เทคโนโลยี สุดล้ำในอนาคต 2020

การหลอมรวมกันระหว่างเทคโนโลยียานยนต์กับเทคโนโลยีดิจิทอล และการสื่อสารความเร็วสูง กำลังพัฒนาไปอย่างน่าทึ่ง เราได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ในทุกๆ ไตรมาส อะไรที่ใหม่ในปีนี้ จะล้าสมัยลงอย่างรวดเร็วในปีถัดไป เพราะเรากำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของอีกยุคสมัยแล้วนั่นเอง นั่นคือ ยุคแห่ง การเข้าควบคุมด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI: ARTIFICIAL INTELLIGENCE) ซึ่งในอนาคตจะไม่จำกัดอยู่แค่เพียงการสั่งงานตอบโต้ด้วยเสียง หรือการบอกเส้นทางด้วยดาวเทียม แต่จะนำพาเราไปสู่โลกแห่งการขับขี่ที่ปลอดภัย ทั้งเราและเพื่อนร่วมทางมากขึ้นเรื่อยๆ 
ผู้เขียนได้รวบรวมเทคโนโลยีสุดล้ำ ที่มีแนวโน้มจะเข้ามาสู่การใช้งานกับยานยนต์ภายในปี 2020 นี้ แม้บางส่วนอาจจะยังสงวนไว้สำหรับรถยนต์ระดับหรูหรา 

ยานยนต์ไร้คนขับ (AUTONOMOUS VEHICLE)


รถยนต์ที่สามารถตัดสินใจเองได้ อาทิ วิ่งไปหาที่จอดรถด้วยตนเอง หรือวิ่งด้วยตนเองบนทางหลวง แต่ก็เชื่อว่ายุคแห่งยานยนต์ไร้คนขับเต็มรูปแบบคงยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน โดยระบบยานยนต์ไร้คนขับนี้แบ่งออกเป็น 4 ระดับด้วยกัน ได้แก่ 

ระดับ 1 การทำงานอัตโนมัติในบางหน้าที่ (FUNCTION SPECIFIC AUTOMATION) อาทิ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ ระบบช่วยถอยจอดอัตโนมัติ ระบบควบคุมการรักษาช่องทางวิ่ง ในระบบนี้ผู้ขับขี่ต้องรับผิดชอบในการควบคุมยานพาหนะตลอดเวลา เช่น มือต้องจับพวงมาลัย หรือเท้าอยู่บนคันเร่ง ระบบนี้มีใช้กันบ้างแล้วในปัจจุบัน เช่น ระบบช่วยจอดขนานอัตโนมัติของรถยนต์ ฟอร์ด และ โวลโว 

ระดับ 2 ผสานการทำงานอัตโนมัติหลายหน้าที่เข้าด้วยกัน (COMBINED FUNCTION AUTOMATION) อาทิ ประสานระบบควบคุมความเร็วแบบแปรผัน (ADAPTIVE CRUISE CONTROL) เข้ากับระบบควบคุมช่องทางวิ่ง (LANE KEEPING CONTROL) ในระดับนี้ ผู้ขับขี่ต้องรับผิดชอบในการตรวจตราการทำงาน และสภาพการจราจรตลอดเวลา แต่ในบางสถานการณ์อาจต้องปิดการทำงานอัตโนมัติ และเข้าควบคุมด้วยตนเองได้อย่างฉับพลัน อาทิ ระบบรักษาช่องการวิ่งอัตโนมัติ ที่รถยนต์จะทำการรักษาเลนวิ่งและแก้มุมพวงมาลัยให้อัตโนมัติ รวมถึงการเร่ง และเบรคได้ด้วยตัวเอง 

ระดับ 3 ระบบขับอัตโนมัติบางส่วน (LIMITED SELF-DRIVING AUTOMATION) ในระบบนี้ผู้ขับขี่สามารถปล่อยให้การตัดสินใจเป็นหน้าที่ของยานพาหนะได้ แต่ในบางกรณีก็สามารถเข้ามาควบคุมได้ด้วยตนเอง โดยผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบเส้นทางตลอดเวลา ดังจะเห็นได้จากการทดลองในรถต้นแบบ เมร์เซเดส-เบนซ์ เอฟ 015 รวมไปถึงรถบรรทุกรุ่น ฟิวเจอร์ ทรัค 2025 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ขับขี่สามารถปล่อยให้ยานพาหนะวิ่งบนทางหลวงได้ด้วยตนเอง โดยผู้ขับขี่สามารถควบคุมได้เมื่อจำเป็น 

