มิตรภาพในโลกของสัตว์

 สัตว์ชนิดเดียวกันมักมีการช่วยเหลือกัน เช่น การอยู่ร่วมกันเป็นฝูงหรือการช่วยกันหาอาหาร  แต่สำหรับสัตว์ต่างชนิด เรามักคุ้นกับภาพพวกมันกำลังต่อสู้ ไล่ล่า หรือกินกันมากกว่าภาพที่พวกมันช่วยเหลือกัน  ที่จริงแล้วมีสัตว์หลายชนิดที่หยิบยื่นมิตรภาพและเป็นเพื่อนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน   บางคู่ก็ช่างต่างกันเหลือเกิน หรือบางคู่ยังไม่เคยเห็นหน้ากันแต่กลับเป็นเพื่อนตายกัน  นี่แหละมิตรภาพไร้ไฟลัม (พรหมแดน)  มาดูเรื่องราวมิตรภาพที่น่ารักและน่าทึ่งของเหล่าสัตว์โลกกัน


นกเอี้ยงกับควาย




คู่หูสัตว์ที่ทุกคนรู้จักกันดีตั้งแต่เด็กคือ นกเอี้ยงกับควาย  คู่นี้เป็นเพื่อนแท้อมตะ นกเอี้ยงตัวน้อยจะคอยกินตัวแมลงหรือปรสิต เช่น ไรหรือเห็บ ตามตัวควาย  ควายเองก็ชอบใจที่แมลงที่สร้างความรำคาญถูกกินไป  แถมเจ้านกยังช่วยร้องเตือนภัยเวลามีอันตรายด้วย บางทีเราก็เห็นนกยางมาเกาะบนพี่ควายแทนนกเอี้ยง
แต่ที่น่าเศร้าคือเดี๋ยวนี้นกเอี้ยงค่อนข้างเหงา เพราะควายหายไปจากบ้านเราเสียแล้ว หลังจากการเข้ามาของควายเหล็กคูโบต้า ซึ่งนกเอี้ยงก็ต้องพบกับความปล่าวเปลี่ยว หลังของควายเหล็กทั้งแข็งและไม่มีตัวอะไรให้กิน ไม่นุ่มเหมือนพี่ควายที่เคยอิงแอบ
พฤติกรรมของนกที่กินปรสิตบนตัวสัตว์ใหญ่พบได้ทั่วโลก ที่แอฟริกาก็มีเช่นกัน เช่น นกอ็อกซ์เพกเกอร์ (oxpecker) ที่ชอบหาปรสิตกินตามตัวควายป่าแอฟริกา แรด แอนทีโลป หรือนกบางชนิดก็ชอบความตื่นเต้น เช่น นกหัวโตอียิปต์ (Egyptian plover) ที่ชอบไปทำความสะอาดในปากของจระเข้ โดยจระเข้ก็จะนอนอ้าปากให้มันทำความสะอาดฟันตามสบาย 



ปลาพยาบาลกับปลาต่างๆ




 ปลาพยาบาล (cleaner wrasse) เป็นปลาตัวเล็กๆ ที่กินปรสิตตามตัวปลาอื่นเป็นอาหาร ปลาหลายชนิดที่ต้องการทำความสะอาดร่างกาย ต่างพากันแวะเวียนมาใช้บริการจากปลาพยาบาล    แม้แต่ปลาไหลมอเรย์จอมโหดหรือปลาหมอทะเลตัวยักษ์ ก็ยอมให้ปลาเล็กๆ ตัวนี้ว่ายชอนไชไซ้ไปตามตัว  บางตัวถึงกับว่ายน้ำมาต่อคิวรับบริการกันเลย เจ้าปลาพยาบาลเองก็เต็มใจบริการ เพราะมันจะได้อาหารอร่อยๆ กิน 

ปลาพยาบาลยังทำหน้าที่เป็นหมอฟันด้วย ปลาบางตัวจะอ้าปากให้มันเข้าทำความสะอาดตามซอกฟัน  ตามแนวปะการังยังมีสถานีอนามัยอีกแห่งที่ดำเนินกิจการโดยกุ้งตัวเล็กๆ  ที่เรียกว่า กุ้งพยาบาล (cleaning shrimp)  กุ้งพยาบาลจะโบกก้ามไปมา เพื่อแสดงว่ามันพร้อมให้บริการปลาหรือสัตว์อื่นๆ ที่ต้องการรับบริการทำความสะอาดให้ทุกส่วนเช่นกัน 

