4 ข้อควรรู้ของสิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง 30 บาท)

เพื่อนๆ เคยสงสัยกันไหมครับว่าสิทธิประกันสุขภาพที่เรามีอยู่นั้น มีประโยชน์อะไร วันนี้ทาง K-Expert มีความรู้ดีๆ มาฝากกันครับ
 
ปัจจุบันประเทศไทยมีประกันสุขภาพภาครัฐ 5 ประเภท 
1.      สวัสดิการของข้าราชการ จะเป็นการคุ้มครองให้กับผู้ที่เป็นข้าราชการ และบุคคลในครอบครัว เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็สามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลของรัฐได้เลย
2.      สิทธิประกันสังคม จะให้ความคุ้มครองผู้ประกันตน โดยสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลที่เลือกลงทะเบียนไว้
3.      สิทธิหลักประกันสุขภาพ คุ้มครองคนไทย ที่ไม่ได้รับสวัสดิการข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคม โดยจะมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่บริหารจัดดูแลผู้ใช้สิทธิครับ
4.      สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น โดยมีกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ดูแล เมื่อข้าราชการท้องถิ่น และครอบครัวเจ็บป่วยสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลรัฐ
5.      สิทธิหน่วยงานรัฐอื่นๆ คุ้มครองบริการรักษาพยาบาลให้กับพนักงานหน่วยงานรัฐต่างๆ เช่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานรัฐที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ. เฉพาะ และอาจคุ้มครองถึงบุคคลในครอบครัวด้วยทั้งนี้ขึ้นกับระเบียบของแต่ละหน่วยงาน
 
แต่วันนี้จะมาลงรายละเอียด หลักประกันสุขภาพกันนะครับ โดยมี 4 ข้อควรรู้ของสิทธิหลักประกันสุขภาพ ซึ่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ระบุให้คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุข โดยให้มี “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อให้คนไทยได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึง ซึ่งมีดังนี้ครับ
 
1.      บุคคลที่ได้รับสิทธิ ก็คือผู้ที่ไม่ได้รับสวัสดิการข้าราชการและไม่มีสิทธิประกันสังคม  เช่น
-          บุตรข้าราชการที่บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีขึ้นไป หรือสมรสแล้ว)
-          บุตรข้าราชการคนที่ 4 ขึ้นไป (สิทธิข้าราชการคุ้มครองบุตรเพียง 3 คน)
-          ผู้ประกันตนที่ขาดการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (หมดสิทธิประกันสังคม)
-          ข้าราชการที่เกษียณอายุหรือออกจากราชการโดยมิได้รับบำนาญ
-          ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และไม่ได้เป็นผู้ประกันตน
 
ผู้ที่ไม่มีสวัสดิการข้าราชการ และไม่มีสิทธิประกันสังคม จะได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพตามกฎหมาย และสามารถลงทะเบียนเพื่อเลือกหน่วยบริการประจำ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
 
2.      การตรวจสอบสิทธิ การใช้สิทธิ และหน่วยบริการ 
พรบ.หลักประกันสุขภาพ ระบุให้คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุข โดยให้มี “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อให้คนไทยได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึง
สามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลรัฐใกล้บ้านหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำหรับชาวกทม. สามารถติดต่อสำนักงานเขต หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพ  ตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลด้วยระบบอัตโนมัติ โทร.1330 หรือเว็บไซต์ www.nhso.go.th
การใช้สิทธิ ต้องติดต่อหน่วยบริการของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ โดยแจ้งความจำนงใช้สิทธิก่อนรับบริการ แสดงบัตรประชาชน หรือบัตรที่ทางราชการออกให้
ส่วนหน่วยบริการนั้น ได้แก่ โรงพยาบาล สถานีอนามัยต่างๆ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ
 
3.      บริการที่คุ้มครอง และไม่คุ้มครอง 
ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพสามารถเข้ารับบริการ การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การคลอดบุตร บริการทันตกรรม การตรวจวินิจฉัยการรักษา ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าอาหารและค่าห้องสามัญ การจัดการส่งต่อ บริการแพทย์แผนไทย บริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ   ในส่วนการรักษาโรคเรื้อรัง หรือโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง สิทธิหลักประกันสุขภาพ ก็คุ้มครองด้วย เช่น โรคมะเร็ง โรคไต ผู้ติดเชื่อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ เป็นต้น
ส่วนบริการที่ไม่คุ้มครอง เช่น การรักษาภาวะมีบุตรยาก การเปลี่ยนเพศ การตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ การบำบัดรักษาสารเสพติด การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เป็นต้น
 
4.      การขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากบริการรักษาพยาบาล
ในกรณีผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ผู้เสียหายหรือทายาท สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ภายใน 1 ปี (นับตั้งแต่วันที่ทราบความเสียหาย) โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด ส่วนสถานที่ยื่นคำร้อง ได้แก่ ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (ในจังหวัดที่เกิดเหตุ) หรือติดต่อสายด่วย สปสช. เบอร์ 1330
 
เมื่อมีหลักประกันสุขภาพแล้ว หากเราไม่ได้ติดขัดเรื่องเงินก็อยากให้พิจารณาประกันสุขภาพเพิ่มเติม โดยเฉพาะประกันสุขภาพในส่วนโรคร้ายแรง ซึ่งหากเราทำประกันส่วนนี้ไว้ก็จะได้ค่าชดเชยต่างๆ ที่นอกเหนือจากค่ารักษา ส่วนโรคที่ควรซื้อประกันเพิ่มเติมนั้นก็ดูได้จาก คนในครอบครัวของเรามีประวัติโรคร้ายแรงอะไรบ้าง เช่น มะเร็ง หัวใจ อื่นๆ เราก็จะมีการจัดการความเสี่ยงด้านค่ารักษาพยาบาลได้ดีมากยิ่งขึ้นครับ
 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.nhso.go.th
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่