ผมมีอากาสได้นั่งติดขอบเวทีเสวนาในหัวข้อ “ปอกเปลือก “กานติมา” : เมื่อนวนิยาย “ตะวันอาบดาว” ถูกดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์” ที่จัดโดยสำนักพิมพ์แสงดาว เป็นกิจกรรมบนเวทีกลางภายในงาน “จัตุรัสจามจุรีบุ๊คแฟร์” ครั้งที่ 11 เมื่อวันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ผมขอนำเอารายละเอียดเรื่องราวของ “กานติมา” ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง “ตะวันอาบดาว” นำมาเรียบเรียงเพื่อเล่าต่อให้ท่านทราบครับ
(ถ้ารายละเอียดหรือข้อความใดๆ ผิดพลาดไปจากที่คุณกานติมาพูดไว้บนเวที ผมก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ ถ้าท่านใดจะก็อบปี้ภาพในกระทู้นี้ไปใช้งานต่อก็ได้ครับ ผมยินดีครับ)
จริงๆ แล้วนามปากกา “วัสตรา” , “วัตตรา” และ “กานติมา” เป็นนามปากกาของคนๆ เดียวกัน คือนามปากกาของคุณอภิญญา เคนนาสิงห์ เธอมีชื่อเล่นว่าแวว โดยนามปากกา “วัสตรา” ใช้เขียนนวนิยายแนวสะท้อนสังคม ส่วนนามปากกา “วัตตรา” ใช้เขียนงานแนวโรแมนติดคอมเมดี้และโรแมนติคดราม่า และนามปากกา “กานติมา” ใช้เขียนงานแนวเมโลดราม่า ,ดราม่าเข้มข้น , แฟนตาซีและเร้นลับ ซึ่งงานที่เธอเขียนนั้นเป็นนวนิยายแนวพาฝันที่ให้คติสอนใจทุกเรื่อง เธอชอบเขียนถึงเรื่องราวที่สะท้อนสังคม และชอบเขียนตีแผ่ถึงเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในมุมต่างๆ ของสังคมในบ้านเรา ด้วยวิธีการเรียบเรียงเอาเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้มาเล่าใหม่ในรูปแบบของนวนิยาย เพื่อให้เรื่องราวที่เธอนำเสนอนั้นสนุกสนานและน่าติดตามมากขึ้น
ที่ผ่านมาผลงานในนามปากกา “วัสตรา” และ “วัตตรา” เริ่มพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2545 กับหลายๆ สำนักพิมพ์ โดยมีนวนิยายที่ “วัตตรา” เขียนทั้งหมด 34 เรื่อง โดยมีเรื่องที่ถูกนำมาสร้างเป็นละครมาแล้ว อาทิเช่นเรื่อง “พระจันทร์สีรุ้ง” ทางช่อง 3 , “ลูกไม้เปลี่ยนสี” และ “รักสุดปลายฟ้า” ทางช่อง3 , “ก๊วนคานทองกับแก๊งพ่อปลาไหล” ทางช่อง 3 , “ก๊วนกามเทพ” ทางช่อง3 , “คุณหนูฉันทนา” ทางช่อง3 , “ฉันทนาสามช่า” ทางช่อง7 และที่กำลังอากาศจันทร์ถึงศุกร์ทางช่อง 7HD ในเวลานี้คือเรื่อง “มาดามทุ่งอีแร้ง” ที่ช่องเปลี่ยนชื่อเป็น “มาดามบ้านนา” เพื่อเหตุผลทางการตลาดและการทำงาน
ผลงานของ “วัตตรา” ที่เป็นละคร และที่มีจัดพิมพ์อยู่กับ สนพ.แสงดาว เช่น “แม่ยายคงกระพัน” , “นางร้ายซัมเมอร์” , “ฉันทนาสามช่า” และ “พระจันทร์สีรุ้ง”
