ผลผ่าพิสูจน์มาเรียม ตายเพราะพลาสติก


ทีมสัตวแพทย์ ผ่าพิสูจน์สาเหตุการตายของพะยูน ‘มาเรีจากที่เฟสบุ๊กของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แจ้งว่าพะยูนมาเรียมตายแล้ว ทีมแพทย์พบว่ามาเรียมหยุดหายใจและไม่เจอชีพจร จึงรีบนำขึ้นจากน้ำรอบแรก กระตุ้นหายใจ พบมีการตอบสนอง ตายังตอบสนอง จึงเอาลงบ่อ จากนั้นตรวจชีพจรซ้ำ แต่ไม่เจอชีพจรอีก จึงฉีดยาช่วยชีวิต และเอาขึ้นจากบ่อรอบที่ 2 จนตายเมื่อเวลา 00.09น. ทีมสัตวแพทย์ ทีมพิทักษ์ดุหยง พร้อมด้วยผู้นำท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและเขตห้ามล่าฯ ใช้เรือ ทช.217 เคลื่อนย้ายมาเรียมจากอ่าวดูหยง บ้านบาตูปูเต๊ะ หมู่ 4 มาที่ท่าเรือบ้านโคกสะท้อน หมู่ 1 เพื่อนำมาเรียม เข้าสู่กระบวนการผ่าชันสูตรซากที่มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง

ข้อมูลจากเฟสบุ๊ก Nantarika Chansue ของ รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาช่วยดูแลมาเรียม ระบุว่า เมื่อเวลา 05.52 น.โดยทีมสัตวแพทย์ 10 คน จากหลายหน่วยงานเพิ่งผ่าพิสูจน์สาเหตุการตายของมาเรียมเสร็จสิ้น พบสาเหตุที่พะยูนมาเรียมตายจากการช็อค หัวใจวาย และพบว่ามีเศษพลาสติกเล็กๆหลายชิ้นขวางลำไส้คาดว่าปะปนในหญ้าทะเล จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ จนทำให้มีแก๊สสะสมเต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง ช่วงแรกของการรักษาสามารถลดการติดเชื้อในระบบหายใจลงได้บางส่วนแต่ในทางเดินอาหารที่มีขยะพลาสติกไม่สามารถรักษาได้ จึงลุกลามไปจนทำให้ช็อคตายในที่สุด รอยโรคอีกส่วนหนึ่งที่พบคือมีรอยช้ำเลือดในกล้ามเนื้อและผนังช่องท้องด้านใน ซึ่งอาจเกิดจากการกระแทกกับของแข็งเช่นหินขณะที่เกยตื้น ทุกคนเศร้าเสียใจกับการสูญเสียครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้ต้องแก้ไข ถ้าจะอนุรักษ์ให้สัตว์ทะเลหายากยังคงอยู่กับเราต่อไป 

นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่มาเรียมเริ่มป่วยประมาณ 10 กว่าวัน ไม่สามารถดื่มนมได้ ไม่ได้รับสารอาหาร เจ้าหน้าที่ให้วิตามิน ยาปฎิชีวนะเพื่อรักษาอาการติดเชื้อในกระแสเลือดและดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ตอนแรกจะพาไปรักษาที่ศูนย์ที่จังหวัดภูเก็ตแต่ไม่สามารถไปได้เนื่องจากสภาพมาเรียมไม่เอื้ออำนวยในการเคลื่อนย้าย จึงได้ระดมทีมแพทย์มารักษาทั้งจากกรมอุทยานฯ คุณหมอนันทริกา และทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือแต่สุดท้ายก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้ ถือเป็นประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ในการดูแลสัตว์หายาก

https://www.js100.com/en/site/news/view/76143
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่