[CR] รีวิว...โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ แหล่งความรู้ล้ำค่าที่พ่อสร้างไว้


       สวัสดีครับ วันนี้จะพาไปเที่ยวหนึ่งในโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นคือโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอท่ายางจังหวัดเพชรบุรี
   
       กระทู้นี้รวดเดียวจบและไม่มีเป็นคลิปวิดีโอนะครับเพราะผมไม่แน่ใจในการถ่ายและเผยแพร่วิดีโอว่าจะต้องมีระเบียบหรือข้อกำหนดใดหรือไม่
จึงไม่ถ่ายวิดีโอมา เก็บมาเพียงภาพถ่ายและความประทับใจเท่านั้น

            ดูข้อมูลเก่าๆพบว่าเมื่อก่อนจะมีค่าบริการในการเข้าเยี่ยมชมน่าจะประมาณ 20 บาทแต่ตอนนี้ไม่เสียแล้วครับ สามารถเข้าชมได้ฟรีเลย
หลังจากจอดรถเรียบร้อยก็มาติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อลงทะเบียน โดยการเยี่ยมชมโครงการจะกำหนดเป็นรอบๆ ขั้นตอนในการเยี่ยมชมโครงการมีดังนี้

1. ลงทะเบียนเพื่อจองรอบการเยี่ยมชม เมื่อได้เวลาเจ้าหน้าที่จะประกาศเรียก
2. ชมวิดีโอประวัติของโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ
3. นั่งรถชมโครงการโดยรอบและมีเจ้าหน้าที่คอยบรรยายให้ความรู้ตลอดการชม
4. เที่ยวชมได้อย่างอิสระ ทั้งการยืมจักรยานปั่นชม หรือเดินชมก็ตามสะดวก

และมีข้อควรปฎิบัติและข้อกำหนดในการเข้าชมดังนี้
1. ห้ามถ่ายภาพหรือวิดีโอติดเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานภายในโครงการโดยเด็ดขาด อันนี้เป็นข้อห้ามและเข้มงวดนะครับ
2. ไม่ควรนำอาหารและเครื่องดื่มเข้าไปในช่วงชมวิดีโอและการนั่งรถชมโครงการ
3. รักษากิริยาและให้เกียรติสถานที่ด้วยนะครับ



          ด้านหน้าของโครงการหลังจากลงทะเบียนเสร็จจะเป็นห้องให้ความรู้เรื่องดิน ไม่ว่าจะเป็นประเภทของดินและลักษณะของดินในจังหวัด
ต่างๆ และมีพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้อ่าน


          รอสักสิบนาทีเจ้าหน้าที่ก็แจ้งให้ไปชมวิดีโอข้อมูลและประวัติของโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ โดยประวัติของโครงการชั่งหัวมัน
ตามพระราชดำริมีดังนี้

          โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ เป็นโครงการที่ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างในการพัฒนาพื้นที่เกษตรให้ประสบความ
สำเร็จและสามารถเลี้ยงดูตนเองได้อย่างยั่งยืน พื้นที่เดิมของโครงการเป็นพื้นที่แห้งแล้งเสื่อมโทรม  พระบาทสมเด็จพระพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินจำนวน 250 ไร่จากชาวบ้าน 

           ส่วนชื่อ "ชั่งหัวมัน" มาจาก ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประทับอยู่ที่วังไกลกังวล ทรงมีพระราชประสงค์ให้
นำมันเทศที่ชาวบ้านนำมาถวายวางไว้บนตาชั่งแบบโบราณบนโต๊ะทรงงาน แล้วพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ เวลาผ่านไปเมื่อเสด็จกลับ
มาที่วังไกลกังวลอีกครั้งพบว่า มันเทศที่วางไว้บนตาชั่งได้แตกใบออก จึงตรัสว่า "มันอยุ่ที่ไหนก็งอกได้" และทรงพระราชทานพันธ์ุมันเทศมาปลูกตรงที่
ดินนี้ และพระราชทานชื่อโครงการว่า "โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ"



           หลังจากชมวิดีโอเสร็จก็ขึ้นรถเพื่อชมโครงการโดยรอบ จากที่เห็นผมแทบไม่เชื่อว่าที่นี่เคยเป็นที่ดินแห้งแล้งเสื่อมโทรมมาก่อน ในพื้นที่
แบ่งไว้หลายแปลงเพื่อปลูกพืชชนิดต่างๆ และขุดบ่อน้ำไว้โดยเจ้าหน้าที่เล่าว่าเดินท่อสูบน้ำมาจากหลังเขาซึ่งห่างไปอีกหลายกิโลและใช้
เพื่อการชลประทานในพื้นที่

            อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือการใช้พลังงานไฟฟ้า โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริมีกังหันลมผลิตไฟฟ้าจำนวน 20ชุด ผลิตไฟได้
50 กิโลวัตต์ นอกจากจะใช้ในโครงการแล้วยังจำหน่ายไฟใฟ้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคด้วย


           ผ่านคอกวัวซึ่งมีแต่เพศเมีย แต่เจ้าหน้าที่บอกว่ามีวัวเพศผู้อยู่ตัวเดียว ซึ่งในวิดีโอที่ได้ดูตอนต้นจะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานอาหารลูกวัวอยู่ตัวหนึ่ง และพระราชทานนามว่า "คุณตุ่ม" เจ้าหน้าที่บอกว่าวัวเพศเมียมักจะพังคอกเพื่อ
เข้าหาคุณตุ่มบ่อยๆ แต่ไม่ต้องห่วงเพราะคุณตุ่มทำหมันเรียบร้อยแล้ว

