เพราะมันเป็นแบบนี้ & ย้อนรอย 5 ลูกบอลทองคำที่มีปัญหา

เพราะมันเป็นแบบนี้

 เฟอร์กิล ฟาน ไดค์ คู่ควรกับรางวัลบัลลงดอร์แน่นอน



ฝีเท้าที่เก่งกาจจนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในกองหลังที่เก่งที่สุดในโลก อิทธิพลของที่มีต่อทีม ความสำเร็จที่มีร่วมกับทีม ปราการหลังชาวดัตช์พิสูจน์คุณค่าของตัวเองหมดจดชนิดไม่มีคำถามใดๆ หลงเหลืออยู่เลย
 
ไม่ว่าคุณจะเป็นเพื่อนร่วมทีมเขาหรือเป็นคู่แข่งเขา ฟาน ไดค์ คือคนที่ทุกคนยอมรับ

หากความคู่ควรของฟาน ไดค์นั้นไม่ได้หมายความว่าคนอื่นไม่คู่ควร..

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่สร้างผลงานอันเต็มไปด้วยคุณค่าเหมือนกัน เพียงแต่มาตรฐานของเขาคนนั้นอยู่ในระดับสูงและสม่ำเสมอมาตลอดสิบกว่าปีจนทุกคนเคยชินว่าเป็นเรื่องธรรมดา

สิ่งที่ ลิโอเนล เมสซี่ ทำเอาไว้เมื่อฤดูกาลที่แล้วนั้นก็ยังนับว่าเข้าขั้นปรากฏการณ์อยู่ดีนะครับถ้ามันเกิดขึ้นกับคนอื่น

ลงเล่นในลีก 34 นัด ยิง 36 ประตู จ่าย 13 ลูก มีส่วนร่วมกับประตูของทีม 49 ประตูจากทั้งหมด 90 ลูกที่ทีมทำได้ แค่นี้ก็เกินกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว ยังไม่รวมการสร้างสรรค์เกมอีกนับไม่ถ้วน

ลงสนามทุกรายการ 50 นัด ยิง 51 ประตู พาทีมเข้าถึงรอบรองฯ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก



 แต่เพราะมันเป็น ลิโอเนล เมสซี่ ทุกคนถึงมองว่ามันคือเรื่องปกติธรรมดา ทั้งที่ความจริงแล้วสถิติแบบนี้ไม่ปกติและไม่ธรรมดา มันล้ำเกินความปกติธรรมดาไปมาก

    การทำสิ่งพิเศษได้อย่างสม่ำเสมอทุกๆ ปีจนกลายเป็นเรื่องปกติ ควรเป็นเรื่องที่คนทำมันขึ้นมาถูกดิสเครดิตหรือครับ หรือควรเป็นเรื่องที่ทำให้เขาถูกค่อนขอดหรือ
    บางคนบอกว่าทำไมไม่เปลี่ยนชื่อรางวัลจากบัลลงดอร์เป็นเมสซี่ดอร์ไปเลย หรือดาวซัลโวดอร์ก็ได้เพราะโหวตให้แต่คนยิงประตูเยอะๆ บางคนถามหาความยุติธรรม คนโหวตมีหัวคิดไหมหรือว่าอะไรๆ ก็เมสซี่
    บางคนบอกว่าแล้วบัลลงดอร์ไม่พิจารณาถึงคุณค่าของผู้เล่นในตำแหน่งอื่นนอกจากตัวรุกเลยหรือไง
    คำตอบก็คือพิจารณาสิครับ ไม่ต้องห่วงเลย นักฟุตบอลทุกคนอยู่ในข่ายได้รับพิจารณาด้วยกันทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นกองหน้า กองกลาง กองหลัง หรือผู้รักษาประตู
    หากรางวัลบัลลงดอร์คือความชอบและมุมมองส่วนตัวของคนลงคะแนน เป็นเรื่องความคิดเห็น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง
    เพราะเราบอกไม่ได้หรอกว่านักฟุตบอลคนนี้เก่งที่สุดแน่นอนในปีนั้น ดีที่สุดแน่นอนในปีนั้นๆ

