แก้ปัญหาขยะพลาสติก ด้วยพลาสติ (อ่านว่า พะ ลา สะ ติ แปลเองว่าพลังแห่งสติ)

ขยะ(พลาสติก)ที่ลงสู่แม่น้ำลำคลองหรือทะเล มาจากการทิ้งทางตรงหรือโดยเจตนากับการทิ้งทางอ้อมหรือโดยไม่ได้เจตนา

กลุ่มที่ทิ้งทางตรง ได้แก่ พวกบ้านเรือนหรือสถานประกอบการที่อยู่ริมน้ำ (ทั้งแบบมีโฉนดและบุกรุก) โรงแรมตามเกาะหรือริมทะเลที่หาที่กำจัดไม่ได้ก็จ้างเรือขนไปทิ้งกลางทะเล อบต. เทศบาลใกล้ทะเลที่บ่อขยะเต็มหรือสร้างเตาเผาหรือสถานที่กำจัดไม่ได้เพราะโดน(คนที่สร้างขยะ)ต่อต้าน ก็ขนใส่เรือไปทิ้งเหมือนกัน เรือท่องเที่ยวก็รุมทิ้ง เรือประมงก็ทิ้งแห อวน ทุ่น (โฟมก็คือพลาสติกที่อัดก๊าซ)

กลุ่มที่ทิ้งทางอ้อม ได้แก่ พวกมักง่ายทิ้งทั่วไปหมด ขยะจากถนน ลงสู่ท่อระบายน้ำ ไหลไปลงคลอง ลงแม่น้ำ และออกทะเลในที่สุด พวกบ่อขยะที่ไม่ปิดคลุมจัดการไม่ดีขยะก็ปลิวหรือโดนฝนซัดไปลงแม่น้ำลำคลองอยู่ดี และพวกโรงงานรีไซเคิลที่บดย่อยและล้างพลาสติกเพื่อนำไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติกที่ดูเหมือนจะดีแต่ส่วนใหญ่ไม่ลงทุนกับระบบบำบัดน้ำเสียให้ดี น้ำล้างที่มีเศษชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กก็ไหลไปสู่แหล่งน้ำในที่สุด

เนื่องจากประเทศไทยยังกำจัดขยะด้วยการเทกองในบ่อขยะเป็นส่วนใหญ่ เตาเผาไม่ค่อยมีเพราะ…(อุปสรรคมากมาย ไว้รอเขียนเป็นอีกบทความ) ถ้าขยะที่ไม่คุ้มค่าต่อการรีไซเคิลถูกกำจัดด้วยเตาเผาคุณภาพดี ขยะพลาสติกที่ลงแหล่งน้ำจะลดลงไปได้อีกมาก แต่การเก็บรวบรวมมาจัดการก็สำคัญมากเช่นกัน นั่นแสดงว่าทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย (รวมทั้งนักท่องเที่ยว) ที่ทิ้งขยะพลาสติกก็คือผู้ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลทางอ้อมนั่นเอง

ด้วยกระแสมาเรียม (ขอสารภาพว่าไม่เคยติดตามดู ยังไม่รู้เลยว่ามาเรียมหน้าตาเป็นอย่างไร) มาดูกันว่าประเภทของขยะพลาสติกที่ทำให้สัตว์ทะเลตายส่วนใหญ่เป็นอะไร (ไม่มี reference นะครับ มโนเอาล้วนๆ ห้ามใช้อ้างอิงทางวิชาการ)

ในแง่ของน้ำหนัก ที่มากสุดน่าจะเป็นพวกแหอวน พวกนี้ไม่ค่อยเข้าไปในระบบทางเดินอาหารของสัตว์ แต่มักจะทำให้สัตว์ถูกพันธนาการจนว่ายน้ำหรือบินไม่ได้ (เช่นพวกนกที่หาปลาในทะเล ไม่ได้หมายถึงพยูนบินไม่ได้) ในแง่ของจำนวนเป็นชิ้น น่าจะเป็นพวกภาชนะเครื่องดื่ม ถุงพลาสติก หลอดดูด และก้นบุหรี่ สำหรับประเภทที่พบในระบบทางเดินอาหารเยอะสุดก็คือถุงพลาสติก กับเศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ (ที่อาจมาจากโรงงานคัดแยกบดย่อยขยะรีไซเคิล)

