งานเปิดตัวหนังสือ “พรานทุ่ง”



ผมขอนำท่านไปพบกับงานเปิดตัวหนังสือดีเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือดีที่ทรงคุณค่าในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและการยังชีพของคนในท้องทุ่ง ใช่แล้วครับหนังสือเล่มที่ว่านี้คือ “พรานทุ่ง” ที่เขียนโดย คุณสัจภูมิ ละออ ปราชญ์หนุ่มมาดเท่ ชาวจระเข้สามพันแห่งลุ่มแม่น้ำสุพรรณบุรี

จริงๆ แล้วเวทีเสวนานี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมบนเวทีของงาน “จตุรัสจามจุรีบุ๊คแฟร์” ครั้งที่ 11 ที่จัดขึ้นจนถึงวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2562 นี้ โดยงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “พรานทุ่ง” นี้มีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน 2562 เวลา 12.00 – 13.00 น. ณ โถงชั้น G อาคารจามจุรีสแควร์ สามย่าน

บนเวทีเสวนามีวิทยากรดังนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฟ้อน เปรมพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี , คุณสัจภูมิ ละออ ผู้เขียนหนังสือ “พรานทุ่ง” และอาจารย์ธีรภาพ โลหิตกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (สารคดี) ในนามของสำนักพิมพ์ เรือนพิมพ์แม่ชอบ ผู้จัดพิมพ์หนังสือ “พรานทุ่ง” ดำเนินรายการโดยอาจารย์แพรว พิมพ์โพธิ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี



(รายละเอียดที่ผมเรียบเรียงมานำเสนอนี้ มีไม่ครบทุกช่วงที่ท่านวิทยากรพูด ผมตัดเอามานำเสนอแค่บางส่วนเท่านั้น เพื่อท่านให้ท่านพอเห็นภาพโดยรวมของหนังสือเล่มนี้ ท่านใดต้องการทราบข้อมูลทั้งหมดผมมีคลิปบันทึกการเสวนาใส่ไว้ให้ในตอนท้านกระทู้นี้ (เสียงอาจจะฟังยากสักนิดต้องขออภัยด้วยครับ) สำหรับข้อความที่ผมเรียบเรียงมานำเสนอนี้ อาจจะไม่ตรงกับทุกคำพูดของท่านวิทยากร ถ้าข้อมูลใดที่ผมสื่อความหมายผิดไปทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงนั้น ผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)

อาจารย์แพรว พิมพ์โพธิ์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฟ้อน เปรมพันธุ์


อาจารย์ฟ้อน เปรมพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี

-ที่มาของหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้วคือในปี 2544 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีอยากจะทำหนังสือชุดหนึ่งที่เรียกว่า “รวมพลคนตะวันตก” ซึ่งเป็นความตั้งใจของพวกเราชาวคนตะวันตก ที่ได้รวบรวมนักคิดนักเขียนที่เป็นชาวตะวันตก เพื่อทำงานรวบรวม, ศึกษาและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนชาวฝั่งตะวันตก ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงได้ผลิตหนังสือออกมาเล่มหนึ่งเป็นเล่มแรกของคณะมนุษยศาสตร์ฯ พอหนังสือออกมาแล้วก็ตั้งใจจะทำต่อ

-ในหนังสือเล่มแรกที่ทางคณะมนุษยศาสตร์ฯ ทำออกมานั้น ในเล่มมีงานชิ้นหนึ่งเป็นผลงานของคุณสัจภูมิด้วย โดยบรรณาธิการของหนังสือเล่มนั้นได้เชิญวัฒน์ วรรลยางกูร มาร่วมงานด้วย โดยที่เขาเป็นคนลพบุรีแต่ไปทำงานอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี โดยเขาเป็นนักคิดนักเขียนที่ชอบพอกันอยู่ จึงได้ชวนมาเป็นบรรณาธิการให้ และคุณสัจภูมิก็เป็นนักเขียนอยู่ในกลุ่มรวมพลคนตะวันตกนี้ด้วย

