ประกอบคอมไว้ดูหนัง เคสเล็ก ๆ Mini ITX

          ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบดูหนังมาก ๆ โดยใช้คอมต่อภาพยังไปทีวี เคสที่ใช้อยู่ปัจจุบันใกล้จะเสีย มีอาการคือจอฟ้า เล่น ๆ ไปก็จอฟ้าตอนแรกไม่ได้คิดอะไร คิดว่าเป็นที่วินโดว์ก็ลงวินโดว์ใหม่ ถอดแรม ทาซิลิโคนใหม่ก็ยังไม่หาย มาตกม้าตายไม่ใช่บอร์ดเสีย แต่เป็นพาวเวอร์ซัพพลายที่กำลังจะเสีย ซัพพลายจ่ายไฟให้ฮาร์ดดิสไม่นิ่ง อยู่ ๆ ดีฮาร์ดดิสก็หลุดไปทำให้เครื่องค้าง จอฟ้า เปิดมาอีกทีเครื่องเข้าไบออสอย่างเดียว มองไม่เห็นฮาร์ดดิส ตอนแรกมุ่งไปที่บอร์ดอย่างเดียว มาฉุกคิดได้ช้าไป เพราะได้สั่งอุปกรณ์บางส่วนมาเตรียมประกอบใหม่แล้ว
          ต้องบอกก่อนว่าผมแทบไม่มีประสบการณ์ในการประกอบคอมใหม่เลย ที่ผ่านมาก็ซื้อชุดบอร์ด+ซีพียู+แรมมือสองต่อจากเขามาอีกที ทำให้ไม่ต้องคิดอะไรมาก เอามาต่อไฟก็ใช้ได้แล้ว คอมตั้งโต๊ะที่เคยจับก็ตั้งแต่ซ็อกเก็ต 775 จากนั้นก็ขายคอมหันมาแกะโน้ตบุ๊คแทน บอร์ด PC รุ่นใหม่ ๆ ไม่เคยสัมผัสเลย เครื่องเดิมที่ผมใช้ เป็นบอร์ด Mini ITX ซีพียู AMD A6 ออนบอร์ด
เคสใหม่ที่จะประกอบ คราวนี้จะหาบอร์ดแบบแยกซีพียู เผื่อว่าอนาคตจะใช้คอมทำอย่างอื่น เงื่อนไขทั่วไปก็
               - เป็นบอร์ด Mini ITX หรือ กึ่ง ๆ Mini ITX
               - มีพอร์ท HDMI
               - มีสล็อท M.2
               - ราคาไม่เกิน 2,500
 
          เริ่มแรกก็หาดูในเว็บ Head Daddy ว่ามียี่ห้อไหนรุ่นใดบ้าง ตอนแรกกะจะเอาพวกซ็อกเก็ตใหม่ ๆ อย่าง 1155 V.2 รองรับ Core i เจน 8 เจน 9 อะไรอย่างนี้ ตัวราคาถูกอย่างของ ASRock ก็น่าสนใจ แต่ไปสะดุดตัวหนึ่ง ใน Advice  เป็นบอร์ดเก่าแล้ว ซ็อกเก็ต 1155 ใส่ Core i เจน 6 เจน 7 (ปัจจุบันเขาจะไป เจน 10 กันหล่ะ) เป็นบอร์ดยี่ห้อ MSI รุ่น Z270I ตอนเปิดตัวราคา 6,000 ตอนนี้เหลือ 1,800 บาท ไอ้เรางบน้อย จะเอาของตกรุ่นนิหล่ะ หาข้อมูลอย่างหนัก ทั้งแรมทั้งซีพียูที่รองรับ มั่นใจแล้วหล่ะจะเอาตัวนี้ ถึงเป็นบอร์ดเก่าก็เถอะ แต่วันต่อมาจะกดสั่งซื้อปรากฏว่า สินค้าหมด เวรกรรม ก็เลยหาดูในช็อปปี้และลาซาด้า ไปเจอร้านหนึ่งขาย 2,790 บาท แพงกว่าเป็นพัน จึงไปหาดูรุ่นอื่น แต่ก็ไม่มีสเปคและราคาที่ถูกใจเลย จึงกลับมาเอาบอร์ดตัวนี้ ที่ถูกใจบอร์ดตัวนี้เป็นเพราะพอร์ทที่ให้มาครบครัน ทั้ง HDMI, Display Pot, USB Type-C, ช่องต่อสัญญาณเสียงแบบ Optical , ระบบเสียง 7.1 Ch. มีไวไฟในตัว ชิปการ์ดเสียงดีกว่าตัวอื่น คือมีพอร์ทที่เพียงพอจริง ๆ เพราะผมไม่คิดจะซื้อการ์ดจอหรือการ์ดเสียงเพิ่ม ดังนั้นจึงเอาบอร์ดที่มีลูกเล่นเยอะ ๆ ไว้ก่อน อายุบอร์ดถ้าดูจากปีที่ชิปเซ็ตวางจำหน่ายก็ปี 2017 ก็พอกล่อมแกล้มได้กับราคาของมัน