ระดับ 4 ระบบขับอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (FULL SELF-DRIVING AUTOMATION) หน้าที่การขับขี่ทั้งหมดเป็นความรับผิดชอบของยานพาหนะตลอดการเดินทาง ดังนั้นจึงสามารถใช้งานได้ แม้ผู้โดยสารขับรถไม่เป็น เช่น เด็ก คนชรา หรือแม้กระทั่งผู้โดยสารที่ไม่ใช่มนุษย์ ดังจะเห็นได้จากระบบขนส่งอัตโนมัติ อัลทรา พีอาร์ที ที่ใช้ในสนามบินฮีโธร์ว ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นรถขนาดเล็กไม่มีพวงมาลัย ใช้วิ่งเชื่อมต่อระหว่างเทอร์มินอลในสนามบิน ผู้โดยสารไม่ต้องทำอะไรเลยตลอดเส้นทาง 

แม้เราจะยังไม่อาจสัมผัสการวิ่งไร้คนขับเต็มรูปแบบได้ในเร็ววันนี้ แต่มันจะค่อยๆ เข้ามามีบทบาทในการลดความล้าในการเดินทาง หรือลดความจำเป็นในการขับขี่ในสถานการณ์ที่ซ้ำซากจำเจ อาทิ การหาที่จอดรถ ให้เราได้ในเร็ววันอย่างแน่นอน 

ระบบควบคุมรถแทนผู้ขับขี่ (DRIVER OVERRIDE SYSTEMS)


ระบบนี้แม้จะดูคล้ายกับระบบยานยนต์ไร้คนขับ แต่มันจะไม่ทำงานจนกว่าเซนเซอร์ตรวจพบว่า ผู้ขับขี่กำลังตัดสินผิดพลาด และมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุ ระบบจะสั่งงานหักล้างกับคำสั่งของผู้ขับขี่ทันที อาทิ ผู้ขับจงใจ “คามิคาเซ” เข้าหารถยนต์อีกคันหนึ่งด้วยการกดคันเร่งมิด เซนเซอร์ป้องกันการชนตรวจจับเป้าหมายด้านหน้าจะส่งข้อมูลไปสั่งงานระบบเบรคให้ทำงานทันที และตัดการทำงานจากคันเร่ง แม้ว่าจะกดเท่าใดก็ไม่สามารถเร่งเครื่องได้ ต้องขอบคุณระบบสั่งงานด้วยไฟฟ้า (DRIVE BY WIRE) ที่ทำให้การทำงานแบบนี้เกิดขึ้นได้ 

การใช้ข้อมูลชีวภาพแทนกุญแจ (BIOMETRIC VEHICLE ACCESS) 


ระบบนี้จะทำให้การพกกุญแจรถเป็นเรื่องล้าสมัย เพราะเพียงคุณแตะมือจับประตู รถก็จะรู้ทันทีว่าคุณเป็นเจ้าของรถผ่านทางลายนิ้วมือ ถ้าหากคุณใช้รถร่วมกับผู้อื่น มันก็สามารถที่จะปรับเบาะที่นั่ง กระจกมองหลัง มุมพวงมาลัย ให้เข้ากับผู้ขับขี่แต่ละคนได้ทันที ส่วนรีโมทนั้นในอนาคตอาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบโทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้ในหน้าที่ที่มากกว่าเดิม อาทิ ส่งรถไปหาที่จอด และเรียกรถกลับมารับ 

ระบบแกะรอยการวิ่งของรถ (COMPREHENSIVE VEHICLE TRACKING) 


ระบบนี้จะนำเอาข้อมูลรูปแบบการขับขี่ของเราที่เก็บไว้ในหน่วยความจำของรถ อาทิ ความเร็วที่ใช้, แรงจี และระยะทางที่ขับขี่ในแต่ละวัน มาใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อประเมินราคาในการต่อประกันภัยรถยนต์ คราวนี้แม้จะใช้รถยนต์รุ่นเดียวกัน แต่ใครขับดี ขับแย่ ราคาประกันก็จะไม่เท่ากัน เพราะความเสี่ยงต่างกันนั่นเอง ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ขับดีก็จ่ายน้อย 

