วงการหนังสือทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ถึงการเข้ามาของกระแสดิจิทัล และการสื่อสารแบบไร้สายที่ส่งผลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังคมปัจจุบัน ระบบดิจิทัลทำให้รูปแบบการอ่านหนังสือเปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าคอนเทนต์จะมีเนื้อหาในรูปแบบเดิมก็ตาม แต่คนรุนใหม่อาจจะหยิบจับหนังสือเล่มน้อยลง แล้วหันไปอ่านหนังสือจากระบบดิจิทัลมากขึ้น เมื่อเราไม่สามารถต่อต้านคลื่นดิจิทัลที่โถมเข้าใส่นี้ได้ ดังนั้นเราควรนำเอาระบบดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
เช่นเดียวกับห้องสมุดต่างๆ ที่นับวันมีคนเข้าไปใช้บริการน้อยลงมาก คนนิยมการหาข้อมูลทางออนไลน์มากขึ้น การเข้าถึงข้อมูลสำคัญทางออนไลน์ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะความสะดวกสบายในการเข้าถึงข้อมูลง่าย โดยไม่ต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง แค่ดึงข้อมูลผ่านระบบการสื่อสารอินเทอร์เน็ตไร้สายก็มีข้อมูลจำนวนมาใช้งานได้แล้ว วันนี้ผมจึงอยากจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับคลังข้อมูลดิจิทัล ของหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมาเป็นคลังข้อมูลดิจิทัลกลางในชื่อว่า TU DIGITAL COLLECTIONS
ที่ผ่านมาหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat University Library) ได้ทำการแปลงข้อมูลจากระบบฮาร์ดก็อปปี้ที่เป็นหนังสือเล่มให้กลายเป็นข้อมูลทางดิจิทัลมานานแล้ว อีกทั้งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีห้องสมุดแยกย่อยอยู่อีกหลายแห่ง เช่น ห้องสมุดของคณะต่างๆ ดังนั้นการสร้างคลังดิจิทัลกลางขึ้นมา เพื่อการรวบรวมการเข้าถึงข้อมูลของระบบดิจิทัลต่างๆ ทั้งหมดนำมาไว้ที่ศูนย์กลางเดียวกัน เพื่อง่ายแก่การใช้งาน สะดวกในการสืบค้นและเข้าถึงข้อมูล อีกทั้งเปิดกว้างให้บุคคลภายนอกสามารถเข้าถึงข้อมูลของทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ด้วย โดยระบบ TU DIGITAL COLLECTIONS นี้เปิดตัวให้ใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ปัจจุบันเปิดให้บุคคลภายนอกใช้งานได้ฟรีด้วย ผมต้องขอแสดงความนับถือหัวใจของคนธรรมศาสตร์เลย เพราะข้อมูลสำคัญบางอย่าง รวมทั้งวิทยานิพนธ์สำคัญๆ ของนักศึกษาหลายคนก็มีอยู่เฉพาะในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น ดังนั้นการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าถึงข้อมูลได้ และให้เข้าถึงได้ฟรีด้วยนั้น ผมถือว่าเป็นความงดงามทางการศึกษาที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง
ในวันนี้ผมขออนุญาตรีวิวระบบ TU DIGITAL COLLECTIONS ของหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ท่านทราบ โดยผมจะเน้นถึงเบื้องหลังการทำงานของคลังข้อมูลดิจิทัลนี้ด้วย เพื่อเป็นประโยชน์แก่บุคคลที่สนใจและห้องสมุดต่างๆ ที่อาจจะนำแนวคิดการดำเนินงานของหอสมุดฯ ธรรมศาสตร์ ไปใช้ปฏิบัติตามให้เกิดประโยชน์ต่อไปในภายภาคหน้า รวมทั้งจะได้รู้ถึงวิธีการที่นำเอาหนังสือเล่มแปลงเปลี่ยนเป็นไฟล์ดิจิทัล เรียกว่าทางหอสมุดฯ ธรรมศาสตร์เปิดกว้างให้ข้อมูลแบบเจาะลึกทั้งหมดโดยไม่กั๊กเก็บไว้เลย
