[CR] รีวิว : Kim Ji Young : Born 1982 ...หนังเรียบง่าย แต่เปี่ยมด้วยคุณค่าที่ยิ่งใหญ่และงดงาม

Kim Ji Young : Born 1982 ( คิม โตยอง)
(คิมจียอง : เกิดปี 82)
8.5/10
....
"หนังดี เรียบง่าย แต่เปี่ยมด้วยคุณค่า เข้าใจในความเป็นผู้หญิง"

ตัดสินใจไม่ผิดจริงๆ ที่เลือกดูหนังเรื่องนี้ส่งท้ายปี 62 ...ด้วยหน้าหนังที่สามารถเรียกแฟนคลับของกงยู ออกมาดูได้มากมาย แต่น่าเสียดายมาก ที่รอบและโรงฉายน้อยมาก (สวนทางกับนักแสดงนำที่เป็นระดับซุปตาร์แห่งเกาหลี) ...แต่ถึงแม้รอบจะน้อย ก็ไม่ได้บดบังคุณค่า ความดีงาม หรือสาระ ที่หนังเรื่องนี้ตั้งใจจะบอกกับผู้ชม ...ถ้าคุณเป็นผู้หญิง นี่คือหนังของคุณ และถ้าคุณเป็นผู้ชาย หรือคือหนังที่คุณควรดู เพื่อที่จะเข้าใจความเป็นผู้หญิง ความเป็นภรรยา ความเป็นแม่ของลูกได้มากขึ้น

Kim Ji Young : Born 1982 คืองานที่สร้างจากนิยายขายดีของ โซนัมจู ...จากข้อมูลที่อ่านมา นิยายเรื่องนี้สร้างกระแสให้กับนักอ่านที่เป็นผู้หญิงไปทั่วเกาหลีใต้ ขณะที่ผู้ชายกลับหงุดหงิด รับไม่ได้ ...นิยายเรื่องนี้คือหนึ่งในสัญลักษณ์ของการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในเกาหลี และเข้ากับกระแส Me Too ที่โด่งดังไกลไปทั่วโลก (นิยายเรื่องนี้มีแปลเป็นภาษาไทยด้วยนะ) ...และแน่นอน เมื่อมันถูกสร้างเป็นหนัง และพระเอกระดับซูเปอร์สตาร์อย่างกงยู สนใจที่จะมาแสดง (แม้บทจะเป็นรองนางเอกในเรื่องก็ตาม) แสดงว่าตัวหนังเรื่องนี้คงต้องมีอะไรดีๆ ซ่อนอยู่แน่ๆ

Kim Ji Young : Born 1982 เล่าเรื่องราวของ คิมจียอง (จอง ยูมี) ...(จากเกร็ดเล็กน้อยที่ได้อ่านพบ ชื่อคิมจียอง เหมือนชื่อโหลที่คนเกาหลีนิยมตั้งให้ลูกสาว คงคล้ายๆ สมศรี ในบ้านเรา) ...ตัวคิมจียองเอง คือแม่บ้านชาวเกาหลีในวัย 37 ที่ต้องออกจากงานมาแต่งงาน มีลูก แล้วก็ต้องเลี้ยงลูกสาว เธอแต่งงานกับ จองแดฮยอน (กงยู) ...จะว่าไปเธอก็น่าจะดูเหมือนแม่บ้านปกติ ธรรมดา ได้แต่งงาน มีสามีที่รัก อบอุ่น และดูเหมือนจะเข้าใจเธอ มีลูกที่น่ารัก สามีคอยทำงานเพื่อส่งเสียเลี้ยงดูเธอ ขอให้เธอเป็นแม่บ้าน เป็นแม่ที่เลี้ยงลูกตัวน้อยๆ ให้ดีที่สุดก็พอ ...แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตของคิมจียอง ก็ไม่ได้ต่างจากผู้หญิงในเกาหลีทั่วไป ที่ต้องผ่านทั้งปัญหาต่างๆ มากมาย ผ่านสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ...แม้แต่วันที่เธอเป็นคุณแม่ ยังไม่วายโดนผู้คน (ที่แทบไม่รู้จักเธอเลย) ว่าร้าย นินทา ว่าเป็นผู้หญิงที่มีลูกนี่แสนสบายนะ งานการก็ไม่ต้องทำ อยู่บ้านเลี้ยงลูกชิลๆ ให้สามีเลี้ยงอย่างเดียว

คิมจียอง คือตัวแทนของผู้หญิงชาวเกาหลี (หรืออาจจะเป็นผู้หญิงทั้งโลกก็ได้) ที่ผ่านปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านสิทธิ ด้านเพศ ...เธอเก็บกดปัญหาเหล่านี้ไว้ จนเธอป่วยทางจิต ซึ่งตัวสามีเธอเอง ดูเหมือนจะเข้าใจ และ พยายามหาทางแก้ปัญหานี้ โดยต้องการพาเธอไปพบจิตแพทย์ ....ในหนังเราจะพบว่าตัวคิมจียอง เธอป่วยเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตร รวมถึงมีคำๆ หนึ่งที่ตัวแดฮยอน สามี ค้นหาคือคำว่า ภาวะถูกสิง (เห็นว่าในตัวนิยายแสดงภาวะนี้อย่างชัดเจน) อาการของภาวะถูกสิง ที่สามีของเธอเป็นกังวล ไม่ต่างจากภาวะซึมเศร้า หลังคลอด (จริงๆ ภาวะถูกสิง อาจเป็นผลข้างเคียงจากตรงนี้ก็ได้) ในหนังก็ไม่แสดงให้คนดูได้เห็นชัด ช่วงต้นๆ ของหนังมีหนึ่งครั้ง ที่แทบไม่รู้เลยว่าเป็นอะไร จนถึงช่วงท้ายๆ ของหนังที่เธอแสดงถึงภาวะนี้อย่างชัดเจน เล่นเอาคนดูอย่างเราอึ้งไปเหมือนกัน

