สร้างบ้านเช่าบนที่ดินที่ตัวเองอยู่อาศัยด้วยต้องเสียค่าภาษีและดำเนินการอย่างไรบ้าง?

มีที่ดิน 1 แปลง ซึ่งสร้างบ้านให้ตัวเองอยู่อยู่แล้ว 
พอดีเนื้อที่มันใหญ่เกินเลยอยากจะสร้างบ้านเช่า 1 หลังบนที่ดินแปลงนี้เพิ่ม 
มีขั้นตอนดำเนินการอย่างไรบ้าง? ต้องจ่ายภาษีโรงเรือนยังไง? 
มิเตอร์ไฟและน้ำต้องแยกต่างหากกับของเราเองไหม? 
บ้านเลขที่ต้องขอเพิ่มไหม? ในกรณีที่ผู้เช่าต้องการมีชื่อในทะเบียนบ้านเพราะเป็นต่างชาติ ต้องทำอย่างไรบ้าง? 
รบกวนผู้รู้ช่วยแนะนำหน่อยนะคะ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
ต้องเสียภาษีเป็นสองส่วน โดยเจ้าหน้าที่จะคิดตามอัตราส่วนพื้นที่ใช้สอยแล้วคำนวนเป็นภาษีที่ต้องชำระ ส่วนการแจ้งย้ายเข้าของบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยเข้าทะเบียนบ้านสามารถดำเนินการได้ 2 กรณี ดังนี้ครับ
1.กรณีถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
เอกสารของเจ้าบ้าน
     1. บัตรประจำตัวประชาชน
     2. ทะเบียนบ้าน
เอกสารของคนต่างด้าว (ส่วนใหญ่เป็นคนจีนที่อยู่เมืองไทยนานมากแล้วแต่ยังไม่มีสัญชาติไทย และคนต่างชาติที่ขอมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ พร้อมกับมีการขอใบประจำตัวคนต่างด้าวแล้ว)
     1. ใบประจำตัวคนต่างด้าว
     2. ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ (ถ้ามี)
ค่าธรรมเนียม: ไม่มี
หมายเหตุ
      -  กรณีที่บุคคลจะย้ายเข้าเป็นบุคคลต่างด้าว จะต้องไปแจ้งย้ายต่างด้าวเข้า ที่สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ที่ย้ายเข้าก่อน
      -  กลุ่มนี้ย้ายเข้า ทร.14 ได้ แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย
2.กรณีถือหนังสือเดินทาง
เงื่อนไข การขอย้ายเข้าทะเบียนบ้าน ของชาวต่างชาติจะต้องถือวีซ่าประเภท non-immigrant visa
เอกสารของเจ้าบ้าน
     1. บัตรประจำตัวประชาชน
     2. ทะเบียนบ้าน
เอกสารของคนต่างชาติ
     1.หนังสือเดินทางตัวจริง
     2.เอกสารรับรองหนังสือเดินทาง โดยสถานทูต (รับรองเฉพาะหน้าแรกที่มีรูปถ่าย และหน้าที่มีแสดงวีซ่า โดยวีซ่าจะต้องยังไม่หมดอายุ)
     3.เอกสารรับรองหนังสือเดินทาง (ตัวที่แปลเป็นภาษาไทย และต้องรับรอง โดย กองสัญชาติและนิติกรณ์แล้ว)
    4.รูปถ่าย ขนาด 1.5 นิ้ว จำนวน 4 รูป
    5.เอกสารสิทธิ์ อาทิ โฉนดที่ดิน , หนังสือสัญญาซื้อขาย ฯลฯ (กรณีชาวต่างชาติซื้อบ้านหรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านเอง)
    6.พยานที่เป็นคนไทย 2 คน พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน (พยานควรเป็นคนที่รู้จักกันดี)
ค่าธรรมเนียม:ไม่มี
หมายเหตุ: คนต่างชาติกลุ่มนี้ ชื่อจะเพิ่มเข้าใน ทร.13 เท่านั้น
สถานที่ในการติดต่อ: สามารถติดต่อที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตในพื้นที่ที่ต้องการย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้าน ส่วนมิเตอร์ นำ้ไฟและเลขที่บ้านนั้น ถ้าสร้างบ้านขึ้นใหม่ต้องดำเนินการขอใหม่ โดยการขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่
หลักฐาน
1. สำเนาทะเบียนบ้านที่ขอติดตั้งการใช้ไฟฟ้า
2. สำเนาทะเบียนบ้านที่อยู่ปัจจุบัน
3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
4. สัญญาซื้อขาย (กรณีซื้อขายบ้าน)
5. ใบเสร็จค่าไฟฟ้าข้างเคียงของเสาที่จะติดตั้งมิเตอร์ (ถ้ามี) ส่วนการขอติดตั้งประปาจะใช้เอกสารคือ

