การล่มสลายของธุรกิจครอบครัว...บทความ อ.นิเวศน์

https://portal.settrade.com/blog/nivate/2019/11/25/2243

จากประสบการณ์ของผมเองที่ได้เห็น “ความล่มสลาย” ของธุรกิจต่าง ๆ ต่อเนื่องยาวนานไม่น้อยกว่า 50 ปี ซึ่งได้ส่งผลให้ความมั่งคั่งของเจ้าของ “ล่มสลาย” ลงตามธุรกิจนั้น ความล่มสลายที่ว่านั้น คนอาจจะมีความรู้สึกหรือคิดว่ามันเป็นเรื่องของธุรกิจขนาดใหญ่หรือคนระดับเจ้าสัวหรือเศรษฐีใหญ่ที่คนทั่วไปรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่จริง ๆ แล้วมันรวมถึงการล่มสลายของธุรกิจขนาดเล็กที่เป็น SME หรือธุรกิจขนาดกลางที่เป็น “กงสี” ของครอบครัวที่มักจะมีพี่น้องหลายคนเป็นเจ้าของร่วมกันด้วย

ในบทความนี้ผมจะพูดถึงความคิดของผมที่มีต่อธุรกิจขนาดเล็กและกลางที่เป็น “ธุรกิจครอบครัว” ที่ก่อตั้งและดำเนินการมานานอย่างน้อยน่าจะเป็น 10 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่อาจจะทำมาเกิน 20 ปี และบริหารโดยผู้ก่อตั้งหรือสมาชิกที่เป็นลูกหลานของผู้ก่อตั้งธุรกิจ เขาเหล่านั้น รู้จักและคุ้นเคยกับธุรกิจเป็นอย่างดี “แทบจะหลับตาทำ” ได้ ความคิดที่จะปรับเปลี่ยนหาวิธีทำงานแบบใหม่นั้นดูเหมือนว่าจะไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญรีบด่วน ว่าที่จริงก็ไม่รู้จะปรับอย่างไรเพราะว่าก็ทำมานานมีกำไรอยู่ได้และธุรกิจก็โตมาเรื่อย ๆ ฐานะของผู้บริหารและที่บ้านเองก็ “ร่ำรวย” พอสมควรสามารถใช้ชีวิตหรูหราและมีความสุขไม่ต้องดิ้นรนอะไรมาก แต่สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าพวกเขาส่วนใหญ่อาจจะกำลังตกอยู่ในภาวะที่ “อันตราย” โดยไม่รู้ตัว อันตรายที่ว่านั้นก็คือ การที่ธุรกิจของตนอาจจะ “ล่มสลายลง” หรือค่อย ๆ ตกต่ำลงอย่างช้า ๆ จนต้องปิดตัวลง ความมั่งคั่งที่มีอยู่นั้น พอถึงเวลาอีก 10-20 ปีข้างหน้าอาจจะสูญหายไป ตัวเขาหรือลูกหลานอาจจะไม่ใช่คนรวยอีกต่อไป และเมื่อถึงเวลานั้น เขาก็จะรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ปรับตัวเพื่อหนีให้พ้นจากสภาวะนั้นในช่วงเวลาที่ยังทำได้

เหตุผลก็คือ ธุรกิจที่อยู่มานานแล้วนั้น ถ้าเศรษฐกิจยังเติบโตดี ความต้องการสินค้าและบริการยังเพิ่มขึ้นและไม่มีผลิตภัณฑ์แบบใหม่มาทดแทน พวกเขาก็จะยังสามารถขายสินค้าเพิ่มขึ้นและมีกำไรเพิ่มขึ้น คนที่ประสบความสำเร็จก็จะสามารถเติบโตและร่ำรวยขึ้น และนี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาจนถึงเมื่อเร็ว ๆ นี้ และธุรกิจภาคส่วนที่เป็น “ดารา” และก่อให้เกิด “เศรษฐี”จำนวนมากในเมืองไทยก็คือ “โรงงานผลิตสินค้า” โดยเฉพาะที่เป็นผู้ส่งออกที่ประเทศไทยสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ นอกจากโรงงานแล้ว ภาคเศรษฐกิจที่เป็นผู้ค้าขายในประเทศเองก็เติบโตขึ้นตามความมั่งคั่งของคนในประเทศที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว คนที่ทำธุรกิจค้าขายรายใหญ่ระดับจังหวัดหรือภาคก็กลายเป็นกลุ่มคนร่ำรวยของสังคมด้วย