         
         เรื่องชิปเซ็ตนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ตอนแรกผมก็ยังไม่เข้าใจดี พอดูไปเรื่อย ๆจึงสังเกตว่าผู้ผลิตมักใช้ชื่อชิปเซ็ตผสมลงในชื่อบอร์ดอยู่เสมอ อย่างบอร์ดข้างบน ASRock H310M-HDV อันนี้ใช้ชิปเซ็ต Intel H310 ส่วน Biostar B350GTN อันนี้ใช้ชิปเซ็ต AMD B350 เวลาเรียกชื่อบอร์ดก็จะเรียกชื่อชิปเซ็ตเลย เช่น “บอร์ด H110” “บอร์ด A320”    การรู้ชิปเซ็ตจะทำให้เรารู้คร่าว ๆ ว่าเมนบอร์ดตัวนั้นรองรับซีพียูอะไร เช่นว่า หากท่านต้องการประกอบคอมใหม่ ใช้ซีพียูอินเทลเจน 8 เจน 9 ท่านก็ต้องหาบอร์ดที่ใช้ชิปเซ็ต B3XX, H3XX อะไรพวกนี้ หรือถ้าซื้อบอร์ดมือสอง ก็ยังพอประเมินอายุของบอร์ดจากปีที่ชิปเซ็ตวางจำหน่าย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ควรรู้คือ บางชิปเซ็ต เดิมรองรับซีพียูเก่า แต่เมื่อมีซีพียูเจนใหม่ ๆ ออกมา ก็สามารถเอาซีพียูใหม่มาใส่บอร์ดเก่าได้ แต่มีข้อแม้ เช่น ต้องอัพเดตไบออสก่อนเพื่อให้บอร์ดรู้จักซีพียูใหม่ ๆ 



         เมื่อเลือกเมนบอร์ดได้แล้ว สิ่งต่อมาคือการเลือกซีพียูกับแรม ซึ่งไม่ได้ยุ่งยากอะไร ก็ไปดูที่หน้าเว็บผู้ผลิต เมนบอร์ดแต่ละยี่ห้อแต่ละรุ่นมันจะบอกหมดว่าบอร์ดนี้ใส่กับซีพียูและแรมยี่ห้ออะไรรุ่นอะไร 3 อย่างนี้แหล่ะครับ ตัวสำคัญ เครื่องจะเปิดติดไม่ติด ขึ้นอยู่ เมนบอร์ด ซีพียู แรม ถ้าอุปกรณ์ทั้งสามเข้ากันได้ เปิดติดขึ้นภาพแน่นอน ยี่ห้อแรมที่ผมจะใช้ก็ Kingston นิแหล่ะ หาง่ายดี เวลาเลือก ในความเร็วบัสเท่ากัน ให้หาค่า CL ต่ำ ๆ ไว้ เพราะค่าตัวนี้มันเกี่ยวกับเวลาในการเข้าถึงข้อมูล ยิ่งค่ามันน้อย ก็ยิ่งเข้าถึงข้อมูลได้ไว



        สำหรับซีพียู ในหน้าเว็บผู้ผลิตบอกว่ารองรับซีพียู Intel เจน 6 และ เจน 7 แต่มีปัญหาอย่างหนึ่งคือ ถ้าไบออสเป็นเวอร์ชั่นแรก จะรับเฉพาะซีพียูเจน 6 เท่านั้น นั่นหมายความว่า หากผมจะซื้อซีพียูเจน 7 มาใส่ ผมต้องซื้อซีพียูเจน 6 มาเปิดเครื่องเพื่ออัพเดตไบออสเสียก่อน จึงจะสามารถใส่ซีพียูเจน 7 ลงไปได้ แต่ผมไม่สามารถรู้ได้เลยว่าบอร์ดมันใช้ไบออสเวอร์ชั่นไหน จนกว่าผมจะได้บอร์ดมาลอง ผมคงไม่ซื้อซีพียูทั้งสองตัวแน่ ๆ ดังนั้นจึงต้องค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเมนบอร์ดรุ่นนี้ ค้นหากระทู้ที่ที่ถามตอบกัน ทั้งในไทยและต่างประเทศ สอบถามจากคนที่ใช้งานจริง ได้ข้อมูลจาก 2 ท่าน ต่างก็บอกว่าไม่ได้อัพไบออสก็ใส่ซีพียูเจน 7 ลงไปได้ อันที่จริง ถ้าผมซื้อซีพียูเจน 6 มาใส่ก็สิ้นเรื่อง แค่ดูหนัง ไม่ได้จะเอาซีพียูแรงเลย โดยมีตัวเลือกอยู่ 2 ตัวคือ Pentium G4400 และ Pentium G4560 แต่แบบ เมนบอร์มันรองรับ ก็อยากใส่ของใหม่ อะไรใหม่ ๆ มันก็เร็วกว่าเดิม



