การตัดต่อ Trailer ซีรีย์ One Year 365วัน บ้านฉัน บ้านเธอ

ผมว่า...การตัดต่อ Trailer ไม่เคยง่าย
(จริงๆ การตัดต่ออะไรก็ไม่ง่ายทั้งนั้นแหละ)
แต่การตัดต่อเทรลเลอร์มันยากขึ้นมาอีกขั้น เพราะมันมักจะมีการต่อสู้ของความคิด/รสนิยม 2 ขั้ว คอยทัดทานกันอยู่เสมอ นั่นคือความคิดของนักทำหนัง และ ความคิดของนักโฆษณา ซึ่งเทรลเลอร์เนี่ย ฟังก์ชั่นของมันก็คือ การโฆษณาหนัง อ้าว! มันต้องมาด้วยกันไง แต่...
บ่อยครั้ง เรามักจะพบว่า 2 อย่างนี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ได้ ซึ่งมันทำให้เราต้องเลือก
นอกจากอันนี้ การตัดตัวอย่างหนัง/ซีรีส์ ยังมีข้อจำกัดอีกอย่างคือเรื่อง “การไม่เปิดเผยเนื้อหาบางอย่างจนเกินไป”
พูดง่ายๆ ว่า ตัดยังไงให้มันไม่สปอยล์นั่นแหละ
เพราะฉะนั้นในทุกรอยคัตติ้งของการตัดตัวอย่าง มันเลยมีปัจจัยมากมายให้เราต้องคิด
เล่ายังไงให้มันรู้เรื่องในเวลาจำกัด
ตัดยังไงให้มันไหลลื่น (เพราะบางทีเราต้องหยิบจับหลายซีนมาเล่าผสมกัน)
เล่าเรื่องแค่ไหนดี
เล่ายังไงให้มันขายของแต่ไม่สูญเสียตัวตนของหนังไป
เล่ายังไงให้คนดูรู้สึกคล้อยตามไปกับเนื้อเรื่อง
ควรบิ๊วให้เกิดความรู้สึกไหนดีที่จะทำให้คนอยากดู
มีอะไรให้ต้องคิดเยอะไปหมดจนปวดหัว มันมีอะไรมากกว่าแค่การเอาซีนที่เจ๋งๆ หรือประโยคเท่ๆ ในหนังมาเรียงต่อกันแล้วคิดว่ามันจะน่าดู
ยิ่งกับหนังที่มีไดอะล็อกดีๆ มากมายนั้น ยิ่งต้องคิดให้ดีเลยว่าเราควรจะเลือกประโยคไหนออกมา
One Year เป็นหนึ่งในหนังอย่างว่านั้น (จริงๆ มันคือซีรีส์ แต่ขอใช้คำว่า หนัง ในการเรียกแทน ตามสไตล์คนในอุตสาหกรรมนี้นะครับ)
แต่ทั้งหมดทั้งมวล บางที (อาจจะหลายๆ ทีด้วยซ้ำ) การคิดเยอะก็ไม่ได้แปลว่ามันจะถูกไปหมดซะทุกอย่างอยู่ดี นั่นแหละคือเสน่ห์ของงานศิลปะ แต่จะให้พูดอีกที งานศิลปะมันก็ไม่ได้มีผิดมีถูกขนาดนั้นหรอก วนไปวนมาเนอะ ฮ่าฮ่า
และต่อไปนี้คือบทสรุป Editor’s note 11 ข้อ ของการตัดเทรลเลอร์ One Year 365วัน บ้านฉัน บ้านเธอ (จะเข้าเรื่องก็เข้ากันดื้อๆนี่แหละ ไม่รู้จะเกริ่นมายืดยาวทำไม แถมวิธีเข้าเลียนแบบเพจวิเคราะห์บอลจริงจังอีก)