การจัดการขยะพลาสติก (หรือขยะใดๆ ก็ตาม) วิธีที่ดีที่สุดคือจัดการที่ต้นน้ำ คือการป้องกัน ลดและเลี่ยง อย่าให้มีขยะแต่แรก เนื่องจากขยะก็คือสินค้าหรือส่วนหนึ่งของสินค้าที่เราไม่ใช้แล้ว การป้องกันไม่ให้เกิดขยะก็คือการไม่ซื้อสินค้าไม่บริโภค ซึ่งสวนทางกับหลักปรัชญาของทุนนิยม/บริโภคนิยม แต่เนื่องจากยังมีสิ่งที่เรียกว่าทางสายกลางอยู่ ซึ่งจะทำให้ทุนนิยมกับอนุรักษ์นิยมยังพอไปกันได้ถ้ามีเจตนาดีทั้งสองฝ่าย

ทางสายกลางที่ว่าก็คือเลิกหรือลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic ซึ่งไม่ได้แปลว่าพลาสติกที่ใช้โดยคนโสดนะครับ) เช่นหลอด ฝาปิดถ้วย ถ้วยหรือพาชนะพลาสติก โฟมและถุงพลาสติก เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ตอบสนองวัตถุประสงค์รอง (เพื่อปกป้องสินค้า หรือช่วยในการนำพา) ไม่ใช่แก่นของวัตถุประสงค์หลักคือการนำอาหารหรือเครื่องดื่มเข้าสู่ร่างกายหรือการใช้งานตัวสินค้า โดยที่ยังคงมีการบริโภคสินค้าหรืออาหารเครื่องดื่มในระบบเศรษฐกิจได้ต่อไป หากวัตถุประสงค์รองยังมีความจำเป็นเลี่ยงไม่ได้ ก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่ก่อผลกระทบน้อยกว่าด้วยต้นทุนที่ไม่ได้สูงกว่ากันมากนัก

การเลิกหรือลดการใช้พลาสติกอย่างฟุ่มเฟือยควรเป็นทางเลือกแรก แต่ยังมีทางเลือกถัดมาคือการเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าในตลอดช่วงอายุ ซึ่งหมายถึงวัสดุที่ใช้ซ้ำได้ หาได้ง่ายในธรรมชาติ หมุนเวียนทดแทนง่าย รีไซเคิลง่าย หรือย่อยสลายได้ในธรรมชาติจริงๆ

ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาจะทำให้ทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่ามีโอกาสสู้ได้ด้วยมาตรการทางภาษีหรือค่าธรรมเนียม เช่นขึ้นภาษีโฟมและอาจลดภาษีวัสดุกันกระแทกหรือภาชนะใส่อาหารที่ทำจากกระดาษควบคู่ไปด้วย แต่การเก็บภาษีตัวที่ก่อปัญหาจะได้ผลมากกว่า เวลาไปซื้อขนมปังตามร้านขนมปังในประเทศที่พัฒนาแล้วจะพบว่า แทบทุกร้านใส่ถุงกระดาษ แม้กระทั่งอาหารก็ยังใส่กล่องกระดาษ (กล่องพลาสติกที่ใช้ซ้ำได้ ก็ยังดีกว่าถุงพลาสติกมัดหนังยางหรือกล่องโฟม)

แต่บางครั้งอาจไม่ต้องใช้มาตรการทางภาษี แต่ใช้กฎหมายบังคับห้ามไปเลย เช่นห้ามผลิตห้ามใช้หลอดพลาสติก ถุงพลาสติกที่ทำจากวัสดุกลุ่มฟอสซิล ห้ามใช้สารเร่งการแตกตัวของโพลิเมอร์แต่ไม่ได้ย่อยสลายโดยธรรมชาติ กลายเป็นเศษพลาสติกขนาดเล็กมากตกค้างในสิ่งแวดล้อมและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร เป็นต้น

หลังจากพยายามป้องกัน ลด เลี่ยง หรือใช้วัสดุทดแทนแล้ว การรีไซเคิลก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่สิ่งที่เรามักมองข้ามเวลาพูดถึงเรื่องนี้คือ เรื่องระดับของการรีไซเคิล เรื่องตลาดรองรับวัสดุ/สินค้ารีไซเคิล และเรื่องต้นทุนตลอด supply chain

