กษมา นิสสัยพันธุ์
กษมา นิสสัยพันธุ์ เกิดวันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2502 ชื่อเล่นว่า "เอ๋" เป็นคนกรุงเทพตั้งแต่กำเนิดบิดาเป็นทหารเรือ ส่วนมารดาทำอาชีพครู
ชีวิตในช่วงวัยเด็กของคุณเอ๋อาศัยอยู่ที่สุขุมวิท 62
ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ความฝันของเขาคือการเดินตามรอยอาชีพทหารเรือเหมือนเช่นพ่อของเขา แต่คุณพ่อต้องการให้ลูกๆ ทำอาชีพอื่นที่ไม่ใช่อาชีพทหารเรือเหมือนกับตน เพราะความไม่ก้าวหน้าทางอาชีพ แต่สุดท้ายคุณเอ๋ก็ไม่สามารถเป็นทหารเรือได้เพราะอาการป่วยเป็นโรคหอบหืด และด้วยอะไรหลายๆ อย่างบวกกับการที่คุณพ่อไม่ได้ให้การช่วยเหลือหรือฝากฝังใดๆ ทำให้คุณเอ๋พลาดโอกาสการเป็นทหารเรือไป
แม้คุณเอ๋จะมีความเป็นอยู่ที่ไม่แย่มากนัก เพราะด้วยการที่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ทำอาชีพราชการ แต่เขาได้มีโอกาสทำงานตั้งแต่ที่เรียนหนังสือด้วยเหตุผลในทำนองว่าตนเป็นคนไม่ขยันเรียนจึงหางานต่างๆ ทำเพื่อที่จะไม่ได้ต้องเรียนหนังสือมากนัก จนมีวันนึงที่คุณแม่มีความคิดอยากจะหาอะไรให้เขาทำจึงได้แนะนำให้เขาได้สมัครเข้าไปเป็นนักเรียนในโรงเรียนการแสดงช่อง 3
ในยุคนั้นทางช่อง 3 ได้จัดตั้งโรงเรียนการแสดงเพื่อเฟ้นหาบุคคลผู้มีแววเจิดจรัสสามารถเป็นนักแสดงที่ดีในอนาคตได้ โดยจะมีคุณครูผู้เป็นบุคลากรชั้นนำช่วยฝึกสอนการแสดงให้กับนักเรียน หนึ่งในบุคคลสำคัญในโรงเรียนการแสดงช่อง 3 แห่งนี้ที่เป็นผู้ชักนำให้คุณเอ๋ได้เล่นบทไอ้ฟักคือ "อาจารย์สดใส พันธุมโกมล"
การไปสมัครในครั้งนี้คุณเอ๋ไม่ได้มีความมั่นใจมากมาย เพราะด้วยหน้าตาของเขาไม่ได้หล่อโดดเด่นมากนัก แต่สุดท้ายเขาได้รับคัดเลือกให้เป็นนักเรียนการแสดงของช่อง 3 จากผู้สมัครกว่า 30,000 คน หลังจากคัดเลือกจนเหลือเพียงแค่ 45 คน อันที่จริงแล้วเขานั้นได้ลำดับที่ 46 แต่อาจารย์สดใสได้ถูกใจคุณเอ๋ตั้งแต่วันที่สมัครจึงได้ให้คุณเอ๋ผ่านเข้ามาเป็นนักเรียนการแสดงเพื่อนำตัวมาแคส แต่ในเริ่มแรกพอถึงเวลาแคสจริงๆ คุณเอ๋กลับไม่ได้บทนี้ไป และคุณเอ๋เป็นนักเรียนรุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับ "คุณป้อ ปริญญ์ วิกรานต์" ที่ได้ร่วมในแสดงในคำพิพากษาเช่นเดียวกัน
จุดเริ่มต้นสู่การเป็นไอ้ฟักของคุณเอ๋เริ่มมาจากการที่อาจารย์สดใสได้มีความคิดที่จะสร้าง "คำพิพากษา" ผลงานบทประพันธ์สะท้อน เสียดสีสังคม ของคุณชาติ กอบจิตติ ที่ได้รับรางวัลซีไรท์ในรูปแบบของละครโทรทัศน์ อาจารย์สดใสจึงได้แคสนักเรียนในโรงเรียนการแสดงที่จะมารับบทบาท "ไอ้ฟัก" โดยการแคสในครั้งนี้ท่านได้ให้โจทย์นักเรียนว่า
"ให้เล่นบทบาทอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่คน"
โดยคุณเอ๋ได้เลือกที่จะเล่นเป็น "สุนัข" ซึ่งเขาได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า สุนัขที่เขาเล่นก็คือสุนัขในเรื่องที่ถูกพิพากษาว่าเป็นหมาบ้า และไอ้ฟักก็ต้องตีมันเพื่อไม่ให้ไปทำร้ายใคร โดยที่เขาในตอนนั้นก็ไม่ได้รู้เรื่องราวในจุดนี้มาก่อนเลย จนในที่สุดสองอาทิตย์ต่อมาอาจารย์สดใสได้ให้หนังสือนิยายเรื่องคำพิพากษาเพื่อให้เขากลับไปอ่าน และในวันต่อมาเขาก็ได้ถูกนำไปฝึกซ้อมเตรียมตัวสำหรับการเป็นไอ้ฟัก เริ่มแรกบทบาทของสมทรงได้ถูกวางตัวให้นักแสดงหญิงคนนึงนำแสดง แต่ด้วยภารกิจและความไม่พร้อมต่างๆ ทำให้บทสมทรงตกมาอยู่ในมือของ "คุณจิ๋ม กุลกนิช คุ้มครอง" ในที่สุด
