จากกระทู้เรื่องคลับไลเซนซิ่ง มีคนสงสัยว่าคลับไลเซนซิ่งมีผลต่อความเก่งของทีมฟุตบอลแต่ละสโมสรหรือเปล่า

เลยเอาบทความแนะนำเรื่องคลับไลเซนซิ่งมาให้ดู สรุปคือเขาพยายามสร้างให้สโมสรมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเพื่อให้สามารถพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน
**************************************************************
ทำความรู้จัก คลับไลเซนซิ่ง (Club Licensing)

 
 
คลับไลเซนซิ่ง (Club Licensing) คือ ใบอนุญาตหรือเอกสารยืนยันการเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพที่ได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์ ที่สมาพันธ์ฟุตบอลในทวีปนั้นๆ เป็นผู้กำกับดูแลชาติสมาชิกของตัวเอง ซึ่งจะมีทั้ง 5 หมวดใหญ่มีดังนี้ คือ สนาม, ด้านกีฬา, การเงิน, กฎหมาย, การบริหารและทรัยยาบุคลากร สำหรับบ้านเราก็คือสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ AFC
 
หลักเกณฑ์อะไรบ้างที่ต้องมีใน คลับไลเซนซิ่ง ก่อนอื่น หลักเกณฑ์ต่างๆ ของคลับไลเซนซิ่ง มีระดับความสำคัญของการประเมินคือ A B C ซึ่งในแต่ละหมวดจะระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องเป็นตัวไหน
– ความสำคัญระดับ A คือคุณสมบัติที่สโมสร “ต้องมี” ทุกประการ จะขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ หลักเกณฑ์ตัวไหนที่ใน คลับไลเซนซิ่ง บอกต้องมี ก็ต้องมีทั้งหมด หากขาดเพียงแม้แต่อย่างเดียวที่สำคัญระดับ A จะไม่ได้รับใบอนุญาต หรือ คลับไลเซนซิ่ง
– ระดับ B “จะต้องมี” ในกรณีนี้หากขาดข้อใดข้อหนึ่งที่สโมสรจะต้องมี คณะกรรมการจะพิจารณาให้ใบอนุญาตหรือไม่ก็ได้
– ระดับ C “ควรมี” แม้จะขาดในข้อนี้ไป แต่ก็ยังได้รับใบอนุญาต และจะต้องมีแผนที่จะทำในอนาคต
 
หลักเกณฑ์ 5 ประการหลักของ คลับไลเซนซิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในความสำคัญระดับ A
 
1. หลักเกณฑ์ด้านกีฬา (Sporting Criteria)
 
 
ในส่วนนี้จะกำหนดถึงโครงสร้างในการพัฒนาและการดูแลนักฟุตบอลเป็นหลัก มีหัวข้อใหญ่ๆ ดังนี้
– การพัฒนาเยาวชนของสโมสร หรือ อะคาเดมี่ นั่นเอง ซึ่งสโมสรจะต้องจัดทำแผน วัตถุประสงค์ วิธีการดำเนินการบริหารดูแล มีบุคลากรที่ใช้ในการดูแลอะคาเดมี่
– สโมสรต้องมีทีมเยาวชนตามลำดับอายุ
15 – 21 ปี จะต้องมีอย่างน้อย 2 ทีม (มีแมตช์แข่ง 40 นัดต่อคน ต่อปี)
10 – 14 ปี จะต้องมีอย่างน้อย 1 ทีม (มีแมตช์แข่ง 30 นัดต่อคน ต่อปี)
ต่ำกว่า 10 ปี ต้องมีอย่างน้อย 1 ทีม (แต่ไม่ได้บังคับให้มีแมตช์แข่ง)
– สโมสรต้องมีการดูแลทางการแพทย์แก่นักฟุตบอลทั้งทีมชุดใหญ่ ทีมสำรอง ทีมเยาวชน การตรวจสุขภาพร่างกาย หัวใจหลอดเลือด รักษาอาการบาดเจ็บ
– สโมสรต้องมีสัญญากับนักฟุตบอล โดยไม่ขัดต่อกฎหมายแรงงานทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และไม่ขัดต่อกฎฟีฟ่า โดยสัญญาจะต้องทำขึ้น 3 ฉบับ ให้แก่นักฟุตบอล สโมสร และ สมาคมฯ
– มีการอบรมเกี่ยวกับ LAW OF THE GAME คือสโมสรจะต้องมีการจัดอบรมให้กับนักฟุตบอลและบุคลากรทุกคนของทีมได้รู้เกี่ยวกับกฎกติกาต่างๆ รวมถึงจัดให้ได้เรียนรู้วินัยของสโมสรเองและกฎต่างๆของ สมาคมฯ
– จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติ
 
