หลังจากห่างหายไปนานถึง 4 ปีนับจากอัลบั้ม A Head Full of Dreams ที่แฟนบางคนยี้ (รวมถึงเราด้วย) ก็ได้เวลาปล่อยของสักที
คอนเซ็ปต์ของเพลงไม่ต้องเดาให้ยาก เพราะมันชัดเจนจากชื่ออัลบั้มอยู่แล้ว คริสให้สัมภาษณ์ว่า "แต่ละวัน เราต้องเจอกับเรื่องดีและแย่ปะปนกันไป แต่ถึงจะประสบปัญหามากมาย เราก็ยังมองหาแง่งามจากมันได้"
Everyday Life พูดถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก ทั้งเรื่องของการครอบครองอาวุธปืน การใช้อำนาจในทางมิชอบของผู้พิทักษ์กฎหมาย ผลกระทบจากสงคราม และการโอบรับศาสนา วงถึงกับทำเพลงในเชิงศาสนาไว้สามเพลงจนแอบรู้สึกว่านี่รวมฮิตเพลงโบสถ์รึป่าวนะ ก่อนหน้านี้วงได้ปล่อยซิงเกิลคู่ออกมาคือ "Arabesque" กับ "Orphans" ซึ่งให้กลิ่นอายของ Viva la Vida or Death and All His Friends ซึ่งเป็นอัลบั้มที่ 4 แต่ความแตกต่างคืองานในชุดนั้น วงยังแคร์คนฟังมากจนไม่กล้าแตะประเด็นสำคัญตรง ๆ เอาแต่แทงกั๊กจนนักวิจารณ์บางสำนักแหย่ว่า
กล้า ๆ หน่อยสิพวก แต่ชุดนี้วงถึงกับสบถออกมาราวกับต้องการปลดปล่อยความอัดอั้นตันใจที่เก็บไว้มานาน
การพูดถึงปัญหาในงานชุดนี้ไม่ได้เป็นการชี้นำคนฟัง เพียงแต่เป็นการพูดถึงสิ่งที่คนทั่วไปรับรู้อยู่แล้ว ให้อารมณ์เหมือนกำลังฟังเพื่อนบ่นถึงปัญหาการเมืองที่ ...บ่นไปก็เท่านั้น ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี... เนื้อหาของเพลงจึงไม่ได้มีความแยบคายแต่อย่างใด แต่กระนั้น เราก็ยังนิยมความกล้าของวงที่จะฉีกตัวเองออกมาแตะประเด็นพวกนี้ โดยไม่กลัวที่จะป่าวประกาศออกมา
Everyday Life จัดเป็น Double Album หรืออัลบั้มคู่ มีถึง 16 เพลงด้วยกัน แบ่งออกเป็น 2 พาร์ท คือ Sunrise กับ Sunset แต่เราอยากเรียกมันว่าเป็น Double EP มากกว่า เพราะมันอุดมไปด้วยเพลงสั้นขนาด 1-2 นาทีจนทั้งอัลบั้มมีความยาวเพียง 52 นาทีกับอีก 51 วิ น้อยกว่าอัลบั้มเดี่ยวอย่าง A Rush of Blood to the Head เสียอีก คริสบอกในสัมภาษณ์ไว้ว่า "เหตุที่ต้องแบ่งออกเป็น 2 พาร์ทเพราะ Sunrise พูดถึงสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น ส่วน Sunset คือทัศนคติที่เรามีต่อมัน เปรียบเหมือนหยิน-หยางอะไรทำนองนี้" แต่สำหรับเราแล้ว มองว่าวงแค่อยากทำให้มันดูมีลูกเล่นเท่านั้นเอง
พาร์ท Sunrise
- เปิดมาด้วยเพลง "Sunrise" ดนตรีบรรเลงที่ทำออกมาได้ยิ่งใหญ่ดี เป็นแทร็กเปิดที่ทำให้เรานึกถึง Life in Technicolor กับ Mylo Xyloto ซึ่งมีความดีงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เลิฟมาก
