มนุษย์เงินเดือนอยากมีแฟ(ร)น .. ไชส์


          ความฝันของมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ คงหนีไม่พ้นการอยากหลุดจากวงจรชีวิต รีบตื่นเช้าออกไปทำงาน ฝ่ารถติด ไปสแกนบัตรให้ทัน ทำงานๆๆ ฝ่ารถติดกลับบ้าน วนลูปไปแบบนี้ใช่ไหมล่ะครับ ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นที่อยากมีอิสระทางการเงิน อิสระทางด้านเวลา อยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจสักแห่ง แต่ก็แหม การจะเป็นเจ้าของธุรกิจเต็มตัวขนาดนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย เพราะจะต้องมีทั้งความรู้ ประสบการณ์ หรือแม้กระทั่งเงินลงทุนที่แน่นมากจริงๆ แต่ก็อย่าเพิ่งถอดใจครับ เรายังมีอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับการเป็นเจ้าของธุรกิจสำหรับผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์มากนัก ที่สามารถใช้เป็นอาชีพเสริมได้ ... ใช่ครับ ผมกำลังจะพูดถึง “ธุรกิจแฟรนไชส์” นั่นเอง

          ธุรกิจแฟรนไชส์ มีข้อดีคือ แบรนด์เป็นที่รู้จัก ติดตลาดอยู่แล้ว ไม่ต้องทำตลาดใหม่ และได้รับการสนับสนุนดูแลจากแบรนด์แม่ ทั้งเรื่องการตลาด วัตถุดิบ ทำเลที่ตั้ง ออกแบบร้าน ฯลฯ ข้อดีหลักๆจึงเป็นการลดความเสี่ยงในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ สำหรับผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจนั่นเองครับ
          รู้อย่างนี้แล้ว เรามาเตรียมความพร้อมก่อนคิดจะมีแฟรนไชส์กันดีกว่าครับ

1.  สำรวจตนเอง พร้อมตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน
          จะทำการใหญ่ .. ใจต้องนิ่ง การจะทำอะไรทุกอย่าง แน่นอนครับเราต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และที่สำคัญที่สุดต้องสำรวจตัวเองว่าเรามีความถนัดพื้นฐาน ความชอบ หรือความสนใจส่วนตัวอะไรเป็นพิเศษ เพื่อที่เราจะได้ต่อยอดได้ไม่ยาก ยกตัวอย่างง่ายๆเลยครับ ผมเป็นคนชอบดื่มกาแฟมากๆ เวลาผมไปต่างประเทศ ผมก็ชอบแวะไปนั่งร้านกาแฟตามเมืองต่างๆที่หลากหลาย ชอบที่จะลองชิมกาแฟจากเมล็ดพันธุ์ที่แตกต่าง และแน่นนอน เป้าหมายของผม ผมมีความฝันที่จะมีร้านกาแฟเป็นของตนเองครับ
 
2.  สำรวจเทรนด์ในตลาด หาธุรกิจที่ใช่ โดยใช้หลัก 4Ps มาช่วยวิเคราะห์
          เมื่อได้เป้าหมายและรู้ความชอบตนเองแล้ว ทีนี้ก็เริ่มลงมือศึกษาแผนธุรกิจ หาข้อมูลแฟรนไชส์ที่ชอบจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากเว็ปไซต์ หรือแม้กระทั่งลองไปเดินเล่นตามงานแสดงสินค้าแฟรนไชส์ต่างๆ เผื่อเกิดไอเดีย ซึ่งแฟรนไชส์ในไทยมีให้เลือกหลากหลาย แล้วเราจะตัดช้อยส์ยังไงล่ะ คงต้องมีตัวช่วยสักหน่อย โดยผมหยิบเอาเจ้า 4P’s หรือ Marketing Mix มาช่วยวิเคราะห์ โดยเราต้องวางแผนให้สัดส่วนมีความสอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกัน
          Product แฟรนไชส์ที่เราเลือกนั้น เป็นที่ต้องการในตลาด ณ ตอนนี้อยู่หรือเปล่า มีการสร้างความแตกต่างเพื่อให้โดดเด่นจากแบรนด์อื่นหรือไม่ (Differentiate) รวมถึงสินค้าหรือบริการนั้นๆมีความหลากหลาย หรือเฉพาะกลุ่ม ที่สำคัญเลยเราควรต้องเป็นลูกค้าเอง ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการเอง เพื่อง่ายต่อการตัดสินใจในข้อนี้ครับ
          Price เรื่องเงินๆทองๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญในการค้าขายเลยก็ว่าได้ ต้นทุนเท่าไหร่ ราคาขายจริงเท่าไหร่ ราคาแฟรนไชส์เท่าไหร่ กำไรต่อชิ้นเท่าไหร่ กี่ปีคืนทุน ฯลฯ เรื่องนี้ถือเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณามากๆครับ ราคาสินค้า ก็ต้องสอดคล้องกับทำเลที่ตั้ง ที่ผมจะพูดถึงในหัวข้อถัดไปด้วยครับ
          Place ปัจจุบันทำเลที่ตั้งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้แฟรนไชส์ประสบความสำเร็จครับ เราควรมองหาทำเลศักยภาพไว้เลยครับ ในบางแบรนด์จะพิจารณาก่อนว่าเรามีทำเลที่ตั้งที่ดีเหมาะกับสินค้าหรือบริการของแบรนด์หรือไม่ เพราะทำเลที่ตั้งมีผลต่อปัจจัยในการขายครับ หากเราเปิดแฟรนไชส์ขายกาแฟแก้วละเป็นร้อย แน่นอนว่าทำเลที่ตั้ง มีผลกับราคาสินค้ราที่เราขายแน่นอนครับ หากเป็นทำเลทอง ย่านออฟฟิศในเมือง แบบนี้ถึงจะเหมาะสม
          Promotion โปรโมชั่นที่ว่า ผมรวมถึงโปรโมชั่นสินค้าที่เราขาย และโปรโมชั่นสำหรับชาวแฟรนไชส์ซีอย่างเราๆด้วยครับ โปรโมชั่นสำหรับสินค้าที่เราขาย ดึงดูด น่าสนใจ เอาชนะคู่แข่งได้หรือไม่ ส่วนโปรโมชั่นสำหรับชาวแฟรนไชส์ซี (Franchisee) คือมีอะไรมอบให้เรา หรือมีอะไรที่อยู่ในชุดตั้งต้น Starter Kits สำหรับการเริ่มธุรกิจของเราบ้าง นอกเหนือจากค่าแบรนด์ที่เราจ่ายไปครับ
 
