แชร์ประสบการณ์การมีบัตร AUM เจ้าต่างๆครับ และรับฟังความเห็นจากท่านอื่นๆครับ

ในพันทิปมีกระทู้ที่มักมีคนถามกันว่าเมื่อมี aum เท่านั้นเท่านี้แล้วควรจะทำบัตรใดดี ผมจึงขอแชร์ประสบการณ์การได้ถือครองบัตร AUM ต่างๆแล้วคิดว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร มาให้อ่านกันครับ

 ขอออกตัวก่อนว่า

1. ผมไม่ใช่คนร่ำรวยอะไร จึงไม่ได้มีบัตร aum ของทุกเจ้า ผมทำงานเก็บเงินมาจนมีเงินพอจึงได้เป็นเจ้าของบัตรเหล่านั้น แต่เนื่องจากว่าไม่ได้มีเงินเหลือเฟืออะไรนี่แหละการจะทำบัตรแต่ละทีจึงต้องคิดแล้วคิดอีกว่าได้ใช้สิทธิประโยชน์คุ้มหรือไม่ จึงน่าจะมีประโยชน์กับผู้ที่วางแผนจะมีบัตร aum ถ้าไม่ได้มีเงินเหลือเฟือนะครับ

2. ไม่ได้มีรูปบัตรอะไรทั้งสิ้นนะครับเพราะว่าหาดูได้ทางเน็ตอยู่แล้ว

3. เรื่องราวเกิดขึ้นมาตั้งแต่ 20 ปีก่อนจนถึงปัจจุบันสิทธิประโยชน์เงื่อนไขอะไรต่างๆอาจจะมีเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ก็ไม่มากครับ

เริ่มจาก

1. TMB superior aum 1 ล้าน

เริ่มต้นทำงานเก็บเงินมาได้ก็ไปทำบัตร superior กับ TMB ซึ่งทำไม่ยากเลย แค่มีเงินฝากถึง 1 ล้านก็ทำได้แล้ว สิทธิประโยชน์ ก็จะได้ฟรีค่าธรรมเนียมบัตร atm และก็ใช้แซงคิวได้ สมัยนั้นยังไม่มีธนาคารทางอินเทอร์เน็ต การแซงคิวได้ก็มีประโยชน์มหาศาลแล้วครับ

2. Kbank The Premier aum 2 ล้าน

ผมได้มีโอกาสใช้บริการที่ปรึกษาการเงินกับ kbank (ชื่อในสมัยนั้นคือ k we plan) เป็นบริการที่ได้ประโยชน์แบบฟรี ตอนนั้น ผจก.ได้แนะนำให้รู้จักสิทธิประโยชน์ของ Kbank signature aum 5 ล้านซึ่งสิทธิประโยชน์ดีมากพอๆกับ Wisdom ในปัจจุบัน แต่ผมโชคร้ายไปนิดหน่อยคือเตรียมเงินไม่ทัน Kbank ก็เปลี่ยนเงื่อนไขเป็นต้องมี aum 10 ล้านแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น The wisdom ผมจึงได้ทำบัตร Premier แทน

สิทธิประโยชน์ในแง่ของการอัพเกรดตั๋วเครื่องบินในประเทศหรือการเข้าเลาจน์ผมไม่ค่อยได้ใช้เท่าไหร่ เพราะตอนนั้นไม่ค่อยได้ท่องเที่ยวเอาแต่ทำงาน จะมีก็ได้ใช้บริการฟิตเนสเวลาที่เข้าไปทำธุระในเมืองแค่นั้น

3. TMB wealth Banking aum 5 ล้าน

ในยุคนั้น Krungsri Exclusive เพิ่งเริ่มมีใหม่ๆและเงื่อนไขยังไม่ดีแบบตอนนี้ แม้ผมจะมีเงินอยู่กับกรุงศรีเกิน 5 ล้านมาเป็นปีก็ไม่ได้เป็น ประกอบกับกองทุนของ TMB ค่อนข้างผลงานดี เลยย้ายมาเป็น TMB wealth Banking

ซึ่งสิทธิประโยชน์จะว่าจริงๆแล้วไม่ค่อยดีเท่าไหร่ จะต้องมีเงินลงทุนเงินฝากอยู่กับทหารไทยเฉลี่ยทั้งปี ในขณะที่ธนาคารอื่นอยู่เพียงแค่ 6 เดือน สิทธิประโยชน์ที่ได้ก็มีแค่รถลีมูซีนรับส่งสนามบินปีละ 2 หนและบัตรตรวจสุขภาพฟรีปีละ 1 หน (ในตอนนั้นมีคูปองให้ทานที่สนามบิน 500 บาทแต่ตอนนี้ตัดสิทธิประโยชน์นี้ไปแล้ว)  แต่สิ่งที่ถือว่าดีก็คือ สิทธิตรวจสุขภาพนั้นสามารถให้คนอื่นใช้แทนได้ ผมจึงยอมเป็นสมาชิก TMB wealth Banking มาจนถึงปัจจุบัน แต่ในใจลึกๆก็รู้สึกว่าสิทธิประโยชน์ที่ได้น้อยไปหน่อย

4. Kbank The Wisdom aum 10 ล้าน

ในที่สุดผมก็ได้ทำบัตร Wisdom ตามที่ได้ตั้งใจไว้ แม้จะมีกระทู้ในพันทิปมากมายที่เชียร์บัตรอื่นมากกว่า แต่ว่า Kbank The Wisdom มีข้อดีที่ชนะบัตรอื่นตรงที่ บัตรเสริมก็มีสิทธิประโยชน์ด้วย อาทิเช่นบัตรเสริมสามารถใช้แซงคิวได้ ใช้เข้าเลาจน์ของธนาคารได้ ใช้เข้า Lounge ที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินในประเทศได้ ใช้ซื้อแคชเชียร์เช็คได้ฟรี  การที่ผมถือบัตร Wisdom ทำให้คนอื่นๆในครอบครัวได้สิทธิประโยชน์บางประการของบัตรเสริมนี้ไปด้วย ซึ่งบัตร AUM อื่นๆไม่มี ตรงนี้ Wisdom ชนะขาดครับ

การที่ Wisdom มีตรวจสุขภาพฟรีทำให้ผมสามารถโอนสิทธิ์ตรวจสุขภาพของ TMB wealth Banking ให้กับคนในครอบครัวได้ด้วยครับ

ผมจึงเลือกที่จะต้องถือบัตร The Wisdom ตลอดไปครับ

5. CIMB preferred aum 3 ล้าน

สิทธิประโยชน์ไม่ได้มีมากมายอะไรเพียงแค่รถลีมูซีนรับส่งสนามบินปีละ 2 ครั้ง หากแต่ว่าการได้มาซึ่งจุดนี้ก็ไม่ยากเย็นเช่นกัน แค่มีเงินฝาก 3 ล้านเป็นเวลาเพียง 3 เดือนก็ได้แล้ว ถือว่าสมเหตุสมผล

ปัจจุบัน CIMB มีการให้เลือกรับสิทธิประโยชน์ได้หลากหลายมากกว่าแค่รถลีมูซีน ทำให้ยิ่งเป็นที่น่าสนใจ มีลูกค้าในวงกว้างมากขึ้นครับ

6. SCB First aum 10 ล้าน

และแล้วผมก็ได้มีโอกาสครอบครองบัตรขวัญใจแม่ยกสักที ยอมรับเลยว่า SCB First ได้ใช้ประโยชน์จริงในชีวิตประจำวันมากกว่าบัตร AUM อื่นที่ผมมี ทั้งกินฟรีเดือนละ 300 นวดฟรีหรือการใช้ SCB lounge ที่พารากอน

แถมที่สุวรรณภูมิด้วยบัตร priority pass ของ SCB First สามารถเลือกเข้าเล้าจ์ได้หลากหลายกว่าต้องเข้า Wisdom Lounge เท่านั้น

ถึง SCB First จะเป็นบัตรขวัญใจผม แต่ยอมรับว่าการปรับลดสิทธิประโยชน์มีผลมาก ถ้าปีหน้าสิทธิประโยชน์ไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิมคงจะต้องบอกลาครับ

7. Citi Gold AUM 5 ล้าน

พอจะมีเงินลงทุนได้อีกสัก 5 ล้านก็มาชั่งใจระหว่าง Krungsri Exclusive กับ Citi Gold

แม้กรุงศรีเอ็กคลูซีฟจะมีสิทธิประโยชน์ที่หลากหลายกว่า แต่สิทธิประโยชน์เหล่านั้นจะต้องแย่งชิงโดยการกดในแอป ในขณะที่ Citi Gold แม้จะได้เพียงสตาร์บัคฟรีเดือนละ 150 แต่จะได้แน่ๆ

 อีกอย่างหนึ่ง ลูกค้า Citi Gold สามารถฟรีค่าธรรมเนียมบัตร citi prestige ได้ด้วย เมื่อรวมสิทธิประโยชน์ทั้งจาก Citi Gold และ citi prestige แล้วก็ชนะกรุงศรีเอ็กซ์คลูซีฟได้ไม่ยาก

ตอนนี้บอกเลยว่าใช้บัตร citi prestige เป็นหลักในการรูดอะไรก็ตาม เนื่องจากลูกค้า Citi Gold จะได้คะแนนพิเศษประจำปีอีกต่างหาก ทำให้ได้คะแนน citi prestige คิดเป็นเท่ากับ 15 บาทกว่าๆก็เป็น 1 ไมล์ แถมยังแลกไมล์ได้หลายสายการบินอีกด้วย

 เวลาไปพักโรงแรมที่ไหน ถ้าจองผ่าน Call Center ก็จะได้คืนที่ 4 ฟรี (ราคาก็ราคาปกตินี่แหละเช็คได้จากหน้าเว็บไซต์ hotels.com)

บัตร priority pass ที่ได้จาก citi prestige ก็ไม่มีเงื่อนไขอะไรยุ่งยากเข้าได้ทุก lounge ที่ปรากฏในเว็บ

จะมีติดนิดเดียวก็คือการให้ใช้ limousine 2 ครั้งต่อปีแต่จะเป็นการเดินทางเดียวกันไม่ได้ จะต้องเลือกเอาว่าจะเป็นขาไปหรือขากลับ ยุ่งยากไปหน่อยนะครับ

ที่จริงยังมีบัตรธนชาต Black Diamond อีกที่ aum 5 ล้านก็จะได้บัตรแล้วฟรีค่าธรรมเนียม สิทธิประโยชน์ของบัตรดีมากๆ แต่สามารถได้บัตรโดยไม่ต้องมี AUM ก็ได้ จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะกล่าวในที่นี้นะครับ

สุดท้ายนี้ขอทิ้งท้ายไว้ว่าแม้บัตร bbl visa Infinite จะมีสิทธิประโยชน์ที่ดี แต่ผมติดที่เงื่อนไขอื่นๆครับ ก็คือตัวธนาคาร bbl เองให้บริการอืดอาดเชื่องช้ามาก~~~ บัตรก็แซงคิวไม่ได้ คงไม่สะดวกที่จะใช้บริการที่นี่บ่อยๆครับ

ส่วนบัตร AUM ของกรุงศรี กรุงไทยและออมสิน คงจะต้องปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้ชนะคู่แข่งได้มากกว่านี้นะครับ แล้วถ้าผมมีเงินอีกจะแวะไปสมัครสมาชิกครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่