ศัลยแพทย์ผู้เสียสละแห่งชายแดนใต้ ได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ครั้งที่ 16 ประจำปีพุทธศักราช 2562


แพทย์หญิงนันทกา เทพาอมรเดช

ศัลยแพทย์ผู้เสียสละแห่งชายแดนใต้

ได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ครั้งที่ 16 ประจำปีพุทธศักราช 2562

ในฐานะบุคคลที่มุ่งมั่น เสียสละ และอุทิศตนทำงานเพื่อสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่


บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดงานประกาศผลและมอบรางวัล “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” ครั้งที่ 16 ประจำปีพุทธศักราช 2562 ณ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่คุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานบริษัท เพื่อเชิดชูบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นแบบอย่างของการทำงานสร้างสรรค์และอุทิศตนเพื่อสังคม อันก่อให้เกิดการพัฒนาชีวิตของคนในสังคมต่อไป โดยมีคุณเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธี
 
บุคคลที่ได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ครั้งที่ 16 ประจำปีพุทธศักราช 2562  ได้แก่ แพทย์หญิงนันทกา เทพาอมรเดช ผู้ที่ทำงานอยู่ในดินแดนอันมีโรคภัยร้ายรอบตัว ทั้งภัยจากเหตุการณ์ก่อการร้ายในพื้นที่ที่ไม่เคยสุขสงบเสียที  อุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีตัวเลขสูง  โรคของกระดูกสันหลัง  โรคเส้นเลือดสมองตีบ และแตก คนไข้เหล่านี้ล้วนแต่ต้องผ่าตัดดูแลรักษาทั้งสิ้น และโดยไม่เลือกว่าคนไข้นั้นจะเป็นใคร  อาชีพอะไร บางเคสหมอผ่าตัดข้ามวันข้ามคืน เดือนหนึ่งๆ มีเคสผ่าตัด 30-40 ราย หมอทำงานหนักอยู่ท่ามกลางความขาดแคลนบุคลากร  ขณะที่อุปกรณ์เครื่องมือผ่าตัด และเตียงคนไข้ในห้องไอซียู มีไม่มากพอ รวมทั้งไม่ทันสมัยเทียบเท่าโรงพยาบาลในส่วนกลางซึ่งถือเป็นความไม่เท่าเทียมในสังคมที่หมอต้องการจะแก้ไข บรรเทา
 
พญ.นันทกา เทพาอมรเดช ไม่เพียงถือหลักเอาใจเขามาใส่ใจเราในความหมายว่าความใส่ใจดูแลคนป่วยไข้มีความสำคัญสูงสุด  แต่ยังหมายถึงการใส่ใจต่อทุกข์สุขของเพื่อนร่วมงาน นับแต่แพทย์ผู้ช่วย พยาบาล  เวรเปล คนงาน ทุกคนสำคัญหมด ในแง่ที่ว่าทำงานกันเป็นทีม และทำงานกันอย่างเต็มที่  เต็มความสามารถ  และสม่ำเสมอ ตลอดถึงทำงานอย่างผู้ศึกษาเรียนรู้ เข้าถึงมิติความแตกต่างทางภาษา ศาสนา และวิถีวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น จนหมอนันทกาเป็นที่เคารพรักศรัทธาของชาวบ้าน และแม้เมื่อเปิดคลินิกส่วนตัว ก็มุ่งหมายเพื่อต้องการช่วยคนไข้ให้มีโอกาสพบแพทย์ได้อีกทาง  โดยไม่ได้มุ่งเน้น หรือแสวงหากำไรจากความป่วยไข้ของคนที่ด้อยโอกาสกว่า


พญ.นันทกา เทพาอมรเดช  มีหลักในการทำงานว่า “ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ให้สมมุติว่าหมอเป็นคนป่วยเสียเอง  แล้วต้องการให้หมอรักษาเราแบบไหน  หมอก็ควรรักษาดูแลคนป่วยแบบนั้นโดยเฉพาะเคสผ่าตัด หมอนันทกา  ได้เคยบอกไว้ว่า 

