมือนคุณหมอเลยว่า ที่ตีความออกมาได้ว่า
มันจะพอมีความเห็นใจให้กับมันได้บ้าง ถ้าเหตุการณ์
ครั้งนี้มันคือการแก้แค้น จากการถูกบีบคั้นต่างๆ นาๆ
แต่นี้มันไม่ใช่ เพราะเหยื่อคือตัวประกันไม่ได้มีความ
เกี่ยวพันใดๆ กับมันเลย ก็คล้ายๆ ผอ.ชั่วร้านทองนั้นล่ะ
นี้มันคือเจอใครก็ยิง

ซึ่งคนเหล่านั้นพวกเขาเกี่ยวอะไรกับการถูกเอาเปรียบ
ของมันไหม เด็กเล็กๆ มีส่วนอะไรกับมันไหมที่หลายคนบอกว่ามันถูกกดดันบีบคั้นบลาๆ เลยอาจทำให้มันชัง
สังคมเลยเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ซึ่งมันก็ไม่ใช่ คนเหล่านั้น
ที่ตายไม่นับรวมคนที่เกี่ยวพันกันมันโดยตรงนะ พวกเขา
คือผู้บริสุทธิ์คือเหยื่อ นั้นต้องแยกให้ออกอย่าเอาหลายเรื่องมารวมกัน และพูดเหมือนว่าการไม่ให้ค่ามันคือ
การซุกปัญหาซึ่งมันคนละประเด็นค่ะ อย่าหาความ
ชอบธรรมในการทำชั่วค่ะ สิ่งที่คุณหมอบอกเราตี
ความได้ไปถึงว่า ควรใส่ใจสภาพจิตใจของเหยื่อ
ตัวประกันที่รอดชีวิตจะดีกว่าค่ะ แผลทางใจรักษา
ยากนะ ยิ่งถ้ายังไม่โตพอชีวิตเป๋ได้เลยนะถ้ามัน
จะไปกระทบต่อใจและส่งผลต่อการดำรงชีวิต

ถ้าจะพูดถึงปัญหาในการเอารัดเอาเปรียบกันในกรม
ทหารนี้คือ สิ่งที่สื่อควรเล่นให้หนักมากกว่าโดยไม่
ต้องหยิบยกเหตุการณ์ของคนชั่วคนนี้ กล้าเล่นไหมล่ะ
ปัญหาชนชั้นเกิดจากอะไร สังคมเราตอนนี้มันเบี้ยว
ตั้งแต่ผู้บังคับบัญชาแล้วค่ะ เหตุการณ์เกิดขึ้นจะบอก
แค่ว่านาทีที่มันทำผิด มันก็ไม่ใช่ทหารแล้วก็ตรองเอาค่ะ
สื่อน่าเล่นหนักๆ นะประเด็นแบบนี้ หรือสื่อน่าจะทำสิ่งดีๆ
ในการนำเสนอข่าว หน่วยงานที่บุกเข้าไปช่วยที่เขาเสีย
ชีวิตเขาได้อะไรจากเหตุการณ์นี้บ้างไม่ใช่แค่ผ้าคลุมธงชาติเดินแห่แค่นั้น เชื่อเถอะคนอยู่นะเจ็บปวดกว่าแน่ๆ
(นิคือสิ่งที่คุณหมอพยายามบอกให้คิดทางอ้อมค่ะ)
หรือหน่วยนี้มีสวัสดิการยังไงบ้างกับคนในหน่วย หรือว่า
กว่าจะเป็นหน่วยนี้ต้องฝึกยังไงบ้าง หรือบางคนที่จากไป
มีส่วนให้คนที่เหลือรอดยังไง นิคือฮีโร่ที่คนที่คนรับสาร
แบบเราๆ ควรให้ค่า พูดถึงหรือใส่ใจฟังมากกว่าว่ามันถูก
กระทำนะเลยเกิดเหตุการณ์ขึ้น ซึ่งไม่ใช่ประเด็นในครั้งนี้

อเมริกามีการกราดยิงกันตายในโรงเรียนบ่อยครั้ง
เนื่องจากการถูกบูลลี่ กฎหมายอาวุธปืน แต่การนำเสนอ
เหตุการณ์ของสื่อต่างจากบ้านเรามาก ซึ่งเราคิดไปถึง
กฎหมายบ้านเขาด้วยเช่นกัน ที่มีและบังคับใช้ได้อย่าง
เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ว่าผิดแบบนี้เธอนะผิด แต่กับสิ่งที่
เกิดขึ้นแบบเดียวกันกลายเป็นคนของฉันไม่ผิดซะงั้น

ภาพคห.อันนี้ อาจไม่ใช่เรื่องจริงที่เกิดขึ้นก็ได้ค่ะ
แต่ทุกอย่างมันมีองค์รวมในการแก้ปัญหาจริง

จะโทษสื่ออย่างเดียวจริงหรือ เพราะขณะเดียวกันคน
ในสังคมที่รับสารก็มีส่วนเช่นกัน เรามองในแง่ที่ว่า
ผู้รับสารถือว่ามีคุณภาพมากขึ้นนะ ถึงได้มีกระแสไม่นำเสนอไม่ให้ค่ากับมัน เสียดายที่ว่าทั้งสื่อบางอันเองและ
ผู้รับสารบางคนด้วยคือ ผิดประเด็นมากตั้งแต่ข่าวเปรี้ยวและพวกที่ฆ่าหั่นศพแล้ว กะว่าจะไม่แสดงคห.ใดๆ กับคนแบบนี้ล่ะ แต่ก็นะเห็นใจคุณหมอที่โดนว่า เพราะต่างคน
ก็ตีความกันไปไกล



ความคิดเห็นที่ 3
นั่งดูอยู่ ฟังแล้วตกใจมากที่มีคนบอกว่าไม่ต้องเสียเวลาวิเคราะห์ ไม่คิดว่าจะได้ยินคำนี้จากคนมีการศึกษาสูง เหมือนพยายามปกปิดไม่ให้สังคมได้เรียนรู้และวางแผนรับมือกับปัญหา จิตแพทย์ไม่ต้องไปวิเคราะห์กับเขาก็ได้ ให้นักอาชญวิทยาทำไปสิ

โลกมาถึงยุคนี้แล้วอย่างน้อยก็ควรนำเสนอข้อมูลให้รอบด้าน  หรืออาจจะมีบางคนกลัวว่าพอข้อเท็จจริงถูกเปิดเผยแล้วอะไรบางอย่างมันจะล่มสลายกระมัง?
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่