 


ปลาการ์ตูนกับดอกไม้ทะเล




คู่ซี้คลาสสิคที่เห็นบ่อยคือ เจ้านีโม่ ปลาการ์ตูน (clown fish) กับดอกไม้ทะเล (sea anemone)  เรามักเห็นภาพปลาการ์ตูนอาศัยอยู่ในหนวดของดอกไม้ทะเลเสมอ จะว่าไปไม่เคยเห็นภาพมันอยู่ห่างดอกไม้ทะเลเลย!  หลายคนอาจคิดว่าดอกไม้ทะเลเป็นพืช แต่จริงๆ แล้วมันเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (invertebrate) กลุ่มเดียวกับแมงกะพรุน  ในช่วงโตเต็มวัย มันจะไม่เคลื่อนที่ไปไหน และจะใช้หนวดที่มีเซลล์เข็มพิษ (cnidoblast) อยู่ตรงปลายจับสัตว์เล็กๆ หรือปลากินเป็นอาหาร 

แต่เจ้าปลาการ์ตูนสีสดใสน่ารักกลับหาญกล้า อาศัยหนวดของดอกไม้ทะเลเป็นที่หลบภัยจากผู้ล่า  โดยที่มันเองก็ไม่ได้รับอันตราย เพราะมีเมือกที่ต้านพิษจากเซลล์เข็มพิษได้  และมันก็ตอบแทนเพื่อนด้วยการทำความสะอาดเศษอาหารที่ติดตามเซลล์เข็มพิษให้  แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนคิดว่าดอกไม้ทะเลไม่ได้ประโยชน์อะไรจากปลาการ์ตูนมากนัก และเชื่อว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ปลาการ์ตูนได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว 



ปูเสฉวนกับดอกไม้ทะเล




ดอกไม้ทะเลเป็นสัตว์เฟรนด์ลี่มากๆ ถึงไม่มีปลาการ์ตูน มันก็ยังมีเพื่อนตัวอื่นอีกคือ ปูเสฉวน (hermit crab) ปูที่อาศัยอยู่ในเปลือกหอย  สัตว์สองตัวนี้ชอบไปเที่ยวด้วยกันเสมอ  เริ่มแรกเจ้าปูเสฉวนจะมองหาดอกไม้ทะเลตัวที่สวยงามถูกใจ แล้วจับมาติดไว้บนเปลือกหอยของมัน เพื่อให้ดอกไม้ทะเลช่วยพรางตัวมันจากผู้ล่า
ปูบางตัวอาจติดดอกไม้ทะเลไว้หลายตัว เจ้าดอกไม้ทะเลซึ่งปกติอยู่กับที่ ก็ชอบใจที่ได้เดินทางท่องเที่ยว เพราะทำให้มันได้รับอาหารมากกว่าตอนอยู่กับที่ รวมทั้งมีโอกาสได้แพร่พันธุ์ไกลขึ้นด้วย
แต่ดอกไม้ทะเลก็คงต้องเหงาอีกเช่นเดิม เมื่อปูเสฉวนเริ่มหายหน้าไป หลังจากเปลือกหอยถูกมนุษย์เก็บไปเป็นเครื่องประดับ ปูจึงไม่มีเกราะป้องกันตัวและลดจำนวนลง



ปลาบู่ทะเลกับกุ้งดีดขัน



คู่ซี้ในท้องทะเลอีกคู่ที่สนิทกันมากจนร่วมรูเดียวกัน  คือ ปลาบู่ทะเล (shrimp goby) กับกุ้งดีดขันหรือกุ้งตาบอด (blind shrimp)  ทั้งคู่อาศัยอยู่ในรูที่กุ้งเป็นผู้ขุดและเป็นผู้ทำความสะอาดรู ปลาบู่จะมาพบกุ้งแล้วก็ขออยู่ร่วมรูด้วย
เพื่อตอบแทนน้ำใจ ปลาบู่ทะเลจะคอยเตือนภัยเวลามีศัตรูมา เพราะกุ้งดีดขันมีสายตาที่แย่มากๆ เวลามันขึ้นมาหากินเหนือรู จึงถูกศัตรูล่าได้ง่ายๆ  แต่เมื่อมีปลาบู่อยู่เคียงกาย กุ้งดีดขันจะเอาหนวดข้างหนึ่งแตะตัวปลาบู่ไว้ ถ้าศัตรูมา ปลาบู่ทะเลจะเตือนภัยโดยโบกหาง แล้วทั้งคู่ก็จะรีบหนีลงรูด้วยกัน โดยกุ้งดีดขันจะเป็นฝ่ายหนีลงไปก่อน  พอปลอดภัยแล้วพวกมันก็จะโผล่หน้าออกมาจากรู และหากินใหม่
เมื่อถึงกลางคืนกุ้งก็จะปิดปากรู แล้วพวกมันก็อยู่ในบ้านแสนอบอุ่นด้วยกัน จนรุ่งเช้ามันก็จะเปิดปากรูและออกหากินกัน เรียกได้ว่าเป็นมิตรภาพร่วมรูจริงๆ 




นกฮันนีไกด์กับแบดเจอร์กินน้ำผึ้งและมนุษย์



ปกติแล้ว สัตว์ต่างๆ มักแย่งอาหารกันเพื่อความอยู่รอด แต่มีสัตว์บางชนิดที่ช่วยกันหาอาหาร ตัวอย่างเช่น นกฮันนีไกด์ (honeyguide) กับแบดเจอร์กินน้ำผึ้ง (honey badger)  คู่หูคู่นี่อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา นกฮันนีไกด์ชอบกินตัวอ่อนผึ้งและไขจากรังผึ้ง แต่มันเองทำลายรังผึ้งไม่เก่งนัก บางครั้งจึงต้องหาเพื่อนมาช่วย ซึ่งก็คือเจ้าแบดเจอร์กินน้ำผึ้ง 
เมื่อพบรังผึ้ง นกฮันนีไกด์ก็จะบินไปหาเจ้าแบดเจอร์กินน้ำผึ้งที่อยู่ในโพรง แล้วส่งเสียงร้อง เจ้าแบดเจอร์กินน้ำผึ้งก็จะรีบวิ่งตามนกไปทันที เมื่อเจอรังผึ้ง มันก็ใช้เล็บและฟันที่แข็งแรงทำลายรังและกินน้ำผึ้งอย่างเอร็ดอร่อย  และเมื่อกินเสร็จ ก็ถึงตานกฮันนีไกด์กินตัวอ่อนและไขผึ้งบ้าง 

นกฮันนีไกด์นับว่าผูกมิตรเก่งและรู้จักใช้คน เพราะมันยังมีเพื่อนอื่นๆ ที่มาช่วยทำลายรังผึ้งอีก นั่นก็คือ มนุษย์  นกฮันนีไกด์จะร้องเรียกชาวพื้นเมืองในแอฟริกาไปหาน้ำผึ้ง  มันจะบินนำไป ถ้าพวกเขาตามไม่ทัน เจ้านกก็จะบินย้อนกลับมาหา  เมื่อชาวพื้นเมืองเจอรังผึ้งและได้น้ำผึ้งแล้ว พวกเขาก็จะทิ้งรังไว้ให้นกเป็นการขอบคุณ  มีตำนานชาวพื้นเมืองเล่าว่า ถ้ามนุษย์เห็นแก่ตัวไม่ทิ้งรังผึ้งไว้ให้นกฮันนีไกด์ คราวหน้ามันจะพาเขาไปพบสิงโต ช้าง หรืองูพิษแทน ซึ่งอาจจะจริงก็เป็นได้...




