เสน่ห์ครัวไทยใช้ง่าย ออกแบบห้องครัวไม่กลัวกลิ่นรบกวนกับโฮมโปร

“ครัวไทย” ทำไมถึงจำเป็น? เคยสงสัยกันไหมครับว่า ทำไมบ้านหลังใหญ่ที่มีพื้นที่มาก หรือแม้แต่บ้านจัดสรรสวยๆ ที่ศึกษาและออกแบบมาให้ครอบคลุมทุกรายละเอียดของการใช้ชีวิตแล้ว กลับยังมีการต่อเติมห้องครัวแยกออกมาจากตัวบ้านอีก นั่นเพราะแบบห้องครัวภายในบ้านอาจไม่สามารถตอบโจทย์คนรักการทำอาหาร โดยเฉพาะอาหารไทยที่รสชาติจัดจ้าน มีขั้นตอนการปรุงค่อนข้างมาก แถมยังมาพร้อมกลิ่นฉุนชนิดที่บ้านข้างๆ ยังรู้ว่าวันนี้ทำเมนูอะไร แบบครัวไทยนอกบ้านจึงเป็นเรื่องที่หลายบ้านให้ความสำคัญ และ HomeGuru ได้รวบรวมเอาหลักการออกแบบครัวไทยมาไว้ในบทความนี้แล้วครับ

เสน่ห์ครัวไทยโบราณ

แบบครัวไทยถือว่ามีรูปแบบชัดเจน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างตามยุคสมัย แต่ยังคงเอกลักษณ์และความโดดเด่นในเรื่องรูปลักษณ์ และฟังก์ชั่นการใช้งานที่รองรับการทำอาหารทุกประเภท ด้วยลักษณะพื้นที่เตรียมอาหารที่แข็งแรงและกว้างขวาง ผนังค่อนข้างโปร่ง สะดวกต่อการระบายกลิ่นและควัน รวมทั้งองค์ประกอบอื่นๆ ในด้านการตกแต่งที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมไทยได้อย่างชัดเจน

แบบครัวไทยหลังบ้านที่ต่อเติมจากตัวบ้าน หรือแบบครัวไทยนอกบ้านที่แยกโครงสร้างออกมาเป็นสัดส่วน ถือเป็นทำเลที่หลายบ้านเลือกเมื่อต้องการครัวไทยแบบโปร่ง แต่จริงๆ แล้วครัวไทยสามารถสร้างได้ทั้งแบบเปิดโล่งและแบบมิดชิด ซึ่งทั้งสองแบบนี้มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันครับ

เลือกแบบครัวไทยให้เหมาะกับบ้าน

ห้องครัวแบบเปิดโล่ง มีจุดเด่นเรื่องการระบายอากาศ เพราะมักมีการออกแบบให้ผนังมีความทึบแค่บางส่วน แล้วใช้แผงระแนงไม้ หรือวัสดุอื่นที่ให้ความโปร่งอย่างกระจกมากั้นเป็นผนังส่วนที่เหลือ ถือเป็นการตกแต่งห้องครัวไปในตัว ครัวไทยแบบโปร่งนี้จะช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นและควันจากการประกอบอาหาร รวมทั้งช่วยลดความอับชื้นภายในครัว ทำให้ฉีดล้างทำความสะอาดได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกันกลิ่นและควันก็อาจรบกวนเพื่อนบ้านได้ และต้องคอยระวังไม่ให้สิ่งสกปรกต่างๆ หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อยเข้ามาในครัวด้วยครับ

ห้องครัวแบบมิดชิด เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่ภายนอกไม่มากนัก แต่ก็สามารถเลือกใช้ช่องแสง หรือช่องหน้าต่างเพื่อช่วยในเรื่องแสงสว่างและการระบายอากาศได้ แต่อาจต้องติดเครื่องดูดควัน หรือพัดลมดูดอากาศช่วยครับ ข้อดีของครัวที่ปิดทึบแบบนี้คือป้องกันสิ่งสกปรกได้ดี ดูเป็นระเบียบ สวยงาม และสามารถเก็บข้าวของได้อย่างปลอดภัยครับ

ออกแบบครัวไทยให้ถูกหลัก

ตำแหน่งของห้องครัวไทยควรเป็นทิศตะวันตกที่มีแสงแดดสาดส่องในช่วงบ่าย ซึ่งจะช่วยลดกลิ่นอับชื้น ลดเชื้อรา ฆ่าเชื้อโรค และช่วยทำให้ครัวส่วนเปียกแห้งไวครับ ส่วนทิศเหนือและทิศใต้ เป็นทิศที่ไม่เหมาะจะทำครัว เนื่องจากเป็นทิศที่มีลมโกรก ทำให้กลิ่นฉุนจากการประกอบอาหารกระจายเข้าสู่ตัวบ้านได้ง่าย และอาจทำให้กลิ่นจับอยู่ตามเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านที่เป็นผ้าด้วยครับ นอกจากนี้การเลือกตำแหน่งห้องครัว ควรเลือกเป็นแบบครัวไทยหลังบ้านเพื่อช่วยในเรื่องการระบายอากาศ และเลือกใช้พื้นที่ที่ต่อเนื่องกับส่วนเตรียมอาหารเพื่อความสะดวกในการใช้งานครับ

โครงสร้างและวัสดุที่เหมาะสม

กรณีต่อเติมซ่อมแซมบ้าน หรือออกแบบครัวไทยหลังบ้านเพิ่มเติม การต่อเติมแบบฝากโครงสร้างไว้กับบ้านเดิมนั้นมีโอกาสที่ส่วนต่อเติมจะทรุดตัวเร็วกว่าตัวบ้านและดึงโครงสร้างบ้านให้ทรุดตามลงไป จึงต้องป้องกันด้วยการแยกโครงสร้างเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตครับ และเนื่องจากต้องรองรับการทำอาหารทุกประเภท จึงต้องเลือกวัสดุก่อสร้างที่แข็งแรงทนทานอย่างปูนหรือสแตนเลสที่รับน้ำหนักได้มาก มีคุณสมบัติกันน้ำ กันปลวก เช็ดล้างทำความสะอาดง่าย เช่นเดียวกับการเลือกวัสดุพื้นและผนังที่ต้องเน้นการเลือกพื้นผิวที่ทำความสะอาดง่าย เหมาะกับการใช้งานหนัก และทนความร้อนได้ดีอย่างกระเบื้องเทกซ์เจอร์กันลื่น หรือหินแกรนิตที่ทั้งสวยและทน ซึ่งการเลือกใช้โทนสีอ่อนพร้อมชุดเฟอร์นิเจอร์ห้องครัวและห้องอาหารที่เข้ากันจะช่วยแต่งห้องครัวขนาดเล็กให้ดูกว้างและโปร่งโล่งขึ้นได้ครับ

ครัวไทยแบบโปร่ง บอกลากลิ่นและควัน

การระบายอากาศถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับห้องครัวไทย นอกจากการกำหนดช่องลม และช่องหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกแล้ว การกั้นพื้นที่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาครัวที่มีพื้นที่จำกัดได้ ซึ่งการเลือกใช้วัสดุกั้นห้องที่เข้ากับบ้านก็ถือเป็นการตกแต่งห้องครัวให้สวยงามและเป็นสัดส่วนด้วยครับ แต่ในกรณีที่ไม่มีพื้นที่มากพอก็สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการติดตั้งเครื่องดูดควัน และพัดลมระบายอากาศ เพื่อช่วยลดกลิ่นและควัน รวมถึงคราบน้ำมันขณะประกอบอาหารได้ครับ

HomeGuru by HomePro
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่