สำหรับนามปากกา “กานติมา” เป็นนามปากกาที่ใช้ในช่วงหลัง เธอเขียนนวนิยายมาทั้งหมดประมาณ14-15 เรื่อง โดยมีเรื่องที่พิมพ์กับสำนักพิมพ์แสงดาวคือเรื่อง “โบตั๋นกลีบสุดท้าย” , “ร่ายริษยา” , “บาปกามเทพ” , “ตะวันอาบดาว” เรื่องที่เป็นละครมาแล้วทางช่อง 3 เช่น “โบตั๋นกลีบสุดท้าย” , “ร่ายริษยา” , “รุ้งร้าว” ส่วนที่เป็นละครทางช่อง 7 ก็มีเรื่อง “ทะเลสาบนกกาเหว่า” , “บัลลังก์หงส์” , “ตะวันอาบดาว” ที่กำลังถ่ายทำอยู่ในขณะนี้
ถามว่า “มาเป็นนักเขียนได้อย่างไร?” คุณกานติมาให้ฟังตอบว่า ในอดีตที่ผ่านมาเธอมีงานประจำที่ต้องทำคืองานเขียน เธอเป็นสื่อมวลชนที่ทำงานอยู่ในนิตยสารเล่มหนึ่ง ในขณะที่มีก็มีงานอดิเรกเป็นงานเขียนด้วยเช่นกัน โดยเธอเริ่มต้นเติบโตในเส้นทางการเขียนคล้ายๆ กับนักเขียนท่านอื่นก็คือ เธอใช้การอ่านเป็นครูสอนวิชาการเขียน โดยเธอชอบอ่านผลงานเขียนของนักเขียนชื่อดังในสมัยก่อน พออ่านมากเข้าก็เริ่มอยากเป็นนักเขียน เริ่มอยากมีผลงานเขียนเป็นของตัวเอง เธอจึงเขียนเรื่องสั้นไปลงตามนิตยสารต่างๆ อยู่เสมอ พอถึงปี 2545 เธอก็หยุดการทำงานด้านสื่อสารมวลชน หันมาเป็นนักเขียนอย่างเต็มตัว เริ่มเขียนงานตามหัวใจของตัวเองมากขึ้น
ด้วยความที่เธอเคยทำงานด้านสื่อสารมวลชนมาก่อน ทำให้เธอรู้จักกับคนที่ทำงานเบื้องหลังละครของผู้จัดหลายๆ ค่าย นวนิยายที่เขียนจึงถูกนำเสนอสู่ค่ายละครต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ทางค่ายผู้จัดละครชอบเรื่องของเธอ แต่ในบางครั้งสถานีก็อาจจะยังไม่ชอบเพราะอาจจะไม่ตรงกับความต้องการของช่องในขณะนั้นก็เป็นได้ แต่ตัวเธอก็ไม่ได้รู้สึกย่อท้อเธอยังคงเดินหน้าทำงานเขียนของเธอต่อไป หลายครั้งที่เธอรอจนกระทั่งกระบวนการพิจารณาผลิตละครของสถานีโทรทัศน์ที่ยาวนานผ่านพ้นไป เรื่องของเธอจึงถูกนำมาดัดแปลงสร้างเป็นละครออกฉายทางทีวี
เมื่อถามถึงประเด็นหนึ่งที่นักเขียนนวนิยายทั้งหลายต่างก็กังวลกันมาก คือถามว่า “รู้สึกอย่างไรเมื่อเขาเอานวนิยายของเราไปดัดแปลงก่อนที่จะสร้างเป็นละคร?” สำหรับคำถามนี้คุณกานติมาตอบว่า เธอไม่ได้ติดใจหรือซีเรียสอย่างไรเลย เวลาที่นวนิยายของเธอถูกดัดแปลงเป็นบทละครนั้น เธอบอกว่า “มันเป็นเรื่องที่เข้าใจและยอมรับได้ เพราะศาสตร์การเขียนนวนิยายและบทละคร มันมีความแตกต่างกันอย่างมาก” เธอทิ้งท้ายว่า ถ้าเขาเอาไปดัดแปลงแล้วมันไม่ขี้เหร่จนเกินไป หรือว่าเรื่องของเธอมันไม่บิดเบี้ยวขนเกินไปนัก เธอก็พอจะรับได้ ที่ผ่านมาการทำงานร่วมกันระหว่างนวนิยายของเธอกับการสร้างละครโทรทัศน์ไม่เคยมีปัญหาแต่อย่างใด ซึ่งผลงานที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจอย่างมากด้วย
กานติมา
ขอพูดถึงนวนิยายเรื่อง “ตะวันอาบดาว” นวนิยายที่กำลังจะออกอากาศทางช่อง 7 ในเวลาอันใกล้นี้
ผลงานนามปากกา “กานติมา” มักจะเป็นงานแนวดราม่าเข้มข้น เมลโลดราม่า และโรแมนติกดราม่า ในการตั้งชื่อเรื่องนวนิยายนั้น มีหลายผลงานทั้งของวัตตราและกานติมา ที่ ใช้กลวิธีในการตั้งชื่อหลายแบบ เช่น
