power bank ดีๆ ดูแลง่ายๆ หาได้ในโลก .. จบปัญหา มาดูกัน

ผมเคยใช้ power bank แบรนด์ดังๆ มาหลากหลายยี่ห้อ ทั้ง panasonic anker aukey sony ravpover และอื่นๆ รวมๆแล้วถ้าคิดเป็นเงินก็พอสมควร ทุกๆยี่ห้อที่กล่าวมานั้นถือว่าดีมากครับ หรือแม้แต่ยี่ห้อทั่วๆไปนั้นก็ดี แต่ ..

.. ปัญหาโลกแตกของ power bank นั้น คือเมื่อเราใช้งานมันไปเรื่อยๆแล้ว มันก็จะเกิดอาการชาร์จไฟเข้า-ออกไม่ได้ แบตหมดไว ไฟหมดเร็ว บลาๆๆนั้น ปัญหาแทบจะทั้งหมดเกิดมากจากเรื่องเดียว คือ เซลล์แบตเตอรี่ ภายใน power bank ที่เสื่อมสภาพนั้นเอง ทั้งแบบที่เป็นถ่าน ลิเทียมไอออน และ ลิเทียมโพลิเมอร์

หลายคนอาจจะไม่เคยรู้หรือเคยเห็นว่าภายในเจ้า power bank นั้น หน้าตามันเป็นยังไง มันมีอะไรอยู่ข้างในนั้น .. แล้วทำไมแต่ละเจ้า แต่ละยี่ห้อ ราคาถึงต่างกันนัก คุณภาพมันต่างกันเพราะอะไร .. ผมจะอธิบายคร่าวๆว่าส่วนประกอบมันมีดังนี้

1. ภาคจ่ายไฟ INPUT เพื่อเก็บไฟไว้ในเซลล์แบตเตอรี่ภายใน power bank
2. ส่วนของแบตเตอรี่
3. ภาคจ่ายไฟ OUTPUT จากแบตเตอรี่ ไปยังโทรศัพท์มือถือ

มาดูตัวอย่างกันครับ ..



ประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยได้ใช้ power bank และชำแหละมันมาแล้วหลากหลายยี่ห้อ .. ของผมใช้งานเองและมีให้ดูเป็นตัวอย่างคร่าวๆตามนี้

Panasonic รุ่น QE-PL 301 ความจุ 8100 mAh - สุดยอด ดีมาก ทน เทพ แผงลายวงจรชั้นครู SMD คุณภาพสูง บอกได้คำเดียวว่า อื้อหือออออ มาพร้อมเทคโนโลยีการชาร์จแบบไร้สาย ที่มีมาก่อนไอโฟน 8 ถึง 5 ปี .. มีทั้ง BMS และ Active Balance แถมเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิของถ่านแต่ละก้อนอีกด้วย .. ทั้งหมดนี้มันอยู่ใน power bank ของ panasonic เท่านั้น !! ใช้ชุดเซลล์แบตเตอรี่ขั้นเทพจาก sanyo อายุการใช้งานกับผมประมาณ 3 ปีกว่า ก่อนลากโลกไป (แบตเสื่อมสภาพ และผมได้เปลี่ยนแบตเพื่อใช้งานต่อจนถึงทุกวันนี้) สิริรวมอายุตอนนี้ 8 ปีกว่า ยังใช้งานได้ปกติดีอยู่ ของเค้าดีจริงๆครับ (ตกรุ่น และไม่มีขายในท้องตลาดแล้ว น่าเสียดายมาก) 


Anker รุ่น PowerCore Speed (QC3.0) ความจุ 20,000 mAh - ถือว่าดีพอใช้ได้ มีมาตรฐาน แบรนด์ดังจากอเมริกา มีชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่ลายวงจร (กระจุ๋มกระจิ๋ม) ยังห่างชั้นเมื่อเทียบกับ panasonic อยู่มากโข อายุการใช้งาน 1.5 ปี (หรือน้อยกว่าหน่อย) ภายในใช้เซลล์แบตเตอรี่ของ panasonic บ้าง LG บ้าง (ของผมได้ LG)


Anker รุ่น PowerCore Speed  ความจุ 13,000 mAh - ถือว่าดีพอใชัได้เช่นกัน


ส่วนยี่ห้ออื่นๆที่ผมเคยใช้มา คุณภาพก็ถือว่าใช้ได้เลย ชำแหละดูทุกตัวแต่ไม่มีรูปภาพให้ดูเพราะไม่ได้ถ่ายเก็บไว้ .. ถ้าให้คะแนนแล้วโดยส่วนตัวผมก็คงต้องยกอันดับที่ 1 ที่ดีที่สุดให้กับเจ้า panasonic อย่างเป็นเอกฉันท์ครับ