-ในหนังสือเล่มแรกนั้นมีบทความหนึ่งชื่อว่า “ดักลอบ” เป็นผลงานเขียนของคุณสัจภูมิที่บรรณาธิการเห็นว่าน่าจะต่อยอดงานเขียนในแนวนี้ได้ จึงฝากให้คุณสัจภูมิดำเนินการต่อ คุณสัจภูมิก็ทำงานต่อเนื่องจนสามารถที่จะรวมเล่มได้ ซึ่งหนังสือ “พรานทุ่ง” นี้พิมพ์ออกมา โดยการจัดพิมพ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว คือที่ผ่านมาตัวผมในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลคนตะวันตกได้รู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้มันหายไปนานมากแล้ว ซึ่งเป็นหนังสือที่ดีที่น่าอ่านที่บันทึกภูมิปัญญาของคนชาวทุ่งทั้งหลาย ทั้งลูกทุ่ง ทั้งคนต่างจังหวัดหรือคนท้องถิ่น ซึ่งคนรุ่นหลังไม่สามารถที่จะหาอ่านได้แล้ว

-จึงคิดกันว่าหนังสือดีอย่าง “พรานทุ่ง” เล่มนี้น่าจะมีการจัดพิมพ์อีกสักครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ได้อาจารย์ธีรภาพ โลหิตกุลเป็นทั้งแม่งานและเป็นบรรณาธิการให้ด้วย ดังนั้นในนามของสำนักศิลปะและวัฒนธรรมฯ ก็ต้องขอขอบคุณอาจารย์ธีรภาพ ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย สำหรับตัวนักเขียน คุณสัจภูมิก็ถือว่าเป็นน้องที่ได้ทำงานร่วมกันมาตลอดเวลา 8 ปีจนถึงวันนี้เกิดเป็น “พรานทุ่ง” ฉบับพิมพ์โฉมใหม่เป็นครั้งที่ 3 จนได้

-ทุกวันนี้อยากจะบอกว่า ทิศทางของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ส่งต่อจากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ที่คนรุ่นต่อมา(คุณสัจภูมิ)ได้เก็บนำเอามาเผยแพร่นั้น ในวันนี้มันก็ถูกนำกลับมารับใช้คนในสังคมแล้ว เพราะว่าคนในยุคปัจจุบันก็มีความโหยหาในสิ่งที่มันเป็นอดีต เราจึงมองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นคุณค่าของภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษเรามอบให้ไว้ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในท้องถิ่น ลูกทุ่ง บ้านทุ่ง บ้านนา ฯลฯ เมื่อสังคมมันเปลี่ยนแปลงไปวิถีมันก็เปลี่ยนตาม ดังนั้นคุณค่าต่างๆ มันก็อาจจะถูกละเลยไปบ้าง แต่ในวันนี้มันได้ถูกนำกลับมาให้สังคมรับรู้และเรียนรู้วิธีการโบร่ำโบราณของคนเฒ่าคนแก่ในอดีตอีกครั้ง สิ่งเหล่านี้เป็นคุณค่าแก่เด็กรุ่นหลังๆ ที่จะได้เรียนรู้ จึงนำมาสู่การจัดพิมพ์ในครั้งที่ 3 นี้


คุณสัจภูมิ ละออ


คุณสัจภูมิ ละออ ผู้เขียนหนังสือ “พรานทุ่ง”

-ตัวผมเมื่อครั้งเป็นเด็กนั้นไม่ได้มีโอกาสทางการศึกษาเหมือนกับเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน ผมจบ ป.4 ออกไปเลี้ยงควายอยู่ 4 ปี ได้เรียนรู้วิชาทำมาหากินจากคุณพ่อของผม ซึ่งพ่อผมเป็นคนที่หาของกินเก่งมาก เชี่ยวชาญในการจับปลามาก แค่เห็นปลาวาบผุดขึ้นมาที่ผิวน้ำก็สามารถบอกได้เลยว่าเป็นปลาอะไร แล้วมันหันหัวไปทางไหน(มันว่ายไปทางไหน) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่คนทอดแหต้องมองให้ออก ต้องอ่านให้ออกโดยอ่านจากวงที่ปลามันตีน้ำ ซึ่งปลาแต่ละชนิดจะตีวงน้ำไม่เหมือนกัน

-พ่อผมไม่ใช่แค่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาเพียงอย่างเดียว แต่นกก็เชี่ยวชาญด้วย พ่อผมเอานกมาต่อได้ นอกจากนั้นยังจับกระต่าย และอีเห็นได้ด้วย คือสัตว์ป่าต่างๆ ที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้นั้น พ่อผมสามารถทำเครื่องมือต่างๆ เพื่อจับสัตว์เหล่านั้นได้ คือในหมู่บ้านสมัยก่อนนั้นในแต่ละหมู่บ้านจะมีร้านค้าแค่ร้านเดียว หรือบางหมู่บ้านอาจจะไม่มีเลยก็ได้ ดังนั้นกับข้าวทั้งหลายเราสามารถหากินจากในท้องทุ่งได้

