โครงการหนังสือเล่มแรก Bookstart
โดยมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก
ในวันนี้ผมขอนำเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกน้อยด้วยวิธีการอ่านหนังสือให้ฟัง รวมทั้งความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กเล็กมาเล่าให้ฟังด้วย สำหรับในกระทู้นี้ผมขอให้รายละเอียดผ่านโครงการหนังสือเล่มแรก Bookstart โดยมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ที่ริเริ่มและดำเนินงานโดยพี่ตุ๊บปอง เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป
จริงๆ แล้วโครงการหนังสือเล่มแรกหรือที่เรียกกันว่า “บุ๊คสตาร์ท” นี้ผมเคยได้ยินได้ฟังจากพี่ตุ๊บปองมาหลายรอบแล้ว แต่พอดีว่าผมไปเจอคนที่เขาอยากทำเกี่ยวกับเรื่องหนังสือเด็ก โดยเขาอยากทำในระดับองค์กรท้องถิ่น เขาอยากจะดำเนินการโครงการในลักษณะแบบนี้กับท้องถิ่นบ้านเขาบ้าง(ต่างจังหวัด) เขาสอบถามข้อมูลมาที่ผม ผมจึงรับปากเขาว่าจะไปสัมภาษณ์พี่ตุ๊บปองเพื่อทำเป็นสกู๊ปพิเศษให้ โดยผมหวังว่าข้อมูลและเรื่องราวที่ผมนำเสนอในกระทู้นี้น่าจะพอเป็นประโยชน์แก่คุณแม่มือใหม่ , ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับเด็กเล็กด้วย ผมจึงขออนุญาตนำเอาเรื่องราวและข้อมูลมาโพสไว้ในกระทู้ด้วยครับ
(สำหรับเรื่องราวในส่วนแรกจะเป็นข้อมูลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับโครงการหนังสือเล่มแรก Bookstart ที่เผยแพร่โดยมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ส่วนในครึ่งหลังจะเป็นการเขียนเรียบเรียงในส่วนที่ผมไปขอสัมภาษณ์พี่ตุ๊บปองเพิ่มเติมเพื่อนำมาประกอบคำอธิบายเนื้อหา ดังนั้นถ้ามีรายละเอียดหรือข้อมูลส่วนใดที่ผิดพลาดหรือตกหล่นไปบ้าง ผมก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ ขอบคุณครับ)
โครงการหนังสือเล่มแรก Bookstart
มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก
โครงการหนังสือเล่มแรก Bookstart ที่ดำเนินการในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ได้แนวคิดมาจากโครงการต้นแบบของประเทศอังกฤษ (Bookstart UK) ซึ่งเริ่มต้นโครงการเมื่อปี พ.ศ.2535 และโครงการตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น (Bookstart Japan) ซึ่งเริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 โดยให้ความสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ ของเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6-9 เดือน ด้วยการมุ่งเน้นให้พ่อ แม่ทุกคนเห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง รวมทั้งการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือตั้งแต่วัยเยาว์ โดยมีเป้าหมายที่จะให้พ่อ แม่ ลูกมีความสุขร่วมกันในโลกของหนังสือ นำสู่การสร้างพื้นฐานการอ่านและสานสัมพันธ์ในครอบครัว ตลอดจนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยนิสัยรัก การอ่าน โดยมีการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรของรัฐและเอกชนทั้งองค์กรส่วนกลางและองค์กรท้องถิ่น