“ถ้าหมอไม่ตื่นมาผ่าตัด ไม่ลุกมาช่วยทันที ผู้ป่วยอาจตาย หรือพิการได้โดยที่หมอไม่ตั้งใจ  เพราะหมอรู้ว่าความรวดเร็วในการตัดสินใจผ่าตัดสมองอย่างทันการณ์ มีผลมากกับการรอดชีวิต และคุณภาพชีวิตของคนไข้ เช่นคนไข้อุบัติเหตุ เลือดออกในสมอง  หากผ่าตัดได้ในครึ่งชั่วโมงแรก  มีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตทำงานตามปกติได้  แต่ถ้าเลย 1-2   ชั่วโมง คนไข้อาจพิการ หรือถ้าช้าไป 3 ชั่วโมง คนไข้ก็อาจเสียชีวิต  ทั้งที่เป็นโรคเดียวกัน”
 
พ.ญ.นันทกา เทพาอมรเดช ศัลยแพทย์หญิงรุ่นใหม่  ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ  เสียสละตนทำงานอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตราย  แต่ยังค้นพบศักยภาพการทำงานที่ตนทำแล้วมีความสุข ความสุขอันเกิดจากการที่ได้ช่วยเพื่อนมนุษย์ ช่วยคนป่วยให้อยู่รอดปลอดภัยไม่พิการ  แล้วรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า  มีความหมายต่อคนอื่น  หรือมีบทบาทหน้าที่ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อวัฒนธรรมการเรียนรู้ ทั้งต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้คน อันเป็นแบบอย่างของการทำงานสร้างสรรค์  คณะกรรมการตัดสินได้ร่วมกันพิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ แพทย์หญิงนันทกา เทพาอมรเดช เป็นผู้ได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ประจำปีพุทธศักราช 2562

พญ.นันทกา เทพาอมรเดช


@@@@@@@@@@




 

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์


ตลอดชีวิตการทำงานของคุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ความสำเร็จและความยอมรับนับถือที่ได้มานั้นมิได้เกิดจากความเก่งด้านการบริหารและการมองเห็นช่องทางหรือโอกาสทางธุรกิจถ่ายเดียว แต่รวมถึงต้นทุนอันสำคัญที่อยู่ในตัวเขา นั่นคือความรักและความใฝ่รู้ ความรักเป็นแรงผลักดันให้เขากล้าคิด กล้าผลิต และกล้าลงทุนพิมพ์หนังสือดีๆฉันใด ความใฝ่รู้ก็ทำให้เขาต้องพัฒนาตน พัฒนางาน และพัฒนาปัญญาให้เจริญรุดหน้าฉันนั้น
            
“และถ้าวันนี้ดีแล้ว พรุ่งนี้ต้องให้ดียิ่งๆขึ้นไปอีก” โดยนัยนี้ การทำหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่าของเขาจึงไม่ต่างอะไรกับเกษตรกรผู้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรักลงบนแผ่นดินกระดาษ เพื่อให้งอกงามในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่ได้อ่าน
            
การที่คุณชูเกียรติ ในนามบริษัทเครืออมรินทร์ ได้รับรางวัล Tokyo Creation Award ในสาขาเอเชียนอะวอร์ดจากสมาคมโตเกียวแฟชั่นแห่งประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2533 ในฐานะที่เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนากิจการการพิมพ์และสิ่งพิมพ์ดีเด่น ซึ่งมีผลอย่างมากต่อชีวิตวัฒนธรรมของสังคมไทย รวมทั้งเป็นผู้อุทิศตนเพื่อความก้าวหน้าในการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ในระดับสูงสุดของประเทศไทย ย่อมเป็นหลักฐานพยานในเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว
            