1.ความตั้งใจแรกสุด ก่อนจะตัดเทรลเลอร์เรื่องนี้คือ ความตั้งใจว่า “เราจะไม่ตัดเทรลเลอร์เรื่องนี้ให้ยาวเกิน 2.30 นาทีเด็ดขาด” อนึ่ง เวลา 2.30 นาที เป็นเวลาที่ยึดมาจากลิมิตของเทรลเลอร์หนังที่ฉายในโรง ด้วยเรื่องข้อจำกัดของเวลาในการโฆษณาในโรงหนังส่วนนึง แต่อีกส่วนนึง พี่เดียว (วิชชพัชร์ โกจิ๋ว 1 ในผกก.แฟนฉัน และเป็นหัวหน้าผม) เคยให้ทรรศนะไว้ว่า มันไม่ใช่เรื่องการจำกัดเวลาทั้งหมดหรอก แต่มันคือเรื่องความรู้สึกที่ผ่านการทดลองมาหลายยุคสมัยแล้วว่า ไอ้เวลาไม่เกิน 2.30 เนี่ย คือเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้วในการที่คนดูจะดูตัวอย่างหนังซักเรื่องนึง ถ้ายาวมากไปกว่านี้ ความรู้สึกมันจะเลยไปแล้ว ไอ้ที่จากจะต้องการให้รู้สึกพุ่ง มันจะกลายเป็นแผ่ว ซึ่งผมว่าผมเห็นด้วยนะ ก็เลยตั้งใจไว้เลยว่าจะไม่ให้ยาวเกินนี้ให้ได้
แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้ หนังตัวอย่างนี้จบออกมาที่ 2.45 นาที ส่วนเพราะอะไรนั้น จะขยายความในข้อต่อๆ ไป
2.ผมอยากตัดตัวอย่างเรื่องนี้ให้ออกมาเหมือนหนังญี่ปุ่นซึ้งๆ สักเรื่อง ไม่ต้องเล่าเยอะมาก เกริ่นนิดเดียว แล้วเข้าคอนฟลิกต์เลย แล้วก็เห็นคอนฟลิกต์ๆๆๆๆ ไม่ต้องมีการยำภาพกับเพลงในตอนท้ายแบบที่เทรลเลอร์ส่วนใหญ่ชอบทำกัน เทรลเลอร์หนังญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ยาวแค่ 2 นาทีด้วย แล้วก็กะว่าจะเอาประโยคๆ นึงในเรื่อง ที่ผมเรียกมันว่า “ประโยคทิ้งระเบิด” มาปิดท้าย น่าจะยั่วๆ คนดูดี
3.สรุปว่าตัดแบบนี้ออกมากลายเป็นดราฟต์แรก ความยาว 2.09 นาทีเท่านั้น โอ้โห สวยงามตามความตั้งใจ ส่วนใหญ่พอตัดเสร็จดราฟต์นึง สิ่งที่ผมจะทำต่อไปคือ ไปทำอย่างอื่นเลย พักสมอง ส่วนใหญ่ก็จะเล่นเกม (ใช่ครับ เล่นเกมในเวลางาน) หรือเข้าเน็ตไปไถฟีดเรื่อยเปื่อยสักพัก เพื่อเคลียร์สมองและสายตาให้ลืมสิ่งที่เราทำลงไปให้หมดก่อน แล้วกลับมาดูงานนั้นอีกทีเพื่อให้เรามองมันจากมุมมองของคนดูจริงๆ คือมันก็เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะเคลียร์ออกจากสมองได้หมด แต่ความรู้สึกเมาหมัด เมาคัตติ้ง เมาฟุตเตจ จะค่อนข้างหายไปพอสมควร
ทีนี้พอเรากลับมาดูดราฟต์แรกที่ตัดไว้ก็พบว่า...
…ดูไม่รู้เรื่องเลยโว้ยยยยยยยย!!!!