ส่วนการเข้าถึงข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์นั้น ผมจะเน้นในประเด็นสำหรับบุคคลภายนอกเท่านั้น ส่วนนักศึกษา, อาจารย์และบุคลากรใน ม.ธรรมศาสตร์น่าจะรู้จักระบบคลังข้อมูลดิจิทัลนี้แล้วก็ได้ แต่ถ้านักศึกษา มธ. ท่านใดยังไม่รู้จักก็ถือโอกาสนี้ทำความรู้จักไปพร้อมๆ กันเลย โดยผมอยากจะบอกว่า มันคงจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะเข้าไปทราบเรื่องราวหลังบ้านของใครสักคน การเข้าไปดูเบื้องหลังการทำงานนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ด้วย สำหรับข้อมูลและเรื่องราวในการเผยแพร่ทั้งหมดในกระทู้นี้ ผมได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลจากนางสาวศิวาพร อุทัยสาร์ หัวหน้างานจัดการทรัพยากรสารสนเทศ รักษาการหัวหน้างานพัฒนาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ของหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พาผมเข้าชมและอนุญาตให้บันทึกภาพการทำงานของหน่วยงานพัฒนาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งอนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูลในครั้งนี้ด้วย ผมขอขอบพระคุณมากครับ
คุณศิวาพร อุทัยสาร์ พาผมชมหน่วยงานพัฒนาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
TU DIGITAL COLLECTIONS คือคลังข้อมูลดิจิทัลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีหน่วยงานพัฒนาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งสังกัดหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีเว็บไซต์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกแห่งทั่วโลกผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
ณ วันนี้มีจำนวนทรัพยากรที่ให้บริการทั้งหมดรวม 93,000 กว่ารายการ จาก 24 คอลเลคชัน (หมวดหมู่)
สำหรับในส่วนของงานเบื้องหลังก่อนที่จะเป็นไฟล์สมบูรณ์ให้แก่ผู้ใช้บริการนั้น จะมีขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญอยู่ 4 ขั้นตอนคือ
ขั้นตอนที่ 1
-การเตรียมต้นฉบับ/เอกสาร ก่อนส่งหนังสือเล่มสแกน
-ตรวจสอบรายชื่อ ซ้ำ/หรือไม่ซ้ำในฐานข้อมูลของTU digital collections คือถ้ามีเป็นหนังสือเล่มอยู่แล้วเราจะไม่เอามาสแกน
-มีวิธีการคัดเลือกว่าจะเลือกหนังสือเล่มใดมาสแกนเป็นดิจิทัล ขึ้นอยู่กับแต่ละคอลเลคชัน(หมวดหมู่/เนื้อหาวิชาที่สำคัญ)
ขั้นตอนที่ 2
-ส่งหนังสือเล่มให้เจ้าหน้าที่ ทำการสแกนด้วยเครื่องสแกนเนอร์ 3 แบบ
-มีเครื่องสแกนเนอร์ ทั้ง 3 คือแบบ V-shape, Bookeye, Feed โดยเครื่องสแกนเนอร์แต่ละแบบจะมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกัน
ขั้นตอนที่ 3
-เมื่อสแกนหนังสือเสร็จแล้ว จะต้องมีการตรวจคุณภาพไฟล์ -ตรวจสอบความคมชัด, การเรียงหน้าถูกต้องเหมือนต้นฉบับ , การ crop ไฟล์ให้ดูสวยงาม รวมทั้งการ
ลดขนาดไฟล์ให้เหมาะสมพอดีเพื่อความสะดวกในการใช้งาน
ขั้นตอนที่ 4
-ส่งไฟล์ที่สแกนแล้วให้บรรณารักษ์ ทำข้อมูล metadata พร้อมตรวจสอบความถูกต้องก่อนเผยแพร่ในฐานข้อมูล TU DIGITAL COLLECTIONS
-ข้อมูล metadata เป็นมาตราฐานในการลงข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ เรียกว่าเป็นการลงข้อมูลตามมาตรฐาน metadata
-ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง ก่อนที่จะนำไฟล์ข้อมูลไปเยแพร่ในคลังข้อมูลดิจิทัล TU DIGITAL COLLECTIONS
(บน) เครื่องสแกนเนอร์แบบ V-shape
(บน) เครื่องสแกนเนอร์แบบ Bookeye
(บน) เครื่องสแกนเนอร์แบบ Feed
การเข้าใช้บริการ
ต้องทำอย่างไรถึงจะดาวน์โหลดเอกสารได้?
