กฤษณา อโศกสิน - สตรีคนแรกรับรางวัลนักเขียนอมตะ

 8 ต.ค.62-  มูลนิธิอมตะ จัดงานประกาศผลรางวัล“นักเขียนอมตะ” ครั้งที่ 8 ประจำปี 2562
โดยมีนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ
พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ประกอบด้วยนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานกรรมการ นางชมัยภร บางคมบาง รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร นายจรัญ หอมเทียนทอง ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นางกนกวลี กันไทยราษฎร์ รศ.ดร.สุปาณี พัดทอง ร่วมงาน ณ ที่ทำการมูลนิธิอมตะอาคารกรมดิษฐ์ โดย นางสุกัญญา ชลศึกษ์ คือ ผู้คว้ารางวัลนักเขียนอมตะไปครอง
 
นายวิกรม กรมดิษฐ์ กล่าวว่า มูลนิธิอมตะส่งเสริมบุคคลที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมผู้สร้างคุณค่าผ่านงานประพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติ ประวัตินักเขียนไทยที่มีความสามารถให้ปรากฏและเป็นกำลังใจแก่นักเขียนไทยผู้อุทิศตน ทุ่มเท สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าควรแก่การนำผลงานเผยแพร่สู่สากล ถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่เปี่ยมด้วยคุณค่า มาตรฐาน และคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์

สำหรับรางวัล“นักเขียนอมตะ” ครั้งที่ 8 คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์คัดเลือก นางสุกัญญา ชลศึกษ์ รับรางวัลนักเขียนอมตะ

ทั้งนี้ นักเขียนอมตะจะได้รับเงินรางวัล 1,000,000 บาท และโล่รางวัลเพื่อมอบให้แก่นักเขียนที่ได้รับประกาศให้เป็นนักเขียนอมตะ โดยพิธีมอบโล่รางวัลกำหนดจัดวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ณ ที่ทำการมูลนิธิอมตะ

“แต่ละปีมีนักเขียนอาวุโสได้รับรางวัลเพราะเป็นบุคคลที่สร้างผลงานที่ดีและมีทำงานต่อเนื่อง สังคมไทยยังขาดความตระหนักถึงคุณค่าของนักเขียนและต้องตอบแทน นอกจากนี้มูลนิธิอมตะมีแผนจะแปลวรรณกรรมไทยของนักเขียนอมตะสู่นักอ่านชาวต่างประเทศด้วย" นายวิกรมกล่าว

 นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานกรรมการ กล่าวว่า นางสุกัญญา ชลศึกษ์ มีคุณสมบัติอันเหมาะสมกับคำว่า “นักเขียนอมตะ” ด้วยทำงานเต็มชีวิตเต็มเวลาเป็นแบบอย่างของนักเขียนมืออาชีพ สร้างสรรค์งานและได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่ออายุได้ 17 ปี และสร้างสรรค์งานต่อเนื่องมาโดยตลอดไม่มีหยุดหรือเว้นวรรค ปัจจุบันอายุ 88 ปี ทำงานต่อเนื่องมาแล้ว 70 ปี มีผลงานเกือบ 160  เล่ม อาจกล่าวได้ว่าใน 1 ปี มีผลงานมากกว่า 2 เล่ม สามารถดำรงตนด้วยอาชีพนักเขียนและพร้อมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่นักเขียนทุกเพศทุกวัย รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างเท่าทันเข้าใจโลกเข้าใจชีวิตให้แก่คนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ผลงานสร้างสรรค์ยืนยงและเท่าทันยุคสมัย ผลงานมีคุณภาพสะท้อนปัญหาชีวิตมนุษย์อย่างลุ่มลึกและปัญหาสังคมที่หลากหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสถาบันครอบครัวและการเท่าทันสถานการณ์ในสังคม มีทั้งเรื่องวัฒนธรรม ศาสนาการเมืองและประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ ด้วยกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่หลากหลายและประณีตงดงาม

“ผลงานของนางสุกัญญาให้ความรู้สึกแก่คนวรรณกรรมประหนึ่งร่มไม้ใหญ่ในทางวรรณศิลป์ เป็นที่นิยมยิ่งของนักอ่าน สามารถสร้างนักอ่านข้ามยุคข้ามสมัยผลงานจำนวนไม่น้อยมีผู้นำไปสร้างเป็นสื่อแขนงอื่นเช่นละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และสร้างซ้ำหลายครั้งส่งผลสะเทือนแก่สังคมในวงกว้าง” นายเนาวรัตน์ กล่าว 

ทั้งนี้ นักเขียนที่เคยได้รับรางวัลนักเขียนอมตะครั้งที่ 1-7 มีทั้งหมด 7 คน  คือ
1. นายศักดิชัย บำรุงพงศ์ (เสนีย์ เสาวพงศ์ - เสียชีวิตแล้ว)
2. นายโรจ งามแม้น นามปากกา"เปลวสีเงิน"
3. นายโกวิทย์ เอนกชัย (เขมานันทะ - เสียชีวิตแล้ว) 
4. นายสมบัติ พลายน้อย (ส.พลายน้อย)
5. พระไพศาล วิสาโล
6. นายคำสิงห์ ศรีนอก (ลาว คำหอม) และฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ  (พนมเทียน)
7. นายอาจินต์ ปัญจพรรค์ (เสียชีวิตแล้ว)

อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์ในการคัดสรรนักเขียนอมตะในแต่ละปี
มูลนิธิอมตะจะแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
เพื่อสรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อรับรางวัล คือ
เป็นนักเขียนสัญชาติไทย
มีชีวิตอยู่ในวันที่ทำการเสนอชื่อ
มีผลงานตีพิมพ์เป็นภาษาไทยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี
และผลงานดังกล่าวต้องมีคุณค่าสร้างสรรค์สังคมและมวลมนุษยชาติ

จาก ไทยโพสต์
https://www.thaipost.net/main/detail/47602?fbclid=IwAR2jXUToANRU_yzCQNPqtiKyZG4OGB0Kpqmx-F_kloiCRPpCehDg4m0_GL0
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่