ในทุกย่างก้าวของการทำงานในทุกปี และในทุกพื้นที่ จะเห็นภาพเป็นภาพเดียวกัน คือ เด็กน้อยในวัยขวบปีแรกนั้นเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมากมายจนน่ามหัศจรรย์ เริ่มตั้งแต่ เมื่อพ่อแม่อ่านหนังสือออกเสียงดัง ๆ เด็ก ๆ จะแสดงความสนใจใคร่รู้ ด้วยการจ้องหน้าพ่อ มองหน้าแม่ที่กำลังอ่านหนังสือ เมื่อพ่อแม่ทำบ่อย ๆ ทำทุก ๆ วัน วันละ 5 นาที 10 นาที เด็กเกิดการซึมซับ น้ำเสียง สีหน้า และภาษาของพ่อแม่ ยิ่งเมื่อพ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังแล้วแสดงพฤติกรรม ตามตัวละครในหนังสือ พ่อสมมุติว่าเป็นตัวละครตัวนั้น แม่สมมุติว่าเป็นตัวละครตัวนี้ แล้วให้ลูกเป็นละครตัวใดตัวหนึ่งที่ลูกอยากเป็น กระบวนการเช่นนี้ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ชีวิตอย่างมีมิติที่ลึกซึ้ง
วิธีการใช้หนังสือเล่มแรก Bookstart กับเด็ก
1. จัดมุมสบายๆ ในบ้านให้เป็นมุมหนังสือ เพื่อวางหรือแขวนถุงหนังสือเล่มแรกให้เป็นที่เป็นทาง เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่า เมื่อใดที่ต้องการหนังสือจะมาหยิบจากมุมนี้
2. จัดบรรยากาศในบ้านให้เอื้อต่อการอ่านหนังสือร่วมกัน เช่น ปิดโทรทัศน์แล้วเปิดหนังสือทุกวันหลังอาหาร 3 มื้อ
3. อุ้มลูกนั่งตักแล้วสื่อรักด้วยหนังสืออย่างสม่ำเสมอ
4. อ่านเมื่อไรก็ได้ อ่านที่ไหนก็ได้ อ่านได้ทุกเวลาในทุกสถานที่อย่างไม่จำกัด
5. อ่านออกเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ทำเสียงเล็กเสียงน้อย หรือเน้นเสียงเน้นคำ ตามเนื้อเรื่องในหนังสือเพื่อกระตุ้นให้ลูกเกิดความสนใจในสิ่งที่มีอยู่ในหนังสือแต่ละหน้าพร้อมชี้ชวนให้เด็กดูภาพ กอด สัมผัส หยอกเย้าและเคลื่อนไหวร่างกายไปด้วย
6. ในกรณีที่อ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านหนังสือไม่คล่อง ให้ใช้ภาพในหนังสือเป็นประเด็นในการพูดคุย ชี้ชวน และสอนเด็ก
7. ใส่ใจและแสดงการตอบรับทุกครั้งที่เด็กแสดงความต้องการหนังสือ
8. อ่านทุกวัน วันละ 5-15 นาที
ผลสำเร็จที่สำคัญยิ่งคือ
พบการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็ก ได้แก่ พ่อแม่ ปู่ย่าตายายและผู้ใหญ่ในบ้าน ใช้เวลากับเด็กมากขึ้น ทั้งร้องเพลง เล่านิทาน และอ่านหนังสือกับเด็ก โดยเฉพาะมีเวลาเล่นกับเด็กมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อีกทั้งพ่อแม่ยังได้ประเมินด้วยตัวเองว่า หลังจากใช้ชุดหนังสือเล่มแรกกับเด็กแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในครอบครัวอย่างชัดเจนทั้งด้านความสัมพันธ์ภายในครอบครัว และการใช้เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ กับเด็ก