* ตรงนี้มีสปอยล์นะ 
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

จริงๆ ตัวหนังเองมีหลากหลายประเด็นให้เราได้ขบคิด ได้ตีความ ตัวของคิมจียอง คือการสะท้อนความเป็นผูหญิงเกาหลีใต้ ที่ผ่านช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวด เลวร้าย ของสังคมที่ไม่เท่าเทียมทางเพศ ...ภาพของครอบครัวในหนังทั้งครอบครัวนางเอก ที่ผู้ชายจะได้รับสิทธิพิเศษมากกว่า อย่างน้องชายเธอ ที่ดูเหมือนได้รับการเอาใจมากกว่าลูกสาวทั้งสองคน เพียงเพราะเป็นลูกชาย ของดีๆ ของพิเศษๆ จะเอาให้น้องชายก่อนเสมอ ...บทของพ่อที่ต่อว่าลูกสาวคิมจียองในวัยรุ่น ที่เธอถูกเพื่อนชายคกคาม ว่าเป็นเพราะการแต่งตัว แทนที่จะเห็นใจหรือปกป้องเธอ ...ภาพของการทำงาน ที่แม้คิมจียองจะทำงานเก่งมาก เรียนมาก็สูง แต่กลับไม่ได้รับการเลือกเข้าทีม เพียงเพราะมองว่าเป็นผู้หญิง ที่วันหนึ่งต้องแต่งงาน ต้องมีลูก ไม่สามารถอุทิศตัวให้กับงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องหลายปีได้ ...ภาพของผู้หญิงอื่นๆ ทั้งในที่ทำงานพระเอก ที่ถูกหัวหน้าชายต่อว่าที่มาทำงานสาย (ทั้งๆ ที่เธอก็ทำงานดีมาก) เพราะเธอต้องพาลูกไปหาหมอ แล้วเอาลูกมาที่ทำงานด้วย ....อีกหนึ่งประเด็นที่หนังแฝงอย่างชัดเจนคือการสะท้อนสังคมของเกาหลีใต้ เรื่องของ Gen ...ผู้หญิงในยุคเก่า อย่างแม่ของนางเอก หรือ แม่ของพระเอก ที่ถูกเลี้ยงดูมาในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ...แม่ของนางเอกเป็นคนที่ไม่มีปากเสียงกับพ่อที่เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือแม่ของพระเอก ที่ต่อว่าลูกสะใภ้ ในวันที่เธอตัดสินใจกลับไปทำงานแทนที่จะอยู่เป็นแม่บ้าน ...รวมไปถึงสะท้อนเรื่องของมุมมองการเมือง เศรษฐกิจ ของเกาหลีใต้ ที่เคยประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง (ในช่วงเดียวกันกับการเกิดภาวะต้มยำกุ้งในไทย จำได้ว่าเศรษญกิจเกาหลีใต้ตอนนั้นแย่มากๆ ก่อนจะฟื้นตัวเป็นยักษ์ใหญ่ได้ในปัจจุบัน) ซึ่งสะท้อนผ่านครอบครัว ที่ต้องต่อสู้ ดิ้นรน รวมถึงค่านิยมต่างๆ ที่แฝงมาอยู่ในหนังอย่างชัดเจนมาก (ไม่แปลกที่เด็กที่เกิดมาในยุคนั้น 82 จะได้รับผลกระทบมาจนถึงยุคปัจจุบัน)

Kim Ji Young : Born 1982 คืออีกหนึ่งหนังเกาหลีชั้นดี ที่เข้าใจในความเป็นผู้หญิงอย่างแท้จริง... แม้เรื่องราวจะเกิดในเกาหลีใต้ แต่เชื่อว่า มันสะท้อนถึงความเป็นผู้หญิงทั้งโลก ทั้งในบทบาทของผู้หญิง บทบาทของเมีย บทบาทของแม่ จะเข้าใจ จะโดนใจ (เห็นมีหลายคนเลยนะที่ร้องไ้ในหลายๆ จุดในหนัง) ...หนังเดินเรื่องอย่างเรียบง่าย เข้าใจ ไม่น่าเบื่อ ..ทำให้ผู้ชายอย่างผม ได้มองมุมกลับ ได้เข้าใจในความเป็นผู้หญิงมากขึ้น ...นี่คืออีกหนึ่งหนังดีส่งท้ายปีเก่าที่ไม่ควรพลาดจริงๆ ครับ

Facebook : https://www.facebook.com/eattravelmoviecritic

ชื่อสินค้า:   KIM JI-YOUNG, BORN 1982
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่