เล่าประสบการณ์บริจาคพลาสมา(ครั้งแรก) ที่สถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม บางแค (เป็นครั้งแรก)

วันนี้จะขอมาเล่าประสบการณ์การไปบริจาคพลาสมาเป็นครั้งแรก และประสบการณ์ไปสถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม บางแค
เป็นครั้งแรกเช่นกัน ทำไมต้องบริจาคพลาสมา และทำไมต้องเป็นที่ สถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม บางแค 
เชิญรับชมรับฟังได้เลยครับ

Part 1 ทำไมต้องบริจาคพลาสมา
หากคุณบริจาคเลือดเป็นปกติแล้วอยากลองบริจาคอย่างอื่นดู การบริจาคพลาสมาอาจเป็นคำตอบ
ผมเคยบริจาคเลือดมา 30 กว่าครั้งและอยากลองบริจาคส่วนประกอบของเลือด ก็ได้ศึกษาหลายทางเลือก
และได้มาเริ่มต้นที่การบริจาคพลาสมา

ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นถึงส่วนประกอบของเลือดก่อน เลือดประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆคือ 1. พลาสมา 2. เม็ดเลือดแดง 3. เกล็ดเลือดและเม็ดเลือดขาว

(เครดิต https://www.dreamstime.com)

ซึ่งปกติการบริจาคเลือดรวมก็จะมีการปั่นแยกส่วนประกอบของเลือดแล้วจะนำไปใช้ตามความต้องการของผู้ป่วยแต่ละคน

พลาสมา (Plasma)คือ ส่วนประกอบของโลหิตที่มีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลืองใสซึ่งประกอบไปด้วยสารโปรตีน ได้แก่  อัลบูมิน  โกลบูลิน  อิมมูโนโกลบูลิน  ปัจจัยการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น ซึ่งการบริจาคพลาสมาของสภากาชาดไทยจะมีอยู่ 2 ประเภท
1. เพื่อผลิตเซรุ่มป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี และเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งการบริจาคแบบนี้ต้องอยู่ในโครงการต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี
2. เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโรครุนแรงและเรื้อรังต่างๆ เช่น
    Factor VIII (แฟคเตอร์ 8)  ใช้รักษาโรคโรคฮีโมฟีเลีย  เอ (โรคเลือดออกง่ายหยุดยากทางพันธุกรรม) เป็นต้น

(เครดิต https://blood.redcross.or.th)
   
ซึ่งผมจะขอมาแนะนำการบริจาคแบบที่ 2 ครับ  ซึ่งบริจาคโดยใช้เครื่องแยกส่วนโลหิตอัตโนมัติ (Cell Separator Device)   ใช้เวลาในการบริจาคประมาณ 45 นาที  ครั้งละ 500 ซีซี บริจาคได้ทุก 14 วัน

คุณสมบัติผู้บริจาคพลาสมา
1. อายุ 18 ปีบริบูรณ์ -60 ปี  (ถ้าบริจาคครั้งแรกอายุไม่เกิน 50 ปี)
2. ผู้ชาย   น้ำหนัก 55  กิโลกรัมขึ้นไป
   ผู้หญิง  น้ำหนัก  60  กิโลกรัมขึ้นไป   
3. เป็นผู้บริจาคโลหิตของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ  ต่อเนื่องอย่างน้อย  3  ครั้ง  และต้องไม่เว้นระยะการบริจาคนานเกิน 6 เดือน  
4. มีเส้นเลือดที่บริเวณข้อพับแขนทั้ง 2 ข้าง มองเห็นชัดเจน
5. งดอาหารที่มีไขมันสูงก่อนบริจาค เช่น ข้าวขาหมู  ข้าวมันไก่  เป็นต้น อย่างน้อย 6 -24 ชั่วโมง (สำคัญมาก เพราะถ้าพลาสมามีไขมันสูงจะใช้งานไม่ได้)

สถานที่รับบริจาค
1. ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เปิดทำการเฉพาะ วันจันทร์-ศุกร์ (ไม่หยุดพักกลางวัน)  เวลา 08.30-16.30 น.  
2. ศูนย์รับบริจาคโลหิตและพลาสมา สถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม บางแค เปิดทำการทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น.
ซึ่งเวลาปิดรับบริจาคส่วนประกอบโลหิตท่านสุดท้ายเป็นตามรูป

เนื่องจากสถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม บางแค เปิดรับบริจาคส่วนประกอบโลหิตทุกวัน ฉะนั้นท่านที่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็น่าจะสะดวกไปได้
ซึ่งสถานีกาชาดนี้ดีอย่างไร เชิญชมตอนต่อไปได้เลย
Part 2 สถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม บางแค

