วันนี้จะมีแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับ “อาการเส้นเลือดสมองตีบในผู้สูงอายุ” ให้ฟังครับ

สวัสดีครับ วันนี้จะมีแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับ “อาการเส้นเลือดสมองตีบในผู้สูงอายุ” ให้ฟังครับ อาจจะยาวและมึนๆ งงๆ หน่อยนะครับ ลองค่อยๆ อ่านไปครับ 
 
ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นก่อนว่า อาการเส้นเลือดในสมองตีบเป็นอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างที่คุณยายรักษาตัวในโรงพยาบาลครับ ตอนแรก คุณยายผมปวดท้อง พวกเราคุยกันว่า จะไม่พาคุณยายไปโรงพยาบาลครับ เราจะรักษาตามอาการ ปวดท้องก็ไปปรึกษาเภสัชกรเพื่อซื้อยาแก้ปวดท้อง หากปวดขา ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดหัว ปวดเอว เราก็จะไปปรึกษาเภสัชกรเพื่อซื้อยารักษาตามอาการนั้นๆ ครับ เพราะเคยมีประสบการณ์ว่า ผู้สูงอายุคนไหนไปโรงพยาบาล ทรุดแล้วเสียชีวิตคาโรงพยาบาลทุกราย แต่จะขอไม่เล่ายาวเหยียดครับ
 
ขออนุญาตแบ่ง timeline เป็น 5 ช่วง (5 สัปดาห์) ตามเหตุการณ์คร่าวๆ ที่เกิดขึ้นนะครับ 

สัปดาห์แรกที่ป่วย
@บ้าน

เริ่มแรก วันจันทร์ คุณยายบ่นปวดท้อง พวกเราคิดไว้ 2 อย่างครับ อย่างแรกคิดว่าคุณยายเป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร เพราะระยะหลังคุณยายไม่ค่อยทานข้าว ทานข้าวไม่เป็นเวลา พวกเราก็ไปซื้อยาแก้ปวดท้อง มาให้คุณยายทานตามปกติครับ อีกอย่างหนึ่งพวกเราคิดว่าคุณยายเป็นโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เพราะเวลาอยู่บนเตียงนอน คุณยายสามารถลุกนั่งและลงนอนเองได้ เพียงแต่ว่าไม่ว่าจะลุกนั่งหรือจะล้มตัวลงนอน คุณยายจะเกร็งช่วงท้อง อาจเป็นเหตุให้ปวดกล้ามเนื้อช่วงหน้าท้อง เภสัชกรจึงแนะนำยาคลายเส้นให้ครับ ในสัปดาห์เดียวกันคุณยายมีอาการหนาวๆ สั่นๆ (แทรกเข้ามา) สลับกับอาการปวด (ท้อง) ครับ คือ วันจันทร์ ปวดท้อง วันอังคาร หนาวสั่น + ปวดท้อง วันพุธ ปวดท้อง วันพฤหัส หนาวสั่น + ปวดท้อง สรุปก็คือ คุณยายปวด (ท้อง) ไม่หาย และยังมีอาการหนาวสั่นตลอดสัปดาห์ ซึ่งอาการหนาวสั่นที่เป็นๆ หายๆ นี้ พวกเราสันนิษฐานว่า อาจจะ “ติดเชื้อ” ครับ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทั้งคุณตาและคุณยายเคยหนาวสั่นแบบนี้มาแล้วทั้งคู่ 

ระหว่างนี้ พวกเราก็ได้แต่ลังเลว่าจะพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลดีหรือไม่ เพราะจากประสบการณ์ทั้งที่พวกเราประสบการณ์ด้วยตนเอง และได้ยินจากประชาชน ปรากฏว่า “ไม่ประทับใจ” แต่ขออนุญาตไม่กล่าวถึงเพื่อจะได้ไม่ส่งต่อความไม่ประทับใจให้แก่ผู้อื่น

ท้ายที่สุด พวกเราสังเกตอาการของคุณยายจนกระทั่งถึงวันอาทิตย์ (ครบ ๑ สัปดาห์) พวกเราก็ทนเห็นคุณยายเจ็บปวดอีกต่อไปไม่ไหว คุณยายปวด ก็เหมือนพวกเราปวด คุณยายทุกข์ พวกเราก็ทุกข์หนักไปด้วย พวกเราทุกข์มาก โดยที่ไม่สามารถช่วยเหลือคุณยายได้เลย พวกเราจึงตัดสินใจพาคุณยายส่งโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศหนึ่ง

