เจ็บเต้านม..แบบไหน เสี่ยงภัยมะเร็งเต้านม!!!

เจ็บเต้านม..แบบไหน เสี่ยงภัยมะเร็งเต้านม!!!
พี่หมอเชื่อว่าผู้หญิงหลายคนที่เคยมีอาการเจ็บเต้านมบ่อยๆ อาจจะแอบคิดว่า เอ๊ะ นี่ชั้นจะเป็นมะเร็งเต้านมหรือเปล่านะ ไหนๆก็เข้าสู่เดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนแห่งการ “รณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม” แล้ว พี่หมอก็เลยอยากจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ซักหน่อยนะครับ 
จริงๆ แล้วมะเร็งเต้านมสามารถพบได้ทั้งในหญิงและชาย แต่จะพบในกลุ่มผู้หญิงมากกว่า โดยสามารถพบได้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป และช่วงอายุที่พบบ่อยที่สุดคือระหว่าง 35 – 55 ปี จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่าหญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 20,000 คนต่อปี และมีอัตราที่สูงขึ้นทุกปี เรียกว่าแซงหน้ามะเร็งปากมดลูกที่เคยเป็นอันดับหนึ่งไปแล้ว
แล้วอาการอะไรบ้างนะ ที่บ่งชี้ว่าเราอาจจะเป็น “มะเร็งเต้านม” พี่หมอจะมาอธิบายให้ฟังครับ รวมไปถึง
วิธีการป้องกัน รวมถึงขั้นตอนง่ายๆในการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง
 
5 สัญญาณบอกว่าเราอาจเป็นมะเร็งเต้านม
·      เต้านมมีขนาดผิดปกติหรือมีรูปร่างที่เปลี่ยนไป 
·      คลำพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านมหรือใต้รักแร้ ซึ่งอาจจะกดแล้วเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ 
·      ผิวหนังบริเวณเต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม หรือบวมหนาคล้ายเปลือกส้ม รวมถึงสีของผิวหนังบริเวณลานหัวนมเปลี่ยนไป 
·      มีน้ำเหลืองหรือของเหลวไหลออกมาจากหัวนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบว่าของเหลวที่ไหลออกมามีสีคล้ายเลือดและออกจากหัวนมเพียงข้างเดียว 
·      เจ็บเต้านมผิดปกติ ทั้งที่ไม่ใช่ช่วงที่มีประจำเดือน หรือผิวหนังบริเวณเต้านมอักเสบ บวมแดง เป็นแผล
หรือมีผื่นคันบริเวณเต้านมที่รักษาแล้วแต่ไม่หายขาด 
 
5 ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม
·      อายุ 40 ปีขึ้นไป โสด แต่งงานแต่ไม่มีบุตร หรือคลอดลูกคนแรกตอนอายุมากกว่า 30 ปี
·      มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่มาก่อน หรือมีญาติพี่น้องที่เคยเป็น
·      ใช้ฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
·      เริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย (ก่อน 12 ปี) และหมดประจำเดือนเมื่ออายุมาก (หลัง 55 ปี) 
·      ไม่ค่อยออกกำลังกาย
 
แนวทางการป้องกัน    
เนื่องจาก มะเร็งเต้านมไม่ได้มีวัคซีนป้องกันเหมือนมะเร็งปากมดลูก ดังนั้น พี่หมอจึงอยากแนะนำให้ผู้หญิงทุกคนตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำทุกเดือน โดยควรทำหลังหมดประจำเดือนประมาณ 1 สัปดาห์ เพราะเป็นช่วงที่เต้านมตึงน้อยที่สุด และหากมีความผิดปกติก็จะตรวจพบได้ง่าย ส่วนคนที่หมดประจำเดือนแล้วก็ควรทำเช่นกันนะครับ  
 นอกจากการตรวจด้วยตัวเองแล้ว ก็ควรที่จะตรวจด้วยแพทย์ ทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์ร่วมด้วย เพราะการทำอัลตร้าซาวน์จะช่วยให้เห็นรายละเอียดของเต้านม รวมถึงสิ่งผิดปกติที่มีขนาดเล็กมากเกินกว่าที่จะคลำเจอได้  ซึ่งสำหรับผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรจะตรวจด้วยตัวเองทุกเดือนและให้หมอตรวจทุกๆ 3 ปี และถ้าอายุเกิน  35 ปี ก็ควรตรวจด้วยตัวเองทุกเดือน รวมทั้งให้หมอตรวจ ทำแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวน์เป็นประจำทุกปี
 
ขั้นตอนง่ายๆในการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง 
·      ยืนหน้ากระจกแล้วดูที่เต้านมทั้ง 2 ข้าง สังเกตขนาด รูปร่าง สี ตำแหน่งของเต้านม หัวนม เปรียบเทียบกับเดือนก่อนๆ
·      ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะทั้ง 2 ข้าง แล้วดูที่เต้านมอีกครั้ง ค่อยๆหมุนตัวช้าๆเพื่อดูบริเวณด้านข้างของเต้านม
·      เอามือเท้าเอว จากนั้นโน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงซ้ำอีกครั้ง
·      ใช้นิ้วมือบีบที่หัวนมเบาๆ ดูว่ามีเลือด หนอง หรือของเหลวใดๆ ไหลออกจากหัวนมหรือไม่
·      เริ่มคลำเต้านม โดยให้คลำตั้งแต่กระดูกไหปลาร้าลงมา ใช้มือซ้ายคลำเต้านมข้างขวา ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางทั้ง 3 นิ้ว ค่อยๆ กดลงบนผิวหนังเบาๆ และแรงขึ้น จนกระทั่งสัมผัสกระดูกซี่โครง และคลำให้ทั่วทิศทาง สิ่งสำคัญก็คือต้องคลำให้ทั่วเต้านมไปจนถึงบริเวณใต้รักแร้ จากนั้นให้เปลี่ยนไปคลำอีกข้างในแบบเดียวกัน
·      นอกจากคลำในท่ายืนแล้ว ก็ควรคลำในท่านอนด้วย โดยใช้หมอนหนุนไหล่ข้างที่จะคลำ แล้วคลำซ้ำในแบบเดียวกันกับท่ายืน
 
ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้น พันธุกรรม พฤติกรรมในการใช้ชีวิต รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้เท่าๆกันเลยนะครับ ดังนั้น ทางป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การหมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกายด้วยตัวเองและเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพราะยิ่งตรวจพบเร็ว โอกาสในการรักษาให้หายขาดก็มีมากขึ้นเท่านั้น ไม่สิ้นเปลืองทั้งเงินทองและเวลาในการรักษาด้วย 
เห็นด้วยกับพี่หมอมั้ยล่ะครับ 
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่