- "Church" กับ "Trouble in Town" ถือเป็นไฮไลท์ของพาร์ทนี้อย่างเห็นได้ชัด โดย "Church" มีการใส่ซินซ์เข้ามาแต่พองาม มีการไต่ระดับเพลงที่ติดหูผสมผสานกับเสียงร้องเอื้อนเป็นภาษาอาหรับของ Norah Shaqur ที่ให้อารมณ์ฟุ้งฝันเย็นยะเยือกจับจิต ส่วน Sample ในแทร็ก "Trouble in Town" ก็กระตุ้นให้เกิดกระแสไดนามิกเร่งเร้าจนคนฟังรู้สึกพลุ่งพล่าน มีท่อนโซโล่กีตาร์ในตอนท้ายที่เดือดระอุอ้าวราวกับจะกู่ก้องถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม ทำให้หลังฟังจบ เราต้องหยุดพักเพื่อครุ่นคิดถึงอะไรบางอย่างที่อาจตกหล่นไปจากใจ
- "BrokEn" เพลงกอสเปลที่ทางวงไม่เคยแตะมาก่อน แต่ก็ทำออกมาได้ดีเกินคาด ทำนองกลมกล่อมจนเราอยากจะฮัมตามไปด้วย เพลงมีการสื่อสารกับพระเจ้าเพื่อขอกำลังใจในการต่อสู้กับอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิต คนฟังที่เป็นชาวคริสต์น่าจะอินได้ไม่ยาก
- "Daddy" เพลงเด็กน้อยเพรียกหาพ่อที่เศร้าจับจิตแต่เพราะจับใจ เป็นอีกแทร็กเด่นที่แฟนเดนตายของอัลบั้ม Ghost Stories น่าจะประทับใจ เพราะมีท่วงทำนองและเนื้อร้องที่สะเทือนอารมณ์ บวกกับบรรยากาศของเพลงที่บิวด์เหลือเกินจนอาจไปสะกิดต่อมแงแตกของใครบางคนได้ง่าย ๆ
- "WOTW / POTP" (Wonder of the World / Power of the People) กับ "Arabesque" เป็นสองเพลงที่ค่อนข้างดิบสำหรับเรา นี่ชมนะ "WOTW / POTP" ให้อารมณ์เหมือน ช่างแม-ร่ง กูจะเล่นทั้ง ๆ แบบนี้แหละ คริสใช้กีต้าร์โปร่งสื่ออารมณ์เป็นหลัก ฟังเผิน ๆ ดูเหมือนเดโม่ที่ยังทำไม่เสร็จ แต่เรากลับชอบในความเรียบง่ายของมันแฮะ ส่วน "Arabesque" แทบจะต้องกราบกรานในความแกรนด์ของมันทีเดียว ตอนฟังใหม่ ๆ น้ำตาจะไหล อารมณ์เหมือนตอนฟัง "Viva La Vida" เป็นครั้งแรก ท่อนเบสทำใหเราอดโยกหัวไม่ได้ โซโล่แซกโซโฟนเป็นอะไรที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน ส่วนท่อน Outrol คือเอาไปเลยสิบเต็มสิบ เป็นงานทดลองที่ฟังแล้วฟินเหมือนวงบรรลุโมกขธรรมทางดนตรี
- "When I Need a Friend" โห นี่เพลงสวดเต็มขั้นเลยเหรอ ฟังแล้วเห็นภาพท้องฟ้าเปิด มีแสงสีทองอร่ามสาดส่องลงมาพร้อมเทวดาน้อยใหญ่กางปีกรอรับขึ้นสวรรค์ เสียงคริสแทบจะกลืนไปกับคณะประสานเสียงจนเราฟังไม่ออกว่าคริสร้องอะไรอยู่ ปิดท้ายด้วยคำพูดของชาวอาหรับ(?) ซึ่งให้อารมณ์ขลัง ๆ ยังไงอยู่ เราไม่ได้ปลื้มอะไรกับเพลงนี้มาก พอฟังได้เพลิน ๆ
พาร์ท Sunset
- "Guns" นี่เรากำลังฟังบ็อบ ดีแลน อยู่รึป่าว แทร็กนี้มาแปลกดี เนื้อร้องที่เกรี้ยวกราดผิดวิสัย Coldplay ผนวกกับการบรรเลงกีต้ารโปร่งที่ดุเดือดเลือดพล่าน คริสเสียดสีสิทธิการครอบครองปืน อันเป็นจุดเริ่มต้นของเสรีภาพและความตาย แน่ล่ะว่า เราทุกคนต่างรับรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว แต่ความเผ็ดร้อนที่เป็นส่วนผสมของเพลงนี้ก็ให้ความรู้สึกที่สดใหม่ดีเหมือนกัน
