Revolt หุ่นยนต์ของแบรนด์ B. ที่หลายๆ คนร้องยี้ แต่ประวัติมันน่าสนยิ่งกว่ากันดั้มอีก

แฟนๆ สายโรบอทคงไม่มีใครไม่รู้จักแบรนด์ B. แบรนด์ผู้ผลิตของเล่นยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ที่ผูกขาดธุรกิจอนิเมะโรบอทในญี่ปุ่น ซึ่งซีรี่ย์อนิเมะหรือเกมโรบอทมากกว่า 90% นั้นอยู่ในมือของ B. แทบทั้งสิ้น จนแทบเรียกได้ว่าถ้านึกถึงหุ่นยนต์ จะนึกถึง B. เป็นเจ้าแรกๆ ไม่ว่าจะเป็นอนิเมะ เกม หรือแม้แต่ของเล่น แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงของเล่นกัน

ซึ่งของเล่นหุ่นยนต์จาก B. เป็นของเล่นที่สามารถทำยอดขายได้สูง ประสบความสำเร็จทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลก และมีหลากหลายไลน์แทบนับไม่ถ้วน แต่หากมองย้อนกลับไปในยุคปี 1987 กลับมีของเล่นหุ่นยนต์ไลน์หนึ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จ กลายเป็นตราบาปของแบรนด์อันเนื่องมาจากการทำในสิ่งที่ไม่ถนัด จนกลายเป็นบทเรียนราคาแพงมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือ "Revolt : レボルト"


หากจะพูกถึง Revolt คงต้องมองย้อนกลับไปในช่วงปี 1983 ที่ของเล่นหุ่นยนต์จาก To. (หรือ Ta. To.) กำเนิดขึ้นมาก็คือ Zoids ที่ต่อยอดจากไลน์ Mechabonica โดยชูหุ่นยนต์ไดโนเสาร์ที่คุณหนูๆ สามารถประกอบ ไขลาน-ใส่ถ่าน แล้วเดินได้เหมือนหุ่นยนต์จริงๆ แถมประกอบไม่ยาก มีตัวหุ่นที่หลากหลายและมีราคาหลายระดับ แต่จุดเด่นของไลน์นี้ก็คือ "การทำตลาดแบบคลื่นใต้น้ำ" หรือ "การทำตลาดแบบกองโจร" สวนกระแสการขายของเล่นจากอนิเมะโดยสิ้นเชิง

เพราะซีรี่ย์ซอยด์ในยุคนั้น ไม่ได้ใช้อนิเมะโปรโมทเหมือนอนิเมะหุ่นยนต์เรื่องอื่นๆ แม้แต่ Gundam ก็ต้องมีอนิเมะมาโปรโมทกันพลา แต่ Zoids ใช้โฆษณาโทรทัศน์, นิตยสาร, แค็ดตาล็อก และเกม มาสร้างเรื่องราวให้แฟนๆ ติดตามกันอีกช่องทาง ข้อดีก็คือไม่ต้องใช้งบประมาณในการทำอนิเมะ, ดึงจุดเด่นของตัวโปรดักษ์ได้สูงสุด, และสร้างการดึงดูดใจเด็กๆ ได้เป็นอย่างดีเพราะเด็กๆ หรือผู้ชมจะได้เห็นหุ่นที่เคลื่อนไหวได้จริง ไม่ต้องสต็อปโมชั่น เล่นได้จริงๆ แม้จะต้องพบกับปัญหาสำคัญก็คือ กลยุทธ์นี้จะตีตลาดได้ยากหากไม่มีอนิเมะมาเป็นทัพหลักในการโปรโมท รวมไปถึงการติดตามเนื้อเรื่องที่ไม่ต่อเนื่อง บางข้อมูลสำคัญๆ มีสิทธิ์ตกหล่นได้ทุกเมื่อ