          ได้ 3 อย่างก็ประกอบคอมได้แล้ว ที่เหลือก็ทยอยสั่งซื้อ ทุกชิ้นเป็นมือหนึ่งทั้งหมด ยกเว้นซีพียูที่เป็นมือสอง ที่เหลือก็มีเคสกับพาวเวอร์ซัพพลาย ส่วน SSD ครั้งนี้จะใช้ Corsair MP510 ราคากลาง ๆ ไม่ถูกไม่แพงมาก ความเร็วพอได้อยู่ 3100/1050 MB/s ฮาร์ดดิสก็ใช้ลูกเดิม 4 TB เฉพาะเคสอย่างเดียว เห็นน้อย ๆ แค่นี้ หมดเงินไป 8,675 บาท




         ได้ของมาก็เริ่มประกอบเลย เริ่มที่ซีพียูก่อน ทาซิลิโคนไม่ต้องเยอะ ไม่ต้องปาด หยอดเป็นรูปกากบาทแล้ววางพัดลมลงเลย แรมก็เสียบลงไปตรง ๆ ดูรอยบากด้วย วางเมนบอร์ดลงบนวัสดุที่เป็นฉนวน เช่น ผ้า แล้วทดลองเปิดสวิตช์โดยไม่ต้องประกอบลงเคส ไม่ต้องต่ออุปกรณ์ตัวอื่น เอาแค่ บอร์ด ซีพียู แรม กับพาวเวอร์ซัพพลาย ถ้าเปิดติดขึ้นภาพค่อยไปต่อ




โชคดีที่ไบออสไม่ใช่เวอร์ชั่นแรก จึงเปิดติดขึ้นภาพ ทันทีที่เข้าไบออสได้ก็แฟลชไบออสเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดเลย



ต่อจากนั้นก็ปิดเครื่อง ติดตั้ง SSD เตรียมประกอบลงเคสเป็นลำดับถัดไปครับ



ตัวเคส Gview C2-10 ตัวเล็กแต่จุอุปกรณ์ได้เยอะ ทั้งฮาร์ดดิส 3.5 นิ้ว 1 ตัว ฮาร์ดดิส 2.5 นิ้ว 2 ตัว มีพาวเวอร์ซัพพลายแบบมินิขนาด 550 วัตต์มาพร้อม ขั้นตอนการประกอบก็ไม่ยาก ใส่ฝาหลังเมนบอร์ด วางเมนบอร์ดลงตำแหน่งยึดของมัน พวกสายสวิตช์ สายรีสตาร์ทก็เสียบลงไปตามคู่มือ เมื่อยึดอุปกรณ์ทุกอย่างเสร็จก็เก็บสาย โดยใช้เคเบิ้ลไทร์เส้นเล็ก ๆ รัดเก็บ ยึดกับเคส



เทียบขนาดกับเคสอะคริริคที่เคยทำไว้ สวยงามคนละแบบ



ทดสอบประสิทธิภาพ
หลังจากลงวินโดว์ ลงไดรเวอร์ทุกอย่างเรียบร้อย ก็ทำการทดสอบซีพียู แรม และ SSD ได้ผลออกมาตามภาพครับ



ครับ ก็มีเท่านั้นครับ สำหรับชุดดูหนังของผม รู้สึกพึงพอใจมาก เครื่องใหลลื่นดี ส่วนที่ชอบคือเสียงครับ บอร์ดตัวนี้ขับเสียงกระหึ่มดี ดูหนังสะใจมาก




         หลังจากประกอบเสร็จ ผมมีความสงสัยว่า คอมพวกนี้ มันใช้ไฟเท่าไหร่กันนะ เลยไปหาซื้ออุปกรณ์มาวัดดู เป็นวัตต์มิเตอร์ หาซื้อได้ใน Shopee เอามาวัดไฟดู ก่อนอื่นขออธิบายเรื่องวัตต์ก่อน

คือ ไฟฟ้า 1 หน่วย ที่เรารู้จักกัน ความหมายคือการใช้ไฟ 1 กิโลวัตต์ หรือ 1000 วัตต์ ภายในระยะเวลาเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ไม่ได้กำหนด แล้วแต่โหลด
เช่น พัดลมตั้งโต๊ะ 24 นิ้ว พลิกดูด้านล่าง เขียนว่ากินไฟ 50 วัตต์ ความหมายคือ ถ้าเปิดพัดลมตัวนี้ แรงสุด เบอร์ 3 ครบ 1 ชั่วโมง มันจะใช้ไฟไปทั้งหมด 50 วัตต์

