บันทึกเที่ยวอินเดียกับอดีตแฟน (ภรรยาในปัจจุบัน) เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2555 เพิ่งได้มาแชร์ ^__^

Indiversary พฤษภามหาภารตะทริป : ไช ไช คอฟฟี่
เรื่อง: โจ้ ศิลป์ธรณ์ / ภาพ: เอิน กัลยกร 

กระทู้แรกในพันทิปเลยครับ ทั้งที่ใช้ชีวิตอยู่กับพันทิปมาจนอายุ 36 ผิดพลาดอย่างไรขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ 5555.... ตอนแรกก็ว่าจะโพสท์ดีมั๊ย คือทริปมันก็เขียนไว้นานมากแล้วนะ แต่ดูรูปที่เพื่อนๆ น้องๆ ไปเที่ยวกันมาก็ดูไม่ต่างกันมาก จริงๆ มีคนบอกว่าอินเดียเมื่อพันปีที่แล้วในบางเมืองก็ไม่ต่างจากปัจจุบันมากเท่าไหร่นะ 555 ผมเลยตัดสินใจเอามาปัดฝุ่นหน่อย ปรับคำให้เข้ากับยุคนี้มากขึ้น

ปล.อ่านแล้วยังชอบบรรยากาศการแบ็คแพ็คสมัยนั้นที่ต้องพก Lonely Planet เล่มหนาๆ ไปไหนมาไหน สมัยที่ AirBnB AGODA Booking.com ยังไม่แพร่หลาย... ก็คิดถึงเหมือนกัน ^^
ปล.2 ทริปนี้เป็นทริปขอภรรยาแต่งงาน อันมีประสบการณ์ขอแต่งอันสุดแสนจะงงงวย เพราะไม่มีอะไรเป็นอย่างที่เราคิด 55555

====================================================================================================
หากผมจะเปรียบการท่องเที่ยวประเทศอินเดียผมจะนิยามว่ามันเป็นอาหารรสเผ็ดร้อนแต่อร่อยลิ้น ต้องค่อยๆกินถึงรู้ว่าอร่อย ว่าไปนั่น ดูเพ้อเจ้อแต่เป็นเรื่องจริงครับ ปกติแล้วผมและเอินจะไปหาที่เที่ยวเพื่อฉลอง Anniversary กันทุกปี แล้วแต่งบประมาณจะอำนวย ปีนี้เอินอยากไปอินเดีย อันที่จริงแล้วผมไม่อยากไปเนื่องด้วยข่าวลือหนาหูต่างๆ ที่พูดถึงความสกปรกและลำบากของประเทศนี้ แต่เอินได้เกลี้ยกล่อมว่าจะไปนอนบนไร่ชาที่ดาร์จีลิงพร้อมกับไปน้ำรถไฟหัวจักรไอน้ำที่เหลืออยู่ไม่กี่ที่บนโลกใบนี้ ด้วยความเป็นคนคลั่งการดื่มชาของผมทำให้การหลอกล่อเป็นผลสำเร็จ พวกเราตกลงว่าจะบินไปลงเครื่องที่กัลกัตตาด้วยเครื่องบินราคาแสนถูกของแอร์เอเชีย และต่อขึ้นไปเที่ยวแถวสิกขิม และดาร์จีลิงซึ่งอยู่ในรัฐเบงกอลตะวันตกเหมือนกัน 

====================================================================================================
28 เมษายน 2555 กัลกัตตา
 