เอาเป็นว่าดูคลิปประกอบกัน หากเป็นเด็กในยุคนั้นตาลุกวาวไม่น้อย

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอคลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แต่การตลาดดังกล่าวถือได้ว่าประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นเกินคาด (จนสามารถเอาชนะยอดขายของเล่นโรบอทเจ้าหนึ่งของ B. ไปได้อย่างสวยงาม) ทาง B. จึงจับตามองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงปี 1985 - 1989 ซึ่งเป็นยุคทองของไลน์ Zoids มีบริษัทของเล่นหลายแบรนด์ทำของเลียนแบบ หรือทำหุ่นยนต์สัตว์มาแข่งขันกัน ในช่วงปี 1987 ทาง B. จึงได้เปิดตัวของเล่นหุ่นยนต์สัตว์ขึ้นมาต่อกรกับ Zoids เพื่อพิสูจน์ว่าใครกันแน่คือตัวจริงทางด้านนี้ นั่นคือ Revolt



レボルト (Revolt) ได้ทำออกมา 2 แบบ ได้แก่ Merzaim (รูปแบบนกกระจอกเทศ) และ Bearmobill (รูปแบบหมี) สเกลหุ่นจะอยู่ที่ 1/60 (น้องๆ PG เลยทีเดียว) ต่างจาก Zoids สมัยนั้นจะเป็นสเกล 1/72 และ 1/24 ซึ่งรูปแบบของเล่นจะเป็นแบบแผงพลาสติดที่ต้องตัดประกอบเอง, ออกแบบกลไกใกล้เคียงกับซอยด์, ใช้ถ่าน 2 ก้อน และมอเตอร์ไฟฟ้า และมีจุกยางแบบเดียวกับซอยด์ (แต่จะออกแบบลายจุกยางเป็น +) หัวใจของการเคลื่อนไหวไม่ได้มีเพียงแค่มอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังใช้น้ำหนักถ่วงจากถ่านหรือแบตเตอรี่ช่วยในการเคลื่อนไหวด้วย

แถมยังใส่เนื้อเรื่องให้อ่านกันในแค็ดตาล็อกใบพับด้วย โดยเรื่องราวจะเป็นสงครามกลางเมืองของ 2 ฝ่ายในดาวดวงหนึ่ง (ตรงส่วนนี้แปลไม่ได้เพราะว่าโบรชัวร์มันเล็กเกิน) เรียกได้ว่าแทบจะเลียนแบบซอยด์กันเลยทีเดียว แต่ตัวหุ่นจะออกแบบให้ดูเป็นเรียลมากกว่าหุ่นยนต์สัตว์ราวกับเยาะเย้ยหุ่นซอยด์เลยทีเดียว อ้อ สำหรับราคาในยุคนั้นอยู่ที่ 1,600 เยน (อ้างอิงจากคลิปล่าง) ว่าแล้วก็มาดูการเคลื่อนไหวของหุ่นพวกนี้ก่อน คลิปนี้คือตัว Bearmobill
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
และ Merzaim 
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ส่วนการตลาดของไลน์นี้เท่าที่ติดตามข้อมูลมา ระบุแค่ว่าจะใช้แนวทางเดียวกับการตลาดที่ไม่อิงอนิเมะ (ตารางฉายอนิเมะหุ่นยนต์แน่นมาก แถมในยุคนั้นก็ยังมี ZZ Gundam ที่เป็นหัวหอกอีก) นั่นหมายความว่าเทคนิคการตลาดจะใช้ในรูปแบบเดียวกับซอยด์ ขายเนื้อเรื่องในแค็ดตาล็อก โปรโมทผ่านหน้านิตยสาร พร้อมกับมีโขว์โมดิฟายใส่เกราะ เผลอๆ มี How To Modify ใน Hobby Japan ด้วย และกลุ่มเป้าหมายจะมีทั้งนักสะสมโมเดลหุ่นยนต์ แฟนคลับแบรนด์ ฺ. และนักสะสมซอยด์ด้วย แต่สุดท้ายงานเลี้ยงก็จบลงในปี 1987 ด้วย ยอดขายไม่ตามเป้า! และ การตลาดที่ไม่แข็งแรงพอ! ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ค้านสายตานักเล่นโมเดลไม่น้อย