สรุป ก่อนที่จะพาคุณยายไปโรงพยาบาล อาการคร่าวๆ คือ 
(1) ทานข้าวไม่ได้แล้ว (จากที่เคยทานข้าวสวยเป็นหลัก มีกับข้าวก็คือต้ม ผัด แกง ทอด ต่างๆ เช่น ผัดฟักทอง ผัดผักกาดขาวใส่หมูสับ แกงเขียวหวาน ไก่ทอด แกงของภาคเหนือ บางมื้ออาจเป็นขนมจีนน้ำพริกบ้าง) ซึ่งปกติคุณยายทานเต็มจานเท่าๆ กับวัยกลางคนเลยครับ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเราก็ซื้ออาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ให้ยายทาน บางมื้อก็อาจมีกล้วยร่วมด้วยครับ สัปดาห์นี้ค่อยๆ ลดชาเย็น น้ำหวาน ขนมหวานทุกชนิดที่คุณยายชอบรับประทาน 
(2) การพูดติดขัด ส่วนหนึ่งเข้าใจว่าเกิดจากเสมหะติดลำคอ 
(3) ปวดท้อง (ไม่แน่ใจว่ากะเพราะ หรือกล้ามเนื้อ)
(4) ไข้ขึ้นๆ ลงๆ หนาวสั่น
(5) ขยับตัวลำบาก จากเดิมที่สามารถลุกนั่งและล้มตัวลงนอนเองได้ ก็ทำไม่ได้แล้ว
 
เมื่อไปถึงโรงพยาบาล แพทย์ได้เอกซเรย์ เจาะเลือด ให้น้ำเกลือและยาฆ่าเชื้อ อาการของคุณยายดูดีขึ้นจนแทบจะกลับมาเป็นปกติ ยกเว้นอาการปวด (ท้อง) เหมือนไม่ได้ป่วยอะไร จากนั้นแพทย์จึงได้ admit เพื่อหาสาเหตุและรักษาอาการต่อไป 

ก่อน admit แพทย์เวรห้องฉุกเฉินได้แจ้งกับพวกเราว่า “...ตอนนี้คุณยายสติยังดี พวกเราไม่อาจทราบได้ว่าอาการของคุณยายต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร ขอให้ญาติคุยกัน และขอให้คุยกับคุณยาย แจ้งให้คุณยายได้รับทราบว่า “หากต่อจากนี้ไปอาการแย่ลง ไม่ว่าจะเป็น หายใจเองไม่ได้ ทานข้าวไม่ได้ หรืออาการทรุดลงไปจากนี้ ฯลฯ จะให้ช่วยชีวิตด้วยวิธีการเจาะคอ สอดท่อช่วยหายใจ ปั๊มหัวใจ หรือไม่”...” เมื่อเจอคำถามนี้ไป รับรองว่าผู้เป็นญาติอาจใจคอไม่ค่อยดี ถูกต้องแล้วครับ พวกเราเหวอไปเลย ในใจคิดว่าไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้แน่ๆ 
แต่ท้ายที่สุดแล้ว “อะไรก็เกิดขึ้นได้!” ครับ

สัปดาห์ที่สองที่ป่วย
@โรงพยาบาล

คุณยายได้รับการรักษาหลักๆ คือ เติมน้ำเกลือ เติมยาฆ่าเชื้อ และให้ยาที่เกี่ยวกับอาการปวดท้อง เช่น ยาลดกรด และยาละลายเสมหะ แต่อาการก็ยังไม่นิ่ง กล่าวคือ มีไข้ขึ้นๆ ลงๆ ปวดท้อง และมีเสมหะวนกันไปมา ใน 1-2 วันแรกหลังจาก admit แพทย์พูดเหมือนกับว่า “คุณยายไม่ตอบสนองการรักษา”  ทำให้แพทย์ต้องปรับยา

สัปดาห์นี้คุณยายสามารถพูดคุยได้ปกติ ดื่มน้ำได้มาก ขยับตัวได้ปกติ มีเสมหะเล็กน้อย ทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊กปั่น ข้าวต้ม ได้ตามปกติ (ของผู้ป่วยไม่วิกฤติ) ไม่น่าวิตกกังวล มีแต่เพียงบ่นๆ ว่า "อยากกลับบ้าน อยากพลิกตัว เมื่อย ทนไม่ไหว"