ผลพลอยได้จากการดำเนินโครงการครั้งนี้พบว่า ครอบครัวที่มีเด็กวัย 2-12 ปี อยู่ร่วมด้วย จะมีส่วนร่วมในการใช้ชุดหนังสือเล่มแรกด้วย เช่น ให้แม่อ่านให้ตนเองฟัง หรือเป็นคนอ่านให้น้องฟัง ซึ่งอาจนำมาพิจารณาใช้เป็นกระบวนการทดแทนในครอบครัวที่ผู้เลี้ยงดูหลักต้องทำงาน และไม่มีเวลาอยู่กับเด็กมากนัก
ชุดหนังสือเล่มแรก จึงเป็นอีกความพยายามหนึ่งของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กที่ได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขในครอบครัว และหวังว่าตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเช่นนี้จะถูกนำไปใช้ในวงกว้างยิ่งขึ้นเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะน่าเป็นทางรอดของครอบครัวไทยในสังคมที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติเช่นนี้
16 ปีของการทำงาน ... เด็ก ๆ ในครอบครัวหนังสือเล่มแรกทำให้เห็นรูปธรรมว่า
ความสุข นั้นหาได้ไม่ยาก
ความสุข นั้นอยู่ใกล้ ๆ ตัวเรานี่เอง
ความสุข นั้นเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ ในครอบครัว เมื่อนิ้วน้อย ๆ ของลูกมาแตะ เกาะกุมมือพ่อ แม่ขณะที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟังอย่างอ่อนโยน
วิธีการดำเนินงานโครงการ “หนังสือเล่มแรก” Book start ในระดับปฏิบัติการ
บทสัมภาษณ์พี่ตุ๊บปอง เกี่ยวกับโครงการหนังสือเล่มแรก Book start (ให้ข้อมูลเพิ่มเติมโดยแม่กบและแม่ย้ง)
-สำหรับโครงการหนังสือเล่มแรกนี้ หน่วยงานที่เป็นองค์กรต่างๆ สามารถทำได้เองเลย โดยเฉพาะชุมชนระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ถ้าหน่วยงานใดที่มีงบประมาณอยู่แล้วก็จัดทำได้เองเลย สำหรับหน่วยงานใดที่สนใจและอยากจะทำโครงการหนังสือเล่มแรกจริงๆ พี่ตุ๊บปอง ยินดีไปอบรมให้คำแนะนำด้วยตัวเอง
-สำหรับองค์กรใดที่มีความตั้งใจที่อยากจะทำโครงการหนังสือเล่มแรก และมีงบประมาณสำหรับการจัดทำโครงการแล้ว ทางมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กมีถุงหนังสือเล่มแรกจำหน่ายในราคาชุดละ 500 บาท โดยในถุงจะมีหนังสือ 5 เล่มเป็นหนังสือสำหรับเด็ก 3 เล่ม เป็นหนังสือสำหรับผู้ปกครอง 2 เล่ม และมีตุ๊กตาผ้าเป็นรูปช้างอีก 1 ตัว สำหรับหน่วยงานใดอยากจะสั่งจำนวนมาก 300 – 500 ถุงขึ้นไป ก็สามารถจัดทำถุงพิเศษโดยระบุตราหรือโลโก้ขององค์กรที่จัดทำควบคู่กับตราโลโก้ Book start ของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กได้ (ทำถุงพิเศษเฉพาะแต่ละงานได้)
-เมื่อทางหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ได้ถุงหนังสือเล่มแรกไปแล้ว ทางพี่ตุ๊บปองและมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กจะประสานงานเพื่ออธิบายให้เข้าใจว่า หนังสือสำหรับเด็ก 3 เล่มนั้น ให้เด็กอ่าน ท่อง ร้อง เล่น อย่างไร? อาทิเช่น หนังสือนิทานภาพเรื่อง “ตั้งไข่ล้ม” เบื้องต้นให้คุณแม่อ่านตามตัวอักษรให้ลูกฟังก่อน นั้นจากนั้นค่อยร้องตามเนื้อเรื่อง โดยบางบทอาจจะร้องตามเป็นเพลงได้ โดยในหนังสือจะมีคิวอาร์โค๊ตสำหรับสแกนเข้าไปดูในคลิปว่า จะร้องอย่างไร? และเวลาที่คุณแม่อ่านให้ลูกฟังนั้นจะต้องมีการเล่นกับลูกด้วย เช่นการปรบมือก็คือการเล่น หรือร้องบทแมงมุมขยุ้มหลังคา ก็จะมีวิธีเล่นแบบเดิมที่เป็นจารีตการเล่นที่เรารู้จักกันดี (หยิกหลังมือต่อๆ กันขึ้นไป)