พวกเราสองคนออกเดินทางจากประเทศไทยตอนสิบโมงเช้ามาถึงกัลกัตตาในเวลาประมาณเกือบบ่ายโมง เวลาอินเดีย (ซึ่งช้ากว่าประเทศไทยประมาณชั่วโมงครึ่ง) ช่วงก่อนจะมาเที่ยว ผมงานยุ่งมากทำให้ไม่มีเวลาจองโรงแรมในเมืองต่างๆ เลย ยกเว้นที่ Glenburn Tea Estate ในดาร์จีลิงที่เดียว ซึ่งเรากะจะให้เป็นที่พักผ่อนแบบสบายๆ ในสองคืนสุดท้าย ดังนั้นแผนการเดินจึงถูกวางไว้หลวมๆ รถไฟอะไรก็ไม่ได้จองเพราะอ่านในเว็บไซต์มาบอกว่าจองไม่ได้ต้องมาจองที่เมืองนั้นๆ เลย 
พอเราได้รับสัมภาระจากเครื่องสายพานเสร็จ ก็ต้องออกไปหารถแท็กซี่ ด้านหน้าสนามบินเต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่ถือปืนลูกซองหน้าตาขึงขัง ประมาณว่าถ้าทำผิดหรือตุกติกอะไรสามารถยิงให้ไส้แตกได้ในบัดดล พวกเราจึงค่อยเดินปั้นหน้านักท่องเที่ยวถูกระเบียบออกจากสนามบินไปเรียกแท๊กซี่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว อ่าน Lonly Planet มาแล้วว่าเราต้องใช้ Prepaid Taxi ทันใดนั้นเองก็มีแขกเดินเข้ามาถามว่าเอาแท๊กซี่มั๊ย เราบอกไม่เอา เราจะเอา Prepaid Taxi มันก็บอกว่าของมันเป็น Prepaid Taxi เหมือนกัน สรุปเป็นอันว่าเราต้องมนต์แขกเดินตามมันไปโดยเข้าใจว่าเป็นแท็กซี่สีเหลืองเหมือนกัน เดินไปพบว่าเป็นแท็กซี่ขาวก็รู้สึกแปลก แล้วมันก็คว้าใบราคา Prepaid Taxi ออกมาให้ดู เราบอกจะไปโรงแรมบรอดเวย์ มันเลยชี้ให้ดูว่าเข้าเมือง 790 รูปี (ประมาณ 600 บาท) เอาแล้วไง กูโดนของแขกเข้าแล้ว ผมโวยวายทันที จะบ้าหรือไง แพงขนาดนี้ ไม่เอาหรอก ประมาณว่าแขกมาเจ๊กไป ผมเดินออกทันทีไปถามราคาแท็กซี่เหลืองซึ่งจอดอยู่แถวนั้น เหล่ามนุษย์แขกรุมมาบอกว่าเหมือนกันๆ แท็กซี่เหลืองก็ต้องบอกว่าเหมือนกัน ผมก็เลยต้องเดินกลับไปขึ้นแท๊กซี่ขาวอย่างเสียไม่ได้ ก่อนออกก็ต้องจ่ายเงินไปก่อน ให้มันไป 800 รูปี มันบอก 10 รูปีไม่มีทอน พวกเราเลยบอกเอามาทอนยังไงก็จะรอ เอาสิวะ...สรุปคือมันก็หามาได้ เอาเป็นว่าได้ออกเดินทางเข้าเมืองกัลกัตตาในที่สุด 
กัลกัตตาเป็นเมืองใหญ่ขนาดที่สองของอินเดีย ให้ความรู้สึกเหมือนพาหุรัดขนาดใหญ่แต่มีขยะเต็มไปหมดและรถรางกับรถเมล์หน้าตาโบราณ ผมว่าก็มีเสน่ห์ไปอีกแบบ.....
ในที่สุดเราก็มาถึงโรงแรมบรอดเวย์ซึ่งมีสภาพเป็นตึกแถว 2-3 คูหา ให้ความรู้สึกซอมซ่อคล้ายโรงแรมไทเปหรือบรอดเวย์แถวเยาวราชยังไงยังงั้น เอาวะ เข้าไปดูก่อนแล้วกัน เราเดินเข้าไปถามเขาว่ามีห้องว่างมั๊ย เขาบอกยังมีเหลืออยู่แต่เป็นห้องน้ำรวมเอามั๊ย พวกเรามองหน้ากันแล้วบอกว่าขอขึ้นไปดูก่อน ภายในสภาพห้องเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าๆ ห้องพัดลม หน้าต่างมีผ้าม่านขาวบางๆ ติดอยู่ ลมพัดม่านลูกไม้ขาวบนหน้าต่างลูกกรง เงาและเสียงพัดลมที่หมุนอยู่บนเพดานกึกๆ กึกๆ ประกอบเสียงแตรรถดังปี๊นๆ ตลอดเวลาจากถนนด้านนอก ทำให้เอินเปรยออกมาว่านี่แทบจะเห็นภาพโรงแรมในหนังยุคโบราณที่นางเอกเป็นโสเภณีที่มีผัวเป็นมือปืน หลังจากที่เพิ่งได้เสียกันเสร็จหมาดๆ เมียก็นอนก็สูบบุหรี่ปล่อยควันฉุยในห้อง ในณะที่ผัวคาวบอยก็กำลังขัดทำความสะอาดปืน ในปากคาบบุหรี่ที่ใกล้หมดมวน มองออกนอกหน้าต่างอย่างเหม่อลอย...