ก่อนที่ละครเรื่องคำพิพากษาจะออกสู่สายตาผู้ชม ทีมนักแสดงได้ผ่านการฝีกซ้อมมาเป็นอย่างดี โดยในโรงเรียนการแสดงจะมีห้องๆ นึงที่ถูกจำลองฉากให้เหใอนกับฉากที่ใช้ถ่ายทำจริงๆ และคุณเอ๋ต้องไม่สระผมของเขาเพื่อให้สมกับบทบาทขี้เมาของไอ้ฟัก ส่วนชุดกากีที่เราเห็นนั้นแท้จริงแล้วก็คือชุดของคุณพ่อของเขานั่นเอง
ในที่สุดหลังจากการเพียรพยายามของทีมงาน ณ
ปีพุทธศักราชที่ 2528 ละครเรื่องคำพิพากษาได้ลงจอออกฉายทางช่อง 3 ผลตอบรับจากทางผู้ชมออกมาเกินคาดเป็นอย่างมาก เพราะด้วยเนื้อเรื่องของละครที่ไม่ใช่สูตรสำเร็จ คำพิพากษาเป็นเนื้อเรื่องแนวสะท้อนเสียดสีสังคมซึ่งมีความตึงเครียดเป็นอย่างมาก แต่ถึงกระนั้นผู้ชมกลับให้การตอบรับกับละครเรื่องนี้เป็นอย่างดี จนทำให้คุณเอ๋และคุณจิ๋มซึ่งเป็นนักแสดงนำของเรื่องแจ้งเกิดอย่างงดงาม บทบาทของไอ้ฟักและสมทรงกลายเป็นภาพจำที่ติดตัวทั้งสองมาจนจวบจนปัจจุบัน อีกทั้งในปีนั้นชื่อของทั้งสองก็ได้เข้าชิงในเวทีเมขลาสาขานักแสดงนำชาย และนักแสดงนำหญิง ซึ่งคุณจิ๋มในบทของสมทรงก็สามารถคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในปีนั้นมาครองได้สำเร็จ
หลังจากการออกฉายของคำพิพากษาดูเหมือนว่าจะไม่มีผลงานการแสดงเรื่องไหนของคุณเอ๋ที่โดดเด่นเท่า เพราะบทบาทส่วนใหญ่จะเป็นในบทรอง บทสมทบ เช่น "ทับ" จากเรื่อง สายโลหิต ปี 2529, "ตระกล" ในละคร เจ้าสาวของอานนท์ ปี 2531 และบทร้ายอย่าง "ย้ง" หนึ่งในทรชนที่ข่มขืนสองแม่ลูกจากละครเรื่องล่า ปี พ.ศ. 2537 ฯลฯ
หลังจากที่คลุกคลีกับการทำงานเบื้องหน้า คุณเอ๋เริ่มที่จะผันไปทำงานเบื้องหลังกับทางค่ายละครต่างๆ เช่นมาสเตอร์วันของ "คุณก้อย ทาริกา" หรือการทำงานกับทางค่ายทีวีซีน โดยงานเบื้องหลังที่เขาทำนั้นจะเป็นในหลายหน้าที่ เช่น ผู้ช่วยผู้กำกับ หรือแม้แต่การเป็นผู้กำกับ ผลงานเด่นๆ ของเขาคือเรื่อง "อตีตา" ในปี พ.ศ. 2544
โดยส่วนตัวแล้วคุณเอ๋มีบุคลิคเป็นคนขี้เล่น ตลก และกล้าแสดงออก เป็นหัวโจกของกลุ่มเพื่อนๆ ส่วนในทางด้านชีวิตรักคุณเอ๋ถือได้ว่าเป็นพระเอกนอกจอคนนึงเลยก็ว่าได้ เขาได้พบรักกับนักแสดงสาว "คุณดี้ ปัทมา ทานทอง" ในกองถ่ายละครเรื่องเพลิงพระนางหลังจากที่ได้รู้จักอุปนิสัยใจคอและได้คบหาดูใจจนตัดสินใจแต่งงานกัน ทั้ง 2 ไม่ได้มีลูกด้วยกัน แต่คุณเอ๋มีลูกเลี้ยงชื่อว่า "พลอย ภัทราภรณ์ ปานทอง" ที่เกิดจากสามีคนเก่าของคุณดี้
แม้พลอยจะไม่ใช่ลูกแท้ๆ ของเขา แต่เขาก็รักและเลี้ยงดูเธอเหมือนลูกแท้ๆ จนมีหลายคนพูดในทำนองหยอกล้อว่าคุณเอ๋เป็นพ่อแท้ๆ แต่คุณดี้เป็นแม่เลี้ยง
ในช่วงวัยเด็กแม้พลอยจะเรียกเขาว่า "ลุงเอ๋" ทั้งเขาและคุณดี้ก็ไม่เคยบังคับให้เธอเรียกเขาว่า "พ่อ" เลย จนมีอยู่วันนึงที่พวกเขาได้ไปเยี่ยมคุณบี วรรณิศาและครั้งนั้นเองที่พลอยได้ยินลูกของคุณบีเรียกคุณพ่อของเขาว่า "แดดดี้" เธอจึงถามคุณเอ๋ว่า
"แดดดี้แปลว่าอะไรคะ?" และคำถามต่อมาที่ตามมานั้นก็คือ
"หนูเรียกลุงว่าแดดดี้ได้ไหม?"