*********************************************************************************

มาเข้าเรื่องกันเลย พอผมมานั่งนึกๆดูแล้วว่าเจ้า power bank หลากหลายยี่ห้อที่มีขายกันเกลื่อนตลาดอยู่นี้ หลักใหญ่ใจความนั้นมันก็คือ เจ้าเซลล์แบตเตอรี่นั่นเอง มันจะเสื่อมสภาพไปเรื่อยๆอยู่ตลอด ต้องหาซื้อของใหม่กันแบบวัดดวงไปเรื่อย .. เอาแล้วไง แล้วเราจะทำยังไงที่จะไม่ต้องซื้อเจ้า power bank ใหม่ในทุกๆปีที่มันเสื่อมหรือพังไป ทำไงให้ประหยัดเงินได้ ยังไม่นับยี่ห้อทั่วๆไปตามตลาดนัด ที่มีความจุหลอกลวงกัน พังง่ายและเสื่อมเร็วขึ้นไปอีก .. ปั้ดโธ้วววว

สุดท้ายก็ได้ไปเห็น power bank ในรูปแบบที่เราสามารถ DIY มันได้เอง กล่าวคือ เราเปลี่ยนถ่านเองได้ง่ายๆเพียงแค่เลื่อนเปิดฝาออก ง่ายมากๆครับ ถ่านก้อนไหนพัง ก้อนไหนเสียก็เปลี่ยนมันออกไปแค่ก้อนเดียว เสียเงินไปแค่ 100-200 บาท ต่อปี หรือน้อยกว่านั้นโดยไม่ต้องใช้ความรู้มากมายในการแกะ แงะ เชื่อมด้วยตะกั่ว หรือเชื่อมจุดให้ลำบากชีวากันอีก .. ผมจึงลองสั่งซื้อผ่านเวปมา 2 ยี่ห้อ คือ TOMO และ SOSHINE (ราคาประมาณ 500-600 บาท แล้วแต่จะเจอเจ้าไหน) ซึ่งทั้งสองตัวนี้เราสามารถเลื่อนเปิดฝา เพื่อใส่ถ่านในรางถ่าน (ถ่าน 18650) แล้วมันก็พร้อมใช้งานได้ทันที ..

แต่เราต้องซื้อถ่าน 18650 แยกมาเองอีกต่างหากนะครับ สนนราคาอยู่ที่ก้อนละประมาณ 150-200 บาท แล้วแต่ยี่ห้อ รุ่น และความจุ มีขายมากมายในเวปที่เชื่อถือได้ แต่ต้องเป็นถ่านของแท้เท่านั้นนะครับ ถึงจะคุ้มเงินเรา คือ ถ่านของแท้ จะเต็มความจุ และทนทานมากครับ (อายุการใช้ง่านถ่านพวกนี้ก็จะประมาณ 2-3 ปีได้ครับ) .. รูปใช้งานจริง

TOMO M4 (ไม่แนะนำ) - การใช้งานจริงยังไม่ประทับใจเท่าไหร่ จุดบกพร่องมีเยอะ - รางถ่านแบบ 4 ก้อน ซื้อถ่าน panasonic ใส่แยกมาทีหลังต่างหาก รวมความจุ 13,600 mAh มีการชาร์จแบบธรรมดาที่ 1A และ 2A


SOSHINE รุ่น E3S-QC QC 3.0 (มี Quick Charge/ชาร์จเร็ว 30 W.) เป็น QC 3.0 ของ QUALCOMM - เยี่ยมมาก ประทับใจ แนะนำตัวนี้เลยครับ - มีหน้าจอบอกสถานะด่างๆมากมายครบถ้วนและค่อนข้างเที่ยงตรง ดีงามมากครับ .. ซื้อถ่าน sanyo ใส่แยกมาทีหลัง รวมความจุ 14,000 mAh  การชาร์จแบบ 2.5A ต่อไอแพดสบายๆ และ Quick Charge/ชาร์จเร็ว 12V/1.5A, 9V/2A, 5V/2A  เท่านี้เพียงพอต่อการใช้งานทุกอุปกรณ์แล้ว ยิ่งถ้าใครที่เป็นสาวกแอนดรอยด์คงถูกใจไม่น้อย



ลายวงจรแน่นเปรี๊ยะ .. ดีงามครับ มีค่าประสิทธิภาพ - efficiency อยู่ที่ 70% (ตามข้อมูลในยูทูปต่างประเทศที่ทดสอบจริง) สูญเสียไปกับความร้อน ความต้านทานภายใน และอื่นๆเพียง 30% .. ถือว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานไปพอสมควร กล่าวคือ ที่ความจุรวม 14,000 mAh จะมีความสามารถในการปล่อยไฟชาร์จเข้ามือถือจริงได้มากถึง 9,800 mAh (สูญเสียทิ้งไปเพียง 4,200 mAh)  ไม่ต้องตกใจครับ ถือเป็นเรื่องปกติของอุปกรณ์แปลงกระแสและแรงดันไฟฟ้า อย่าง power bank หรือพวกหม้อแปลงไฟฟ้าอยู่แล้วครับ เป็นไปตามหลักวิศวกรรมไฟฟ้าอย่างถูกต้อง