 
2. หลักเกณฑ์ด้านโครงสร้าง (Infrastructure Criteria)
 
 
ในส่วนนี้จะพูดถึงความสำคัญของสนามแข่ง ห้องอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ต้องมี ความปลอดภัย แผนอพยพ ระบบสาธารณูปโภค สนามซ้อมของทีมชุดใหญ่และเยาวชน ขั้นตอนการจัดทำ คลับไลเซนซิ่ง ในส่วนนี้ค่อนข้างสำคัญในเรื่องของเอกสารทั้งเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของสนาม เอกสารรับรองโครงสร้างและความปลอดภัยต่างๆ รายละเอียดหลักๆก็ตามนี้
– หนังสือแสดงสิทธิการเป็นเจ้าของสนาม หรือหากเช่าสนามก็ต้องมีสัญญาเช่า สรุปรายละเอียดต่างๆ ที่สนามมี
– หนังสือรับรองโครงสร้างอัฒจันทร์ ที่ได้รับการรับรองจากวิศวกรที่ถูกกฎหมายการประกอบวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ เช่น รับรองการก่อสร้างหรือต่อเติมอัฒจันทร์ รับรองระบบความสว่างของไฟ รับรอบระบบไฟฉุกเฉินสำรอง รับรองระบบน้ำ ฯลฯ
– ห้องควบคุม ที่สามารถมองเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดของสนาม ในห้องมีจอกล้องวงจรปิดของสนาม
– การแบ่งขอบเขตอัฒจันทร์ของสนามแต่ละส่วน ในส่วนนี้ ต้องทำแผนที่ผังสนามของแต่ละอัฒจันทร์ว่าแต่ละฝั่งมีอะไรบ้าง แสดงทางเข้าออกของแต่ละฝั่ง
– ห้องปฐมพยาบาล ก็ต้องมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลมาตรฐาน ตู้เก็บยา เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ และจะต้องมีผู้ช่วยพยบาลประจำอยู่ที่ห้องทุกครั้งที่มีการแข่งขัน
– แผนรักษาความปลอดภัยที่ผ่านการรับรอง
– แผนอพยพฉุกเฉินที่ได้รับการรับรองโดยองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ
– สนามซ้อม ตรงนี้ก็เหมือนสนามแข่ง ต้องมีหนังสือแสดงความเป็นเจ้าของหรือสัญญาเช่า
– สนามซ้อม สำหรับทีมเยาวชน แม้จะอยู่ในเกณฑ์ความสำคัญระดับ B แต่จริงๆแล้วต้องมี รายละเอียดก็เหมือนกับสนามแข่ง
– ที่เหลือหลักๆก็เป็นเกณฑ์ความสำคัญระดับ B และ C เช่น กฎการใช้สนาม, ระบบสาธารณูปโภค, ที่ส่วนที่มีหลังคา, แผนผังสนาม ป้ายบอกทิศทาง, ที่นั่งสำหรับผู้พิการ
 
 
3. หลักเกณฑ์ด้านการบริหารและทรัพยากรบุคคล (PERSONAL AND ADMINISTRATIVE CRITERIA)
 
