กัลยาณธรรมชาดก...บวชเพราะแม่ยาย

     ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถีทรงปรารภแม่ยายหูหนวกคนหนึ่ง ...
     เรื่องมีอยู่ว่า ในเมืองสาวัตถีมีพ่อค้าคนหนึ่ง มีศรัทธาเลื่อมใส่ในพระพุทธศาสนา ถือศีลห้าเป็นประจำ วันหนึ่งเขาไปฟังธรรมที่วัดเชตวัน ขณะนั้นแม่ยายได้ไปเยี่ยมครอบครัวของเขา แต่แม่ยายคนนี้หูแกค่อนข้างตึง เมื่อไปถึงบ้านพบแต่ลูกสาวอยู่บ้านไม่พบลูกเขยจึงเอ่ยปากถามลูกสาวว่า
          "นี่ลูกผัวเอ็งนะยังรักเอ็งอยู่รึเปล่า มีเรื่องทะเลาะกันบ้างไหม?"
          ลูกสาวตอบว่า "แม่..คนดีๆ อย่างลูกเขยแม่คนนี้นะ แม้บวชแล้วก็ยังหายาก"
          ยายแกฟังคำพูดของลูกสาวไม่ชัดได้ยินแต่คำว่าบวชเท่านั้น จึงร้องตะโกนขึ้นด้วยความตกใจกว่า
          "อ้าว..ผัวเอ็งไปบวชแล้วหรือ"

     ชาวบ้านเรือนข้างเคียงกันได้ยินเช่นนั้นก็พากันพูดว่า "พ่อค้าไปบวชเสียแล้ว" คนที่เดินผ่านไปมาจึงพูดคุยกันแต่เรื่องพ่อค้าออกบวชแล้วฝ่ายพ่อค้าเจ้าของเรื่องหลังจากฟังธรรมเสร็จก็เดินกลับบ้าน ขณะนั้นมีชายคนหนึ่งได้เดินตรงมาจับแขนเขาถามว่า "ข่าวว่าท่านบวชแล้ว ลูกและเมียของท่านพากันร้องไห้อยู่ที่บ้านมิใช่หรือ" พ่อค้าไม่พูดอะไรได้แต่คิดว่า เรายังไม่ได้บวชก็มีคนว่าเราบวชแล้ว ข่าวดีเช่นนี้ไม่ควรให้หายไปไหน ตกลงเราควรจะบวชในวันนี้ละ "จึงเดินกลับวัดเชตวันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเรื่องนั้นแก่พระองค์ หลังจากอุปสมบทได้ไม่นานก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เพื่อคลายความสงสัยของพวกภิกษุ พระพุทธองค์จึงนำอดีตนิทานมาสาธก ว่า...

     กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วพระโพธิสัตว์เกิดเป็นพ่อค้าในเมืองพาราณสีมีแม่ยายหูตึงเช่นกัน วันหนึ่งเขาเดินทางไปนอกเมืองด้วยราชกรณียกิจอย่างหนึ่งได้เกิดเรื่องทำนองเดียวกันนี้ขึ้น เมื่อเขากลับเข้าเมืองมาทราบข่าวนั้น จึงไปทูลลาพระราชาออกบวชด้วยการกล่าวเป็นคาถาว่า
          "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน ในกาลใด บุคคลได้รับสมัญญาว่าผู้มีกัลยาธรรมในโลก ในการนั้นนรชนผู้มีปัญญาว่าผู้มีกัลยาณธรรมในโลก ในกาลนั้นนรชนผู้มีปัญญาไม่ควรให้ตนเสื่อมจากสมัญญานั้นเป็นธุระสำคัญแม้ด้วยหิริ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน สมัญญาว่าผู้มีกัลยาณธรรมในโลกข้าพระองค์ได้รับแล้วในวันนี้ ข้าพระองค์พิจารณาเห็นสมัญญานั้นอยู่ จักขอบวชในวันนี้ เพราะข้าพเจ้าองค์ไม่มีความพอใจในการบริโภคกามคุณในโลกนี้"
          เขาได้บวชเป็นฤาษีอยู่ป่าหิมพานต์จนตลอดชีพ ตายแล้วไปเกิดในพรหมโลก

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : คำพูดของผู้คน สามารถชักจูงความคิดของคนให้กระทำความดีความชั่วได้

ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๒ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม (เสนาซุย)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่