แน่นอนว่าคุณเอ๋ไม่ได้ปฏิเสธเลยแม้แต่น้อย เขาเต็มใจให้เด็กสาวคนนี้เรียกเขาว่า "แดดดี้" ถึงแม้ว่าเธอจะไม่ใช่ลูกแท้ๆ เขาเลยก็ตาม
ปัจจุบันเธอได้สำเร็จการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต้องฝึกงานศึกษาต่ออีกประมาณ 8 ปี
อีกทั้งคุณดี้ยังเคยพูดถึงคุณเอ๋ว่าเขาเป็นคนไม่ค่อยดูแลตัวเอง ทำให้เธอจึงต้องดูแลให้สามีของตนดูดีอยู่เป็นประจำ
นับว่าเป็นเรื่องราวความรักและสายสัมพันธ์สุดน่าประทับใจ ที่ถึงแม้ในจอเขาอาจจะไม่ใช่พระเอก แต่นอกจอนั้นเขาคือพระเอกตัวจริงเสียงจริง
ขอขอบพระคุณภาพจาก : https://bit.ly/2lWt5kp
ปัจจุบันคุณเอ๋ กษมาได้มีผลงานเบื้องหลังและรับผลงานการแสดงเป็นช่วงๆ ล่าสุดเขาได้กลับมามีผลงานการแสดงที่โดดเด่นอีกครั้งในบทบาทของ "กำนันศร" จากละครเรื่อง "กรงกรรม" ละครกระแสแรงในปีนี้
ผลงานการแสดงเรื่องนี้ของเขาถูกพูดถึงเป็นอย่างมากเพราะด้วยเนื้อหา บท และการกำกับที่ยอดเยี่ยม ผนวกกับทีมนักแสดงทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นเล็กที่แสดงออกมาได้อย่างดีเยี่ยมทำให้ละครเรื่องนี้เป็นที่พูดถึงและน่าติดตามของผู้ชมเป็นอย่างมาก อีกทั้งคุณจิ๋มและคุณป้อได้ร่วมแสดงในละครเรื่องนี้อีกด้วย
นับตั้งแต่เรื่องคำพิพากษาดูเหมือนว่าเมื่อใดที่เราเห็นกษมา นิสสัยพันธุ์ ภาพของ "ไอ้ฟัก" ก็มักจะลอยมาในห้วงความคิดคำนึงของเราอยู่เสมอ มิใช่ว่าเขาไม่สามารถสลัดภาพไอ้ฟักออกไปได้ แต่ "พวกเรา" ต่างหากละที่ไม่สามารถลบภาพไอ้ฟักออกไปจากชายหนุ่มนามกษมา นิสสัยพันธุ์ได้
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ที่ละครได้ออกฉาย ณ วันนี้ได้ผ่านมากว่า 30 ปี แต่ภาพของไอ้ฟักและสมทรงที่ทั้งคุณเอ๋และคุณจิ๋มได้เคยโลดแล่นอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์ก็ยังคอยทาบอยู่บนตัวพวกเขาอยู่เสมอ
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า "พวกเขา" ไม่ได้สลัดภาพตัวละครเหล่านี้ไม่ได้แต่เป็น "พวกเรา" ต่างหากที่ไม่สามารถสลัดภาพตัวละครเหล่านี้ไปจากพวกเขาได้
"ไอ้ฟักตลอดกาล"
เชื่อว่าหากจะใช้คำนี้กับกษมา นิสสัยพันธุ์ คงจะไม่เป็นการเกินเลยไปนัก
สวัสดี.
ขอขอบพระคุณภาพจาก : ภาพจากหนังสือเรื่องย่อละครไทย
ประวัติชีวิตความเป็นมาและหนทางสู่การเป็น "ไอ้ฟัก" ของไอ้ฟักตลอดกาล "กษมา นิสสัยพันธุ์"
สวัสดี.