1) การใช้คำที่บอกจำนวน บอกปริมาณของตัวละครเช่น ก๊วนคานทองกับแก๊งพ่อปลาไหล / ก๊วนกามเทพ / สามทหารเสือกับคุณหนูดอกฟ้า
2) การบอกบทบาทของตัวเอกของเรื่องเช่น สะใภ้ต่างๆ สะใภ้เจ้าสัว สะใภ้พญายม สะใภ้ลำซิ่ง บอดี้การ์ดแดดเดียว สายลับสะบัดช่อ
3) การใช้คำที่มีความหมายในทางตรงข้ามหรือขัดแย้ง เช่นวิมานเล่ห์ วิมานเป็นความหมายที่ดี หมายถึงที่อยู่ของเทวดา ที่ที่สุขสบาย เล่ห์มีความหมายในเชิงลบ
4) ตรงข้ามกันมาวางไว้ด้วยกัน แล้วมีความหมายหรือนัยตาม เนื้อเรื่อง เช่นเรื่องตะวันอาบดาว
ตะวันอาบดาว มีความชัดเจน ในเรื่องของการใช้คำตรงข้ามมาคู่กัน ตะวันคือสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนกลางวัน ส่วนดาว คือสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืนตามธรรมชาติ แต่จากการศึกษาเนื้อหาของนวนิยายพบว่าผู้ประพันธ์ได้ให้ความหมายของเรื่องไว้โดยผ่านคำพูดของตัวละคร ช่อแพร และปราณนท์ ว่า
“คุณนี่มันเหมือนพระอาทิตย์ยามบ่ายซะจริงๆมีประโยชน์แต่ก็มีโทษมากกว่า คุณมันดีแต่ทำตัวเผาผลาญ ลุกไหม้แม้กระทั่งชีวิตตัวเอง พอพ่อฉันช่วยดับความร้อนรุ่มให้ คุณก็มาเผาผลาญหัวใจและความรู้สึกฉันให้ไหม้เกรียมเร็วก่อนเวลาอันควรอีก”
“โอ้เจ้าสำนวนจริงๆเลยช่อแพรของผม...ถ้าคุณคิดว่าผมคือพระอาทิตย์ละก็...คิดผิดไปแล้วผมเป็นแค่ดาวดวงหนึ่ง...ใช่...ดาวดวงหนึ่งเท่านั้น ที่มีแสงวิบวับสวยงามอยู่ในตัวเอง เจ้าศิวัชต่างหากที่มันเป็นดวงตะวันที่ร้อนแรงแห้งแล้งคอยแผดเผาดาวอย่างคุณ หรืออย่างลูกสาวคุณ...นอกจากดาวประดับแล้วยังมีเชิญขวัญอีกคนหนึ่ง ที่เป็นดังดาวน้อยแสงที่ จะต้องพ่ายแพ้แก่ความร้อนของมัน ชีวิตมันอาบล้อมด้วยหมู่ดาวทั้งนั้น”
(ตะวันอาบดาว 2556: หน้า325-326)
ลักษณะนิสัยของตัวละครหลัก
1.ศิวัช ชายหนุ่มวัย27-28 แฝดน้อง เป็นคนสุภาพอ่อนโยน กตัญญู เจียมตัว หัวอ่อน มนุษยสัมพันธ์ดี รักครอบครัว
2.ศิวกร ชายหนุ่มวัย27-28 แฝดพี่ เป็นคนจริงจังกับชีวิต เมื่อเขามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเดินตามรอยพ่อด้วยการเป็นทหาร จึงยอมให้แม่ตัดแม่ตัดลูก แต่ลึกๆเขายังคงรักและแอบทำหน้าที่ลูกที่ดีส่งเงินผ่านทางแฝดน้องเพื่อช่วยครอบครัวเสมอเท่าที่ทำได้ เป็นคนมีความมั่นคงในจิต ทั้งต่อผู้คน และทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เป็นคนฉลาดล้ำลึก สุขุม เลือดเย็น
3.ดาวประดับ หญิงสาววัย22-25 เป็นคนเฉลียวฉลาด กตัญญู มีน้ำใจ รักความถูกต้อง และเพื่อความถูกต้องจึงต้องกล้า และยอมที่จะกลายเป็นคนเจ้าเล่ห์เจ้าเหลี่ยม เพื่อขุดคุ้ยหาความจริงที่ถูกต้อง