- "Orphans" แทร็กที่ใส่เข้ามาในวินาทีสุดท้ายของอัลบั้มเพื่อเป็นซิงเกิลเปิดตัว มีความป็อปที่โดดเด้งกว่าเพลงอื่น ๆ ในอัลบั้ม มันมีทุกอย่างที่คนฟังชอบ บีทที่สดใส คอรัสที่มีชีวิตชีวา แต่ทว่าขัดแย้งกับเนื้อหาที่มืดหม่นของเด็กกำพร้าที่สูญเสียพ่อแม่ในสงครามซีเรีย มีคนบอกว่าเพลงนี้ทำให้ภาพรวมของอัลบั้มขาดความลื่นไหล แต่ใครจะแคร์ล่ะ ก็มันติดหูซะขนาดนั้น
- "Èkó", "Cry Cry Cry", "Old Friends" สามแทร็กนี้ขอมัดรวมมาพูดทีเดียวเลยล่ะกัน เพราะเราชอบมันเท่า ๆ กัน "Èkó" กับ "Old Friends" มีเมโลดี้ที่เข้าถึงง่าย ไพเราะตามสไตล์ Coldplay แต่ "Cry Cry Cry" นั้นมีลูกเล่นที่ต่างกันออกไป ส่วนผสมของแจ๊สบวกกับซาวนด์สังเคราะห์ที่ทาบทับไปกับเสียงของคริสทำให้รู้สึกแปร่ง ๆ ในตอนแรก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมโลดี้ติดหูมาก ๆ จนเราต้องย้อนกลับไปฟังหลาย ๆ รอบ และได้ข้อสรุปว่าทั้งสามแทร็กนี้ถือเป็นไตรภาคีแห่งความละมุนใน Everyday Life
- "بنی آدم" หรือ (Bani Adam แปลว่า บุตรแห่งอดัม) เป็นเดี่ยวเปียโนที่ให้ความรู้สึกที่อธิบายยาก ในความไพเราะมีความมัวซัวของแสงตะวันยามลาลับซ่อนอยู่ด้วย แต่เราแอบผิดหวังที่มันไปจบเอากลางคัน แล้วมีการเปลี่ยนผ่านดนตรีใหม่เพื่อเป็นอารัมภบทไปสู่แทร็กต่อไป อยากให้มันยาวกว่านี้สักหน่อย
- "Champion of the World" เพลงนี้มีทุกอย่างที่แฟน ๆ Coldplay ชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นความแกรนด์ของซาวนด์ ความไพเราะแบบ Coldplay ในยุคก่อน ๆ เนื้อร้องเชิงบวกฟังแล้วรู้สึกดีกับตัวเอง เสียดายที่มันมีความเป็นงานทดลองน้อยกว่าแทร็กอื่น ๆ แต่ก็เป็นการเพลย์เซฟที่ให้อภัยได้ เพราะเราชอบมากกว่า "Up&Up" เสียอีก
- "Everyday Life" แทร็กปิดอัลบั้มที่... ตอนตัดออกมาเป็นซิงเกิล เราแอบผิดหวังเล็กน้อย เพราะมันธรรมดาซะเหลือเกิน ไม่มีลูกเล่นอะไรชวนว้าวเลยถ้าเทียบกับแทร็กปิดอัลบั้มก่อนหน้า แต่พอฟังทั้งอัลบั้มแล้ว มันสรุปภาพรวมได้ดีแฮะ เพราะชีวิตประจำวันมันไม่ได้หวือหวาอะไรอยู่แล้ว วงอาจตั้งใจให้เพลงนี้ไม่มีลูกเล่นอะไรเลยเพื่อสื่อถึงความธรรมดาของชีวิตก็เป็นได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่ามันจะไม่ได้ดั่งใจยังไง เราก็ต้อง "Hold tight for everyday life"
สรุป: เราชอบอัลบั้มนี้ ฟังได้ทั้งอัลบั้ม ไม่มีเพลงไหนที่เกลียดเลย มันแทบจะตอบโจทย์เราทุกอย่าง
คะแนนทั้งอัลบั้ม: 4/5
รีวิวโดย: Mr.Blue
(
อ้างอิง:
https://www.nme.com/reviews/album/coldplay-everyday-life-review