แล้วต้องเปิดนานเท่าไหร่ถึงจะกินไฟครบ 1 หน่วย
เมื่อ 1 หน่วยที่เรารู้จักมันเท่ากับ 1,000 วัตต์ แสดงว่าเราสามารถเปิดพัดลมตัวนี้ยาวนานถึง 1,000 หาร 50 เท่ากับ 20 ชั่วโมง
นั่นคือ เปิดพัดลมติดต่อกันนาน 20 ชั่วโมง จึงจะเสียค่าไฟ 1 หน่วย

หรือกลับกัน เปิดพัดลม 1 ชั่วโมงจะเสียค่าไฟเท่าไหร่
ก็เอา 50 หาร 1,000 เท่ากับ 0.05 หน่วย ค่าไฟหน่วยละกี่บาทก็คูณไป เช่น ค่าไฟหน่วยละ 5 บาท ก็เท่ากับ 0.05 x 5 = 0.25
นั่นคือ เปิดพัดลม 1 ชั่วโมง เสียค่าไฟ 25 สตางค์

จะเห็นได้ว่าอัตราการกินไฟนั่นขึ้นอยู่กับกำลังไฟฟ้า ตัวไหนกำลังเยอะ หรือวัตต์เยอะ ๆ ก็กินไฟเยอะ เช่น พัดลมเมื่อกี้ ต้องเปิด 20 ชั่วโมง ถึงจะกินไฟครบ 1 หน่วย ในขณะที่เตารีดตัวเดียว เปิด 1 ชั่วโมงก็กินไฟไป 1 หน่วยแล้ว ใช้วัตต์มิเตอร์วัดจะรู้เลย
ส่วนคอมพิวเตอร์อย่าไปดูวัตต์ของพาวเวอร์ซัพพลาย บางคนใช้พาวเวอร์ซัพพลาย 1,000 วัตต์ กังวลว่า ถ้าเปิดคอม 1 ชั่วโมงมันก็กินไฟ 1 หน่วยไปแล้วสิ ความจริงไม่ใช่ ค่านั้นมันเป็นค่าสูงสุดที่พาวเอร์ซัพพลายจะจ่ายได้ กำลังใช้งานจริงมันอยู่กับอุปกรณ์ เช่นว่า ซัพพลายตัวเดียวกัน อีกเครื่องเป็น Pentium อีกเครื่องเป็น i7 ตัว เครื่องที่เป็น i7 มันก็ต้องกินไฟมากกว่า หรืออีกเครื่องมีฮาร์ดดิสตัวเดียว อีกเครื่องมีฮาร์ดดิส 4 ตัว เครื่องที่มีฮาร์ดดิสเยอะกว่าก็ต้องกินไฟเยอะกว่า 



ในชุดดูหนังของผม ประกอบด้วย คอม โทรทัศน์ 55 นิ้ว และ ลำโพง มาดูกำลังไฟฟ้าของคอม
          1. เปิดเครื่องไว้เฉย ๆ ซีพียู 0-2 % ใช้ไฟ 36 วัตต์
          2. เปิดไฟล์หนังจากฮาร์ดดิส ซีพียู 15% ใช้ไฟ 45 วัตต์
          3. รันซีพียู 100% ด้วยโปรแกรม Powermax ใช้ไฟ 62 วัตต์

จะเห็นว่า คอมที่ใช้ ๆ กัน ใช้ไฟน้อยมาก 60 วัตต์นิ  ถ้าเทียบก็ประมาณ พัดลมตั้งโต๊ะ 1 ตัว พาวเอร์ซัพพลายติดเคส 550 วัตต์จ่ายได้สบาย ถึงไม่ใช่พวก 80+ ก็เถอะ เคสนี้แบบไม่มีการ์ดจอนะ ถ้ามีการ์ดจอก็ด้วยก็น่าจะแตะหลักร้อย เทียบกับเคสตัวเก่าที่เป็นซีพียูออนบอร์ด ตัวนั้นจะกินไฟ 39 วัตต์เมื่อใช้ซีพียูสูงสุด
ส่วนโทรทัศน์ 55 นิ้ว LED กินไฟที่ 95 วัตต์ ลำโพงแค่ 23 วัตต์เท่านั้น มีบางช่วงที่เบสเยอะ ๆ จะขึ้นไป 26 วัตต์ ลำโพงนิแปลกอย่างหนึ่งคือ ไม่ว่าจะเสียงเบาเสียงหนักหรือปิดเสียงไปเลย มันจะยังกินไฟ 23 วัตต์ตลอด ทดลองปิดเสียงในคอม หมุนปุ่มลดที่ลำโพง ก็ยังใช้ไฟเท่าเดิม เป็นอีกเหตุผลหนึ่งไม่ควรเสียบปลั๊กลำโพงไว้ตลอด


แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่