ระบบออกเมนเทด เรียลิที (AUGMENTED REALITY) 


 
(Cr.ภาพ https://chobrod.com/)
หรือกระจกหน้าแบบแอคทีฟ (ACTIVE WINDESCREEN DISPLAY) เรียกง่ายๆ ว่า เออาร์ คุณอาจจะเคยเห็นระบบนี้อยู่บ้างในสมาร์ทโฟน ที่จอภาพจะแสดงภาพเสมือน ซ้อนทับไปกับภาพจริงที่ถ่ายออกมาจากกล้อง โดยระบบที่จะเข้ามาทำงานในรถยนต์ มีหลากหลายแนวคิด อาทิ ระบบนำทาง โดยใช้กระจกหน้าทั้งบาน ชี้เส้นทางซ้อนทับไปกับวิวที่ตามองเห็น หรือในกรณีที่ แจกวาร์ ได้ทดลองทำขึ้นมา คือ การจำลองภาพของคู่แข่งเสมือนโหมดการทำงานที่เรียกว่า แข่งกับรถผี หรือ แฟนทอม เรศ เพื่อให้เราสามารถวิ่งแข่งกับรถในจินตนาการอีกคันหนึ่งได้บนถนน และในแนวคิดของ แลนด์ โรเวอร์ คือ การฉายภาพของพื้นใต้ท้องรถลงทับแนวของฝากระโปรง (แต่ทำบนกระจกหน้า) เพื่อสร้างภาพราวกับว่าฝากระโปรงนั้นล่องหน เพื่อให้ผู้ขับมีความมั่นใจมากขึ้นในการลุยพื้นที่ทุรกันดาร 

ระบบตัดการทำงานเครื่องยนต์จากระยะไกล (REMOTE VEHICLE SHUTDOWN) 


ระบบนี้ปัจจุบันเริ่มใช้งานแล้วกับรถของค่าย จีเอม ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยรถจะถูกที่ติดตั้งระบบ ออนสตาร์ ทำให้ศูนย์ควบคุมสามารถรู้ว่ารถอยู่ที่ใด และสั่งดับเครื่องยนต์จากระยะไกลได้ ไม่ต่างจากที่สั่งระงับการใช้งานโทรศัพท์หากเกิดการโจรกรรม ต่อไปนี้คดีโจรกรรมรถยนต์ และการไล่ล่าด้วยความเร็วสูงของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะกลายเป็นอดีต 

ระบบตรวจสอบสุขภาพผู้ขับขี่ (ACTIVE HEALTH MONITORING SYSTEM) 


ระบบนี้ริเริ่มโดย ฟอร์ด ในการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบข้อมูลชีวภาพของร่างกาย โดยติดตั้งไว้กับสายเข็มขัดนิรภัย และบนพวงมาลัย ตรวจสอบการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิ และจังหวะการหายใจ หากระบบตรวจสอบพบการทำงานที่ผิดปกติเฉียบพลัน อาทิ หัวใจวาย ก็จะสามารถพารถเข้าข้างทาง (หากทำงานร่วมกับระบบขับขี่ไร้คนขับ ก็จะพาไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด) พร้อมเรียกหน่วยกู้ชีพที่ใกล้ที่สุดทันที ระบบนี้นับว่าน่าจะชนะใจผู้ขับขี่สูงวัย และหากสามารถวัดปริมาณแอลกอฮอลในเลือดได้ก่อนจะสตาร์ทรถ ก็น่าจะทำให้อุบัติเหตุบนท้องถนนลดลงอย่างชัดเจน 

ซูเพอร์คาร์ 4 สูบ 


ยุคสมัยของการลดความจุ และการพัฒนาตัวถังน้ำหนักเบา ทำให้รถยนต์นั่งจะใช้เครื่องยนต์ความจุน้อยลงเรื่อยๆ เครื่องยนต์ 3 สูบจะได้รับความนิยมมากขึ้นในรถยนต์คอมแพคท์ ในขณะที่รถยนต์ขนาดใหญ่แต่ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ พ่วงเทอร์โบ กลายเป็นสิ่งสามัญมากขึ้น ดังจะเห็นได้จาก บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 5 ที่ขายในบ้านเราในปัจจุบันนั้นเป็นเครื่อง 4 สูบ ไปเกือบหมดแล้ว 

แต่สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นตอนนี้ แต่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต คือ ซูเพอร์คาร์ที่ทำความเร็วระดับ 300 กม./ชม. โดยใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ ซึ่งดูแล้วอาจจะเหลือเชื่อ แต่ว่าเป็นไปได้เพราะรถไฮบริดอย่าง บีเอมดับเบิลยู ไอ 8 นั้นใช้เครื่องยนต์ 3 สูบ 1.5 ลิตร แต่ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 250 กม./ชม. 

การสื่อสารการตลาดส่งตรงถึงในรถ (SMART/PERSONALIZED IN CAR MARKETING)


ในยุคที่การเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบสื่อสารความเร็วสูงกลายเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ ประสานเข้ากับรูปแบบการจัดการของสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ปรับให้สอดคล้องกับตัวคุณ ดังที่เห็นจากการทำงานของเฟศบุค และกูเกิล ที่เลือกจะนำเสนอข่าวสารและโฆษณาที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล

ระบบเหล่านี้จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในยุคที่รถทุกคันมีจอภาพเพื่อแสดงข้อมูล (นับวันจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจุบัน 6-7 นิ้ว จะกลายเป็นขนาดของ ไอแพด ในเวลาอันใกล้) โดยข้อมูลนั้นจะแสดงให้เห็นกิจกรรมรอบๆ เส้นทางการเดินทางที่สอดคล้องกับรสนิยมของคุณ (LOCATION BASED-ADVERTISING) อาทิ หากขับผ่านห้างสรรพสินค้าก็จะมีข้อมูลว่าขณะนั้นทางห้างจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือมีกิจกรรมใดๆ เกิดขึ้น 

พลังงานไฟฟ้ากับรถคลาสสิค (CLASSIC CAR ELECTRIC MOTOR CONVERSION) 


เป็นกระแสที่เริ่มมีคนให้ความสนใจในยุโรป ที่มีการคุมเข้มเรื่องมลภาวะ เป็นที่รู้กันว่าบรรดารถคลาสสิคนั้น เรื่องการควบคุมมลพิษไม่ใช่จุดแข็ง แต่จุดแข็งนั้นอยู่ที่รูปทรงที่งดงาม เลยมีกระแสการดัดแปลงเอาเครื่องยนต์เก่าไร้ประสิทธิภาพออก แล้วแทนที่ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่เงียบและทรงพลังเข้าไปแทน อาจจะมีคนแย้งว่ามันจะขาดรสชาติ แต่เชื่อเถอะว่าหากได้ลองรถพลังงานไฟฟ้าดีๆ ดูสักครั้ง จะเข้าใจว่าแรงบิดมหาศาลที่มีให้ใช้ทันทีแบบไม่ต้องรอนั้นยอดเยี่ยมเพียงใด หากเทียบกับเครื่องยนต์ดั้งเดิมที่จุกจิกและไม่มีเรี่ยวแรง แถมยังปล่อยมลภาวะมากมายอีกต่างหาก อาจจะถึงเวลาที่เราน่าจะเอารถคลาสสิคมาทำให้ใช้งานได้ดีอีกครั้ง ด้วยหัวใจใหม่ไฮเทคน่าจะดีไม่น้อย ตัวอย่างที่เห็นได้เช่น มัสแตง รุ่นทศวรรษที่ 60 ที่ใช้ชื่อว่า ซอมบี 222 ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว เข้าไป ให้กำลัง 750 แรงม้า ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใช้เวลาเพียง 3.5 วินาที เท่านั้น รู้แล้วสินะว่าไม่ใช่เล่นๆ 

ขอบคุณที่มาข้อมูล
Cr.https://www.motorexpo.co.th/lifestyle/1197
Cr.ภาพ https://www.autoinfo.co.th/article/182613/ /
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่