แต่ธุรกิจทุกอย่างนั้นก็มีวงจรชีวิตของมัน กล่าวคือมีช่วงเวลาของการเติบโตอย่างช้า ๆ เติบโตเร็ว อิ่มตัว และสุดท้ายก็ตกต่ำลงและอาจจะตายในที่สุด ธุรกิจครอบครัวเองก็ไม่เว้น ในอดีตนั้น วงจรแต่ละช่วงอาจจะยาว ธุรกิจโตไปได้เป็นสิบหรือหลายสิบปี อานิสงค์จากการที่เศรษฐกิจไทยที่เติบโตสูงต่อเนื่องยาวนานและไม่ค่อยมีผลิตภัณฑ์แบบใหม่มาทดแทนของเดิม อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังพบเห็นตลอดมาว่าธุรกิจครอบครัวที่เคยเข้มแข็งและเจ้าของมั่งคั่งมานานต่างก็ล่มสลายลงเนือง ๆ สมาชิกในครอบครัวกลายเป็นแค่ “คนชั้นกลาง” เหมือนกับตัวผมเองที่เป็นคนกินเงินเดือนมาตลอดชีวิต เหตุผลหลักก็คือ ธุรกิจที่เขาทำนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก คู่แข่งใหม่แข็งแกร่งกว่าเขาเพราะเป็นบริษัทขนาดใหญ่และบ่อยครั้งก็มาจากต่างประเทศ
ในช่วงหลัง ๆ ประมาณซัก 10 ปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าวงจรของธุรกิจต่าง ๆ จะสั้นลงมากอานิสงค์จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโดยเฉพาะในด้านของดิจิตอลซึ่งทำให้ธุรกิจ “ดั้งเดิม” ทั้งหลายต้องปรับตัวเพื่อรับกับการแข่งขันใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนปรับตัวไม่ทัน นั่นประกอบกับการที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ รวมถึงการที่คนไทยแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและอัตราการเกิดน้อยลงมากทำให้ธุรกิจครอบครัวจำนวนมากตกอยู่ในอันตรายจากการที่จะถูก Disrupt ได้ และนี่ก็คือความเสี่ยงหรืออันตรายที่ผมพูดถึงและผมเชื่อว่าธุรกิจครอบครัวจำนวนมากก็อาจจะยังไม่ตระหนักและรีบปรับตัวให้เร็วก่อนที่จะสายเกินไป

ในฐานะที่เป็น “มนุษย์หุ้น” ปัญหาอะไรต่าง ๆ ผมก็มักจะพยายามแก้ไขโดยหุ้น การวิเคราะห์ปัญหาของผมก็คือ คนที่ทำธุรกิจครอบครัวนั้นก็คือคนที่ถือหุ้นของบริษัทหรือกิจการนั้น 100% และถ้ามีเพียงหนึ่งธุรกิจก็คือเขา “ถือหุ้นเพียงตัวเดียว” ในพอร์ต ไม่มีการกระจายความเสี่ยงเลย คนที่ถือหุ้นเพียงตัวเดียวนั้น บ่อยครั้งก็อาจจะรวยไปเลยถ้าหุ้นตัวนั้นดีสุดยอดและวิ่งขึ้นไปสูงมาก แต่ถ้าเกิดปัญหาหรือซื้อหุ้นผิดตัว หรือพื้นฐานหุ้นแย่ลงมาก การขาดทุนและหายนะก็อาจจะเกิดขึ้นได้ และนี่ก็อาจจะคล้าย ๆ กับหุ้นที่ถูก Disrupt ไปแล้วหลาย ๆ ตัวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ลองคิดดูว่าถ้าเป็นธุรกิจครอบครัวที่ไม่สามารถขายได้เลยแล้วถูก Disrupt มูลค่าหุ้นจะเหลือเท่าไร? บางคนอาจจะคิดว่าทรัพย์สินโดยเฉพาะที่เป็นที่ดิน อาคาร โรงงานและเครื่องจักรนั้นมีมูลค่าเป็นร้อย ๆ ล้านบาทซึ่งเป็นเครื่องแสดงถึงความร่ำรวยที่ครอบครัวมีอยู่นั้นไม่เหมือนหุ้นที่หมดค่าได้ง่าย ๆ แต่นั่นเป็นแค่ “ภาพลวงตา” เพราะในยามที่ธุรกิจไม่สามารถอยู่ต่อได้แล้ว ทรัพย์สินที่มีอยู่ยกเว้นที่ดินก็อาจจะกลายเป็นแค่เศษเหล็กที่ไม่มีค่าอะไรเลย