จากข้อมูลที่ตามอ่านในเว็บญี่ปุ่น (และแปลด้วยกูเกิ้ล) และจากมุมองของผู้เขียน ว่าทำไมสาเหตุที่ Revolt ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งๆ ที่หากต่อยอดได้ดีกว่านี้ก็สามารถต่อกรกับ Zoids ได้อย่างสูสี (และอาจจะปรากฎใน SRW ด้วย) ซึ่งมีดังนี้

1. B. ถนัดการโปรโมทของเล่นด้วยสื่อหลัก นั่นคือ "อนิเมะ" หรือภาพยนตร์ กว่าร้อยละ 90% ของของเล่นที่ที่มาจากแบรนด์นี้ จะมาจากอนิเมะแทบทั้งสิ้น ซึ่งการตลาด Revolt ถือว่าใหม่มากสำหรับเขา และทักษะการตลาดดังกล่าวยังไม่แข็งแรงพอที่จะแข่งทาบรัศมีกับแบรนด์ To. ได้ ยิ่งกว่านั้น เจ้าแห่งการตลาดคลื่นใต้น้ำ ก็ต้องยกให้กับแบรนด์ "Ta." โดยเฉพาะของเล่นไลน์ Diaclone / Microman ที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องใช้อนิเมชั่นเลย ขณะเดียวกัน ทาง To. ได้เสริมการตลาดซอย์ให้เข้มแข็งขึ้นอีกขั้น ด้วยการเชิญศิลปินญี่ปุ่นมาร้องเพลงประกอบโฆษณา พร้อมขายเทปและแผ่นเสียงจากคลิปข้างล่างนี้ ขยี้มันเข้าไป

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
2. Revolt ไม่ใช่ไลน์สำคัญ ความตั้งใจของการกำเนิด Revolt เหมือนว่าจะทำไว้เพื่อตัดแข้งตัดขา Zoids แบบขำๆ มากกว่า เพราะยังไงในยุคนั้นอนิเมะโรบอททั้ง ZZ Gundam และเรื่องอื่นๆ ต่างเป็นกระแสหลักที่เขาจะให้ความสำคัญมากกว่า ทำกำไรได้ดีกว่า จึงทำให้การจัดสรรงบประมาณการตลาดให้กับ Revolt ค่อนข้างน้อยกว่าใคร และทำให้ผู้ซื้อมีความรู้สึกโดนหักหลังกันต่อหน้าต่อตา

3. การออกแบบสุดเฟล ด้วยการออกแบบ Revolt นั้นได้อ้างอิงรูปแบบของสรีระสัตว์ แล้วใส่กลไกแมคคานิคให้มันดูแตกต่างจากซอยด์ให้มากที่สุด การออกแบบจึงสะท้อนถึงความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกประหลาดเกินคาด แต่...มันไม่ช่วยให้เกิดการดึงดูดใจได้ ยิ่งไปกว่านั้นผลลัพธ์ของกลไกการเคลื่อนไหวเข้าขั้น "เลวร้าย" เกินกว่าจะรับได้ จึงทำให้ไม่สามารถแย่งใจแฟนๆ หุ่นซอยด์ได้ 

4. ราคา + คุณภาพของงาน = ดูแพงไปเลย ด้วยราคา 1,600 เยน สำหรับของเล่นที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าอาจจะดูสมเหตุสมผล แต่เมื่อดูจากรายละเอียดหน้ากล่องที่เก้งก้างเกินจะรับได้ ทำให้การตัดสินใจเลือกซื้อดูแพงเกินไปเลยทีเดียว ซึ่งหากคุณเป็นชาวญี่ปุ่นในยุคนั้น บวกเงินเพิ่มอีก 380 เยน ก็ได้ครอบครอง Shield Liger ราคา 1,980 เยน แต่รูปร่างดูบึกบึน สมส่วน และลูกเล่นเยอะกว่าอีก (ราคาดังกล่าวยังไม่รวมแบตเตอรี่)