 
ส่วนสำคัญเติมเต็มให้กับสโมสรได้พัฒนาอย่างแท้จริง เพราะว่ากันตามตรงว่าเจ้าของทีมส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่ความสำเร็จคือต้องเป็นแชมป์เท่านั้น โดยลืมคิดไปว่าองค์ประกอบของบุคลากรที่จะช่วยขับเคลื่อนบริษัทของฟุตบอลก็มีส่วนในการช่วยผลักดันได้ทุกทางเช่นกัน ฟีฟ่าเล็งเห็นตรงนี้ว่าที่สโมสรในทวีปอื่นๆไม่พัฒนา เพราะสโมสรส่วนใหญ่ขาดบุคลากรในการทำงาน จึงกำหนดสเปคสำคัญว่าสโมสรจะต้องมีบุคลกรแบบไหนบ้าง และที่สำคัญต้องเป็นสัญญาแบบฟลูไทม์ โดยเริ่มจากสถานที่ทำการของสโมสร ซึ่งต้องมีฝ่ายธุรการติดต่อประสานงาน รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น โทรศัพท์, โทรสาร, คอมพิวเตอร์, อินเตอร์เน็ต, อุปกรณ์สำนักงาน ฯลฯ
ส่วนบุคลากรที่อยู่ในความสำคัญระดับ A ที่ทุกสโมสรต้องมี และต้องมีหนังสือแต่งตั้งที่ออกโดยสโมสร ประวัติ สัญญาจ้างแบบฟลูไทม์ ประกอบด้วย
1. GENERAL MANAGER ผู้จัดการทั่วไป
2. FINANCE OFFICER เจ้าหน้าที่การเงิน
3. SECURITY OFFICER เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
4. MEDIA OFFICER เจ้าหน้าที่งานสารสนเทศ
5. MEDICAL DOCTOR แพทย์
6. PHYSIOTHERAPIST นักกายภาพบำบัด
7. HEAD COACH OF FIRST SQUAD หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมหลัก
8. ASSISTANCE OF FIRST SQUAD ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนทีมหลัก
9. HEAD OF DEVELOPMENT PROGRAMME หัวหน้าโครงการพัฒนาเยาวชน
10. YOUTH COACH ผู้ฝึกสอนทีมเยาวชน ในแต่ละชุด
11. SAFETY AND ORGANIZATION STEWARDING บริษัทรักษาความปลอดภัย
12. RIGHTS AND DUTIES กฎธรรมภิบาลของบริษัทสโมสร
13. COMPETITION MANAGER ผู้จัดการฝ่ายจัดการแข่งขัน
14. COMMERCIAL MANAGER ผู้จัดการฝ่ายการตลาด
15. LAWYER นักกฎหมาย
 
 
4. หลักเกณฑ์ด้านกฎหมาย (LEGAL CRITERIA)
 
 
ในส่วนนี้เอกสารไม่เยอะมาก แต่ก็เป็นเอกสารที่มีความสำคัญเช่นกัน หลักๆ ที่ต้องมีในเกณฑ์ A คือ
– หนังสือแสดงการยอมรับระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของการแข่งขัน
– หนังสือรับรองต่างๆของบริษัทตามกฎหมาย
– เอกสารแสดงความเป็นเจ้าของ และหนังสือแสดงสิทธิการบริหารจัดการ บริคณสนธิ
ส่วนอื่นๆ ในเกณฑ์ B และ C เช่น กฎระเบียบสโมสร กฎระเบียบความประพฤติวินัยของนักฟุตบอลและเจ้าหน้าที่ การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย (นิติกร)
 
 
5. หลักเกณฑ์ด้านการเงิน (FINANCIAL CRITERIA)
 
 
หลักเกณฑ์สุดท้ายของการขอ คลับไลเซนซิ่ง ที่จะแสดงสถานะความมั่นคงทางการเงินของสโมสร รายได้ที่มา ที่ชัดเจนและตรวจสอบได้จากการบริหารธุรกิจฟุตบอล หลักเกณฑ์หลักๆ ในเกณฑ์ A คือ
– งบดุลและงบการเงินที่ได้รับการรับรอง โดยองค์กรหรือผู้สอบบัญชี, หนังสือรับรองของผู้ตรวจบัญชี
– สโมสรต้องไม่มีการค้างจ่ายค่าโอนย้ายนักฟุตบอล
– สโมสรต้องไม่มีการค้างจ่ายค่าจ้าง (เงินเดือน) นักฟุตบอล บุคลากรในสโมสร รวมถึงภาษี
– หนังสือรับรองว่าสโมสรมีการเงินที่มั่นคง
ส่วนอื่นๆ ในเกณฑ์ B เช่น
– แผนการเงินในอนาคตของสโมสร ข้อมูลสำคัญ คืองบประมาณกำไร ขาดทุน
– สโมสรต้องส่งเอกสารเพิ่มเติม เมื่อผู้ออกใบอนุญาตร้องขอ
– ปรับปรุงข้อมูลทางด้านแผนการเงินในอนาคต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่