รางวัล “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2547 เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่คุณชูเกียรติ ด้วยการเชิดชูหนังสือดีชนิดที่เป็นแบบอย่างของการทำงานสร้างสรรค์ โดยมุ่งหวังส่งเสริมหนังสือนั้นให้แพร่หลายไปในวงกว้าง ทั้งกระตุ้นให้นักเขียน สำนักพิมพ์ และหน่วยงานต่างๆเห็นความสำคัญของการจัดพิมพ์หนังสือดีเพิ่มขึ้น
            
ในปีต่อมาได้แบ่งการพิจารณาหนังสือดีออกเป็น 6 สาขา คือ สาขาความรู้ทั่วไป สาขาศาสนาและปรัชญา สาขาประวัติศาสตร์และโบราณคดี สาขาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และสาขาศิลปะและวรรณกรรม


คุณเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการ บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง กล่าวสุนทรกถา เปิดงานประกาศผลและมอบรางวัล "ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์" ครั้งที่ 16 ประจำปี 2562
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

หนังสือที่ได้รับรางวัลในปีที่ผ่านมา

ปี 2547
ได้แก่ อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

ปี 2548
สาขาศาสนาและปรัชญา ได้แก่ พุทธศาสนาไทยในอนาคต: แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต โดย พระไพศาล วิสาโล
สาขาความรู้ทั่วไป ได้แก่ ชุด ความรู้บูรณาการและถอดรื้อความคิดตะวันตกนิยม โดย ธีรยุทธ บุญมี

ปี 2549
สาขาประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้แก่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น โดย มาลินี คุ้มสุภา
สาขาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ได้แก่ เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ: บทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

ปี 2550
สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้แก่ โลกของคนไร้บ้าน โดย บุญเลิศ วิเศษปรีชา
สาขาศิลปะและวรรณกรรม ได้แก่ การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม: สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม โดย ชาตรี ประกิตนนทการ
 
            
สำหรับปี 2551 เพื่อให้รางวัลมีบทบาทที่ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงได้เปลี่ยนรูปแบบของรางวัลจากเดิมที่ให้แก่หนังสือดี มาเป็นให้แก่บุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นแบบอย่างของการทำงานสร้างสรรค์ ซึ่งประกอบด้วยคุณลักษณะดังนี้
            
1. ทำงานสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาชีวิตและสังคมในวงกว้าง
          
2.อุทิศตนเพื่อความก้าวหน้าในวงงานของตนอย่างต่อเนื่อง
          
3. มีบทบาทที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อวัฒนธรรมการเรียนรู้ รวมทั้งต่อสังคมและคุณภาพ ชีวิตของผู้คน
          
4. มีผลงานอันทรงคุณค่าเป็นที่ยอมรับและเป็นที่ประจักษ์แก่สังคม
            
ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า มรดกทางความคิดที่คุณชูเกียรติฝากไว้นั้นยังไม่ตาย และเป็นแนวทางที่ประชาคมอมรินทร์จะสืบทอดต่อไป ให้สมกับอาชีวปฏิญาณที่ว่า “เราทำงานเพื่อความสุขและความรุ่งโรจน์ของสังคม”

บุคคลที่ได้รับรางวัลในปีที่ผ่านมา

ปี 2551            จุลทัศน์ พยาฆรานนท์

ปี 2552            นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร

ปี 2553             ดร.สาทิส อินทรกำแหง

ปี 2554             รตยา จันทรเทียร

ปี 2555             เดชา  ศิริภัทร

ปี 2556           พระอุดมประชาทร (อลงกต ติกฺขปญฺโญ)

ปี 2557           เอนก นาวิกมูล              

ปี 2558           ศ.สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์

ปี 2559           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ปี 2560             ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร

ปี 2561             นายมกุฏ อรฤดี

ปี 2562             แพทย์หญิงนันทกา เทพาอมรเดช




พาพันรดน้ำต้นไม้พาพันเคลิ้มพาพันรักสัตว์
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่