เสนอไอเดียแก้ปัญหาหมาแมวจรจัดอย่างยั่งยืนและเป็นไปได้จริงในไทย กระทู้นี้ขอฝากให้รัฐบาลด้วย

1. บัญญัติกฎหมายควบคุมการเพาะพันธ์ุสุนัขและแมวเพื่อการขาย
 
กฎหมายบทนี้ จะบังคับใช้ แก่บุคคล 2 ประเภทเท่านั้น
ได้แก่
 1. ผู้เพาะเลี้ยงสุนัขและแมวขาย
 2. ผู้ซื้อ จากบุคคลข้อที่ 1
 
เหตุผลเพราะ
- ทุกวันนี้เราสามารถเห็นคนขายหมาแมวได้มากมาย ทั้งตามตลาดนัด เฟสบุคส์ หรือตามบ้านเรือน
- ปัจจุบัน มีสุนัขและแมวพันธุ์ ถูกทอดทิ้งเป็นจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะ สายพันธุ์พิทบู และ ไซบีเรียนฮัสกี้
 
 สาเหตุหลักๆ ที่สุนัขพันธุ์ถูกทิ้ง หรือต้องหาเจ้าของใหม่ เช่น
1. สุนัขมีความก้าวร้าว กัดคน หรือซนมากจนควบคุมไม่อยู่
2. เจ้าของย้ายที่อยู่ใหม่ หรือย้ายที่ทำงาน จึงเอาไปด้วยไม่ได้
3. ภรรยาตั้งท้อง หรือมีลูกเล็ก 
4. คนในครอบครัวป่วยเป็นภูมิแพ้ เป็นโรคปอด  คุณหมอไม่ให้เลี้ยงสัตว์
5. แม่สามีไม่ชอบสุนัข
6. สุนัขป่วย หรือโตมาแล้วไม่น่ารักเหมือนตอนเล็กๆ
 
ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างมาก ที่จะต้องมีกฎหมายควบคุมผู้ซื้อขายสุนัขและแมว คนที่จะซื้อไปเลี้ยง จึงควรมีความรับผิดชอบและความพร้อมในการดูแลไปจนสิ้นอายุขัย (เฉลี่ย 10 - 15 ปี)
 
บัญญัติกฎหมายอย่างไร

 สำหรับผู้เพาะพันธุ์สุนัขและแมวขาย
- คนที่จะเพาะพันธุ์ขาย จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐก่อน โดยมีการเข้าตรวจสอบความพร้อม สถานที่ สุขภาพของสัตว์ที่จะเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และมีการสอบวัดความรู้ในการดูแลสัตว์ (โดยมีแบบทดสอบให้ทำ)  
- มีการต่อใบอนุญาตทุก 1 ปี
- สุนัขหรือแมวที่เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และลูกที่เกิดมาทุกตัวต้องมีการขึ้นทะเบียน
- หน่วยงานเข้าตรวจสอบสถานเพาะเลี้ยงเป็นระยะ ทุก 4 เดือน โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า คอยสอดส่องดูแลอยู่เสมอ ไม่ปล่อยปละละเลย
 
สำหรับผู้ซื้อ
ผู้ที่จะซื้อสุนัขไปเลี้ยง จะต้อง
1.มีอายุ 23 ปีขึ้นไป (  ส่วนมากเรียนจบ มีงานทำ ตั้งตัวได้ในระดับหนึ่งแล้ว)  
2. ต้องผ่านการทำแบบทดสอบวัดความรู้ในการดูแลสุนัขและแมว
3. สัตว์ทุกตัวที่ซื้อไป จะต้องทำการขึ้นทะเบียน
 
-----------------------------------------------------

2. ทุกจังหวัด มีการตั้งเพจกลางในการประชาสัมพันธ์หาบ้านให้สุนัขและแมวจรจัด (FanpageFacebook) 
 
เหตุผลเพราะ
ทุกวันนี้มีลูกสุนัขและลูกแมวจรจัด เพิ่มจำนวนมากขึ้นในแต่ละท้องถิ่น  แต่คนในพื้นที่ส่วนมากจะไม่รู้  ลูกหมาแมวจรเหล่านี้จึงไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือมีคนมานำไปเลี้ยง
 