คือที่นี่มันอารมณ์นี้เลย แต่ข้อดีก็คือห้องนอนและห้องน้ำสะอาด และอยู่ในเขตเมืองเก่า การเดินทางค่อนข้างสะดวก ใกล้สถานีรถไฟ และรถไฟใต้ดิน สรุปว่าเราเอาห้องนี้ในราคา 650 รูปี (ประมาณ 435 บาท) และบอกเขาว่าถ้าห้องที่มีห้องน้ำในตัวมีใครย้ายออกให้บอกเราทันที การจองโรงแรมที่อินเดียเขาจะต้องจดชื่อผู้พักอาศัยทุกคน เลขที่พาสปอร์ต วีซ่า ที่อยู่ที่ประเทศไทย เบอร์ติดต่อ และลายเซ็นอย่างละเอียด แต่ที่โรงแรมนี้เขาให้ลงชื่อพ่อเอาไว้ด้วย ใช่ครับ “ชื่อพ่อ” เผื่อใครหนีหายไปจะได้ไปตามเงินกับพ่อได้ พ่อผมเสียไปหลายปีแล้วแต่ก็ยังลงชื่อไว้เผื่อเขาตามได้จะได้มาบอกผมด้วย ...หลังจากเรารู้ว่าเรามาจากเมืองไทย เขาก็บอกว่าประเทศไทยสวยมาก เจริญด้วย เจริญกว่าอินเดีย 20 ปี ตอนแรกผมไม่แน่ใจนัก เพราะอินเดียเป็นประเทศที่มี GDP โตเร็วเป็นอันดับ 3 ของโลกในระยะหลังมากนี้ (ตอนหลังผมขอคอนเฟิร์มครับว่าอาจจะโตแต่ GDP จริงๆ ประเทศไทยเราช่างล้ำสมัยจริงอย่างเขาว่า กลับจากอินเดียนี่รักเมืองไทยขึ้นอีกจม)
หลังจากเอาของเก็บเข้าห้องเรียบร้อย เอินก็ถามผมว่าเท่าที่ดูสภาพเมืองแล้วอยู่ที่นี่ถึง 2 คืน อาจจะไม่มีอะไรมาก จึงได้ลองดูว่ามีเมืองอะไรน่าไปบ้างในละแวกกัลกัตตา พบกว่าเมืองคยา (Gaya) ซึ่งเป็นที่ตั้งของต้นพระศรีมหาโพธิ์เมืองพุทธคยาอยู่ไม่ไกลจากกัลกัตตามากนัก ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ พวกเราจึงไม่ต้องคิดมากอีกต่อไป ตัดสินใจจับรถไฟไปคืนนั้นทันที ออฟฟิศสำหรับจองตั๋วรถไฟอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมมากนักห่างไป 2 บล็อก สามารถเดินไปได้ระหว่างเส้นทางมีสิ่งตืนตาตื่นใจที่พวกเราไม่เคยเห็นมากมาย ทั้งร้านตัดผมริมถนน ร้านข้าวแกงแป้งโรตีแบบใช้มือเปิปจากถาด ฯลฯ หลายอย่างดูน่ากินแต่เห็นกองขยะข้างๆ และแมลงวันตอมแล้วไม่กล้าเสี่ยงจริงๆ พวกเราเดินหิ้วท้องมาจนเจอรถขายฮ็อทด็อกท่าทางเหมือนจะสะอาดจอดอยู่ คนต่อแถวกันพอสมควรให้ไว้วางใจได้ ผมจึงตัดสินใจสั่งเบอร์เกอร์กะหรี่ไก่รสชาติเผ็ดนิดหน่อยพร้อมโค้กขวดนึงในราคา 80 รูปี ส่วนเอินไม่ได้อะไรเพราะไม่กินเผ็ดและก็ยังไม่หิวมาก 
พอเรามาถึงออฟฟิศจองรถไฟ เขาบอกว่าถ้าจะพักที่คยาเขาไม่แนะนำ ไม่ค่อยมีอะไร ไปค้างคืนวราณสี (Varanasi - พาราณสี) ดีกว่า เราก็เชื่อเพราะพาราณสีนี่ได้ยินมาตั้งแต่เด็กแล้ว แม่น้ำคงคาก็อยากมาตั้งนานแล้ว สรุปว่าพวกเราเลยจองตั๋วรถไฟรวดเดียวทั้งทริป 4 ขบวนรวด
 