พี่ตุ๊บปอง เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป
-หนังสือสำหรับเด็กเล็กต้องตอบคำถามได้ 4 ข้อคือ ต้องอ่านได้ ต้องท่องได้ ต้องร้องได้ และต้องเล่นได้ ดังนั้นการที่คุณแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังโดยวิธีการอ่าน ท่อง ร้อง เล่น จะช่วยทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีดังนี้
1. ช่วยให้ลูกน้อยมีสุขภาวะทางกายดีโดยการที่เด็กได้เคลื่อนไหวเล่นตาม ได้ขยับตัวตามจังหวะ รวมทั้งการหยิบจับอะไรต่างๆ ฯลฯ จะช่วยเรื่องสุขภาวะทางกายเด็กให้ดีขึ้น
2. ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านสังคมดี โดยลูกจะมีภาพจำของแม่ที่ชัดเจนมากขึ้นทุกครั้งที่แม่หยิบหนังสือขึ้นมาอ่านให้ลูกฟัง โดยต้องเน้นว่าในตอนที่คุณแม่อารมณ์ดี ถ้าคุณแม่อารมณ์ไม่ดีเด็กจะไม่จำภาพตรงนี้เลย
3. ถ้าแม่อ่านหนังสือที่ดีด้วยอารมณ์ที่ดี ลูกก็จะมีอารมณ์ดีตามแม่ไปด้วย และลูกก็จะมีภาพจำที่ดีของแม่ตามไปด้วย
4. เด็กจะมีสังคมที่ดี เพราะมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่กับลูกและระหว่างลูกกับแม่ด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกจะดีแน่นอน ลองสังเกตดูได้ว่าในเวลาแม่คนไหนอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ยิ่งอ่านด้วยโทนเสียงที่อ่อนโยนมาก เราจะเห็นแววตาของทั้งแม่และลูกมีประกายความสุขอย่างชัดเจน
5. เด็กพอได้ฟังก็จะมีความคิดสติปัญญาดีขึ้นแน่นอน เด็กพอได้ยินระบบประสาทสัมผัสจะเริ่มทำงานด้วยการได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็น ได้เล่น ได้สัมผัส ฯลฯ ระบบความจำของเด็กจะจดจำสิ่งที่แม่เล่าให้ฟังได้ ยกตัวอย่างเช่นถ้าแม่ร้องเพลงกระต่ายตื่นตูมให้เด็กฟังบ่อยๆ พออายุแค่ขวบครึ่งเด็กสามารถท่องร้องกระต่ายตื่นตูมได้แล้ว
6. เด็กจะมีภาษาที่ดีด้วย ในกรณีที่เด็กเล็กพูดยังไม่ชัด การที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังแล้วออกเสียงให้ชัดและถูกต้อง ทำให้เด็กสามารถเลียนเสียงและจดจำเสียงที่ถูกต้องเอาไว้ได้ด้วย
7. การที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังนั้นจะช่วยในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม โดยเด็กจะได้คุณธรรมและจริยธรรมจากหนังสือที่เสถียรมาก เพราะพ่อแม่หรือครูก็สอนเรื่องคุณธรรมไม่เสถียร(ไม่มั่นคง) บางอารมณ์ก็สอนบางอย่าง แต่ในหนังสือไม่ว่าจะหยิบมาเมื่อไหร่ก็จะสอนแบบเดิมเสมอ ไม่ว่าจะดูเมื่อไหร่ก็เป็นเรื่องเดิมและภาพเดิมเสมอ ในหนังสือนิทานทุกเรื่องจะมีการสอนเรื่องคุณธรรมแฝงไว้ในเรื่องด้วย .... (อ่านต่อในความคิดเห็นที่ 1)
โครงการหนังสือเล่มแรก Bookstart โดยมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก