ราชวิทยาลัยสูติฯ ระบุผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เพิ่มความเสี่ยงจากการคลอด

ราชวิทยาลัยสูติฯ ระบุผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เพิ่มความเสี่ยงจากการคลอด

Sat, 2019-08-24 10:12

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ประกาศจุดยืน เรื่องการผ่าตัดคลอด ระบุการผาตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เป็นการกระทำที่ไม่เป็นตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และประชาชนควรทราบว่าการผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เพิ่มความเสี่ยงจากการคลอดหลายอย่าง และมีความรุนแรงหลายระดับทั้งต่อมารดาและทารก มากกว่าการคลอดทางช่องคลอด

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2562 พลอากาศโท นพ.การุณ เก่งสกุล ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย คนที่ 18 ได้ลงนามในประกาศจุดยืน เรื่อง การผ่าตัดคลอด (Position Statement for Cesarean Section) รายละเอียดดังนี้

ในปัจจุบันนี้ การผ่าตัดคลอดมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและนานาประเทศ การศึกษาและการประมวลผลจาก World Health Organization (WHO) พบว่า การผ่าคลอดนั้นก่อให้เกิดอันตรายต่อมารดาและทารกทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้สูงกว่าการคลอดทางช่องคลอด และยังทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้น รวมทั้งเกิดความสิ้นเปลืองของทรัพยากรอื่นๆ โดยไม่เกิดประโยชน์

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อกำหนดถึงอัตราการผ่าตัดคลอดที่เหมาะสมที่เป็นมาตรฐานยอมรับกันทั่วโลก เพราะอัตราดังกล่าวขึ้นอยู่กับบริบทและสถานการณ์ของแต่ละประเทศ การศึกษาในประเทศไทยพบว่า อัตราการผ่าตัดคลอดในสถานพยาบาลของรัฐในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ที่สูง คือ ประมาณร้อยละ 30-50 และยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การประเมินอัตราการผ่าตัดคลอดนั้น WHO แนะนำให้สถานพยาบาลใช้การเก็บข้อมูลแบบ Robson Classification ซึ่งเป็นวิธีการที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อประโยชน์ในการประเมิน ติดตาม เปรียบเทียบข้อมูลทั้งภายในและระหว่างสถานพยาบาล และองค์กรต่างๆ รวมทั้งใช้ในการวางแผนการพัฒนา และประเมินประสิทธิภาพของการดำเนินงานเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรหลักของประเทศในการกำกับดูแลด้านวิชาการและมาตรฐานวิชาชีพสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ขอประกาศจุดยืนเกี่ยวกับการผ่าตัดคลอดในประเทศไทย ดังต่อไปนี้

1.การผ่าตัดคลอด ควรทำเฉพาะในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น คือเมื่อทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้อย่างปลอดภัย หรือเมื่อมารดามีภาวะแทรกซ้อนขั้นรุนแรงจนไม่สามารถดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้

2.ประชาชนควรทราบว่าการผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เพิ่มความเสี่ยงจากการคลอดหลายอย่าง และมีความรุนแรงหลายระดับทั้งต่อมารดาและทารก มากกว่าการคลอดทางช่องคลอด

3.การผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เป็นการกระทำที่ไม่เป็นตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

4.ก่อนการผ่าตัดคลอด สตรีตั้งครรภ์ทุกรายควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและเหมาะสม เกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของการผ่าคลอดจากบุคลากรทางการแพทย์ จนเข้าใจดีและยินยอมรับการผ่าตัด

5.สตรีตั้งครรภ์ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดคลอดตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ควรสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการผ่าตัดคลอดได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา

6.อัตราการผ่าตัดคลอดที่เหมาะสมของแต่ละสถานพยาบาลอาจแตกต่างกัน เพราะแปรผันตามบริบทและสถานการณ์ที่รับผิดชอบ

7.สถานพยาบาล หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้องควรเก็บข้อมูลการคลอดแบบ Robson classification เพื่อประโยชน์ในการประเมินและติดตามข้อมูลสำหรับการวางแผนการพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น

ประกาศ ณ วันที่ 12 สิงหาคม 2562

พลอากาศโทนายแพทย์การุณ เก่งสกุล ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย คนที่ 18

https://www.hfocus.org/content/2019/08/17586
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่