4.“ยิ้มละ” ผมคิดในใจ แล้วมานั่งแกะความคิดตัวเองว่า มีอะไรตรงไหนบ้างที่ทำให้ไม่เข้าใจ หรือตามไม่ทัน และสิ่งที่แกะออกมาได้เป็นอย่างแรกเลยก็คือ “เราไม่รู้เลยว่าใครเป็นใครในเรื่องนี้ ซึ่งตัวละครก็ดันเยอะมากด้วย” ก็เลยเกิดความคิดขึ้นมาว่า เราต้องทำให้คนดูรู้จักตัวละครก่อน
ว้าย ต้องมาตัดแบบแนะนำตัวละครเหรอ เชยอ่ะ ไม่อยากทำเลย คิดแบบนี้อยู่แว้บนึงเหมือนกัน แต่ทบทวนดูแล้วคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กว่า เลยเอาวะ เขียนสคริปต์ Voice Over ขึ้นมา ค่อยๆ แนะนำครอบครัวของเพชร ตะล่อมๆ ไปทีละเรื่อง ครอบครัวนี้มี 6 คนนะ เป็นหญิงล้วนนะ แม่เป็นคนแบบนี้ พี่น้องมีใครบ้าง แต่ละคนเป็นคนยังไง แล้วจู่ๆ วันนึงชีวิตพวกเขาจะเปลี่ยนไปยังไง
5.“ยิ้มที่2” โอ้โห กว่าจะเข้าคอนฟลิกต์ ล่อไปนาทีนึงแล้ว เหลือเวลาเล่าอีก 1.30 นาที จะพอเหรอวะ เลยลบความตั้งใจในข้อ1. ทิ้งออกจากหัวไปให้หมดเลย จะออกมาเท่าไหร่ก็เท่านั้น แต่ลึกๆ แล้วก็ตั้งใจไว้ว่าจะไม่ให้เกิน 3.00 ถ้าได้ภายใน 2.45 ยิ่งดี พอเปลี่ยนความตั้งใจทีนี้เราก็ค่อยๆ เล่าเรื่องที่เหลือ
6.จริงๆ เมื่อต้นปี One Year เคยมีคลิปสั้นๆที่เล่าเรื่องคร่าวๆ ไปแล้ว เรื่องเงื่อนไข 1 ปี เป็นอะไรที่คนดูน่าจะพอมีความรู้พื้นฐานอยู่บ้าง ช่วงที่ตัดต่อดราฟต์2 เสร็จใหม่ๆ ก็มีการถกเรื่องนี้กันในทีมผู้สร้างเหมือนกัน
ว่าเราจะเล่าเรื่องเงื่อนไข 1 ปี เป็นคอนฟลิกต์ หรือแค่เอามาเซ็ตอัพดี
เพราะเกรงว่าเทรลเลอร์จะไปไม่ไกลกว่าคลิปที่เคยทำ ถ้าอยากไปไกลกว่านั้นคงต้องเล่าเรื่องคอนฟลิกต์ว่า เพชร กับ บูม เหมือนจะชอบกัน แล้วพวกเค้าจะจัดการเรื่องนี้ยังไง เพราะมันส่งผลต่อสถานการณ์ในบ้านอยู่นะ หลังจากถกกันอย่างยาวนาน ผลสรุปออกมาว่า งั้นลองทำอีกเวอร์ชั่น ที่ขยายคอนฟลิกต์นี้ใหญ่ขึ้น กลายเป็นดราฟต์ที่3
7.ปรากฏว่าลองทำมาดูแล้ว ความรู้สึกว่าเป็นซีรีส์เรื่องครอบครัวมันหายไปแฮะ เรื่องรักของเพชรกับบูมพอขยายออกมาแล้ว เราแทบไม่เหลือเวลาให้เล่าตัวละครรายล้อมของทั้งคู่เท่าไหร่ ต่อให้ใส่เพิ่มเข้ามาก็จะรู้สึกแปลกอีก เพราะเราไม่ทันได้รู้จักว่าตัวละครนี้คือใครนะ เป็นคนของบ้านไหน แล้วมันส่งผลยังไงต่อความสัมพันธ์ ทีนี้ก็เลยมานั่งถกกันต่อว่า เราอยากจะยกเรื่องรักจนครอบครัวหายเยอะขนาดนี้จริงๆ มั้ย ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วยว่า เราน่าจะชูความเป็นครอบครัวมากกว่า เพราะนี่คือรสชาติที่จะแตกต่างจากการดูซีรีส์รักวัยรุ่นเรื่องอื่นๆ เราเลยกลับไปที่ดราฟต์2 แก้ไขอีกนิดหน่อย โดยเลือกประโยคน่าสนใจๆ ของดราฟต์3 มาเพิ่มเติม ให้เรื่องรักเด่นมากขึ้น แต่ยังอยู่บนพื้นฐานของซีรีส์ครอบครัว