ความเก่งของนักฟุตบอลมีหลายแบบขึ้นอยู่กับความถนัด เอาแค่ตำแหน่งการเล่นและวิธีการเล่นก็แตกต่างกันแล้ว เมสซี่ไม่มีวันเล่นเกมรับได้ดีเท่าฟาน ไดค์ ฟาน ไดค์ก็ไม่มีวันเล่นเกมรุกได้ดีเท่าเมสซี่

   ความเก่งของนักฟุตบอลไม่ใช่ข้อเท็จจริงแบบที่ว่าทีมเอชนะทีมบี 2-0 หรือลูกยิงข้ามเส้นประตูไปแล้วจากเทคโนโลยีโกลไลน์ หากมันคือความชื่นชอบส่วนตัว
    เพียงแต่ความชื่นชอบส่วนตัวที่ว่านั้นไม่ได้ถามไถ่เอาจากคนผ่านไปผ่านมาหน้าออฟฟิศหรือตาสีตาสาทั่วไป หากเป็นความชื่นชอบส่วนตัวที่ผ่านการพิจารณาไตร่ตรองและกรองกลั่นอย่างละเอียดจากประสบการณ์และการติดตามผลงานของวงการลูกหนังตลอดทั้งปี จากบทบาทฐานะของคนที่เชื่อได้ว่าดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลาง
    เพราะคนที่ลงคะแนนเลือกคือนักข่าวฟุตบอล 180 คนจาก 180 ประเทศทั่วโลก..
    อยากให้คนที่กำลังหงุดหงิดและตั้งคำถามหนักหน่วงกับผลบัลลงดอร์ 2019 หยุดคิดสักนิดว่าเราจริงจังกับมันมากเกินไปไหม
    ผมยังยืนยันอีกครั้งนะครับว่า ฟาน ไดค์ นั้นคู่ควรกับรางวัลจริงๆ ผลงานโดดเด่น บุคลิกเยี่ยม และเป็นกองหลังที่น่าจะได้รางวัลลูกบอลทองคำลูกนี้ที่สุดนับตั้งแต่ ฟาบิโอ คันนาวาโร่ เมื่อปี 2006 แล้ว

หากเราจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของรางวัลและความเป็นไปของเกมลูกหนังอีกนิด
    จะว่าไม่ยุติธรรมมันก็คงใช่ นักเตะเกมรุกได้เปรียบนักเตะเกมรับเสมออยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงการลงคะแนนโหวตหรอกครับ เอาแค่ธรรมชาติการเชียร์ฟุตบอลของแฟนบอลอย่างเราๆ นี่แหละให้ความยุติธรรมกับเหล่าผู้เล่นเกมรับไหม



 กองหน้ายิง 10 ลูกเข้าลูกเดียวมีเสียงชื่นชม ผู้รักษาประตูป้องกัน 10 ลูกพลาดลูกเดียวเป็นภาพติดตัวตลอดชาติ (ไม่เชื่อลองถาม มัสซิโม่ ตาอิบี้)
    กองกลางผ่านบอลติดคู่แข่ง 10 ครั้งแต่เป็นคิลเลอร์พาสสวยๆ ลูกเดียวคนยกย่อง กองหลังสกัดบอลได้ 10 หนเตะวืดทีเดียวเสียประตูคนจำไปเป็นปี
    ตัวเราเองให้ความยุติธรรมกับผู้เล่นเกมรับกับเกมรุกเท่ากันไหม.. ถ้าไม่เท่าก็อย่าเพิ่งตั้งคำถามจริงจังโลกแตกชนิดต้องเอาชนะคะคานกันให้ได้กับการให้คะแนนโหวตของรางวัลต่างๆ เลย
    โดยธรรมชาติของฟุตบอลคือความเอนเตอร์เทน คนดูอยากเห็นการทำประตู อยากเห็นการเล่นที่สวยงาม อยากเห็นทักษะความสามารถเฉพาะตัวของนักเตะซูเปอร์สตาร์
    คนจ่ายเงินมาดูเมสซี่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ และลีลาของนักเตะเกมรุกทั้งหลายมากกว่าตั้งใจมาดูเกมป้องกันของกองหลัในเชิงหลักการแล้วนักเตะทั้ง 11 คนในสนามควรจะมีความสำคัญเท่ากันหมด แต่ในแง่ของการลงคะแนนโหวตเพื่อหาผู้ได้รางวัล ธรรมชาติของเกมฟุตบอลเอื้อให้นักเตะเกมรุกได้เปรียบกว่า มันก็เท่านั้น