    กรณีบุคคลธรรมดา
    1. สำเนาบัตรประชาชน / ข้าราชการ / พนักงานองค์กรของรัฐ
    2. สำเนาเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์การครอบครองอาคาร (อย่างใดอย่างหนึ่ง)

        - ทะเบียนบ้าน (ที่ขอติดตั้งประปา)
        - หนังสือสัญญาซื้อขายอาคาร
        - หนังสือสัญญาเช่าซื้อ
        - หนังสือสัญญาเช่าอาคาร
        - ทะเบียนบ้านชั่วคราว
        - หนังสืออนุญาตปลูกสร้างอาคาร
        - โฉนดที่ดิน และหนังสือยินยอมจากเจ้าของ

    3. หนังสือมอบอำนาจ (ฉบับจริง) (ติดแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร บัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7.) และสำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจ (กรณีที่ไม่สามารถมาติดต่อได้ด้วยตนเอง) และในส่วนการขอเลขที่บ้านนั้น สถานที่ยื่นคำร้องขอเลขที่บ้าน

-ถ้าบ้านปลูกอยู่ในเขตเทศบาลที่ยังมีผู้ใหญ่บ้านอยู่ในเขตเทศบาล  เจ้าบ้านจะต้องแจ้งขอเลขที่บ้านต่อผู้ใหญ่บ้านเพื่อออกใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ท.ร.9)  สำหรับนำไปประกอบการยื่นคำร้องขอเลขที่บ้านที่งานทะเบียนราษฎรของทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลที่บ้านปลูกสร้างเสร็จตั้งอยู่  เพื่อแจ้งขอเลขที่บ้านและสมุดทะเบียนบ้าน

-ถ้าบ้านปลูกอยู่นอกเขตเทศบาล  เจ้าบ้านจะต้องแจ้งขอเลขที่บ้านต่อผู้ใหญ่บ้าน  เพื่อออกใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ท.ร.9) สำหรับนำไปประกอบการยื่นคำร้องที่งานทะเบียนราษฎรของสำนักทะเบียนอำเภอที่บ้านปลูกสร้างเสร็จตั้งอยู่  เพื่อแจ้งขอเลขที่บ้านและสมุดทะเบียนบ้าน

หลักฐานที่ต้องใช้ในการขอเลขที่บ้าน หรือทะเบียนบ้านใหม่

(1)ใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ท.ร.9) ออกโดยผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนันท้องที่ที่บ้านที่ปลูกสร้างเสร็จตั้งอยู่

(2)สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ยื่นคำร้องพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ 1  ชุด

(3)เอกสารสิทธิ์แสดงการครอบครองที่ดินของบ้านที่ปลูกสร้างนั้นตั้งอยู่  เช่น โฉนดที่ดิน  , น.ส.3 ,ส.ป.ก เป็นต้น  กรณีสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่บนที่ดินของผู้อื่น ต้องมีหนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินนั้นของเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นประกอบด้วย  โดยใช้เอกสารดังนี้

– หนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างบ้าน  (กรณีสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่บนที่ดินของผู้อื่น) โดยแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  และสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน/ผู้ที่มีชื่อร่วมกันในกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นๆทุกคน  ลงลายมือชื่อพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องเอกสารทุกฉบับ 1 ชุด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่