8.นึกว่าจะง่าย แต่มันไม่ง่ายขนาดนั้น พอลองเอาดราฟต์3 มาผสมกับ2 เรากลับพบว่าประโยคโดนๆ ของ 3 ไม่มีเวลามากพอที่จะทำงานในโครงสร้างของ2
ครั้งแรกที่เอามาผสมกัน กลายเป็นว่าทำให้เวลารวมของเทรลเลอร์พุ่งขึ้นไปถึง 3.10 สูงกว่าที่ตั้งใจไว้ แต่นั่นไม่เป็นปัญหาเท่ากับที่ดราฟต์นี้กลายเป็นให้ความรู้สึกว่า ทำไมไม่จบซักที โอ้ย ทำไมเรื่องมันเยอะแยะไปหมด เราเลยต้องถอยกลับมาตั้งสติใหม่ เกิดการดึงเข้าดึงออกอยู่หลายเวอร์ชั่น จนสุดท้ายก็มาจบที่ตัวนี้
9.ก่อนเริ่มตัด พี่ปิง (เกรียงไกร วชิรธรรมพร โปรดิวเซอร์) พูดเล่นๆ (แต่คิดจริงๆ) กับผมตลอดเวลาว่า “กูยังนึกไม่ออกเลยว่าเทรลเลอร์เรื่องนี้จะออกมาเป็นยังไง เป็นเรื่องแรกเลยที่นึกไม่ออกจริงๆ” ซึ่งก็เป็นอย่างนั้น สุดท้ายเราต้องผ่านการลองผิดลองถูกเพื่อให้เห็นภาพกันมาหลายต่อหลายดราฟต์ จนเราตัดสินใจเลือกเวอร์ชั่นนี้ในที่สุด ขอบคุณพี่ปิงมากๆ ฮะที่ช่วยคิด ช่วยเสนอแนะ ช่วยปวดหัวกันมาตลอดจนจบกระบวนการ
10.เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย มีปัญหาเรื่องนึงที่ผมรู้สึกทึ่งมากเลยคือ การที่คนดูที่ไม่ได้มีพื้นฐานรู้จัก BNK48 มาก่อน มาดูเรื่องนี้ โดยเฉพาะถ้าดูแค่ในเทรลเลอร์ดราฟต์แรกๆ ไม่มีใครแยกน้องมิวนิค กับ น้องฟอนด์ ออกเลย ทุกคนคิดว่าคือคนๆ เดียวกันหมด เพราะหน้าเหมือนกัน ซึ่งการที่ผมตัดต่อเนื้อซีรีส์ด้วย เราเลยแยกสองคนนี้ออกนานแล้ว
ซึ่งพอสืบกลับไป ปรากฏว่า ปัญหานี้ไม่ได้มีแค่ตอนดูฟุตเตจนะ แม้แต่ที่กองถ่ายก็ยังมีทีมงานที่แยกสองคนนี้ไม่ออก มีเรื่องเล่าว่า วันออกกองวันสุดท้าย ยังมีทีมงานที่เรียกชื่อมิวนิคกับฟอนด์สลับกันอยู่เลย 555
11.เกร็ดเล็กน้อยยิ่งกว่า ซาวด์เอฟเฟกต์ที่ใช้ประกอบภาพกราฟิกในเทรลเลอร์เป็นเสียงเครื่องใช้ในบ้านทั้งหมด เพราะเราอยากทำให้ทุกองค์ประกอบในเทรลเลอร์ตัวนี้เป็นเรื่องของ “บ้าน” นั่นเอง อย่างเสียงตอนขึ้นวันฉายตอนแรก ก็เป็นเสียงบานเลื่อน เสียงตอนขึ้นโลโก้ชื่อเรื่องก็เป็นเสียงปลดล็อกประตู เคยวางเสียง “ติ๊ง” ของไม่โครเวฟ บนเพจกราฟิก “จะทำให้คุณอบอุ่นหัวใจ” ด้วย แต่ฟังไปฟังมารู้สึกมันแหลมไม่เข้าเรื่องไปหน่อย เลยเอาออก 5555
ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นตัวอย่างที่น่าดู ในสายตาคนดูมั้ย แต่อยากบอกว่า ซีรีส์เรื่องนี้ค่อนข้างแตกต่างจากซีรีส์เรื่องอื่นๆ ที่ GDH เคยทำมาเยอะมาก น้องแคลร์ (จิรัศยา วงษ์สุทิน ผกก.) อาจจะเป็นมือใหม่ แต่นี่คือเจ้าของรางวัลช้างเผือกหลายสมัย จนได้รับฉายาว่า “เจ้าหญิงแห่งวงการหนังสั้น” เชื่อว่ารสมือของแคลร์จะมีการนำเสนอรสชาติที่คนดูไม่น่าจะเคยเจอมาก่อนในซีรีส์ไหนๆ แน่นอน เป็นซีรีส์ที่หวังอย่างยิ่งว่าจะทำให้เกิดภาพที่แบบ ลูกๆ วัยรุ่นชวนพ่อแม่หรือคนในบ้านมานั่งดูด้วยกัน จากที่เดี๋ยวนี้ใครจะดูซีรีส์ที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าเรื่องนี้ทำให้มีครอบครัวซักครอบครัวนึงชวนทุกคนในบ้านมานั่งดูพร้อมกัน ก็จะน่ายินดีมากเลย
ใครเป็นแฟน BNK ก็จะได้ช่ืนชมความสามารถในการแสดงของพวกน้องๆ
น้องๆเล่นดีมากนะ ถ้าเทียบว่านี่เป็นผลงานขนาดยาวเรื่องแรกของหลายๆ คน ตอนตัดต่อบางซีนนี่ผมก็ทึ่งเหมือนกัน ทึ่งจนรู้สึกว่า เออ ยอมรับเลยว่าการที่พวกเขาจะขึ้นมายืนตรงจุดนี้ได้คือต้องมีความสามารถจริงๆ นะ ไม่ใช่แค่เรื่องฉาบฉวยหรือโชคชะตา
ใครไม่รู้จัก BNK ก็จะดีตรงที่ ความตั้งใจของทีมผู้สร้างก็ไม่ได้ต้องการจะชูความเป็นไอดอลของน้องๆ อยู่แล้ว เราอยากให้ทุกคนมองน้องๆ ในฐานะคนธรรมดาคนนึง ที่มารับบทในเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านหลังนึง ที่ไม่แน่มันอาจจะตรงกับเรื่องราวที่เราเคยเจอ หรือเรารู้สึกแทนตัวเองเป็นตัวละครซักคนในหนังได้จริงๆ
พี่ดู๋ พี่แหม่ม คงไม่ต้องพูดถึง นี่คือนักแสดงซีเนียร์ระดับปรมาจารย์ของบ้านเราอยู่แล้ว
เก้า จิรายุ นี่บอกเลยว่า คนตัดต่อส่วนใหญ่รักแน่ๆ น้องแกเล่นเนียนกริบ จังหวะคมชัด การแสดงไม่มีขาดไม่มีเกิน บางทีแค่ชอตพยักหน้านิ่งๆ ทีเดียว แต่ความรู้สึกตัวละครพรั่งพรูออกมาแบบไม่ต้องพูดมากก็มี
เรื่องราวในเทรลเลอร์นี่ยังแค่น้ำจิ้ม ลองมาติดตามดูแล้วจะได้เห็นว่ายังมีความเป็นไปในบ้านหลังนี้อีกหลายอย่างที่เข้มข้นมากๆ อย่างประโยคที่ผมบอกว่าเป็น “ประโยคทิ้งระเบิด” น่ะ สุดท้ายโดนเอาออกไปนะ 555 ฝากติดตามกันด้วยครับ เรื่องนี้ผมกับ บอย ลูกทีมผม ตัดกันคนละครึ่ง เป็นการตอบแทนที่น้องมันช่วยงานผมมาอย่างดีตลอดหลายปีนี้ มันควรได้รับเครดิตอย่างเท่าเทียมกันเสียที
ตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจจะเขียนยาว แค่อยากเล่าเบื้องหลังกว่าที่จะผลิตชิ้นงานนึงออกมา ทีมงานต้องผ่านอะไรบ้าง มีวิธีคิดยังไง ซึ่งสุดท้ายจะถูกจะผิดก็คือต้องให้คนดูตัดสินอยู่ดีแหละ คิดๆ ไว้ว่าจะเขียนอะไรบ้างดี นี่ตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่าเขียนไม่หมดกับที่ใจคิดไว้นะ แต่พอแล้วดีกว่า ยาวเฟื้อยยยยยยย ขอตัวไปตามเพจน้องฟอนด์แป๊บ
ดูเทรลเลอร์ได้ที่นี่จ้า https://www.facebook.com/linetvth/videos/443082386395119



เครดิต : เฟส Nuttapon Nhow Timmueng
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่