ยกตัวอย่างเช่น คุณมี power bank ความจุ 32,000 mAh .. แต่การปล่อยไฟจริงๆจะทำได้ที่ 32,000 - 30% = ประมาณ 22,400 mAh สูญเสียไป 9,600 mAh. นะครับ อย่าเข้าใจผิดว่า power bank ทุกตัวบนโลกนี้จะจ่ายไฟได้เต็มความจุที่แปะไว้บนอุปกรณ์  .. คุณคิดผิดแล้วนะ

ส่วนยี่ห้อดีๆอย่าง panasonic anker sony huawai samsung ravpower xiaomi aukey  ฯลฯ ในบางรุ่นอาจมีค่าประสิทธิภาพ - efficiency มากถึง 85 % กันเลยทีเดียว .. นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมราคาถึงแพงกว่าชาวบ้านเค้าพอสมควร

แกะให้ดูภายในกันชัดๆ .. ถือว่าทำได้ดีมากครับ


เมืองนอกเค้ามีการเปรียบเทียบเจ้า 2 ตัวนี้ ในรุ่นคร่าวๆไว้ ทั้งการแงะ แกะ เกา .. ลองดูได้ครับ
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ส่วนตัวผมเองแนะนำ SOSHINE รุ่น E3S-QC QC 3.0 (รุ่นที่ผมใช้เอง เป็นรุ่นใหม่ ดีงามครับ) พูดมาเยอะแล้ว .. เจ็บคอ เย้ยยยย
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ไม่ได้มาขายของแต่อย่างใดนะครับ เพียงแต่มาแนะนำจากประสบการณ์ การใช้งานมาหลากหลายยี่ห้อ ว่าผมมีความคิดเห็นยังไงเกี่ยวกับการใช้งาน power bank เจ้าปัญหาหลากหลายยี่ห้อที่เกลื่อนตลาดเหล่านี้ .. ส่วนท่านอื่นๆมีความเห็นยังไง เคยมีประสบการณ์แบบไหน เคยหงุดหงิดกันบ้างมั้ย ก็ลองมาร่วมกันแชร์ มาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ ขอบคุณครับ

ปล1. บางท่านอาจจะกังวลว่า แล้วมันจะนำขึ้นเครื่องบินได้รึป่าว ได้ครับ ขึ้นเครื่องบินได้สบายมากครับ ไม่มีปัญหาใดๆ แบบกล่องเปลี่ยนถ่านที่ผมใช้อยุ่ มันก็จะมีการบอกขนาดความจุกำกับไว้เช่นกัน ไม่เป็นปัญหาสำหรับการขึ้นเครื่องบินแต่อย่างใดครับสบายใจได้ครับ .. ผมนำขึ้นเครื่องมาหลายหนแล้วไม่เป็นปัญหาครับ 

สำคัญคือ การเลื่อนเปิดฝาแล้วเปลี่ยนถ่านที่เสียออกเอง เพราะมันจะเสียเพียงแค่ก้อนเดียว ที่เหลือยังสภาพดีอยู่ ..สกิลความยาก คือ 1 เต็ม 20 ทำเสร็จเองได้ง่ายๆแค่ 5 วินาทีครับ ง่ายกว่าการต้มมาม่าหรือทอดไข่ดาวซะอีก .. ไม่ต้องไปแงะ แกะ เชื่อมตะกั่วหรือนั่งประกอบแต่อย่างใดครับ


ปล2. บางท่านอาจคิดว่ารวมราคาแล้วทั้งเครื่องทั้งถ่านก็ตก 1,100-1,300 บาท ก็ซื้อของมียี่ห้อดีๆไปเลยไม่ดีกว่าเหรอ .. ปัญหาคือมันไม่จบทีเดียวนี่ไงละครับ เราเปลี่ยนถ่านเองได้ สะดวก ประหยัด คุ้มเงินในกระเป๋าที่สุด และอยู่กับเราไปอีกนานเผลอๆยันลูกบวช ถ้าไม่ทำหาย ตกพื้น ตกน้ำพังไปซะก่อน  

ประหยัดเงินในระยะยาวแน่นอน และเป็นการลดปริมาณมลพิษในการจัดเก็บและทำลายแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ ช่วยลดโลกร้อนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานเราในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง  .. สรุป เอาเป็นว่าใครชอบแบบไหน ก็เลือกหาใช้กันตามความสะดวกก็แล้วกันครับ  ไม่ต้องเชื่อผม !!
 
เพี้ยนแห้วอีก
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่