1.     กัลกัตตา – คยา ตู้นอนแอร์ชั้น1 ( 473 กม. 6 ชั่วโมง)
2.     พาราณสี – กัลกัตตตา ตู้นอนพัดลมชั้น 2 ชั้น 1 เต็มหมดเพราะเป็นวันหยุดแรงงาน ( 681 กม.10 ชั่วโมง)
3.     กัลกัตตา – นิวจัลไปกุรี (NJP) ตู้นอนแอร์ชั้น1 (630 กม. 10 ชั่วโมง)
4.     นิวจัลไปกุรี (NJP) - กัลกัตตา ตู้นอนแอร์ชั้น1 (630 กม. 10 ชั่วโมง)
 
ระหว่างเมืองคยาและพารณาสี เรากะว่าจะไปหารถบัสเอาดาบหน้า เห็นว่าเมืองไม่ไกลกันมาก ประมาณ 252 กม. เมื่อได้ตั๋วรถไฟครบถ้วนในราคารวมประมาณ 3,000 บาท สำหรับ 2 คน ซึ่งถูกมากๆ เราก็จะไปหาซิมการ์ดเผิ่อจะใช้ต่อเน็ตที่นี่ เราต้องเดินไปออฟฟิศของ Vodafone ปรากฏว่าการลงทะเบียนซิมการ์ดสำหรับคนต่างชาติ ต้องมีรูปถ่ายด้วย และร้านถ่ายรูปก็ปิดแล้ว คืนนี้ก็ต้องเดินทางไปคยา ก็เลยต้องขอบายหลังจากต่อคิวมาเป็นชั่วโมง ระหว่างทางเดินได้ชุดส่าหรีติดมือมาอีก 2 ผืน ในราคาไม่กี่ร้อยบาท (250รูปี และ 450 รูปี) เรากลับมากินข้าวเย็นในร้านอาหารของโรงแรม ปรากฏว่าอร่อย เมนูในเย็นนั้นมีแกงกะหรี่ไก่และปลาผัดมะเขือเทศ รวมเครื่องดื่มเบ็ดเสร็จรวม 400 รูปี อิ่มแปล้กันทีเดียว...
อาบน้ำเสร็จเป็นที่สบายตัวเราแยกของลงกระเป๋าเล็ก กะจะเช่าห้องต่อไว้สำหรับเก็บของอย่างเดียวจะได้ไม่ต้องแบกไปมาระหว่างเมือง โรงแรมแนะนำว่าให้ฝากไว้ในห้องเก็บของเขาได้ประหยัดไปอีกประมาณ 1,400 รูปี เราก็ตกลงสิครับ...จากนั้นโรงแรมก็หาแท็กซี่ไปส่งเราที่สถานีรถไฟในราคา 100 รูปี ก็แพงอยู่แต่ก็ช่างมัน...รีบไปสถานีรถไฟให้ทันดีกว่า...
เรามาถึงสถานีรถไฟก่อนเวลาประมาณเกือบชั่วโมง สรุปว่ารถไฟที่นี่มาสาย 15 นาที ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติสำหรับที่นี่ วันที่เราขึ้นรถไฟ ดูเหมือนจะมีบุคคลสำคัญมาขึ้นรถไฟด้วยมีเจ้าหน้าที่กลุ่มนึงคอยอารักขา เจ้าหน้าที่อินเดียแบกปืนลูกซองดุ้นใหญ่เดินไปมาเหมือนเป็นเรื่องปกติ หากใครทำผิดคงไม่ใช่แค่การยิงตักเตือน ไม่ไส้แตกก็คงขาขาด ส่งศพไปลอยแม่น้ำคงคาได้เลย เฮ้ออ...ชีวิตมนุษย์ชาวอินเดีย การขึ้นรถไฟตู้นอนชั้นหนึ่งที่นี่นับว่าดีกว่ารถไฟเมืองไทยพอสมควร กระนั้นตัวรถก็ยังสั่นมากจนนอนครึ่งหลับครึ่งตื่นไปตลอดทาง เอาเป็นว่าผมเพลียจนหลับไปตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้..... 
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่