มันบอกกับเราด้วยประวัติผู้พิชิตรางวัลนี้ เพราะ 64 ปีที่ผ่านมามีผู้เล่นเกมรับเพียงแค่ 4 คนเท่านั้นที่ได้บัลลงดอร์

ฟ ยาชิน ปี 1963
    ฟร้านซ์ เบ็คเค่นเบาเออร์ ปี 1972 กับ 1976
    มัทธีอัส ซามเมอร์ ปี 1996
    คันนาวาโร่ ปี 2006



 คนอื่นๆ ที่เหลือ เต็มที่ก็แค่ได้ลุ้น แม้จะเป็นนักเตะที่ผู้คนยกย่องมากเพียงใดก็ตาม โรแบร์โต้ คาร์ลอส ได้ที่สองปี 2002 เปาโล มัลดินี่ ได้ที่สามปี 1994 อันเดรียส เบรห์เม่ได้ที่สามปี 1990 จานลุยจิ บุฟฟ่อนได้ที่สองปี 2006

เพราะธรรมชาติของรางวัลนี้เป็นอย่างนั้น เป็นธรรมชาติที่เกิดจากระบบการให้คะแนนที่ชัดเจน มีกรอบ มีหลักการ และยังคัดมาจากเสียงโหวตของนักข่าวที่เข้าใจดีถึงการมีอยู่ของรางวัลนี้

นักเตะที่พลาดหวังเหล่านั้นต่างยอดเยี่ยมและคู่ควรกับการได้บัลลงดอร์ในปีนั้นๆ ทั้งสิ้น แต่ลองดูคนที่ชนะพวกเขาสิครับ ปี 2002 คาร์ลอสแพ้โรนัลโด้ ปี 1994 มัลดินี่แพ้ ฮริสโต้ สตอยช์คอฟ กับ โรแบร์โต้ บาจโจ ปี 1990 เบรห์เม่แพ้ โลธ่าร์ มัทเธอุส กับ ซัลวาตอเร่ สกิลลาชี่ ปี 2006 บุฟฟ่อนแพ้คันนาวาโร่
    มีผู้ชนะคนไหนไม่คู่ควรกับรางวัลบ้าง หรือคู่ควรกับบัลลงดอร์น้อยกว่าผู้เล่นเกมรับเหล่านั้นบ้าง   
 เรื่องความชอบและความน่าเห็นใจนั้นแน่นอนครับ บุฟฟ่อน 2006 มัลดินี่ 1994 ฟรังโก้ บาเรซี่ 1989 เบ็คเค่นเบาเออร์ 1974 โอลเวอร์ คาห์น 2001 กับ 2002 มานูเอล นอยเออร์ 2014 ก็คู่ควรกับรางวัลทั้งนั้น บางปีที่ว่ามาบางคนเป็นแชมป์โลกด้วยซ้ำแต่ก็ยังไม่ได้รางวัลเพราะมีคนที่คู่ควรได้มันเช่นกัน

ไม่ได้บอกว่า "คู่ควรกว่า" นะครับ แต่ผมใช้คำว่า "คู่ควรได้มันเช่นกัน"

 ใน 4 คน 5 สมัยที่ผู้เล่นเกมรับได้บัลลงดอร์ มีเพียง เลฟ ยาชิน 1963 คนเดียวที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ คือนอกจากจะเป็นผู้รักษาประตูเพียงคนเดียวแล้ว ปีนั้นเขาก็ยังไม่มีผลงานระดับทีมชาติประดับบารมี

ส่วนอีก 3 คนที่เหลือนั้น เบ็คเค่นเบาเออร์เป็นแชมป์ยูโรปี 1972 เป็นรองแชมป์ยูโรปี 1976
    ซามเมอร์เป็นแชมป์ยูโร 1996
    คันนาวาโร่เป็นแชมป์โลก 2006