5. ความยุ่งยากในการเล่น แม้ว่ากลไกสำคัญของ Revolt คือน้ำหนักถ่วงจากถ่านหรือแบตเตอรี่ (จึงทำให้ต้องใช้ 2 ก้อน) เพื่อให้เคลื่อนไหวได้ แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าตัว Merzaim ได้ระบุว่าต้องใช้แบตเตอรี่ประเภทแมงกานีสเท่านั้น ไม่ใช่อัลคาไลน์ ซึ่งแบตเตอรี่ประเภทแมงกานีสจะมีน้ำหนักเบากว่า ทำให้ตัวหุ่นมีความคล่องตัวมากกว่าการใช้ถ่านอัลคาไลน์ที่น้ำหนักมากกว่าเล็กน้อย แต่ส่งผลทำให้การเคลื่อนไหวดูแย่ลงได้ในทันที อ้อ และส่งผลต่อความทนทานของส่วนคอด้วย เมื่อเล่นนานๆ แต่อย่างน้อยถ่านแมงกานีสก็มีราคาที่ถูกกว่าถ่านอัลคาไลน์


ทั้งหมดนี้ จึงทำให้ไลน์ Revolt ต้องปิดฉากไปอย่างรวดเร็ว และไม่ถูกพูดถึงอีกเลยนานเป็นสิบๆ ปี จนกระทั่งมีนักเล่นโมเดลบางคนได้ขุดมันขึ้นมาเผยแพร่ข้อมูลบนโลกออนไลน์ และปั่นราคาสูงขึ้นเล็กน้อยตามสภาพ ซึ่งก็ไม่แพงอย่างที่คิด (เจอถูกสุดราวๆ 2,000 เยน บางเจ้าขายคู่ปาเกือบหมื่นกว่าเยน) ซึ่งหุ่นยนต์ไลน์นี้ก็ยังคงพูดถึงในวงการนักสะสมโมเดลเก่าเลเวลสูงๆ เพื่อรำลึกถึงของเล่นหุ่นยนต์ไลน์หนึ่งที่เกิดจากแบรนด์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งของเล่นหุ่นยนต์ แต่ถูกทอดทิ้งไปอย่างไม่ใยดีอันเนื่องมาจากเหตุผลทางธุรกิจ และเบนเข็มทำหุ่นยนต์สัตว์รวมร่างในขบวนการซูเปอร์เซ็นไท เพื่อชนกับ Zoids อย่างต่อเนื่องแทน (คนละเซ็กชั่นแต่เหมือนออกมาอย่างต่อเนื่องราวกับเก็บกดอะไรบางอย่าง)

จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ทำให้เราได้เห็นสงครามธุรกิจวงการของเล่นของญี่ปุ่นที่สนุกที่สุดเท่าที่เคยติดตามมา จากแบรนด์ที่ไม่อยู่ในสายตาในวงการโรบอท ไปกระตุกหนวดแบรนด์ยักษ์ใหญ่ จนทำให้เกิดกระแสการตลาดรูปแบบใหม่ที่วัดกึ๋นการแข่งขันอย่างยาวนานจนสิ้นอายุขัยแบรนด์ และกลายมาเป็นบทเรียนสำหรับการทำตลาดในยุคต่อๆ มาในการใช้กลยุทธ์การตลาดกองโจร และการรับมือกลยุทธ์การตลาดกองโจร ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่วงการของเล่นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังคงปรากฎในวงการอื่นๆ อีกด้วย

และทาง B. ไม่พูดถึงแบรนด์ レボルト (Revolt) อีกเลย ตลอดกาล...

ปิดท้ายด้วยภาพงาน Custom ที่ปรากฎในกล่อง ไม่ได้ระบุว่าเป็นชุดเสริมหรือต้องไปทำเอง แต่ที่แน่นอนที่สุดก็คือไม่มีการผลิตออกมาซะนี่ ซึ่งหากใช้โมเดลแบบคัสตอมทำขายก็อาจจะพลิกหน้าประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้

แครดิตข้อมูลจาก
http://www.ne.jp/asahi/lightjester/cyberzone/pz/rival/bandai/index.html
http://zignition.blog3.fc2.com/blog-entry-77.html
https://item.mercari.com/jp/m11172758550/
https://www.astrays.jp/astrays/astrays/archives/1458
http://zignition.blog3.fc2.com/blog-entry-111.html
http://zignition.web.fc2.com/main/column_wild14.html
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่