มดกับเพลี้ย



สัตว์บางตัวเลี้ยงดูเอาใจใส่สัตว์อีกตัวเหมือนลูก มดกับเพลี้ยบางชนิดมีความสัมพันธ์แบบนี้  เพลี้ยจะดูดน้ำเลี้ยงจากพืชเป็นอาหาร ในระหว่างกระบวนการย่อย บางส่วนของน้ำเลี้ยงจะเปลี่ยนไปเป็นน้ำหวาน  มดชอบกินน้ำหวานนี้ มันจึงมาตีสนิทกับเพลี้ย โดยคอยดูแลปกป้องเพลี้ยจากศัตรู เช่น เต่าทอง เพลี้ยก็ตอบแทนโดยให้น้ำหวานกิน 
เมื่อไรที่มดต้องการน้ำหวาน มันจะใช้หนวดแตะตัวเพลี้ยเบาๆ จากนั้นเพลี้ยก็จะเบ่งน้ำหวานออกมาทางตูด มดก็จะดูดกินกินน้ำหวานจากเพื่อนของมันอย่างเอร็ดอร่อย 
มดยังดูแลไข่ของเพลี้ยด้วย  ในฤดูหนาวมันอาจนำไข่เพลี้ยเข้าไปในรัง และเมื่อตัวอ่อนออกจากไข่ มดก็จะพาตัวอ่อนไปไว้บนพืชที่มีน้ำเลี้ยง และคอยดูดกินน้ำหวานนั้น 
  


ปลวกกับโปรโตซัว




มิตรภาพที่น่ายกกย่องที่สุด น่าจะเป็นของปลวกกับโปรโตซัว (protozoa – สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ขนาดเล็ก มีลักษณะคล้ายสัตว์)  คู่นี้เป็นพื่อนตายที่ขาดกันไม่ได้ ทั้งๆ ที่ต่างฝ่ายต่างไม่เคยเห็นหน้ากันเลย   เนื่องจากในลำไส้ปลวกมีโปรโตซัวที่ชื่อ ไทรโคนิมฟา (Trichonympha) อาศัยอยู่ ถ้าไม่มีโปรโตซัวนี้ ปลวกก็จะย่อยสลายไม้ให้เป็นสารอาหารไม่ได้  ในขณะที่โปรโตซัวก็ได้อาหารจากการย่อยสลายไม้ให้ปลวก  ถ้าจับทั้งคู่แยกกัน มันจะตายไปในที่สุด  ช่างเป็นมิตรภาพที่ยิ่งใหญ่จริงๆ

โปรโตซัวเข้ามาอยู่ในร่างกายปลวกได้อย่างไร โปรโตซัวพวกนี้คงไม่ได้อยู่ในอสุจิหรือไข่ของปลวกแน่ๆ  ปลวกไม่ได้มีโปรโตซัวตั้งแต่เกิด มันจะได้โปรโตซัวมาขณะที่มันยังเล็กเป็นตัวอ่อน  ปลวกพี่เลี้ยงของมันจะเอาอาหารที่มีโปรโตซัวนี้อยู่มาให้กิน จากนั้นมันก็จะได้รับโปรโตซัวไปไว้ในลำไส้ และอยู่ร่วมกันต่อไป  ซึ่งจะว่าไปมนุษย์เองก็มีแบคทีเรียที่มีประโยชน์อยู่ในลำไส้เหมือนกัน ซึ่งมันก็ช่วยเรา เราก็ช่วยมัน 



Cr.http://oknation.nationtv.tv/blog/dreamline/2009/08/24/entry-1
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


ชมภาพยนตร์มิตรภาพในโลกของสัตว์กัน

Finding Nemo คือเรื่องราวการผจญภัยอันน่าตื่นเต้นและสนุกสนานของ "มาร์ลิน" ปลาการ์ตูนผู้หวงลูกจนเกินเหตุ (พากย์โดย อัลเบิร์ต บรู๊คส์) และลูกชายของเขา "นีโม" (พากย์โดย อเล็กซานเดอร์ กูลด์) ที่พลัดหลงกันในแนวปะการังใหญ่ 

ชมการ์ตูนแอนิเมชั่นสนุกๆ สไตล์อเมริกัน  A Bug's Life ตัวบั๊กส์ หัวใจไม่บั๊กส์ กำกับโดย : จอห์น แลสเซเตอร์ โลกใบเล็กของเหล่าแมลง ซึ่งในทุกๆ ปี กลุ่มของตั๊กแตนจะเดินทางมาที่รังมด เพื่อกินอาหารที่มดหามาได้ พวกมดเองก็ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และเข้าใจว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชะตากรรม แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ “ฟลิก” มดจอมซุ่มซ่าม ลุกขึ้นต่อสู้กับตั๊กแตนนักเลงเหล่านี้ 

https://www.tkpark.or.th/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่