เรื่องระดับของการรีไซเคิลวัสดุ อาจแบ่งง่ายๆ เป็นสามระดับ คือ
1) รีไซเคิลแล้วดีขึ้นหรือแพงขึ้น ซึ่งบางคนเรียกว่า upcycling เช่นการใช้เทคนิคพิเศษที่สามารถหลอมเศษถุงพลาสติกให้มีความแข็งแรงว่าวัสดุใหม่ จนนำไปใช้แทนหมอนรางรถไฟหรือเสาเข็มได้เลย หรือการออกแบบ สร้างแบรนด์ เพิ่มความงามเพิ่มมูลค่า โดยที่คุณสมบัติของวัสดุอาจไม่ได้ดีกว่าเดิม [คำเตือน โปรดใช้วิจารณญาณเวลาใครมาบอกให้เอาขยะพลาสติกไปผลิตน้ำมันสิ]
2) รีไซเคิลกลับไปเหมือนเดิม ซึ่งบางคนเรียกว่า closed-loop cycling หรือ circular economy ระดับนี้เป็นกระบวนการที่นิยมกันมากที่สุด เพราะ ผลิต-ใช้-ทิ้ง-แปรรูป-ผลิตเหมือนเดิม ไปได้หลายรอบ (แต่ไม่ใช่ตลอดกาล เพราะสุดท้ายต้องนำวัสดุใหม่มาเติม) ตัวอย่างที่ชัดๆ เช่น ขวดแก้วที่ใช้แล้ว บดเป็นเศษแก้ว หลอมขึ้นรูปกลับมาเป็นขวดแก้วได้อีก หรือกระป๋องเหล็กหรืออลูมิเนียมที่หลอมกลับมาเป็นกระป๋อง เยื่อกระดาษถูกนำมาผลิตเป็นกระดาษใหม่ เป็นต้น
3) รีไซเคิลแล้วแย่ลง ขยะพลาสติกส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มนี้ เพราะพลาสติกมีหลากหลายชนิดมาก (เช่น PET PP PE PS ฯลฯ) หากทิ้งปนกันแล้วไม่มีระบบคัดแยกที่ดีจะทำให้ไม่สามารถแปรรูปกลับมาเป็นผลิตภัณฑ์เดิมได้ หรืออาจมีพลาสติกหลายชนิดอยู่ในชิ้นเดียวกันเลย เช่นถ้วยน้ำแบบเอาหลอดเจาะ (เลิกใช้เถอะ) ส่วนใหญ่จึงนำไปผลิตของที่มูลค่าไม่สูง เช่นถุงขยะ หรือถังขยะ และถึงแม้จะมีการคัดแยกประเภทพลาสติกอย่างถูกต้อง แต่ด้วยคุณสมบัติของวัสดุเอง ทำให้ไม่สามารถแปรรูปกลับมาเหมือนเดิมได้ เช่น ขวดน้ำที่ผลิตจาก PET ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถหมุนเวียนกลับมาเป็นขวด PET ได้ (บางประเทศทำได้บ้างแต่แพงมาก) การรีไซเคิลที่ทำกันคือแปรรูปไปเป็นเส้นใยสิ่งทอ ซึ่งเมื่อนำไปซักจะเกิดอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กมากหลุดไปสู่แหล่งน้ำได้

ตลาดรองรับวัสดุรีไซเคิล/สินค้ารีไซเคิล ก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่าการรวบรวมขยะรีไซเคิล เนื่องจากส่วนใหญ่ในประเทศไทยเรามีผู้รวบรวมคัดแยกเบื้องต้นจำนวนมาก แล้วชอบเรียกตัวเองว่าเป็นผู้ประกอบการรีไซเคิล แต่ผู้ที่แปรรูปวัสดุรีไซเคิลด้วยการหลอมเพื่อผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ (ผู้ประกอบการรีไซเคิลตัวจริง) ไม่ได้มีมากเพราะต้องลงทุนสูงกับเตาหลอมหรือเครื่องจักร ทำให้ต้องได้วัตถุดิบปริมาณมากเข้าระบบ ในขณะที่ผู้รวบรวมวัสดุรีไซเคิลกลับส่งออกไปต่างประเทศแทนทำให้เสียเปรียบในการแข่งขัน สำหรับกลุ่ม Upcycling ที่นำมาประดิษฐ์สินค้า (โดยเฉพาะกระปุกออมสิน หรือกรอบรูป) มักจะประสบปัญหาไม่มีผู้ซื้อ เนื่องจากไม่สวย ไม่แข็งแรง หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้ (อาจโดนภาครัฐสนับสนุนให้ทำโดยไม่ดูว่าไม่มีอุปสงค์)

ต้นทุนการรีไซเคิล มักจะถูกมองข้ามเพราะนึกว่ามีแต่กำไร แต่การเก็บรวบรวม ขนส่ง แยกประเภท ทำความสะอาด แปรรูป ต่างมีต้นทุนทั้งสิ้น ยิ่งถ้ารวมต้นทุนสิ่งแวดล้อม คือการควบคุมมลพิษให้ได้ตามมาตรฐานตั้งแต่การขนส่งไม่ปล่อยควันดำ การคัดแยกไม่ให้แอบทิ้งเศษวัสดุที่รีไซเคิลไม่ได้ การล้างทำความสะอาดไม่ให้มีน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม และการหลอมไม่ให้มีไอระเหยหรือฝุ่นเกินมาตรฐาน ยิ่งทำให้การรีไซเคิลแพงขึ้นไปอีก

แล้วการแก้ปัญหาเป็นหน้าที่ใคร
คำตอบเดิมครับ...ทุกคน

ผู้จำหน่ายและผู้ให้บริการ (เช่นห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงแรม โรงพยาบาล สำนักงาน) ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่นไม่แจกถุง ไม่แจกหลอด มีน้ำดื่มแบบไม่ใส่ขวดพลาสติกให้บริการ (จะเป็นตู้กด ใส่เหยือก หรือจำหน่ายในขวดแก้วก็แล้วแต่ แต่ถ้าน้ำดื่มฟรีแบบร้านอาหารในญี่ปุ่นจะดีมาก) คัดแยกขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเองให้ถูกประเภท และร่วมมือเป็นจุดรับคืนขยะรีไซเคิลที่ผู้บริโภคอาจนำมาทิ้ง

ผู้บริโภค เลือกซื้อเลือกใช้เท่าที่จำเป็น เลือกของที่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า ยืดอายุการใช้งานสินค้าด้วยการใช้ซ้ำ แยกขยะให้ถูกประเภท ทิ้งให้ถูกที่ถูกทาง และร่วมมือในการนำส่งขยะรีไซเคิลให้ผู้รวบรวม

ผู้รวบรวม (ทั้งเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ดูแลยานพาหนะที่ใช้ขนส่งไม่ให้ปล่อยมลพิษ ไม่แอบทิ้งสารอันตรายและเศษวัสดุที่รีไซเคิลไม่ได้ ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียและอากาศเสียสำหรับกระบวนการล้างและการบดย่อย และนำวัสดุรีไซเคิลส่งให้ผู้รีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน
ผู้ประกอบการรีไซเคิล ติดตั้งระบบควบคุมมลพิษในโรงงานและเดินระบบจริงๆ ไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่มาตรวจแล้วค่อยเปิดเครื่อง พัฒนาประสิทธิภาพการรีไซเคิลให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด

ผู้ผลิตสินค้า อาหารและเครื่องดื่ม และบรรจุภัณฑ์ เลิกหรือลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก เช่น ไม่หุ้มกล่องกระดาษด้วยพลาสติก ไม่ใช้โฟมกันกระแทก ลดขนาดบรรจุภัณฑ์ลง อย่าใช้พลาสติกหลายชนิดปนกันในผลิตภัณฑ์ ใช้อลูมิเนียมผลิตขวดเครื่องดื่มแทน (วัสดุเหมือนกระป๋องแต่มีฝาเกลียวปิดเปิดได้เหมือนขวด) ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้นแต่จะทำให้ผู้บริโภคร่วมมือรีไซเคิลมากขึ้นเนื่องจากขายขวดได้ราคาดีกว่ามาก นำมาตรการมัดจำคืนเงินกลับมาใช้ และรับผิดชอบบรรจุภัณฑ์และสินค้าของตนเองที่ผู้บริโภคไม่ใช้แล้ว

สื่อมวลชนและครูอาจารย์ที่ไม่ใช่สายสิ่งแวดล้อม พยายามทำความเข้าใจกับปัญหา ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ไปดูบ่อขยะ โรงงานรีไซเคิลของจริง อย่าเชื่ออะไรง่าย (โดยเฉพาะบทความนี้) สื่อตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจ เกาะติดอย่าแผ่ว ครูอาจารย์ตั้งคำถามกับนักเรียนให้คิดต่อ ทำให้เข้าใจถึงผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเรา (Everything we do has consequences)

ภาครัฐ ออกกฎหมาย (แล้วอย่าลืมบังคับใช้กฎหมาย) เพื่อให้เกิดการป้องกัน ลด เลี่ยง และรีไซเคิลอย่างปลอดภัย ให้ความรู้ (ที่ถูกต้อง) กับประชาชน หรือถ้าไม่รู้ก็เสาะหาความรู้ก่อน และลดการจัดงานสร้างภาพที่ใช้งบเยอะๆ ไม่ยั่งยืนมาทำอย่างอื่นดีกว่า [จริงๆ เรื่องนี้มีแยกเป็นอีกบทความที่ติดค้าง ยังเขียนไม่เสร็จตั้งแต่ตอนเกิดเรื่อง PM2.5]

แชร์ได้ ด่าได้ แต่ห้ามฟ้องหมิ่น
pinpro
19 สิงหาคม 2562
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่