-ในกรณีที่เป็นนักศึกษา , อาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องเข้าสู่ระบบก่อนโดยใช้แอคเคาน์รหัสชุดเดียวกันกับ TU wifi
-ในกรณีที่เป็นบุคคลทั่วไป ให้สมัครสมาชิกก่อนในครั้งแรก โดย 1 ท่านสามารถสมัครได้เพียงแค่ 1 แอคเคาน์ (1 user) เพราะการสมัครจะใช้เลขที่บัตรประชาชนในการสมัคร หลังจากนั้นให้ไปยืนยันเข้าสู่ระบบจากอีเมล์ที่ท่านได้ให้ไว้
-เมื่อดาวน์โหลดไฟล์มาแล้ว จะมีวันหมดอายุอยู่ในบางคอลเลคชันเท่านั้น การหมดอายุจะมีลายน้ำขึ้นบอกไว้ที่มุมซ้ายล่างของเอกสาร ระบุถึงวันที่สามารถใช้ได้และชื่อผู้โหลดไฟล์นั้น ลายน้ำที่ปรากฏนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย ส่วนเมื่อไฟล์หมดอายุไปแล้วท่านสามารถโหลดไฟล์นั้นมาใช้ซ้ำได้ (ส่วนใหญ่ไฟล์มีอายุใช้งาน 30 วัน)
-มีบางคอลเลคชันที่สามารถใช้ได้เฉพาะนักศึกษา , อาจารย์และบุคลากรของธรรมศาสตร์เท่านั้น อาทิเช่น อีบุ๊กที่ทางหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซื้อไว้ ตามเงื่อนไขที่จัดซื้อจึงไม่สามารถเปิดให้ใช้แบบสาธารณะได้ โดยคอลเลคชันใดที่ใช้ได้เฉพาะในธรรมศาสตร์ จะมีวงเล็บต่อท้ายว่า TU network only นอกนั้นบุคคลภายนอกใช้บริการได้หมด เพราะถือว่าเป็นข้อมูลที่เผยแพร่สู่สาธารณะแล้ว
-สำหรับการล็อคอินเข้าสู่ระบบของบุคคลภายนอก จะใช้เลขบัตรประชาชนและอีเมล์ในการสมัคร โดยถ้ามีปัญหาในการใช้งานหรือการเข้าสู่ระบบ ผู้ใช้งานสามารถติดต่อผ่านเจ้าหน้าที่ผ่านหน้าเว็บไซต์ได้ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลระบบจะติดต่อตอบท่านผ่านอีเมล์ที่ท่านใช้ลงทะเบียน
-ไปดูเบื้องหลังการทำงานกันดีกว่า ในส่วนนี้ผมขออนุญาตนำเสนอเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจและห้องสมุดต่างๆ สำหรับความเข้าใจในการแปลงข้อมูลจากหนังสือเป็นไฟล์ดิจิทัล จริงๆ แล้วในส่วนนี้ทางหอสมุดฯ ธรรมศาสตร์ ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาชม ดังนั้นภาพถ่ายที่ผมถ่ายมาก็เพื่อการเผยแพร่เป็นประโยชน์ในเชิงการศึกษาเท่านั้น
เจาะลึกเบื้องหลังคลังข้อมูลดิจิทัล TU DIGITAL COLLECTIONS ของหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์