ทุกคนมีดีกรีแชมป์หรือรองแชมป์ทัวร์นาเม้นต์ใหญ่กับทีมชาติติดตัวทั้งสิ้น ยังไม่รวมความสำเร็จระดับสโมสรสมทบเข้าไปอีก ขณะที่ผู้แพ้ในปีอื่นๆ นั้นอันที่จริงผลงานก็ไม่ด้อยไปกว่ากันเลย

มัลดินี่ปี 1994 เป็นรองแชมป์โลก เป็นแชมป์ยุโรป เป็นแชมป์กัลโช่ เซเรีย อา

อันเดรียส เบรห์เม่ 1990 ยิงประตูชัยพาเยอรมันตะวันตกเป็นแชมป์โลก โรแบร์โต้ คาร์ลอส 2002 คว้าแชมป์โลก เป็นแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก
เบ็คเค่นเบาเออร์ 1974 ยิ่งแล้วใหญ่ เป็นทั้งแชมป์โลก แชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ แชมป์บุนเดสลีกา แต่พ่ายแพ้มนต์เสน่ห์ของ "นักเตะเทวดา" โยฮัน ครัฟฟ์ ในบัลลงดอร์ปีนั้น

มีใครโวยวายว่าไม่ยุติธรรมกับพวกเขาเหล่านั้นบ้างครับ มีใครไม่ยอมรับเกียรติยศของ ครัฟฟ์ สตอยช์คอฟ มัทเธอุส โรนัลโด้ บ้าง..

ฟาน ไดค์ อยู่ในกลุ่มผู้เล่นเกมรับเหล่านี้ เขามีเสียงมหาชนที่เอาใจช่วยให้ได้บัลลงดอร์ แต่โชคไม่ดีที่ฤดูกาลอันสมบูรณ์แบบของเขานั้นมาชนกับฤดูกาลที่สมบูรณ์แบบ (ครั้งแล้วครั้งเล่า) เช่นกันของเมสซี่

 เหมือนที่ลิเวอร์พูลของเขายอดเยี่ยมที่สุดและคงจะเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกไปแล้วกับ 97 คะแนน ถ้าไม่โชคร้ายมาอยู่ในฤดูกาลเดียวกับที่แมนฯ ซิตี้ เก็บได้ 98 แต้ม

บางครั้ง.. ฟุตบอลมันก็แบบนี้ จังหวะของเราไม่ตรงกัน

ฟาน ไดค์ ได้แชมป์ยุโรปที่เมสซี่ทำไม่ได้ แต่พลาดแชมป์ลีกที่เมสซี่ทำได้ เข้าชิงยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก กับฮอลแลนด์ มีอิทธิพลต่อทีม ผลงานส่วนตัวเหนือดุจเทวดา

 เมสซี่ ได้แชมป์ลีกที่ฟาน ไดค์ทำไม่ได้ แต่พลาดแชมป์ยุโรปที่ฟาน ไดค์ทำได้ เข้ารอบตัดเชือกโกปา อเมริกา มีอิทธิพลต่อทีมและมีผลงานส่วนตัวเหนือดุจเทวดาเช่นกัน

เพียงแต่ความเหนือดุจเทวดาของเมสซี่นั้นหลายคนเผลอมองข้ามไปเพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาไม่น่าตื่นเต้นอะไรสักหน่อยทั้งๆ ที่ความจริงมันโคตรยอดเยี่ยมเลยล่ะ

ผมไม่ได้บอกว่าจงก้มหน้ายอมรับชะตากรรม หรือก้มหัวให้กับความอยุติธรรม ถ้าจะมีเสียงก่นบัลลงดอร์ว่าอย่าไปมีมันเลยเพราะคนที่คู่ควรดันไม่ได้รางวัลก็อยากตั้งคำถามกลับแค่ว่าแล้ว ลิโอเนล เมสซี่ ไม่คู่ควรตรงไหนกับบัลลงดอร์ 2019

