A Clockwork Orange คืนสู่จอสกาลา ในโปรแกรม "ทึ่ง! หนังโลก" จาก "หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)" 15 กันยายน นี้

พอดีไปเห็นข่าวจาก facebook หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เป็นกิจกรรมการฉายภาพยนตร์ต่างประเทศที่โรงภาพยนตร์สกาลา ในโปรแกรม "ทึ่ง! หนังโลก" ซึ่งจะมีขึ้นเดือนละครั้ง แต่ละครั้งก็มีผู้ชมอย่างอุ่นหนาฝาคั่งตลอดโปรแกรม แม้จะเป็นการฉายเพียงเรื่องเดียว รอบเดียว

สำหรับเดือนกันยายนนี้ ตอนแรกได้วางโปรแกรมเรื่อง The Shining ของผู้กำกับ "สแตนลีย์ คูบริค" ไว้แล้ว มีกำหนดฉายวันที่ 15 กันยายน รอบ 12.00 น. ทว่า มีการเปลี่ยนนโยบายของตัวแทนลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ ทางผู้จัดได้ตัดสินใจเปลี่ยนโปรแกรมเป็น A Clockwork Orange (1971) ภาพยนตร์อื้อฉาวในยุค 70 ของผู้กำกับคนเดียวกัน


ขอย้อนอดีตให้อ่านกันสักหน่อย สำหรับภาพยนตร์ The Shining ตามโปรแกรมเดิมนั้น มีกำหนดเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์สกาลาอยู่แล้ว พร้อมด้วยเงื่อนไขจากผู้กำกับให้โปรโมทล่วงหน้าก่อนฉายจริงร่วมครึ่งปี ต่อมาก็ยกเลิกการฉาย ทำให้ผู้ชมได้เห็นแค่ทีเซอร์ความยาว 30 วินาที ที่เป็นฉากเลือดเทลงมาจากขั้นบันได

สำหรับ A Clockwork Orange ทางบริษัท วอร์เนอร์ ประจำประเทศไทย นำเข้าฟิล์มปรินต์สำเร็จรูป (Release Print) มาเสร็จสรรพ (สมัยนั้นในไทยยังไม่มีแล็บล้างพิมพ์ฟิล์ม 35 ม.ม. มีแต่แล็บที่รับล้างพิมพ์ฟิล์มขนาด 16 ม.ม. แล้วก็...ตัวแทนจำหน่ายภาพยนตร์ต่างประเทศทั้งค่ายหนังจากฮอลลีวู้ดที่มาตั้งสำนักงานสาขาในไทย และคนไทยที่ไปซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศมาฉายเองในนามอิสระ เช่น มงคลฟิล์ม, เอเพ็กซ์ เป็นต้น จะหิ้วฟิล์มปรินต์สำเร็จรูป จำนวน 1 - 3 ก็อบปี้ ทั้งแบบฟิล์ม 35 ม.ม. format เดียว หรือมีก็อบปี้ฟิล์ม 16 ม.ม. แบบมีเสียงแถมมาด้วย พร้อมด้วยฟิล์มตัวอย่างหนัง Production Note และอื่นๆ จากนั้นจึงจ้างผู้แปลเพื่อทำคำบรรยายไทย และบทพากย์ ซึ่งจะเป็นรูปแบบนี้เรื่อยมาจนถึงกลางยุค 80 แม้จะมีแล็บล้างพิมพ์ฟิล์ม 35 ม.ม. เกิดขึ้นช่วงปี พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา ซึ่งต่อมาก็เริ่มไปใช้บริการเมื่อค่ายหนังเห็นว่าจำเป็นต้องพิมพ์ก็อบปี้เพิ่ม จากนั้นค่ายหนังจึงเปลี่ยนนำเข้าฟิล์มเนกาตีฟที่เรียกว่า Inter Negative เพื่อมาล้าง - พิมพ์ - บันทึกเสียงพากย์ไทย) และแปลบทบรรยายภาษาไทยโดย คุณรตนะ เยาวะประภาศ กำหนดเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์วอร์เนอร์ เธียเตอร์ (หัวถนนมเหสักข์ - สีลม) ภายหลังที่ตัวภาพยนตร์เข้าสู่กระบวนการพิจารณาภาพยนตร์ ในที่สุดก็มีคำสั่ง "ห้ามฉายเด็ดขาด" ด้วยเหตุผล คือ "เนื้อหาในภาพยนตร์อาจทำให้ผู้ชมเกิดการเลียนแบบได้"

แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะถูก "ห้ามฉาย" มากว่าหลายทศวรรษ แต่ก็ทราบว่า มีการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ตามหอสมุดของมหาวิทยาลัยบางแห่ง และมีจำหน่ายในรูปแบบวิดีทัศน์ตามร้านที่จำหน่ายหนังหายาก เพราะคำสั่งดังกล่าวส่งผลถึงตัวแทนจำหน่ายวิดีโอลิขสิทธิ์ถูกต้องมาโดยตลอด รวมทั้ง The Shining ด้วย

มาถึงปีนี้ แม้ว่าการพิจารณาภาพยนตร์ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นเรตติ้ง ซึ่งคาดว่า น่าจะได้เรต ฉ 20 หลายคนที่ทันในเหตุการณ์ตอนนั้นก็ล้วนเป็น ส.ว. (สูงวัย) กันแล้ว เหลือรุ่นหลัง รวมทั้ง จขกท. ด้วย ที่เกิดไม่ทัน การกลับมาฉายภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นโปรแกรมที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่