หากคุณเคยประสบปัญหาต้องรอคิวนานกว่าจะได้บริจาคเลือด ผมขอเสนอสถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม บางแค (ทำเสียงแบบทีวีไดเรค)
ปกติผมมักไปบริจาคเลือดที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ หรือ หน่วยเคลื่อนที่ต่างๆ ก็มักจะมีคนมารอคิวเยอะ ทำให้ต้องรอนาน
ก็เลยลองมองหาที่รับบริจาคที่คนไม่ค่อยมาก สุดท้ายก็มาเจอที่สถานีกาชาดที่ 11 นี้

ที่ตั้ง
ติดซีคอน บางแค ตั้งอยู่ที่ 33/3 ถนนเพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ
การเดินทาง
1. รถยนต์ ก็ใช้เส้นทางเดียวกับซีคอน บางแค
2. รถไฟฟ้า มาที่ BTS บางหว้าแล้วแต่รถแทกซี่หรือรถเมล์ อีกประมาณ 3 กม.
   ซึ่งในปลายปี 2562 สถานี MRT ภาษีเจริญจะเปิดใช้บริการ ก็สามารถมาลงได้ที่หน้าห้างซีคอน บางแค และเดินอีกนิดก็ถึงเลย

ประวัติย่อๆ
เปิดทำการปีพ.ศ. 2510 และสร้างอาคารใหม่ทดแทนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2561 โดยเปิดรักษาโรคและรับบริจาคโลหิต
อ่านต่อได้ที่ https://www.redcross.or.th/news/information/4374/

Facebook
สอบถามข้อมูลได้ที่ Page https://www.facebook.com/prbk11/?epa=SEARCH_BOX

Part 3 ขั้นตอนและประสบการณ์บริจาคพลาสมา

เมื่อผมเดินทางมาถึงก็พบอาคารที่ดูใหม่เอี่ยม ก็ขึ้นลิฟต์ไปที่ชั้น 3 ก็จะพบห้องบริจาคโลหิต
ซึ่งเมื่อผมขึ้นไปที่ชั้น 3 และเข้าไปในห้องรับบริจาคโลหิต ก็เห็นคนรอคิว + กองเชียร์ ราวๆ ไม่ถึงสิบคน
ผมก็เลยไปดำเนินการบริจาคพลาสมาซึ่งก็จะคล้ายๆกับการบริจาคโลหิตดังนี้

ขั้นตอนการบริจาคพลาสมา
1.กรอกแบบฟอร์มบริจาค และวัดความดันโลหิต ใครมาเหนื่อยๆก็พักสักครู่นะครับ
2. ลงทะเบียน ก็แจ้งเจ้าหน้าที่ไปว่าขอบริจาคพลาสมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะสอบทานเรื่องชื่อ ที่อยู่ 
จากภาพจะเห็นว่าไม่มีคิวเลย
3. กดบัตรคิว จะมีให้เลือกระหว่างบริจาคโลหิตกับบริจาคส่วนประกอบโลหิต ก็ให้กดบริจาคส่วนประกอบโลหิต
ก็จะได้รับบัตรคิวมา ซึ่งเมื่อผมกดเสร็จก็ถูกเรียกเข้าห้องคัดกรองผู้บริจาคเลย

4.  เมื่อเข้าไปยังห้องคัดกรองผู้บริจาค ส่วนที่เหมือนกับการบริจาคเลือดคือ แพทย์ก็จะถามเรื่องการพักผ่อน การใช้ยา การเจ็บป่วย
แต่สิ่งที่ต่างจากการบริจาคเลือดทั่วไปคือ แพทย์จะเน้นเรื่องอาหารที่กินก่อนมาบริจาคเป็นอย่างมากว่ามีไขมันสูงไหม
เพราะจะมีผลต่อพลาสมาอย่างมาก ซึ่งผมก็พอทราบมาก่อนหน้าบ้าง วันนั้นก็ไม่ได้กินอาหารที่มีไขมันสูงเลย เช่น ผักต้ม ไข่ต้ม นมถั่วเหลือง 
ก็เลยรอดตัวไป 

จากนั้นแพทย์ก็จะมาตรวจขนาดของเส้นเลือดของแขนทั้ง 2 ข้างว่าสามารถบริจาคได้ไหม ที่ต้องตรวจทั้ง 2 ข้างก็เผื่อสำรองไว้เผื่อกรณี
บริจาคแล้วเกิดมีปัญหาอะไร จากนั้นก็มีการเจาะเลือดที่ปลายนิ้วเพื่อตรวจสอบความเข้มของเลือดตามปกติ