-ผมจึงได้เรียนรู้วิธีการหากับข้าวต่างๆ (จับสัตว์) นี้มาจากพ่อของผม การที่นำเอาเรื่องราวเหล่านี้มาเขียนได้นั้น มีผลมาจากการที่ผมเรียนรู้และเข้าใจในวิธีการต่างๆ ที่พ่อผมสอน ผมเข้าใจในเรื่องราวของสัตว์ที่จะจับกิน แล้วผมก็รู้ว่าถ้าจะดักสัตว์ตัวนี้ผมต้องทำเครื่องมืออย่างไร? ซึ่งผมได้เรียนรู้ภูมิปัญญาต่างๆ เหล่านี้มาจากพ่อของผม แล้วพ่อของผมก็เรียนรู้มาจากปู่ ปู่ผมก็เรียนรู้มาจากทวดของผม เรียนรู้กันมาเป็นทอดๆ ต่อกันมาเรื่อย ซึ่งก็คือการเรียนรู้มาจากบรรพบุรุษนั้นเอง

-การที่เราจะจับสัตว์มากินเป็นอาหารได้นั้น เราต้องรู้จักสัตว์พวกนั้นว่ามันมีนิสัยอย่างไร มีนิสัยอยู่ 3 ประการที่ทำให้เราจับสัตว์นั้นมากินได้ คือประการที่หนึ่งสัตว์มันต้องหากินอยู่ตลอด เพราะกระเพามันเล็กถึงเวลามันต้องหากิน ดังนั้นถ้าเราจะจับมันเราต้องไปยังแหล่งที่มันหากิน ประการที่สองสัตว์มันจะหวงคู่มันมาก เช่นนกคุ่ม นกกระทา ฯลฯ ดังนั้นเวลาจะจับมันได้ เราต้องไปต่อมัน ประการที่สามสัตว์มันต้องหาคู่ เช่นในเวลาฝนตก กบในนามันจะร้องหาคู่ของมัน ซึ่งเสียงที่มันร้องเรียกคู่นั้นทำให้เราจับมันได้ และในเวลากลางคืนดวงตาของกบจะเป็นสีชมพู พอเราฉายไฟไปมันจะไปสะท้อนที่ดวงตาของกบ ทำให้เราจับมันได้เลย

-การที่ผมได้เรียนรู้วิธีการจับสัตว์พวกนี้มากินเป็นอาหารนั้น ก็คือการที่ผมได้เดินตามหลังพ่อผมไป ซึ่งผมก็คิดว่าการที่เรารู้จักวิธีการจับสัตว์ต่างๆ เหล่านี้ แล้วคนในเมืองคนในกรุงเทพเขาจะรู้เหมือนเราหรือไม่? เขาจะรู้ไหมว่าเราดักลอบอย่างไร? เราดักไซอย่างไร? เราดักปลาอย่างไร? ทำอีจู้อย่างไร? ทำลอบอย่างไร? ฯลฯ เราอยากจะเขียนบันทึกไว้แต่ยังไม่มีโอกาสได้เขียน จนกระทั่งในวันหนึ่งที่ผมได้เรียนต่อ ได้เรียนรู้อะไรต่างๆ เพิ่มเติมมากขึ้น ได้เป็นนักอ่าน และได้เขียนหนังสือ พอดีว่าพี่วัฒน์ วรรลยางกูรและอาจารย์ฟ้อน เปรมพันธุ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ต้องการเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน ผมจึงเอาเรื่องราวที่ผมอยากจะเล่า อยากจะบอกอยู่แล้ว อยากจะส่งต่อประสบการณ์ในวัยเยาว์ของผมให้คนอื่นได้รับทราบ ซึ่งประสบการณ์ชีวิต 4 ที่ผมเลี้ยงควายนั้นมันคือมหาลัยชีวิตของผมเลย อย่างน้อยที่สุดผมก็เป็นชาวบ้านคนหนึ่งที่เรียนรู้ที่จะหากับข้าวได้ด้วยตัวเอง โดยมีธรรมชาติเป็นครูสอน และมีพ่อผมเป็นอาจารย์ที่ให้ความรู้แก่ผม จึงทำให้เกิดหนังสือ “พรานทุ่ง” เล่มนี้ขึ้นมา

 

พาพันดี๊ด๊าพาพันเคลิ้มพาพันรักสัตว์
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่