สรุปในระหว่าง 1 สัปดาห์นี้อาการของคุณยายก็ทรงๆ คือ 
(1) ไข้ขึ้นๆ ลงๆ
(2) ปวดท้อง

สัปดาห์ที่สามที่ป่วย
@โรงพยาบาล

เมื่ออยู่โรงพยาบาลไปได้สักระยะ ก็มีอาการแทรกซ้อนขึ้นมา คือ “น้ำท่วมปอด” แพทย์จึงถอดน้ำเกลือ ยาฆ่าเชื้อ และควบคุมปริมาณน้ำดื่มที่จะต้องให้กับคุณยาย ซึ่งจากเดิมคุณยายเคยดื่มน้ำวันละมากๆ คือ วันละประมาณ 1-2 ลิตร โดยพวกเราเทใส่ไว้ในกระติกน้ำให้คุณยาย เวลาคุณยายรู้สึกกระหายน้ำ ก็หยิบขึ้นมาดูดได้ แต่ตอนนี้คุณยายดื่มน้ำได้วันละไม่กี่มิลลิลิตรเท่านั้น ความวิตกกังวลของพวกเราจึงเพิ่มขึ้นมา 2 ระดับ คือ (1) น้ำท่วมปอด (2) ดื่มน้ำได้น้อย

จากนั้นอาการของคุณยายก็ไม่นิ่ง กล่าวคือ ยังมีอาการปวดท้อง และมีไข้ขึ้นๆ ลงๆ อยู่เช่นเดิม ประกอบกับจากที่เคยพูดได้เป็นประโยค พูดได้ปกติเหมือนคนทั่วไป ก็พูดได้เป็นคำๆ และไม่ชัดนัก เช่น “น้ำๆ” “หิว” ฯลฯ เป็นต้น แพทย์จึงปรับยาให้เป็นระยะๆ ช่วงแรกๆ ที่น้ำท่วมปอด พวกเราจึงรู้สึกสงสารที่คุณยายไม่สามารถดื่มน้ำตามที่เคยดื่มได้

ขณะเดียวกัน คุณยายเริ่มทานข้าว กล้วย และดื่มน้ำได้น้อยลงเรื่อยๆ ตามลำดับ 

ระหว่างนี้พวกเราก็ยังคงคะยั้นคะยอให้คุณยายทานข้าว ดื่มน้ำ โดยพวกเราป้อนได้นิดๆ หน่อยๆ คุณยายก็อิ่ม! คุณยายก็พอ! คุณยายจะไม่ทน!   
ในขณะที่คุณยายไม่ค่อยทานข้าว น้ำ ยา และยังปวดท้องอยู่นั้น คืนหนึ่งพวกเราต้องตื่นตกใจ เนื่องจากคุณยายหายใจไม่ออก อึดอัด อึกอัก เหมือนจะขาดใจ พี่พยาบาลบอกว่า คุณยายมีเสมหะมาก พี่พยาบาลจึงดูดเสมหะให้ อาการจึงบรรเทาลง

ปลายสัปดาห์ที่ 2 ที่อยู่โรงพยาบาล เมื่อรักษาอาการน้ำท่วมปอดจนหายเป็นปกติดีแล้ว เสมหะเริ่มมากขึ้น อาการปวดท้องก็ยังคงเป็นๆ หายๆ แพทย์จึงได้คุยกับพวกเราว่า ตอนนี้อาการน้ำท่วมปอดดีขึ้นแล้ว จะทำการรักษาอาการปวดท้อง โดยจะต้องเริ่มใหม่ คือ เริ่มให้น้ำเกลือและให้ยาอีกครั้งหนึ่ง 

สรุปในระหว่าง 1 สัปดาห์นี้อาการของคุณยายก็ทรงๆ คือ 
(1) ไข้ขึ้นๆ ลงๆ
(2) ปวดท้อง
(3) มีเสมหะ (น่าวิตกกังวล)
(4) น้ำท่วมปอด (หายแล้ว)

ปลายสัปดาห์นี้ คุณยายยังพูดได้ คุณยายได้บอกกับพวกเราว่า “เจ้าพ่อมหายักษ์ มากับผู้หญิงคนหนึ่ง นั่งรถมาเยี่ยมยาย ยายจำเจ้าพ่อมหายักษ์ได้ เจ้าพ่อมหายักษ์ก็จำยายได้เหมือนกัน มาเยี่ยมแล้ว พวกท่านก็นั่งรถกลับ แต่ยายไม่ได้ไปด้วย” 

พวกเราก็ได้แต่พูดว่า “ดีแล้ว ยายระลึกถึงท่าน ท่านคงเป็นห่วงยาย ท่านมาเยี่ยมยาย ยายจะได้หาย และกลับบ้านเร็วๆ” และพวกเราก็ไม่ได้นึกถึงเรื่องพวกนี้อีกเลย

*** ต่อในคอมเม้นต์ ***
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่