3.  กลุ่มเป้าหมายต้องชัด
          กลุ่มเป้าหมายที่จะใช้สินค้าหรือบริการของเราต้องชัดครับ ว่าเขาคือใคร มีกำลังซื้อมากน้อยแค่ไหน กลุ่มลูกค้ามีปริมาณมากในช่วงเวลาใด หรือในฤดูกาลใด การที่เรานำข้อนี้มาคำนึงถึง มันจะบ่งบอกได้คร่าวๆว่าสินค้าหรือแบรนด์ที่เราเลือกมาถูกทางแล้วหรือยัง
 
4.  เงินลงทุนต้องพร้อม
          มาถึงข้อนี้อาจเป็นตัวดับฝันของมนุษย์เงินเดือนได้นะครับ ฮ่าๆๆ ควรศึกษาแผนธุรกิจให้ชัดเจน ว่าต้องใช้เงินลงทุนสำหรับแฟรนไชส์มากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่ช่วงก่อตั้งกิจการ รวมถึงเงินทุนหมุนเวียนที่ต้องใช้ในกิจการ เมื่อประเมินเงินทุนส่วนตัว จากนั้นก็ปรึกษาธนาคารเรื่องการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งมีหลายๆธนาคารให้การสนับสนุน แถมบางธนาคารยังมี workshop ดีๆ จากผู้เชี่ยวชาญไว้ให้เราเพิ่มความรู้ ไม่ว่าจะเป็น เตรียมตัวเป็นเจ้าของกิจการ, แฟรนไชส์ ฯลฯ โอ้ยย อีกสารพัด workshop ครับ ที่สำคัญส่วนใหญ่ ฟรี ฟรี ฟรี !!!
 
5.  มีแผนสำรองที่รัดกุม
          ธุรกิจที่จะเลือก แฟรนไชส์ที่จะซื้อ แผนการดำเนินธุรกิจที่เรามี นอกจากชัดเจน เป็นไปได้ ตอบโจทย์เราในทุกๆด้านแล้ว ทุกย่างต้องมีแผนสำรองนะครับ แผนควรต้องยืดหยุน ปรับเปลี่ยนได้เสมอ มี Plan A, Plan B ไว้แม้กระทั่งเงินเก็บของคุณควรมี อย่างน้อยๆ สัก 20% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพื่อเป็นเงินทุนสำรองครับ
 
6.   บุคคลธรรมดา VS. นิติบุคคล
          อย่าลืมอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องศึกษา ทุกวันนี้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 40(1) แต่ในบางแบรนด์จะระบุชัดเลยว่าผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องจดทะเบียนนิติบุคคลนะครับ แต่ถ้าหากแบรนด์ที่เราซื้อแฟนไชส์ไม่ได้บังคับจดทะเบียนนิติบุคคล เราก็ควรต้องเปรียบเทียบให้ชัดครับ 
หากเราเลือกที่จะจดทะเบียนนิติบุคคล แม้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เกิดขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายการทำบัญชีบริษัท แต่ข้อดีก็มีมากครับ เช่น มีความน่าเชื่อถือขึ้น การทำธุรกิจเป็นระบบมากขึ้น การกู้เงินก็ง่ายขึ้น ซึ่งก็อย่าลืมศึกษาข้อมูลนี้ให้เข้าใจชัดเจนก่อนด้วย เปรียบเทียบข้อดีข้อดีเสีย ที่คุ้มค่ากับเราที่สุดครับ
 
          ธุรกิจแฟรนไชส์ มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการแนวใหม่ เพราะไม่ต้องเสียเวลาในการสร้างธุรกิจขึ้นมาด้วยตัวเอง ที่บางครั้งไม่รู้ว่าจะบาดเจ็บ ล้ม ลุก คลุก คลาน ไปเท่าไหร่ ถ้าใครโชคดีก็ประสบความสำเร็จไป แต่ถ้าผิดพลาดก็ล้มไม่เป็นท่าได้เหมือนกัน ดังนั้นการที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆจะเริ่มมีธุรกิจเล็กๆ คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็คงไม่ยากเกินไปนะครับ ขอเพียงแค่ รู้เขารู้เรา ใส่ความมุ่งมั่นตั้งใจ ให้เวลาและเตรียมความพร้อมให้ตนเอง ตำแหน่งเถ้าแก่ หรือ เถ้าแก่เนี้ย รออยู่ไม่ไกลแน่นอน ... K-Expert ขอเป็นกำลังใจให้ครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่