ทางแก้ของผมก็คือ คนที่ทำแต่ธุรกิจครอบครัวนั้นจะต้องเริ่มกระจายความเสี่ยง ไม่ใช่ไปตั้งธุรกิจใหม่อีกแห่งหนึ่งแม้ว่านั่นก็อาจจะช่วยได้บ้าง แต่สิ่งที่ควรทำก็คือ นำเอาเงินหรือความมั่งคั่งที่เก็บสะสมมายาวนานไปลงทุนในหุ้นที่ทำธุรกิจหลากหลาย ธุรกิจหนึ่งก็อาจจะเป็นธุรกิจที่เราทำอยู่และเรารู้จักดีมากเพราะเป็นคู่แข่งกันในท้องตลาด เลือกเอาบริษัทที่เราคิดว่าแข็งแกร่งและเป็นผู้ชนะและอาจจะเป็นตัวที่กำลังทำลายธุรกิจครอบครัวของเราด้วย โดยที่ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อนั้นเราก็จะต้องดูว่าราคาหุ้นนั้นถูกหรือยุติธรรมไหม กำไรและปันผลของมันดูดีกว่าการลงทุนในธุรกิจของครอบครัวที่ทำอยู่ไหม
เมื่อเราเริ่มเข้าใจว่าการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นแท้ที่จริงก็คือการทำธุรกิจโดยการเป็นเจ้าของธุรกิจบางส่วนแล้ว เราก็ควรจะต้องคิดต่อไปว่าการมีแค่ 2 ธุรกิจก็อาจจะไม่พอในยามที่วงจรธุรกิจเปลี่ยนเร็วมากในปัจจุบัน เราอาจจะคิดว่าน่าจะมีซัก 3 หรือ 4 หรือ 5 ธุรกิจ แต่ผมคิดว่าเราไม่ควรมีธุรกิจจำนวนมากเกินไปจนเราไม่สามารถรู้หรือติดตามได้ว่าธุรกิจกำลังอยู่ในวงจรไหนของการเติบโตซึ่งจะทำให้เราลงทุนในธุรกิจที่ไม่คุ้มค่าและทำให้เราเสียหายได้ การซื้อหุ้นหลายตัวมากเกินไปนั้น ในที่สุดเราก็มักจะขายไปและซื้อหุ้นตัวใหม่ไปเรื่อย ๆ และกลายเป็นว่าเรากำลัง “เล่นหุ้น” ซึ่งก็คือเราไม่ได้คิดถึงพื้นฐานของการเป็นธุรกิจเลย เราเอาแต่เก็งว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงในระยะสั้นแข่งกับคนอื่นซึ่งจะไม่ใช่การแก้ปัญหาว่าธุรกิจครอบครัวกำลังอยู่ในอันตรายและมันอาจจะกระทบกับความมั่งคั่งของตนเองและครอบครัวได้

ในกรณีที่เรา “วิเคราะห์หุ้นไม่เป็น” ทางแก้ปัญหาก็คือการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นโดยเฉพาะที่เป็นกองทุนอิงดัชนีหลัก ๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ นี่คือการที่เราเลือกลงทุนในหุ้นหรือกิจการ “ชั้นนำ” ที่สุดของประเทศไทยหรือของต่างประเทศ โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนและรักษาความมั่งคั่งของตนและครอบครัวไว้ก็จะมีสูงกว่าการทำธุรกิจครอบครัวเพียงอย่างเดียวซึ่งก็เหมือนกับการมีหุ้นเพียงตัวเดียวและอาจจะเป็นหุ้นที่กำลังถูก Disrupt ด้วย
แน่นอนว่าการปรับตัวโดยการเปลี่ยนธุรกิจหรือเลิกธุรกิจที่เป็นโรงงานใหญ่โตที่ครอบครัวทำมานานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทรัพย์สินอาจจะ 70-80% ของครอบครัวอาจจะอยู่ในธุรกิจที่ไม่สามารถขายออกไปได้แม้ว่าจะอยากทำ เจ้าของธุรกิจจำนวนมากนั้นมักจะเป็น “นักสู้” ที่เมื่อธุรกิจมีปัญหาก็จะต้องกอบกู้ซึ่งบ่อยครั้งก็จะต้อง “เพิ่มเงิน” ลงไป ในเรื่องของการลงทุนในตลาดหุ้น บางทีเราก็เรียกว่า “ซื้อถัว” คือหุ้นมันตกลงมาต่ำกว่าทุนแล้วเราคิดว่าในที่สุดหุ้นจะปรับตัวกลับขึ้นมาเราก็เลยซื้อหุ้นเพิ่ม ผมเองคงบอกไม่ได้ว่าควรทำหรือไม่ เจ้าของธุรกิจจะต้องวิเคราะห์เองว่าคุ้มไหม บางทีเขาควรจะปรับเปลี่ยน Mindset หรือความคิดจากการเป็นนักสู้มาเป็น “นักเลือก” บ้างว่า เราไม่ควรจะต้องสู้ทุกครั้งโดยเฉพาะถ้าเรารู้ว่าหนทางประสบความสำเร็จนั้นน้อยลงมากในภาวการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป ในกรณีแบบนี้ บางทีการ “Stop Loss” หรือขายทิ้งหรือหยุดการเพิ่มเงิน แล้วนำเงินนั้นไปลงทุนในหุ้นตัวอื่นและในธุรกิจอื่นอาจจะดีกว่า
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  การลงทุน เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ หุ้น Fundamental Analysis
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่