ฟาน ไดค์ คู่ควรแน่ๆ ครับ ผมเป็นแฟนบอลลิเวอร์พูลก็อยากให้เขาได้ แต่เราต้องไม่ลืมว่าด้วยผลงานของเมสซี่นั้นเขาก็คู่ควรด้วยเช่นกัน
มีอิทธิพลต่อทีมมาก เมสซี่ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันนะครับ เดอะค็อปรักฟาน ไดค์มาก เหล่าบาร์เซโลนิสต้าก็เทิดทูนเมสซี่เช่นกัน

 ความพ่ายแพ้ที่เมสซี่มีต่อฟาน ไดค์ ในรอบรองฯ แชมเปี้ยนส์ ลีก ไม่ใช่บทสรุปอะไรสักนิด มันไม่เกี่ยวกันเลยด้วยซ้ำ บัลลงดอร์ไม่ได้มีกฎว่าถ้าแคนดิเดตคนนี้ชนะแคนดิเดตคนนั้นแล้วจะต้องเป็นผู้ชนะหรือมีภาษีดีกว่า



มันอาจมีผลต่อการลงคะแนนของนักข่าวบางคนก็ได้ เล็กบ้างใหญ่บ้างแล้วแต่ ทว่าคงไม่ใช่กับทุกคน เพราะการมอบคะแนนโหวตนั้นพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ มากมาย
ถ้าจะมองหาเหตุผลว่าเพราะอะไร ฟาน ไดค์ ที่คนเชียร์มากถึงไม่ได้บัลลงดอร์ 2019 นอกจากความยอดเยี่ยมเช่นกันของเมสซี่แล้ว บางทีการตัดคะแนนกันเองจากเพื่อนร่วมทีมลิเวอร์พูลอย่าง โมฮาเหม็ด ซาลาห์ ซาดิโอ มาเน่ หรือ อลีสซง เบ็คเกอร์ ก็คือเรื่องที่เป็นไปได้

คะแนนกระจายไม่พุ่งไปที่คนใดคนหนึ่งในทีม คล้ายๆ กับที่ มานูเอล นอยเออร์ ถูกเพื่อนร่วมทีมชาติเยอรมันคนนี้คนนั้นคนนู้นแบ่งเค้กคะแนนในปี 2014

 สุดท้ายแล้ว บัลลงดอร์ก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ของหยาดเหงื่อและความพยายามตลอดทั้งฤดูกาล คนที่ได้มันไปครองนั้นก็เสมือนเป็นตัวแทนของเพื่อนร่วมอาชีพบอกกับทุกคนว่า การต่อสู้จบลงแล้วแต่มันไม่ได้สิ้นสุด แสดงความยินดีแก่กันแล้วเรามาสู้กันใหม่

นักเตะเองยังเข้าใจและอวยพรซึ่งกันและกัน แล้วเราแฟนบอลจะมาดูแคลนกันหรือตั้งแง่แก่กันทำไม ในเมื่อนักเตะทั้งสองคนต่างก็คู่ควรกับมันด้วยกันทั้งคู่ แต่รางวัลมีเพียงหนึ่งเดียวที่ว่ากันตามกติกา

 ผมไม่เสียใจเลยที่ เฟอร์กิล ฟาน ไดค์ ไม่ได้บัลลงดอร์ เพราะรู้ดีว่าเขาอยู่ใกล้มันมากจริงๆ จนแทบจะยืนเคียงคู่กับเมสซี่ผู้ชนะเลย และถ้าเป็นเขาที่ได้รางวัลก็จะมีคนร่วมยินดีมหาศาลแน่นอน

ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของมัน ให้ความเคารพในความยอดเยี่ยมของผู้อื่น และให้เกียรติการลงคะแนนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นการลงคะแนนที่เป็นธรรมที่สุดรางวัลหนึ่งซึ่งผ่านการพิสูจน์มาเกินครึ่งศตวรรษ เราก็จะร่วมยินดีไปกับบัลลงดอร์สมัยที่ 6 ของ ลิโอเนล เมสซี่ นะครับ..

credit : www.siampsort.co.th โดย ตังกุย (มีต่อ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่