            หลังจากนั่งรถชมโครงการโดยทั่วแล้ว ก็ยืมจักรยานมาปั่นชมโครงการแบบใกล้ชิดอีกรอบ วิธีการยืมก็ง่ายๆครับบัตรประชาชนวางไว้
ที่โต๊ะแล้วนำจักรยานไปได้เลย ถ้ามีเป็นกลุ่มก็ใช้บัตรประชาชนใบเดียวได้   จักรยานเลือกดีๆนะครับ บางคันปั่นไหลลื่นแบบไม่ค่อยจะยอม
เบรคสักเท่าใหร่

         ผ่านไปชมสวนยาง ซึ่งวิธีการเอาน้ำยางจากต้นยางใช้วิธีการเจาะ ซึ่งผมไม่เคยเห็นมาก่อนโดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่า วิธีนี้
ต้นยางจะช้ำน้อยกว่าการกรีด ส่วนภาชนะรับน้ำยางก็ใช้ขวดน้ำใช้แล้วนี่แหละ สายรัดก็ใช้ยางยืดจากชุดชั้นในที่เป็นเศษจากการผลิตที่ได้
รับมาจากโรงงานผลิตชุดชั้นใน


        ผ่านไปชมโรงเรือนแลี้ยงไส้เดือน เห็นบ่ออยู่ข้างในกะว่าเข้าไปคงเห็นไส้เดือนหยุบหยับ แต่ไม่เจอสักตัว เจอแต่กองดินแหงล่ะ ไส้เดือน
ต้องอยู่ในดิน ว่าแล้วจึงจ้วงลงไปในดินเพื่อเอาไส้เดือนมาดู...ล้อเล่นน่ะครับ ไม่กล้าจ้วงหรอก

          ผ่านโรงผลิตนม ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับนมจิตรลดา โดยในขณะนี้จะใช้ชื่อผลิตภัณฑ์นมเป็นโครงการชั่งหัวมันอยู่ แต่ในอนาคตจะใช้
ชื่อจิตรลดา และจะสร้างโรงผลิตนมอัดเม็ดที่นี่ด้วย


          ไปชมหน่วยผลิตน้ำมันทดแทนกันหน่อย ที่นี่จะให้ความรู้เรื่องการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล โดยศึกษาการผลิตน้ำมันจากพืชชนิดต่างๆ
ด้านหน้ามีรถและปั้มน้ำมันให้ถ่ายรูปกัน



        แปลงนาสาธิตการเลี้ยงปลาในนาข้าว แสดงถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ของเกษตรกร ส่วนภาพล่างเป็น
แปลงปลูกชมพู่เพชร ชมพู่ขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบุรี นั่งร้านไม้นอกจากพยุงให้ต้นไม่ล้มแล้วยังเป็นที่ปีนเพื่อเก็บผลได้ด้วย และมุมนี้สวยมาก
เป็นมุมถ่ายรูปได้อย่างดีเลย


         จุดที่ควรไปชมอย่างยิ่งคือเรือนทรงงานของพระบาทสมเด็จพระพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งสร้างแบบเรียบง่ายเป็นเรือน 2 ชั้น
เท่าที่เห็นคือใช้เป็นโครงเหล็กและใช้ไม้ฝาเชอร่าเป็นผนัง ใช้เวลาสร้างประมาณ 1 เดือน ชั้นล่างมีลิฟท์สำหรับยกรถเข็น เจ้าหน้าที่บอกว่าเนื่องจาก
พระบาทสมเด็จพระพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงอายุมากและเสด็จพระราชดำเนินขึ้นบันไดไม่ไหว ชั้นล่างยังเป็นที่จอดรถของรถทรง
งานอีกคันหนึ่งซึ่งปัจจุบันก็ยังใช้งานได้


          หลังจากเที่ยวจนรอบและคืนจักรยานเรียบร้อยก็มาซื้อของฝากได้ที่ร้าน Golden Place ด้านหน้าของโครงการไม่มีรูปนะครับ นอกร้าน
เจ้าหน้าที่อยู่เยอะ ในร้านห้ามถ่ายรูป แต่ของที่จำหน่ายจะเป็นของที่ปลูกได้จากในโครงการและของอื่นๆอีก ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าผักที่ปลูกใน
โครงการปลอดสารพิษแน่นอน
          ผมใช้เวลาอยู่ที่โครงการประมาณ 2 ชั่วโมงเศษๆ นับว่าคุ้มค่าคุ้มเวลามาก นอกจากสถานที่สวยๆ อากาศดีๆแล้ว ยังได้ความรู้อีกมาก
ในเรื่องเกษตรกรรม เช่น ผมเพิ่งรู้ว่ามะนาว มะกรูด ส้มโอจะเอากิ่งมาต่อกันแล้วโตด้วยกันได้...โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ เหมาะกับ
คนไทยทุกเพศ ทุกวัย มาศึกษาและเรียนรู้ในสิ่งที่พ่อสอน หากมาเพชรบุรี ลองใส่โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริไว้ในแผนเที่ยว ผมว่า
ไม่เสียเวลาเปล่าแน่นอน...สวัสดีครับ
ชื่อสินค้า:   โครงการชั่งหัวมัน
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่