ตกต่ำสุดกู่!! เผยลิขสิทธิ์บอลไทยจากปีละพันล้านเหลือร้อยล้าน

วงในเผยลิขสิทธิ์บอลไทยตกต่ำสุดกู่ จากปีละพันกว่าล้านจากสัญญาเก่า เหลือมูลค่าปีละ200ล้านเท่านั้น หากมีการยื่นประมูลใหม่




"นายกลูกหนังคนใหม่" กระอักแน่ เมื่อมีข่าววงในชัดเจนว่าผู้ประมูลรายใหญ่เจ้าเก่าแบไต๋ยืนยัน สู้ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลไทยแค่ปีละ  200 ล้าน หลังจาก  4 ปีที่ผ่านมา "นายกฯ บิ๊กอ๊อด" รับบุญเก่าจากผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ก่อนหน้านั้นเจรจาทรูวิชั่นส์ไว้ให้  4 ปี  4,200 ล้าน แต่ไม่รู้ว่าช่วงที่ผ่านมาบริหารงานท่าไหนมูลค่าบอลลีกตกต่ำสุดกู่ จากปีละพันกว่าล้านเหลือแค่ไม่เกินปีละสองร้อยล้าน 
 
เกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลลีกไทย และฟุตบอลถ้วยของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่ทางทรูวิชั่นส์ได้ประมูลซื้อลิขสิทธิ์ไปจากการเจรจาของผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ในยุคที่นายวรวีร์ มะกูดี เป็นนายกสมาคมฯ ในระยะเวลา  4 ปี มูลค่า  4,200 ล้านบาท ตกปีละ  1,000 กว่าล้านบาท ซึ่งหลังการเจรจาเซ็นสัญญาเป็นที่เรียบร้อย พอดีเป็นช่วงเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯใหม่ และก็เป็น "บิ๊กอ๊อด" พล .ต .อ .สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา พร้อมกับสวมสิทธิ์ในสัญญาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่ทรูวิชั่นส์ทำไว้กับทางยุคของอดีตนายกฯ วรวีร์ ด้วยมูลค่าเดิมทุกอย่าง ซึ่งขณะนี้สัญญาเดิมของทรูวิชั่นส์กับสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จะครบ  4 ปีเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลใหม่ ปี 2563 นี้ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยว่าใครมาประมูลใหม่หรือไม่อย่างไร ทั้งๆ ที่ พล .ต .อ .สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้แบะท่าไว้แล้วว่าจะให้ประมูลในระยะเวลายาวรวดเดียว  8 ปีเลย คาดว่าเรื่องนี้จะกระจ่างเป็นหน้าที่นายกสมาคมคนใหม่หลังการเลือกตั้งวันที่  12 ก .พ . นี้
 
นายกานต์ จันทรัตน์ ในฐานะที่เป็นผู้คลุกคลีอยู่กับวงการฟุตบอลมานานกว่า  10 ปี ได้ให้ความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับทิศทางของวงการฟุตบอลไทย ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ คนใหม่ในวันพุธ  12 ก .พ . ที่จะถึงนี้ว่า "ตนขอพูดในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับสโมสร เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ที่ตนทำงานอยู่ ในฐานะที่ทำงานในการทำทีมฟุตบอลมานานสิบกว่าปี รู้สึกเป็นห่วงอย่างมากในเรื่องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ที่กำลังรอประมูลอีกครั้ง ซึ่งในขณะนี้ยังเงียบฉี่อยู่ ตนคิดว่าใครเข้ามาเป็นายกสมาคมฟุตบอลในการเลือกตั้งวันที่  12 ก .พ . นี้ต้องหนักใจอย่างมากกับปัญหานี้"
 
ทั้งนี้เนื่องจากมูลค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่ทางผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ในยุคของคุณวรวีร์ มะกูดี เป็นนายกสมาคมฯ ได้เจรจากับทรูวิชั่นส์ไว้ด้วยมูลค่าถึง  4,200 ล้านบาท ในสัญญา  4 ปี ก็ตกปีละพันกว่าล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งตอนนั้นทีมงานเก่ายุคบิ๊กยีได้ช่วยกันพัฒนาวงการฟุตบอลจนมีมูลค่ามหาศาลในสายตายักษ์ใหญ่อย่างทรูวิชั่นส์ถึงได้ยอมจ่ายเป็นค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดสูงเป็นประวัติศาสตร์ของวงการอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และยุคของบิ๊กอ๊อดที่ชนะเลือกตั้งมาพอดีเลยรับส้มหล่นบุญเก่าในสัญญาเดิมกับทรูวิชั่นส์ไปเลย จึงมีเงินมากมายในการบริหารจัดการ" 
"แต่ที่เห็นๆ กันอยู่ เงินรางวัลการแข่งขัน และเงินบำรุงทีมก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้มากขึ้น รูปแบบการจัดการแข่งขัน ปัญหาผู้ตัดสิน การลดจำนวนทีมในไทยลีก  1 รวมทั้งความวุ่นวายในความเป็นมืออาชีพต่างๆ ของทีมงานชุดนี้ ส่งผลชัดเจนถึงจำนวนคนดูในสนามลดฮวบอย่างน่าใจหาย" 
"เท่าที่ตนได้สืบทราบมาว่าในการประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลครั้งใหม่หลังจบปี 2563 นี้ทางผู้ประมูลรายใหญ่เจ้าเดิมพร้อมจะสู้ราคาแค่ปีละไม่เกิน  200 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเท่าที่ตนมองดูเจ้าอื่นๆ ที่จะมาประมูลสู้ในราคาที่สูงกว่านี้คงยาก เนื่องจากมูลค่าของลีกตกต่ำลง ทีมก็ลดลง ผู้ประมูลเจ้าอื่นก็ไม่มีช่องออกอากาศในยามแข่งขันพร้อมกันหลายคู่เหมือนเจ้าเดิม น่าใจหายไหมที่มูลค่าจากปีละพันกว่าล้าน เหลือปีละ  200 ล้าน สิ่งนี้มันสะท้อนถึงอะไร" 
เกี่ยวกับกรณีนี้ ผู้สัดทัดในวงการฟุตบอลหลายราย ต่างก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า หากนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ หลังการเลือกตั้งวันที่  12 ก .พ . ยังเป็นคนเดิม ก็น่าห่วงกว่าเดิมอีก นอกเหนือจากว่าในเรื่องของวิวัฒนาการการถ่ายทอดสดที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมาก แต่ความคิด ความรู้ในการบริหารงานที่เห็นๆ กันอยู่ ไม่รู้ว่าต่อไปจะมีการลดทีมในไทยลีกเพื่อเซฟค่าใช้จ่ายต่างๆ จาก  16 ทีม จะเหลือ  14 ทีม หรือ  12 ทีม กลายเป็นลีกสิงคโปร์ไปในที่สุดหรือเปล่า ปัญหาการบริหารจัดการที่แม้กระทั่งคนเป็นนายกฯ ยังมีการอนุมัติให้มีเงินเดือนตั้งครึ่งล้าน และอนุมัติเงินเดือนตนเองในฐานะประธานไทยลีกอีกครึ่งล้าน รวมเป็นสองเด้งรับเงินเดือนหนึ่งล้านบาท เป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกของวงการฟุตบอลไทย

ที่มา:https://www.smmsport.com/reader/news/291658?fbclid=IwAR0f7YHbY0dfCNY9CzilbFR3FUSuHt8jKtM9_vQEKXl5-JunOSv_Jw0sSoY
 
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่