4.ช่อแพร สาวใหญ่วัย45-48 เป็นคนสวย เจ้าเสน่ห์ เฉลียวฉลาด มั่นอกมั่นใจในตนเอง แต่ก็เก็บกดซ่อนเร้นพฤติกรรมของตนเองอย่างชาญฉลาด หากแต่ก็พลาดพลั้งยอมให้อารมณ์หึงหวงริษยาอาฆาตเข้าครอบงำ
5.เชิญขวัญ หญิงสาววัย27-28 สาวเชียงใหม่ เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยของศิวกรที่ต่างเป็นรักแรกขอ’กันและกัน แต่ศิวกรถูกเชิญขวัญตัดรักเพราะเธอไม่อยากให้เขาไปเป็นตำรวจตระเวณชายแดน หลังจบพยาบาลทำงานใช้ทุนแล้วเชิญขวัญจึงถูกทางครอบครัวฝากให้ทำงานในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เชิญขวัญเป็นคนดีมีน้ำใจมีมนุษยสัมพันธ์ดี รักความถูกต้องยุติธรรม
6.ปราณนท์ หนุ่มใหญ่วัย45-50 เป็นคนเฉลียวฉลาด เจ้าเล่ห์ เจ้าเหลี่ยม เจ้าสำราญ รักความสนุกสนานเฮฮาในวัยหนุ่ม เป็นคนมีลับลมคมใน เจ้าคิดเจ้าแค้นจอมวางแผน แม้แต่การแต่งงานกับช่อแพรก็มีแผนเพื่อตนจะได้ครอบครองมรดกของผู้เป็นย่าที่วางเงื่อนไขให้เขาต้องมีลูกเมีย ทั้งที่เขามีพฤติกรรมรักร่วมเพศมาแต่รุ่นหนุ่ม เมื่อได้ช่อแพรก็ได้ลูกติดท้องของช่อแพรมาเป็นตัวหารในมรดก เขาจึงใช้เวลานานในการวางแผนเพื่อที่จะฮุบสมบัติส่วนที่ควรจะเป็นของเขาแต่ตกอยู่ในมือช่อแพรและกำลังจะตกถือมือลูกของช่อแพร เพราะแผนของคนแก่เจ้าเล่ห์ที่ทิ้งปมไว้แล้วตายจากไป เขาจึงวางแผนสลับซับซ้อนเพื่อกำจัดสองแม่ลูกไปให้พ้นทาง
7.เดชา ชายหนุ่มวัย35-40 มือขวาคนสนิทแนบแน่นของปราณนท์ที่ยอมทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อนสนองความต้องการของนายกึ่งคู่รักต่างวัยที่รักใคร่ใยดีกันมานาน เป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น จอมจัดการ ปั้นหน้าสวมหน้ากากแสดงบทบาททาสผู้ซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อครอบครัวนายได้อย่างแนบเนียน
8.เมทินี หญิงสาววัย27-28 เป็นสาวที่เก่งฉลาด คล่องแคล่วปราดเปรียวในการทำงานหน้าที่เลขาของช่อแพรที่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับการงานทุกอย่างของเจ้านายแต่ไม่รู้เรื่องส่วนตัวและไม่รู้มาก่อนว่าเธอแอบหลงรักศิวัชผู้ชายของเจ้านาย เมื่อมีเรื่องเจ้านายหึงหวง หล่อนจึงพลิกบทบาทตัวเองใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตนเข้าสยบความโกรธแค้นของเจ้านายเพื่อจะได้อยู่ในหน้าที่ต่อไป โดยมีเป้าหมายที่จะแก้แค้นให้เจ้านายกระอักเลือด จึงวางแผนอย่างสลับซับซ้อนและแยบยลด้วยกลโกงกอบโกยผลประโยชน์เข้าหาตนเอง
9.เมฆ ชายหนุ่มวัย27-28 เพื่อนสนิทของศิวัช เป็นคนดีมีน้ำใจ ฉลาด มองโลกในแง่ดี กล้าได้กล้าเสีย กล้าเสี่ยง และรักความถูกต้องยุติธรรม
ปอกเปลือก “กานติมา” : เมื่อนวนิยาย “ตะวันอาบดาว” ถูกดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์