5. เมื่อตรวจเสร็จเรียบร้อยก็เดินเข้าไปในห้องบริจาค เห็นมีเตียงบริจาคเลือดรวม พลาสมา และเกล็ดเลือด อย่างละประมาณ 3-4 เตียง
เห็นมีคนบริจาคเลือดรวมอยู่ 1 คน แต่ไม่มีคนบริจาคส่วนประกอบโลหิตเลย
ปล. สอบถามเจ้าหน้าที่มา ช่วงนี้เกล็ดเลือดรับบริจาคแค่วันธรรมดา ยกเว้นศุกร์-อาทิตย์ เพื่อทดสอบระบบอยู่

จากนั้นก็เดินไปที่เตียงบริจาคพลาสมา เจ้าหน้าที่ที่รับบริจาคก็มาสอบถามเรื่องชื่อ และที่สำคัญคือถามว่ากินอะไรมา (เน้นจริงๆ)
ที่เสียวไส้คือถามถึงที่กินเมื่อวานด้วย ไอ่เราก็นึกว่างดอาหารมันก่อนหน้าแค่สัก 6 ชั่วโมงก็พอ แต่เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเพื่อความชัวร์ขอสัก 
24 ชั่วโมงเพราะถ้าบริจาคแล้วพลาสมาไขมันเยอะก็จะใช้ไม่ได้เลย ไม่เหมือนบริจาคเลือดรวมที่สามารถปั่นแยกเอาส่วนอื่นไปใช้ได้
นาทีนี้ก็ต้องลุ้นหน่อยละ

6. จากนั้นก็ขึ้นเขียง เอ๊ย เข้าเครื่องบริจาคพลาสมา เครื่องบริจาคพลาสมาจะเป็นระบบดึงเลือดออกไปปั่นพลาสมาแล้วนำส่วนอื่นกลับคืน
ฉะนั้นก็จะมี 2 จังหวะคือ
    1. จังหวะดูดเลือดออก ที่เครื่องก็จะมีสัญลักษณ์บีบลูกบอล ก็ให้เราบีบลูกบอลเหมือนบริจาคเลือดรวม
    2. จังหวะนำเลือดกลับ  สัญลักษณ์บีบลูกบอลจะหายไป ก็ให้เราอยู่เฉยๆไม่ต้องทำอะไร
ซึ่งเครื่องก็จะทำ 2 จังหวะนี้สลับไปมาจนครบเป้าหมายที่ตั้งไว้ และมีการบอกว่าตอนนี้เก็บพลาสมาได้เท่าไรแล้ว
จะเห็นว่าตอนนี้เป็นจังหวะดูดเลือดออก และเก็บพลาสมาได้ (18/505)

7. เมื่อเครื่องเก็บพลาสมาครบก็จะขึ้นภาพนี้ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที
ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายก็จะเป็นการให้น้ำเกลือทดแทนพลาสมาที่เสียไป ก็รู้สึกหนาวหน่อยๆ เข้าใจว่าเป็นเพราะน้ำเกลือมีอุณหภูมิเท่ากับ
อุณหภูมิห้องในขณะที่ร่างกายเราอุ่นกว่า หลังจากที่บริจาคเสร็จก็ไปถามเจ้าหน้าที่ว่าพลาสมาที่บริจาคใช้ได้ไหม
เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าสีใสใช้ได้ เสียดายถ่ายภาพไม่ทัน เลยขอใช้ภาพของท่านอื่นละกัน
(เครดิตภาพ https://siamoops.com)
8. สุดท้ายก็ไปรับของว่างเหมือนที่บริจาคเลือดรวม

ซึ่งจากที่มาบริจาคครั้งนี้ก็พบว่าเจ้าหน้าที่บริการดีมาก ก็อยากให้ทุกท่านมาลองบริจาคพลาสมาและหากสะดวกก็ขอเชิญที่
สถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม บางแค สุดท้ายนี้ก็ขอจบรีวิวแต่เพียงเท่านี้ หากมีโอกาสก็จะขอลองบริจาคส่วนประกอบโลหิตแบบอื่น
หรือสถานที่รับบริจาคที่อื่นดู แล้วจะมารีวิวให้ทุกท่านทราบอีกที

หากมีข้อเสนอแนะหรือมีอะไรที่เขียนตกหล่นก็แนะนำมาได้นะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่