วิธีดำเนินการ
- ตั้งแฟนเพจ "หาบ้านหมาแมวจรจัดประจำจังหวัด"
- มีแอดมิน จัดการดูแลในการลงโพสต์หาบ้าน
- สำหรับคนที่เล่นโซเชียลไม่เป็น สามารถมาขอลงข้อมูล ที่หน่วยงานของจังหวัดได้ แล้วแอดมินเพจรับเรื่อง นำลงโพสต์ต่อไป
-ในส่วนนี้ ต้องมีการทำหนังสือแจ้งไปยังทุกๆครัวเรือน รวมถึงหอพักและบ้านเช่า เพราะยังมีประชาชนส่วนมาก ที่ยังไม่ทราบว่าสามารถลงหาบ้านให้น้องหมาแมวจรในเฟสบุ๊คส์ได้
 
-----------------------------------------------------

3.เพิ่มรายวิชา "การสัตว์เลี้ยง" ลงในหลักสูตรการเรียน โดยเริ่มตั้งแต่ชั้นประถมเป็นต้นไป 

เหตุผลเพราะ
- ทุกวันนี้ มีเด็กวัยรุ่นและวัยเรียนจำนวนมาก ที่ต้องการนำลูกสุนัขและลูกแมว หรือสัตว์ตัวอื่นๆมาเลี้ยง สาเหตุหลักๆ เช่น เห็นว่ามันน่ารัก สงสาร หรือแม้แต่การเลี้ยงตามกระแส โดยที่เด็กบางคนไม่ได้มีความรู้ ความเข้าใจ และความพร้อมเพียงพอ  โดยเมื่อเกิดปัญหาก็นำสัตว์ไปปล่อยทิ้ง หรือเลี้ยงแบบทิ้งขว้าง

ยกตัวอย่าง
- เจ้าของกระทู้ เคยเห็นน้อง ม.ต้น กลุ่มหนึ่ง เอาลูกหมาบ้านที่ยังไม่ลืมตามาเลี้ยง ต่อมาไม่กี่วัน ลูกหมาก็ตาย แล้วเด็กกลุ่มนี้ก็ไปหาลูกหมาตัวใหม่มาเลี้ยงอีก

ดังนั้น
- ถ้าเด็กมีความรู้ในทางวิชาการและทางปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เด็กก็จะเกิดความรับผิดชอบ และความเมตตาขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ 

รายวิชานี้ ควรจะให้ความรู้ในการเลี้ยงสัตว์หลายๆ ประเภท ไม่เฉพาะสุนัขและแมวเท่านั้น

------------------------------------------------------

4. มีการทำหมันฟรีอย่างทั่วถึง และปลอดภัย
จัดงบประมาณให้แก่ทุกๆจังหวัด ในการทำหมัน ในตลอดระยะเวลา XX ปี  ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชน มีการประชาสัมพันธุ์ทั่วถึง กระตุ้นให้คนเห็นความสำคัญในการนำสัตว์เลี้ยงมาทำหมัน ประกาศเสียงตามสาย และทำหนังสือแจ้งทุกครัวเรือน รวมทั้งบ้านเช่า หอพักในหมู่บ้านด้วย

-----------------------------------------------------

5. ขอเพิ่มเติมข้อกฎหมาย
เพื่อป้องกันพวกที่หากินบนความน่าสงสารของสัตว์
- ห้ามนำสัตว์เลี้ยงมาขอทาน ลักษณะ คือ เอาความสงสารและน่ารักมาเป็นสิ่งจูงใจให้คนนำเงินมาให้ ยกตัวอย่างเช่น นำสุนัขและแมวมานั่งขอเงินตามตลาดนัด นำสุนัขมาเดินตามข้างถนนให้เกิดความน่าสงสารจนคนให้เงิน
- ผู้กระทำผิด  ครั้งแรกจะถูกตักเตือน แต่หากมีครั้งที่สองอีก จะต้องถูกยึดสัตว์เลี้ยงทั้งหมด และห้ามให้เลี้ยงสัตว์ประเภทนั้นๆ ตลอดชีวิต

***อย่าเพิ่งตกใจ กฎหมายจะไม่มีผลย้อนหลังนะคะ บังคับใช้นับแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่