https://www.youtube.com/watch?v=G4exZ-jXgWE&feature=youtu.be
https://www.youtube.com/watch?v=KzRMpSBa_Eo&t=641s)
รีวิวอัลบั้ม: Coldplay - Everyday Life (2019) ในที่สุด Coldplay ก็ปลดล็อกตัวเองจนได้
คอนเซ็ปต์ของเพลงไม่ต้องเดาให้ยาก เพราะมันชัดเจนจากชื่ออัลบั้มอยู่แล้ว คริสให้สัมภาษณ์ว่า "แต่ละวัน เราต้องเจอกับเรื่องดีและแย่ปะปนกันไป แต่ถึงจะประสบปัญหามากมาย เราก็ยังมองหาแง่งามจากมันได้"
Everyday Life พูดถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก ทั้งเรื่องของการครอบครองอาวุธปืน การใช้อำนาจในทางมิชอบของผู้พิทักษ์กฎหมาย ผลกระทบจากสงคราม และการโอบรับศาสนา วงถึงกับทำเพลงในเชิงศาสนาไว้สามเพลงจนแอบรู้สึกว่านี่รวมฮิตเพลงโบสถ์รึป่าวนะ ก่อนหน้านี้วงได้ปล่อยซิงเกิลคู่ออกมาคือ "Arabesque" กับ "Orphans" ซึ่งให้กลิ่นอายของ Viva la Vida or Death and All His Friends ซึ่งเป็นอัลบั้มที่ 4 แต่ความแตกต่างคืองานในชุดนั้น วงยังแคร์คนฟังมากจนไม่กล้าแตะประเด็นสำคัญตรง ๆ เอาแต่แทงกั๊กจนนักวิจารณ์บางสำนักแหย่ว่า กล้า ๆ หน่อยสิพวก แต่ชุดนี้วงถึงกับสบถออกมาราวกับต้องการปลดปล่อยความอัดอั้นตันใจที่เก็บไว้มานาน
การพูดถึงปัญหาในงานชุดนี้ไม่ได้เป็นการชี้นำคนฟัง เพียงแต่เป็นการพูดถึงสิ่งที่คนทั่วไปรับรู้อยู่แล้ว ให้อารมณ์เหมือนกำลังฟังเพื่อนบ่นถึงปัญหาการเมืองที่ ...บ่นไปก็เท่านั้น ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี... เนื้อหาของเพลงจึงไม่ได้มีความแยบคายแต่อย่างใด แต่กระนั้น เราก็ยังนิยมความกล้าของวงที่จะฉีกตัวเองออกมาแตะประเด็นพวกนี้ โดยไม่กลัวที่จะป่าวประกาศออกมา
Everyday Life จัดเป็น Double Album หรืออัลบั้มคู่ มีถึง 16 เพลงด้วยกัน แบ่งออกเป็น 2 พาร์ท คือ Sunrise กับ Sunset แต่เราอยากเรียกมันว่าเป็น Double EP มากกว่า เพราะมันอุดมไปด้วยเพลงสั้นขนาด 1-2 นาทีจนทั้งอัลบั้มมีความยาวเพียง 52 นาทีกับอีก 51 วิ น้อยกว่าอัลบั้มเดี่ยวอย่าง A Rush of Blood to the Head เสียอีก คริสบอกในสัมภาษณ์ไว้ว่า "เหตุที่ต้องแบ่งออกเป็น 2 พาร์ทเพราะ Sunrise พูดถึงสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น ส่วน Sunset คือทัศนคติที่เรามีต่อมัน เปรียบเหมือนหยิน-หยางอะไรทำนองนี้" แต่สำหรับเราแล้ว มองว่าวงแค่อยากทำให้มันดูมีลูกเล่นเท่านั้นเอง
คะแนนทั้งอัลบั้ม: 4/5
รีวิวโดย: Mr.Blue
(อ้างอิง:
https://www.nme.com/reviews/album/coldplay-everyday-life-review
https://www.youtube.com/watch?v=G4exZ-jXgWE&feature=youtu.be
https://www.youtube.com/watch?v=KzRMpSBa_Eo&t=641s)